xs
xsm
sm
md
lg

EUจ่อคว่ำบาตรประมงไทย จี้เร่งแก้แรงงานถื่อน เอกชนเชื่อไม่กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์ลงมติภาคทัณฑ์ โดยให้ใบเหลืองประมงไทย ระบุยังไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานผิดกม.ได้ ขู่ให้เวลาไทย 6 เดือนในการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำประมงเถื่อน มิฉะนั้นงดนำเข้าอาหารทะเลช่วงปลายปีนี้ “บิ๊กตู่”รู้แล้ว ด้านกต.ผิดหวังอียูออกใบเหลือง เวปไซด์กระทรวงฯ แจงไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปอียู “ไก่อู”เล็งใช้ ม.44 ปลดล็อกทุกปม หากหน่วยงานเสนอ เอกชนประเมินไม่กระทบส่งออก เหตุผู้นำเข้าส่วนใหญ่เข้าใจไทย แต่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์บ้าง ด้านรองนายกฯ เผยพยายามแก้ไขแต่อีกฝั่งไม่พอใจ ระบุลงโทษน้อยเกินไป ปรึกษานายกฯ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เดินสายแจ้งการทำงานของไทย ด้าน ผบ.ทร. โวยแก้ไขมาตลอด อย่าโทษรัฐบาลชุดนี้ ยันต้องใช้เวลาแก้ปัญหาที่มีมานาน เชื่อทันเวลาไม่ถูกคว่ำบาตร ตอบโจทย์ทั้งหมดได้ ขณะที่“ไทย-อินโด”เลื่อนถกปัญหาประมง ไม่ชัวร์ ปม"อียู"จ่อคว่ำบาตรประมงไทย ด้าน “ปีติพงศ์” เรียก กรมประมง ถกหาทางออก แก้ปัญหาไอยูยู 24 เม.ย.นี้

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกคำเตือนแก่ไทยในวันอังคาร (21 เม.ย.) จากการที่ล้มเหลวในการปราบปรามประมงเถื่อน พร้อมทั้งขู่จะเลิกนำเข้าอาหารทะเลหากไม่ยอมดำเนินการแก้ไข อียูยังได้ยกเลิกการเตือนต่อเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ หลังจากที่ทั้งสองชาติมีการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายเพื่อจัดการกับพวกทำประมงเถื่อน

ไทยได้รับการเตือนที่เรียกว่า "ใบเหลือง" สำหรับความล้มเหลวในการพิสูจน์ให้เห็นถึงที่มาและการจับได้อย่างถูกกฏหมายของปลาที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป

คำแถลงของคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ไทยมีเวลา 6 เดือนในการทำแผนปรับปรุงแก้ไขให้เกิดผล เพื่อนำเสนอและชี้แจงข้อบกพร่องต่อกระบวนการตรวจสอบ ควบคุมและลงโทษของอียู

คาร์เมนู เวลลา คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและการประมง ระบุว่า การใช้กลไกความสำคัญของตลาดยุโรป จะทำให้อียูได้ทำการค้ากับชาติที่มีความสำคัญ ทั้งเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ต่างก็ดำเนินการตอบสนองเป็นอย่างดี ด้วยการปรับปรุงกฏหมายและดำเนินการเชิงรุกต่อพวกทำประมงเถื่อน

ทางคณะกรรมาธิการจะทำงานร่วมกับทางการไทย เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานทางกฏหมายเกี่ยวกับการทำประมง
สหภาพยุโรปนำเข้าปลาจากไทยเป็นจำนวน 145,907 ตันในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่ากว่า 642 ล้านยูโร

ด้านกลุ่มเอ็นจีโออื่นๆ ที่รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องประมงเถื่อน ต่างพากันพอใจที่อียูออกคำเตือนแก่ไทยในครั้งนี้

"ทางการไทยแทบจะไม่ทำอะไรเลยกับเรือประมงของพวกเขา มีหลายครั้งที่เกิดการทำประมงผิดกฏหมาย สร้างความเสียหายให้กับจำนวนปลาและสภาพแวดล้อมทางทะเล" สตีฟ เทรนต์ ผู้อำนวยการบริหารของมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าว
ทางอียูยังบอกด้วยว่า ในแต่ละปีมีปลาประมาณ 11 - 26 ล้านตัน ซึ่งเป็นสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ของที่จับได้ทั่วโลก ได้มาจากการทำประมงผิดกฏหมาย ปลาเหล่านั้นมีมูลค่าราว 8 - 19 พันล้านยูโร

ปัจจุบัน ปลาจากศรีลังกา กินีและกัมพูชา ได้ถูกสั่งงดนำเข้าอียูอยู่ในตอนนี้ ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการแก้ไขของรัฐบาลประเทศเหล่านั้น

**กต.ผิดหวังอียูแจกใบเหลือง

วานนี้(21 เม.ย.) มีรายงานว่า กรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ยื่นคำขาดให้เวลาไทย 6 เดือน สำหรับการแก้ไขนโยบายการทำประมง หรือจับปลาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงทางอียูจะคว่ำบาตรด้วยการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่เวปไซด์กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงเรื่องที่ สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกใบเหลือง ว่า อย่างไรก็ตาม การประกาศเตือนครั้งนี้ยังไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไป EU แต่อย่างใด

กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งว่า ไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่า EU มิได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการแก้ปัญหา IUU รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับ EU ในการต่อต้าน การประมง IUU ที่มีมายาวนาน

ไทยเรียกร้องให้ EU พิจารณาการดำเนินการของไทยในเชิงเทคนิคตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มี ความโปร่งใสและเที่ยงตรง อย่างไม่เลือกประติบัติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย

ไทยจะสานต่อความร่วมมือกับ EU เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งสามารถแก้ไขและป้องกันการทำประมงแบบ IUU ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบ IUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก 6 แผนงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

(1) การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง (2) การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU (3) การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง (4) การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าออกท่าของเรือประมง (5) การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System - VMS) และ (6) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

**“นายกฯ”รู้แล้ว อียูจ่อคว่ำบาตรไทย

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ปรารภในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เมื่อช่วงเช้าวานนี้ ให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ และเป็นระบบ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวสะสมมานาน จนเป็นเหตุให้อียูมีการประกาศยื่นคำขาดดังกล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ และมีคณะอนุกรรมการย่อยอีก 5 ชุด ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาแรงงานประมง ที่มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มอายุลูกเรือ การจดทะเบียนเรือ และการติดตั้งจีพีเอส ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นตอนมาโดยตลอด และมีการรายงานในเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างละเอียด ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และเดินมาถูกทางแล้ว

***จ่อใช้ม.44แก้ปัญหา

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี แต่ต้องยอมรับว่าเรือประมงมีจำนวนมาก การจดทะเบียนจึงไม่สามารถทำเสร็จภายใน 1-5 วัน ประกอบกับต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้เวลา ส่วนจะมีการใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึง เพราะเรื่องนี้มีระบบของมันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปลดล็อกเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่หากมีบางประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใหม่ แล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเวลาที่กำหนด นายกรัฐมนตรี ก็พร้อมใช้มาตรา 44 ที่จะปลดล็อกในเรื่องดังกล่าว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมา.

***เอกชนมั่นใจไม่กระทบส่งออกประมง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า หากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปลงมติภาคทัณฑ์ หรือให้ใบเหลืองกิจการประมงของประเทศไทย จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคประมงและการส่งออกสินค้าประมงไปยังยุโรป เพราะจะยังไม่มีการยกเลิกและลดคำสั่งซื้อ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความใกล้ชิดกับผู้นำเข้าสินค้าในยุโรป ทำให้สามารถพูดคุยกันได้

อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยในส่วนของภาพลักษณ์สินค้าไทย แต่เชื่อว่าจากความตั้งใจของรัฐบาลในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาและออกกฎหมายเกี่ยวกับประมง เชื่อว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเดินทางมาตรวจสอบอีกครั้ง ไทยน่าจะสามารถหลุดจากปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างแท้จริง จะเป็นเรื่องของปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) และปัญหาของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งมากกว่า

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมการมานานพอสมควรในการแก้ไขปัญหาประมงไทย โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และยังมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมหลายฉบับ ซึ่งอาจจะประกาศใช้ไม่ทันในช่วงนี้ แต่เชื่อว่าภายในระยะ 6 เดือนข้างหน้า จะดีขึ้นแน่นอน

***"ประวิตร" เผยถูกบ่นลงโทษน้อยไป

วานี้ (21 เม.ย.) ที่บ้านรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่สหภาพยุโรป (EU) ใหัใบเหลืองไทยในการออกมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing) ว่า ประเด็นดังกล่าวทางเราก็รับทราบมาก่อน พร้อมทั้งพยายามแก้ไขทั้งในเรื่อง กฎหมาย เจ้าหน้าที่ แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเราพยายามทุกอย่าง แต่ทางอียูก็ยังไม่พอใจในเรื่องกฎหมายว่าเราลงโทษน้อยเกินไป ซึ่งเรากำลังรอทางอียูส่งเรื่องมาให้ว่ายังไม่พอใจในเรื่องใดบ้าง

ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหานี้ไม่ได้มาเพิ่งเกิด แต่เกิดมานานตั้งแต่ปี 2548 ขณะนี้เราก็พยายามแก้ไขปัญหาให้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่พอใจในแบบที่เขาต้องการ

เมื่อถามว่าจะมีกระทบอะไรหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เรารู้อยู่แล้วว่าเขาจะให้ใบเหลือง แต่ก็ยืดมาหลายเดือน ช่วงที่ผ่านมาเราก็ออกกฎหมายและปรับปรุงข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการตรวจเรือ และการปล่อยเรือ เราทำทุกอย่างที่คิดว่าเพียงพอ แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ”

***ผบ.ทร. เบรกอย่าโทษรัฐบาลชุดนี้

ด้านหนึ่ง พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงกรณีเดียวกัน ว่า ที่ผ่านมาเราทราบปัญหาและดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอดตั้งแต่ที่ทางสหรัฐฯ มีการปรับลดจากเทียร์ 2 เป็นเทียร์ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาที่มีมานาน ดังนั้นอย่าโทษรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลเพิ่งมาทำงานไม่ครบปี และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กรมเจ้าท่า กรมประมง และกองทัพเรือก็ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาให้ได้ตามแนวทางเดียวกันภายในระยะเวลาที่อียูกำหนด 6 เดือน

ทั้งนี้ ตนคิดว่าไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลาไม่ถูกคว่ำบาตร และเราแก้ไขปัญหามาถูกทางแล้ว คิดว่าไม่น่ามีปัญหาและอย่าวิตกกังวล หลังจากนี้ทางอียูจะส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามดูว่าแก้ไขปัญหาอย่างไร และทางเราต้องเตรียมพร้อมชี้แจงให้เขาได้เห็น เชื่อว่าเราจะตอบโจทย์ทั้งหมดได้

***“ไทย-อินโด”เลื่อนถกประมง ไม่ชัวร์ ปม"อียู"

วานนี้ (21 เม.ย.) มีรายงานข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า กำหนดการหารือทวิภาคีใน ระหว่างพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรัฐมนตรีประมงและกิจการทางทะเลของอินโดนีเซีย ซึ่งจากเดิมจะเกิดขึ้นในบ่ายวันนี้ ต้องถูกยกเลิก และเลื่อนออกไปก่อน

“ไม่มีการยืนยันว่าเกี่ยวกับที่สหภาพยุโรป หรืออียู จะประกาศเตือนเรื่องมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ที่เกิดขึ้นในวันนี้ หรือไม่”

ทั้งนี้ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ ได้เรียกอธิบดีกรมประมง เข้าหารือเรื่องนี้ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขโดยเร่งด่วน ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ และพร้อมเตรียมทำแผนเป็นวาระแห่งชาติ ก่อนเสนอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไอยูยู เห็นชอบ.
กำลังโหลดความคิดเห็น