ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ครบ 1 ปีพอดี นับตั้งแต่สหภาพยุโรป(อียู)ได้ประกาศคำเตือนหรือใบเหลืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ให้ประเทศไทยเร่งแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing-IUU)ไม่เช่นนั้นจะงดนำเข้าสินค้าประมงจากไทยที่มีมูลค่าราว 575-730 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 2.3 - 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
หลังจากที่ไทยได้ใบเหลือง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ โดยตำแหน่ง ขึ้นมาเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ทันเส้นตายที่อียูให้ไว้ 6 เดือน
หลังจากได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ศปมผ.ได้ออกกฎ 15 ข้อมาบังคับใช้กับเรือประมงในทะเลทั้งชายฝั่งภาคใต้และภาคตะวันออก
โดยกฎ 15 ข้อ มีอาทิ การจดทะเบียนเรือไทย มีใบอนุญาตใช้เรือ ใบประกาศนายเรือ ใบประกาศช่างเครื่อง ใบอนุญาตใช้วิทยุ ใบประกาศนียบัตรใช้วิทยุทั่วไป ใบอาชญาบัตร บัตรประชาชนไต๋ บัตรประชาชนนายท้ายเรือ บัตรประชาชนช่างเครื่อง จดทะเบียนลูกจ้าง บัตรแรงงานต่างด้าว(กรณีใช้แรงงานต่างด้าว) สัญญาจ้าง อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย และติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) เพื่อบอกพิกัดเรือ
ทั้งนี้ ศปมผ.ได้ประกาศบังคับใช้กฎ 15 ข้อ อย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา โดยไม่มีการผ่อนผัน ท่ามกลางเสียงโอดครวญของเจ้าของเรือประมงจำนวนมากที่ยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตาม
จนกระทั่งวันที่ 18 - 21 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่อียูได้เดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ซึ่ง พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความพร้อมชี้แจงความคืบหน้าเป็นรูปธรรม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. และกฎหมายลูก เป็นหลักในการบังคับใช้ รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนผ่าน 28 ศูนย์ และออกคู่มือการทำประมงอย่างถูกต้อง
2) การแก้ไขเรื่องระบบควบคุมติดตาม ได้แก่ (1) วางระบบตรวจสอบมาตรฐาน (MCS) ควบคุม ติดตาม เฝ้าระวังเรือในทะเลทั้งระบบ โดยให้เรือติดตั้ง VMS เริ่มจากเรือที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปก่อน ปัจจุบันติดไปแล้ว 93.7% (2) จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยวางระบบ E-License พร้อมใช้งาน 30 มี.ค. 59 และอบรมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ และผู้สังเกตการณ์บนเรือ พร้อมปฏิบัติงาน ม.ค. 59
3) การแก้ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย มีชุดบูรณาการพิเศษเพื่อตรวจและบังคับใช้กฎหมายโดยเน้นเรือขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป ทั้งในและนอกน่านน้ำ และ ครม. ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงห้ามลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในโรงงาน แปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น และสถานที่ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองแรงงานเด็ก และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และผ่านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้การพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์มีความรวดเร็วขึ้น
4) ความร่วมมือระหว่างประเทศ ดำเนินงาน 2 เรื่องหลัก คือ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการเข้ามาทำงานในไทย เช่น กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และความร่วมมือกับประเทศหมู่เกาะเพื่อพัฒนาการทำประมง เช่น ฟิจิ ปาปัวนิวกินี โซโลมอน เป็นต้น
5) การช่วยเหลือชาวประมงและแรงงานประมง สำหรับชาวประมงที่ต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือออกจากระบบ ได้ช่วยเหลือชาวประมงโดยตรงและรับซื้อเรือที่ต้องการเลิกกิจการ พร้อมทั้งช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านด้วยการออกประกาศแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์
ต่อมา วันที่ 22 มกราคม 2559 นายซีซา เดเบน ที่ปรึกษาการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU และคณะได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่กระทรวงกลาโหม
พล.อ.ประวิตรกล่าวภายหลังการหารือว่า อียูมาแนะนำเพื่อให้เป็นหลักสากล ตามความเป็นจริงแล้วเราก็ทำได้มากแล้ว แต่ยังมีบางเรื่องในการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องใช้เวลา ทั้งนี้เราได้ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องเก่าที่เราได้ดำเนินการ อียูบอกว่าตามระยะเวลา ปีกว่าๆ ที่เราทำมาดีขึ้นมาก แต่ก็ต้องทำตามหลักสากล เพื่อให้เกิดความยังยืนและต่อไปในอนาคตก็ต้องไม่มีอีก
