ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านไปแล้ว 1 ปี 1 เดือน นับตั้งแต่สหภาพยุโรป(อียู)ได้ประกาศคำเตือน หรือ ใบเหลือง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ให้ประเทศไทยเร่งแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing-IUU) ไม่เช่นนั้นจะงดนำเข้าสินค้าประมงจากไทยที่มีมูลค่าราว 575-730 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 2.3 - 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
แต่ดูเหมือนว่า แม้ปัญหาหลายอย่างจะได้รับการแก้ไข จนอียูไม่เปลี่ยนจากใบเหลืองเป็นใบแดงตามคำขู่ แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะทำให้อียูยกเลิกใบเหลือง อันจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างหมดจดแล้ว
แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้นมาเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา พร้อมออกกฎ 15 ข้อมาบังคับใช้กับเรือประมงในทะเล
ช่วงวันที่ 18 - 21 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่อียูได้เดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลได้ชี้แจงความคืบหน้า 5 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การแก้ไขเรื่องระบบควบคุมติดตามเรือประมง การแก้ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือชาวประมงและแรงงานประมงที่ต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือออกจากระบบ
ต่อมา วันที่ 22 มกราคม 2559 นายซีซา เดเบน ที่ปรึกษาการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU และคณะได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่กระทรวงกลาโหม ซึ่ง พล.อ.ประวิตรยอมรับว่า ทางอียูยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะปลดใบเหลืองให้ไทยหรือไม่ แต่ได้บอกเราว่าต้องทำให้ดี ทางอียูต้องการให้เราทำต่อไป อาจจะเป็นการทำไปเรื่อยๆ ก็ได้ ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องทำ ไม่ว่าจะโดนใบแดง ใบเหลือง หรือใบเขียว ก็ต้องทำต่อไป
ขณะที่ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า คณะอียูได้แนะนำไทยแก้ไข 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ไทยต้องเร่งรัด มีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายประมง และ ทุกฝ่ายต้องทำตามกฎหมาย 2. หากพบเรือ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์ใดมาจากการทำประมงผิดกฎหมาย จะต้องเข้าแซงชั่นทันที 3.ไทยต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายและส่งสัญญาณไปยังนานาชาติให้เห็นความจริงใจและตั้งใจของไทยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าใน 6 เดือนข้างหน้า การทำงานที่ทางการไทยดำเนินการอยู่นั้นจะเห็นผลอย่างชัดเจนมากขึ้น
หลังจากคณะตัวแทนอียูกลับไปแล้ว การดำเนินการเพื่อแก้ไข IUU ยังคงดำเนินต่อไป และดูเหมือนว่ามีการขันน็อตกลไกเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ลงนามในคำสั่ง คสช.โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายนายวิมล จันทรโรทัย จากอธิบดีกรมประมงไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และให้นายอดิศร พร้อมเทพ รองอธิบดีกรมประมง ขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมประมงแทน ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เพื่อเร่งรัดการแก้ไขการทำประมง IUU ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับ พล.อ.ประวิตรที่กล่าวกับสื่อมวลชนในวันต่อมา
นอกจากนี้ ในวันที่ 20 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 18/2559 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558 เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการทำงานของ ศปมผ.ให้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย
ต่อมา วันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวระหว่างการบรรยายพิเศษหัวข้อ การขับเคลื่อนและการปฏิรูปประเทศไทย ด้านความมั่นคง ภายในงานสัมมนาการขับเคลื่อนและการปฏิรูปประเทศ ว่าทางอียูได้มีการประเมินมาตรการแก้ไข้ปัญหาประมงผิดกฎหมายของไทย ปรากฏว่าไทยไม่โดนใบแดง ถือว่ารอดไป โดยตนได้รับแจ้งทางวาจาจากเจ้าหน้าที่ของไทยที่ได้เดินทางไปประชุมกับอียู ซึ่งตอนนี้ยังต้องรอเอกสารทางการออกมายืนยันอีกครั้ง
จากนั้น พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ที่ทางการไทยได้ทำมาทั้งหมดถือว่าเข้าตาอียู เขาชื่นชมว่าเราทำได้ดีขึ้นและมีความตั้งใจในการดำเนินการตามที่อียูบอกมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมาย โดยอียูขยายเวลาในการประเมินต่อไปอีก 6 เดือน หากเราตั้งใจเช่นนี้ต่อไปโอกาสในการได้ใบเขียวก็มีความแน่นอนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ แถลงขยายความเพิ่มเติมจาก พล.อ.ประวิตรว่า จากการที่คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปประชุมร่วมกับผู้แทนอียู เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทย เมื่อวันที่ 17 - 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะผู้แทนอียูได้เห็นถึงความความตั้งใจและความพยายามของไทยในการแก้ปัญหา ตามคำแนะนำจากประสบการณ์ของอียูตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมิได้แจ้งการตัดสินใจผลการประเมินใบเหลืองหรือใบแดงแต่อย่างใด
จึงขอถือโอกาสนี้ เน้นย้ำ และสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชน ว่า ประเทศไทย ยังมิได้หลุดพ้นจากสถานะใบเหลืองของการประเมินจากคณะผู้แทนอียู จากการแก้ปัญหาไอยูยูแต่อย่างใด โดยยังคงต้องรอการประเมินจากผลการตรวจติดตามความคืบหน้าของการแก้ปัญหา จากคณะผู้แทนอียูที่จะเดินทางมาประเมิน และแจ้งผลให้ทราบภายในเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับการหารือเรื่อง IUU กับสหภาพยุโรปที่ผ่านมา เป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นมิตรที่เคารพในอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน สหภาพยุโรปไม่เคยสั่งให้ไทยทำอะไร แต่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ บางเรื่องสหภาพยุโรปได้ให้ข้อแนะนำแก่ไทยโดยอาศัยจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่คล้ายกันในบางประเทศสมาชิกของเขาในอดีต แต่ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของไทยที่จะปรับแก้วิธีการให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของไทยต่อไป
วันที่ 25 พฤษภาคม ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชื่มชมถึงการแก้ปัญหา IUU ว่า ผลจะออกมาอย่างไรทางอียูจะแถลงเอง เราไม่อยากพูด แต่พูดเพียงว่าต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด อะไรที่เขาสงสัยหรืออยากให้เราทำ เราก็ทำ วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบและมี ศปมผ.เป็นผู้ช่วยตามที่ตนได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าข้างบน ซึ่งมีหลายกิจกรรมรวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์ที่กำลังขับเคลื่อน แต่อะไรก็ตามที่เป็นกติกาสากล อยากให้กระทรวงเป็นคนรับผิดชอบ เพราะถือว่าเป็นเรื่องรัฐ ต่างชาติจะยอมรับเชื่อถือ โดยเราจะใช้ทหารช่วยข้างล่าง
พล.อ.ประยุทธ์บอกอีกว่า เรื่องนี้ต้องรอ ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน อยากให้รอฟังดีกว่า เราไปพูดดักหน้าดักหลังไว้ เดี๋ยวเขาจะพาลไม่ให้พอดี เชื่อว่าเขาเห็นความพยายามเต็มที่แล้ว หลายเรื่องเรามีความก้าวหน้าเพราะเราได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด และเขาก็ชื่นชมเราต่อการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แสดงให้เห็นส่วนดีเรามีเยอะ แต่ส่วนที่ยังไม่เสร็จต้องช่วยกันประคับประคองทำให้สำเร็จ
ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ต้องรออีกประมาณ 6 เดือน จึงจะทราบผลว่า อียูจะยกเลิกการให้ใบเหลืองประเทศไทย ในเรื่องปัญหา IUU หรือไม่ ถือเป็นการต่อเวลาให้ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง นับจากการออกคำเตือนครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยในครั้งนั้นอียูได้ให้เวลาประเทศไทย 6 เดือนในการแก้ไขปัญหา