กกพ.เผยผลจับสลากชิงดำโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ มีผู้ได้รับสิทธิ์ขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการรวม 67 รายจำนวน 281.32 เมกะวัตต์ เตรียมประชุมบอร์ด กกพ. 25 เม.ย.ดูรายละเอียดเพื่อรับรองอย่างเป็นทางการ 26 เม.ย.นี้
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานจับสลากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร เมื่อ 21 เม.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรัล ลาดพร้าว จากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติซึ่งมีเฉพาะสหกรณ์ฯ 167 ราย กำลังผลิตรวม 798.62 เมกะวัตต์นั้น ล่าสุดผลการจับสลากผู้ที่จะสามารถเสนอขายไฟฟ้าได้มีทั้งสิ้น 67 ราย รวมกำลังผลิต 281.32 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าแผนการรับซื้อที่กำหนดไว้ 300 เมกะวัตต์ โดยหลังจากนี้ กกพ.จะประชุมวันที่ 25 เม.ย.เพื่อประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการวันที่ 26 เม.ย.นี้ และขั้นตอนหลังจากมีการรับรองรายชื่ออย่างเป็นทางการแล้วจะกำหนดให้ลงนามซื้อขายไฟภายใน 120 วันและกำหนดการจ่ายไฟในเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559
“สาเหตุที่จำนวนเมกะวัตต์ได้ต่ำกว่าที่รับซื้อนั้นมาจากปัจจัยหลักการเสนอขายไฟมีความซ้ำซ้อนกันในบางพื้นที่ ซึ่งความสามารถของระบบสายส่งจำกัด วิธีการคัดเลือกจะเลือกจะผู้ที่จับสลากได้หมายเลขลำดับต้นๆ แต่หากเสนอขายไฟสูงกว่าสายส่งก็จะได้ตามจำนวนสายส่งรับได้ แต่หากรายใดเสนอต่ำกว่าก็จะดึงรายอื่นเข้ามาเป็นลำดับต่อไป แต่หากเกินอีกก็จะเจรจาให้ผลิตเท่ากับความสามารถสายส่งถ้ายอมก็จบ ถ้าไม่ยอมก็จะเรียกลำดับถัดไปมาแทน” นายวีระพลกล่าว
สำหรับรายชื่อที่จับสลากได้ครั้งนี้อย่างไม่เป็นทางการ 67 รายอยู่ในพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 6 ราย และที่เหลือ 61 รายขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สามารถแยกเป็นรายภาค ดังนี้
ภาคกลาง 25 ราย จำนวน 108.20 เมกะวัตต์, ภาคตะวันตก 18 ราย จำนวน 76 เมกะวัตต์, ภาคตะวันออกจำนวน 17 ราย จำนวน 70.47 เมกะวัตต์, ภาคเหนือ 1 ราย จำนวน 5 เมกะวัตต์, เขตนครหลวง 6 ราย 21.65 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ตัวอย่างในเขตนครหลวงที่จับสลาก ได้แก่ สหกรณ์บางบ่อ 3.35 เมกะวัตต์ สหกรณ์บางพลี 3 เมกะวัตต์ สหกรณ์กล้วยไม้ไทย อ.ไทรน้อย 0.95 เมกะวัตต์ สหกรณ์โคนม ม.เกษตรกำแพงแสน 4.35 เมกะวัตต์ สหกรณ์บางบัวทอง 3.35 เมกะวัตต์ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.กรุงเทพ 5 เมกะวัตต์
รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งได้ยื่นเป็นผู้สนับสนุนโครงการของกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ซึ่งในวันนี้สามารถจับสลากได้ 3 โครงการ รวม 12 เมกะวัตต์ ในจ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.อ่างทอง ขณะที่ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) จับสลากได้ 2 โครงการรวม 6 เมกะวัตต์ จากที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทั้งหมด 3 โครงการ ,บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) จับสลากได้ 3 โครงการ รวม 9 เมกะวัตต์ จากที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา 10 โครงการ รวม 50 เมกะวัตต์ ขณะที่ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) จับสลากได้ 1 โครงการ รวม 5 เมกะวัตต์ จากที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา 2 โครงการ เป็นต้น
นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (Combined Heat and Power Producing Co.,Ltd. : CHPP) หนึ่งในบริษัทในเครือของ GPSC ได้เป็นผู้สนับสนุนโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 4 โครงการ โดยได้รับทราบผลจับฉลาก 1 โครงการ คือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทรบุรี จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดจันทบุรี คาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในประเทศ เพื่อดำเนินโครงการครั้งนี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมที่จะดำเนินโครงการได้ในทันที หลังจากทราบการประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เม.ย.นี้ โดยขณะนี้มีบริษัทผู้ออกแบบและก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถที่จะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ตามกำหนดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน