xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หักด้ามพร้าด้วยเข่า แก้ใบเหลืองอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรป(อียู.)ด้านประมงและทะเล ได้ออกคำเตือน หรือ “ใบเหลือง” มายังประเทศไทย เนื่องจากล้มเหลวในการปราบปรามการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ Illegal Unreported and Unregulated Fishing (IUU)

พร้อมทั้งขู่จะเลิกนำเข้าอาหารทะเลจากไทย หากยังปล่อยปละละเลยให้ปัญหานี้ยังคงอยู่ โดยได้ให้เวลา 6 เดือน ในการทำแผนปรับปรุงแก้ไขและนำไปเสนอให้อียูตรวจสอบรับรองอีกครั้ง

รัฐบาลไทยภายใต้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกเอาเรื่องการแก้ปัญหา IUU เป็นวาระเร่งด่วน โดยใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อความเด็ดขาดและรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา

พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ลงนามในคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” หรือ ศปมผ. มี พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการศูนย์ เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558

ตามคำสั่งดังกล่าว ให้ ศปมผ. มีอํานาจหน้าที่ 10 ข้อ ที่สำคัญคือ การกําหนดแนวทางของไทยและจัดทําแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ปัญหา IUU ตลอดจนกํากับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนนั้น รวมถึงดําเนินงานทําความเข้าใจกับสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ให้มีอำนาจควบคุม สั่งการ กํากับดูแล และประสานการปฏิบัติการทั้งปวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สํานักงานตํารวจแห่งชาติและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา IUU

และมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอแนะ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการทําการประมงผิดกฎหมายและบทลงโทษที่เหมาะสม

เพื่อให้ทันต่อเส้นตายที่ อียู.กำหนด จึงมีการประกาศให้เรือประมงทุกลำต้องปฏิบัติตามกฎ 15 ข้อให้ครบถ้วน ถายในระยะเวลา 2 เดือน นั่นคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

กฎ 15 ข้อ ได้แก่ การจดทะเบียนเรือไทย มีใบอนุญาตใช้เรือ ใบประกาศนายเรือ ใบประกาศช่างเครื่อง ใบอนุญาตใช้วิทยุ ใบประกาศนียบัตรใช้วิทยุทั่วไป ใบอาชญาบัตร บัตรประชาชนไต๋ บัตรประชาชนนายท้ายเรือ บัตรประชาชนช่างเครื่อง จดทะเบียนลูกจ้าง บัตรแรงงานต่างด้าว(กรณีใช้แรงงานต่างด้าว) สัญญาจ้าง อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย และติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) เพื่อบอกพิกัดเรือ

ด้วยความที่ปัญหา IUU ในอุตสาหกรรมประมงไทยถูกสะสมมานาน การให้เวลาแค่ 2 เดือน จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้เรือประมงทุกลำทำตามกฎ 15 ข้อได้ เมื่อถึงเส้นตาย วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เรือประมงจำนวนมากในจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคใต้และภาคตะวันออก จึงไม่สามารถออกจับปลาได้

นั่นก็ส่งผลให้ราคาอาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทันตาเห็น

นี่เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น หากปัญหานี้ยืดเยื้อออกไป ผลกระทบจะขยายวงกว้างไปถึงอุตสาหกรรมส่งออกอาหารที่ใช้สัตว์ทะเลเป็นวัตถุดิบมูลค่าปีละหลายแสนล้านบาท รวมไปถึงครอบครัวแรงงานในระบบอุตสาหกรรมนี้นับล้านคน

ตัวแทนผู้ประกอบการเรือประมงหลายจังหวัดได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันกฎทั้ง 15 ข้อ เพื่อรอให้มีความพร้อมก่อน

ทั้งนี้ ปัญหาของเรือประมงไทยมีหลายข้อด้วยกัน อาทิ การหาคนไทยมาเป็นไต๋เรือ การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย การจดทะเบียนอาชญาบัตรที่ทำไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด

ผู้ประกอบการเรือประมงในภาคใต้หลายจังหวัดจึงยื่นคำขาดให้รัฐบาลผ่อนผัน ไม่เช่นนั้นจะหยุดออกเรือตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นต้นไป

นายทวี บุญยิ่ง นายกสมาคมประมงจังหวัดระนอง บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจเรือประมงในขณะนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ภาคธุรกิจประมงเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อดูแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลยังสวนทางต่อแนวทางที่ชาวประมงต้องการที่ตอนนี้ชาวประมงยินยอมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาในลักษณะยั่งยืนมากกว่าการผ่อนผันไม่จบสิ้น จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