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรยอมรับว่า ทางอียูยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะปลดใบเหลืองให้ไทยหรือไม่ แต่ได้บอกเราว่าต้องทำให้ดี ทางอียูต้องการให้เราทำต่อไป อาจจะเป็นการทำไปเรื่อยๆ ก็ได้ ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องทำ ไม่ว่าจะโดนใบแดง ใบเหลือง หรือใบเขียว ก็ต้องทำต่อไป
ขณะที่ นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ประเด็นสำคัญคือยืนยันว่ารัฐบาลให้ความมั่นใจกับอียูว่าเราจะเดินหน้าเต็มที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และการแก้ไขปัญหาตามข้อสังเกตของอียู รวมถึงการยกระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่ และดูบางคดีที่เป็นคดีเฉพาะ ซึ่งในภาพรวมทางอียูพอใจ
ส่วน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า คณะอียูได้แนะนำไทยแก้ไข 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ไทยต้องเร่งรัด มีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายประมง และ ทุกฝ่ายต้องทำตามกฎหมาย 2. หากพบเรือ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์ใดมาจากการทำประมงผิดกฎหมาย จะต้องเข้าแซงชั่นทันที 3.ไทยต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายและส่งสัญญาณไปยังนานาชาติให้เห็นความจริงใจและตั้งใจของไทยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าใน 6 เดือนข้างหน้า การทำงานที่ทางการไทยดำเนินการอยู่นั้นจะเห็นผลอย่างชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ อียูยังฝากให้ดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานทั้งหมดไม่เฉพาะแรงงานประมง พร้อมแนะนำว่าไทยควรแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าไทยไม่สนับสนุนเรือประมงนอกน่านน้ำที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสากล และยังขอให้ไทยคุ้มครองการทำประมงชายฝั่งในระยะ 12 ไมล์ทะเล รวมถึงต่อต้านการค้ามนุษย์
ดูเหมือนว่า หลังจากอียูเดินทางมาตรวจสอบเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้จะยังไม่บอกว่าจะยกเลิกใบเหลืองให้ไทยเมื่อไร แต่ท่าทีของอียูก็ผ่อนปรนให้แก่การแก้ไขปัญหาของประเทศไทยมากขึ้น
แต่แล้วจู่ๆ เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ลงนามในคำสั่ง คสช.โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้นายวิมล จันทรโรทัย ขาดจากตําแหน่งอธิบดีกรมประมงไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และให้นายอดิศร พร้อมเทพ รองอธิบดีกรมประมง ขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมประมงแทน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อธิบดีกรมประมงที่โยกย้ายไปนั้นมีบุคลิกที่ค่อนข้างเป็นนักวิชาการ ไม่เก่งงานด้านบริหาร ทำให้การทำงานที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความล่าช้า หลายงานยังไม่เกิดความก้าวหน้าตามที่เป้าหมายที่วางไว้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน เชื่อว่าอธิบดีคนใหม่นี้จะสามารถเร่งรัดการแก้ไขการทำประมง IUU ได้ดีขึ้น
“ผมอยากเห็นกรมประมงมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน มีการทำงานอย่างกระฉับกระเฉงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนอธิบดีกรมประมงขึ้น ซึ่งหากอธิบดีกรมประมงคนใหม่นี้ ทำงานไม่เป็นที่น่าพอใจอีก ก็พร้อมที่จะมีการปรับเปลี่ยนได้ทันที”พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร กล่าวสั้นๆ ถึงการย้ายอธิบดีกรมประมงว่า “ไม่มีอะไร ทำไม่ทัน” และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยูใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถาม แต่พยักหน้าเบาๆ
ในวันที่ 20 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 18/2559 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558 เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการทำงานของ ศปมผ.ให้รวดเร็วขึ้น
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นับจากอียูได้ออกคำเตือนมายังประเทศไทยให้เร่งแก้ไขปัญหา IUU แม้รัฐบาลไทยจะพยายามทุกวิถีทาง แต่การแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมานาน
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา แม้ปัญหาหลายอย่างจะได้รับการแก้ไข จนอียูไม่เปลี่ยนจากใบเหลือเป็นใบแดง แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะทำให้อียูยกเลิกใบเหลือง อันจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างหมดจดแล้ว
ทั้งกรณีการย้ายอธิบดีกรมประมง และการปรับปรุงกลไกการทำงานของ ศปมผ.จึงเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้าย ที่จะให้ปัญหา IUU หมดไปจากท้องทะเลไทย และให้อียูยกเลิกใบเหลืองเสียที หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องเปลี่ยนจากใบเหลืองเป็นใบแดง