กกพ.เผยแนวโน้มการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ของโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ที่จับสลาก 67 รายกำลังผลิต 281.32 เมกะวัตต์จะได้ไม่ถึงครึ่งหลังกลุ่มสหกรณ์ขัดแย้งกับกลุ่มผู้สนับสนุน ยันไม่ขยายเวลา COD ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ของกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในกำหนด 30 ธ.ค. 2559 ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมดจำนวน 67 ราย กำลังการผลิตรวม 281.32 เมกะวัตต์ หลังเบื้องต้นพบว่ากลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรหลายแห่งมีความขัดแย้งกับกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการ รวมถึงบางแห่งมีปัญหาเรื่องที่ดินก่อสร้างจนทำให้อาจต้องยกเลิกโครงการไปในที่สุด
ทั้งนี้ สหกรณ์ภาคการเกษตรดังกล่าวจะต้องมาดำเนินการทำสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่รับซื้อ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ภายในเวลา 120 วัน นับจากวันที่รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า หากไม่มีการลงนามในสัญญาฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นอันยกเลิก ขณะที่ กกพ.ได้ประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา
“รอบแรกเราคาดว่าจะ COD ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ของการไฟฟ้านครหลวงที่ได้รับคัดเลือก 6 โครงการ มีผู้มาติดต่อหมดแล้วเอกสารที่ยื่นมามี 3 โครงการไม่เรียบร้อยก็จะกลับไปทำให้เรียบร้อย คิดว่าอันนี้ทันแน่นอน แต่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 61 โครงการ ทราบว่าที่มายื่นเอกสารเรียบร้อย 21 โครงการ คือสมบูรณ์แล้ว แต่ที่เหลือยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เราคงไม่ขยายเวลาแล้ว ถ้ารอบนี้สหกรณ์เข้าไม่หมดตามที่ได้รับคัดเลือกก็จะนำมาบวกเพิ่มคราวหน้า” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายควรจะต้องดำเนินการให้ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพราะจะต้องมีเรื่องการขอใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งมีระยะเวลาอยู่พอสมควรเพราะยังมีประเด็นเรื่องของแผงโซลาร์เซลล์ที่จะมีเพียงพอหรือไม่สำหรับผู้ได้รับคัดเลือกทั้งหมด เบื้องต้นเห็นว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องดังกล่าวเพราะอาจจะมีการเจรจากับผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าแล้ว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กอาจจะประสบปัญหาบ้าง โดยเฉพาะหากต้องรอการนำเข้าสินค้าก็อาจจะมีความล่าช้าจนทำให้ไม่สามารถ COD ได้ทันตามกำหนดเวลา
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะที่ 1 โดยการจับสลากมีทั้งสิ้น 67 ราย กำลังการผลิตรวม 281.32 เมกะวัตต์ เป็นกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งหมด คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้เกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการในพื้นที่ของ กฟภ.จำนวน 61 โครงการ กำลังการผลิต 259.67 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของ กฟน.จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 21.65 เมกะวัตต์