นายกสมาคมประมงจังหวัดระนอง บอกอีกว่า การที่รัฐบาลตีกรอบกำหนดเงื่อนไขเวลาให้เรือประมงทุกลำที่ยังไม่ได้รับใบอาชญาบัตร กำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ถือเป็นการกำหนดกรอบเวลาที่เร่งรัดเกินไป ทำให้เรือประมงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ส่วนการหยุดทำประมงในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการประท้วง แต่เรือประมงที่หยุดเพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลกำหนด หากออกทำการประมงก็จะถูกจับจึงต้องหยุดทำการประมง

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวให้แก่เรือประมง เนื่องจากตอนนี้ทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากผู้ประกอบการประมงฝ่ายเดียว เป็นความผิดร่วมกันทุกฝ่ายที่ปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 20 ปี จึงต้องการให้รัฐบาลขยายระยะเวลาในการดำเนินการ โดยความคิดเห็นส่วนตัวหากทุกฝ่ายพร้อมใจจะแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจังคาดจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี ในการดำเนินการ

ขณะที่ นายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดภูเก็ต บอกว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ เรื่องอาชญาบัตร เพราะใบอนุญาตใช้เรือ ทะเบียนเรือ ใบประกาศนียบัตรช่างเครื่อง นายท้ายเรือ ทางกรมเจ้าท่าได้อำนวยความสะดวกให้รีบดำเนินการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทุกอย่างทำได้หมด ยกเว้นเรื่องของอาชญาบัตร ซึ่งทางสมาคมประมงแห่งประเทศไทยก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ว่าจะให้ผู้ประกอบการเรือประมงทำอย่างไรต่อไปในเมื่อรัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่มีการผ่อนผันแต่อย่างใด

ขณะที่ผู้ประกอบการเรือประมงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันกฎ 15 ข้อ แต่ท่าทีรัฐบาลยังคงอ้างกฎหมายอย่างแข็งกร้าว โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า เราต้องทำตามกฎหมาย เพราะขณะนี้กฎหมายออกมาเรียบร้อยแล้ว เรือประมงที่ผิดกฎหมายก็ออกไปทำการประมงไม่ได้ ส่วนเรือที่ถูกกฎหมายก็ออกไปทำการประมงได้ตามปกติ ส่วนปัญหาที่ว่าขึ้นทะเบียนไม่ทันนั้น ที่ผ่านมาทางกองทัพเรือก็จัดเรือทำศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสให้บริการจดทะเบียนในทะเล ช่วยเหลือทุกอย่าง แต่ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ย้ำว่า ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าวันข้างหน้าไม่ผ่านการประเมินจะทำอย่างไร มูลค่าธุรกิจเหล่านี้ 2 แสนกว่าล้าน ถ้าหายไปทั้งหมด จะทำอย่างไร ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน โดยรัฐบาลก็จะดูแลในทุกมิติ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการ ก็ต้องร่วมมือด้วย จะให้ผ่อนผันไปถึงเมื่อใด

"ถ้าไม่ผ่านประเมิน จะรับผิดชอบด้วยกันหรือไม่ว่าสินค้า 2 แสนกว่าล้านที่ขายทั้งโลกไม่ได้ ก็เท่ากับเรือประมงทั้งหมดไม่สามารถออกทำมาหากินได้ วันนี้อันไหนที่ถูก ก็สามารถออกได้ อย่ามาประท้วง อย่าขุดคุ้ยให้เป็นเรื่อง"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรือประมงว่าเป็นการขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่

การที่รัฐบาลออกกฎเหล็ก และประกาศให้เรือประมงทุกลำทำตามภายในระยะเวลาแค่ 2 เดือน ในขณะที่นายกสมาคมประมงระนองบอกว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงมีคำถามว่า นี่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่

พล.อ.ประวิตรเองก็ยอมรับว่า ปัญหานี้สะสมมาตั้งแต่ปี 2534 ก็น่าจะเข้าใจว่า การให้เวลาแค่ปุบปับ 2 เดือน ไม่มีทางเป็นไปได้

และเมื่อดูจากกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ที่อียูให้ไว้ นับจากวันที่ให้ใบเหลือง ก็จะสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคมปีนี้ นั่นหมายความว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่มีทางทำทันแน่นอน

รัฐบาลภายใต้ คสช.จะต้องเลือกว่า จะแก้ไขแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพื่อให้ทันเส้นตายอียู. แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมประมง หรือจะเลือกการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจต้องยอมเสียตลาดส่งออกบ้างในระยะแรก


กำลังโหลดความคิดเห็น