xs
xsm
sm
md
lg

“ปกป้องเจ้าสัวไม่เห็นหัวประชาชน” ฟันธงประมงไทยไม่รอดใบแดง EU ส่งออก 4 แสนล้านรอวันเจ๊ง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รัฐบาลบิ๊กตู่ เหลือเวลาไม่มากในการปลดเปลื้องโทษใบเหลืองจาก EU ที่ขู่ระงับนำเข้าสินค้าประมง หากยังปล่อยให้ทำผิดกฎหมาย หลังเหยื่อค้ามนุษย์โผล่ยืนยันชัดขบวนการมีจริง พบเรืออวนลากเถื่อนต้นตอปัญหา ขณะรัฐไทยย่ำอยู่กับที่ใช้วิธีเดิมๆ แก้ปัญหา แฉ EU เอือมส่งทีมงานติดตามมา 3 ปีไม่มีอะไรพัฒนา ยกอินโดฯ ตัวอย่างสั่งเลิก ‘อวนลาก-อวนล้อม’ ปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของชาติ แต่รัฐไทยไม่เห็นหัวประชาชน ฟันธงไม่รอดใบแดง ถาม ‘นายกฯ’ ทำเพื่อชาติ หรือเจ้าสัว? สื่อมวลชนเตือนเลิกปกป้องธุรกิจประมงเปื้อนเลือด

*** ‘เรืออวนลากเถื่อน’ ต้นตอปัญหา ‘ค้ามนุษย์-แรงงานทาส’

ช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลูกเรือประมงไทย จำนวน 28 คน ได้เดินทางกลับถึงแผ่นดินเกิด หลังรอดตายจากการตกเป็นเหยื่อถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงบังคับขู่เข็ญให้ทำงานบนเรือประมงผิดกฎหมาย ลักลอบจับสัตว์น้ำในน่านน้ำอินโดนีเซีย จนถูกจับกุมคุมขังในฐานะแรงงานเถื่อน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พบเหยื่อค้ามนุษย์จากประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60 คน เหลือเพียงร่างไร้วิญญาณถูกฝังอยู่ในหลุมศพแรงงานต่างด้าว แต่ทว่าก่อนจะมาถึงจุดนั้นทุกคนต่างก็ตกอยู่ในสภาพตายทั้งเป็นมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่สอบสวนคดีลูกเรือไทยเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งถูกหลอกไปใช้แรงงานบนเกาะอำบน อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า พฤติกรรมของขบวนการค้ามนุษย์มีการยึดเอกสาร หรือหนังสือเดินทางผู้เสียหายไว้ มีการทำร้ายร่างกาย บังคับขู่เข็ญให้ทำงานบนเรือประมง และไม่จ่ายค่าแรงตามที่ตกลงไว้

“ที่ผ่านมา ลูกเรือไทยบางส่วนที่ทนไม่ไหวได้แอบหนีลงจากเรือ และว่ายน้ำไปหลบซ่อนตามเกาะแก่งต่างๆ รวมทั้งบนเกาะอำบน ขบวนค้ามนุษย์เป็นขบวนการที่มีนายหน้าไปล่อหลอกประชาชนต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เป้าหมายส่วนใหญ่พบได้ตามสถานีขนส่ง หรือสถานีรถไฟ และยังพบว่า มีการไปล่อลวงผู้เสียหายตามหมู่บ้านต่างๆ ในต่างจังหวัดทางภาคอีสานด้วย”

สำหรับลูกเรือ 28 คน ที่รอดชีวิตกลับมาถือเป็นผู้เสียหาย และเป็นประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าขบวนการค้ามนุษย์ล่อหลอกแรงงานไปทำงานบนเรือประมงผิดกฎหมายนั้นมีอยู่จริง จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสอบปากคำผู้เสียหาย และให้การช่วยเหลือด้านการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้เคราะห์ร้าย ขณะเดียวกัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังถูกกดดันจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายให้ได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ทะเลไทยถือเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ความสำคัญ เพราะพึ่งพาอาหารทะเลจากไทย และอีกหลายประเทศในเอเชีย และอาเซียนเป็นแหล่งอาหารหลัก EU ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำประมงของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และพบว่าหลายประเทศมีการทำประมงที่ขัดต่อกฎควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (Illegal Unreported and Unregulated fishing) หรือ IUU Fishing โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อน และการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง เช่น อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนส่งเข้าโรงงานปลาป่นใช้ผสมเป็นอาหารปศุสัตว์ และอาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งประเทศไทยส่งออกกุ้งดังกล่าวขายให้ EU มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่สมาคมรักษ์ทะเลไทย ประเมินว่า มูลค่าส่งออกสินค้าประมงไทยทั้งระบบมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท
 

*** รัฐบาลไทยย่ำอยู่กับที่ ‘บิ๊กตู่’ คุยเขื่อง ขึ้นทะเบียนเรือแก้ปัญหาได้

หลังจากให้ความช่วยเหลือลูกเรือเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์กลับประเทศไทยได้จำนวนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยยอมรับว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ทั้งเรื่องประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าว

“เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมีความชัดเจน ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงกำลังดำเนินการอยู่ และมีความก้าวหน้ามาก ได้สั่งการให้ฝ่ายเศรษฐกิจศึกษาว่าจะมีความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ขณะนี้อยู่ในระดับพอรับไหว และไม่เสียหายมากนัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความเข้มงวดมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า

เรื่องแรงงานประมงสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เพราะต่างประเทศเห็นว่าประเทศไทยมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ตอนนี้มีเรือประมงประมาณ 6 หมื่นลำ จดทะเบียนไปแล้ว 3 หมื่นลำ ส่วนที่เหลือก็เลี่ยงบ้าง หลบหนีบ้าง

“ต่อไปนี้ คสช.จะดูทุกท่าเรือทั้งหมด โดยจะใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ จะพยายามขึ้นทะเบียนเรือให้หมด ถ้าชื่อเรือซ้ำก็จะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการยึด เพราะฉะนั้นเรือหนึ่งลำต้องมีหนึ่งชื่อ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
 

 
*** ประมงไทยติดโทษ ‘ใบเหลือง’ EU เอือม ติดตามมา 3 ปี ไม่มีอะไรพัฒนา

ปัญหาการล่อลวงแรงงานไปทำงานบนเรือประมงผิดกฎหมายของไทย เป็นปัญหาที่ EU จับตามอง พร้อมกับตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง ใช้เวลา 3 ปี จึงได้ข้อสรุปและทำหนังสือส่งถึงรัฐบาลไทย ผ่านทางสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า

“จากการส่งตัวแทนเข้าตรวจสอบการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประเทศไทยไม่สามารถปรับปรุงควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติได้ คือ นับตั้งแต่ปี 2554 กรมประมงไ ม่มีความคืบหน้าในระดับนโยบายด้านการออกกฎหมายควบคุมเรือ”

คณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล ระบุว่า ไทยยังไม่สามารถพัฒนาการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม และพบว่า เรือประมงที่ทำผิดกฎหมายในประเทศไทยเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลควรเข้มงวดให้มีการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ตามหลักสากล

นอกจากนี้ ยังระบุถึงความบกพร่องอีกหลายด้านในการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลไทย กรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) ระบุว่าเคยแจ้งให้รัฐบาลทราบมาก่อนหน้านี้แล้วแต่ยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ จึงได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และเกาหลีใต้ ที่ถูกใบเหลืองไปก่อนหน้านั้นคือเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ขณะที่กัมพูชา กินี และศรีลังกา ถูกใบแดงในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน

การถูกใบเหลืองจะยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสินค้าส่งออกด้านการประมงของไทย แต่ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันประกาศของ EU หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมต่อการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย กรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล จะให้ใบแดง และระงับการสั่งซื้อสินค้าประมงจากไทยทันที เหมือนที่เคยให้ใบแดงประเทศกัมพูชา กินี และศรีลังกา

ถึงเวลานี้ไทยมีเวลาอีกประมาณ 3 เดือน เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้เป็นไปตามกฎสากล ไม่ให้ธุรกิจส่งออกสินค้าประมงไปสหภาพยุโรป มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ต้องได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการธุรกิจประมงที่ทำถูกต้องตามกฎหมายแต่อาจจะพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย
 

 
*** อินโดฯ รัฐบาลตัวอย่างสั่งเลิก ‘อวนลาก-อวนล้อม’ ป้องผลประโยชน์ชาติ

ผลจากการที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งไทยที่ถูก EU ให้ใบเหลือง ขณะที่กัมพูชา กินี และศรีลังกา ถูก EU ให้ใบแดง ระงับการนยำเข้าสินค้าประมง ทำให้อินโดนีเซีย ซึ่งมีปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายไม่แตกต่างจากไทย ต้องเร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกใบเหลือง และใบแดง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงกิจการด้านทะเลและการประมง อินโดนีเซีย ได้บังคับใช้กฎกระทรวง ว่าด้วยการสั่งห้ามการใช้อุปกรณ์จับปลาประเภทอวนลาก (TRAWLS) และอวนล้อม (SEINE NETS) ในเขตการบริหารการประมงแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นำมาสู่การเข้มงวดกวาดล้างจับกุม และระเบิดทำลายเรืออวนลาก อวนล้อมที่ฝ่าฝืนจำนวนหลายลำ มีรายงานว่ามีเรือประมงไทยรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า เรืออวนลาก อวนรุน อวนล้อม และเรือปั่นไฟ เป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ใช้แรงงานจำนวนมากในการวางอวนแต่ละครั้ง เรือประมงประเภทนี้จับสัตว์น้ำทุกขนาดส่งขายให้โรงงานปลาป่นใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ มีทั้งเรือถูกกฎหมาย และมีจำนวนนับหมื่นลำที่เป็นเรือเถื่อนใช้แรงงานที่ถูกล่อลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์ และมักจะลักลอบจับสัตว์น้ำในเขตหวงห้ามทั้งในประเทศ และในเขตน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อถูกจับลูกเรือประมงก็ถูกลอยแพให้ติดคุกอยู่ในต่างประเทศโดยไร้การเหลียวแล

“แรงงานเถื่อนในอินโดฯ เป็นปัญหาที่ค้างคามานาน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงเพราะความเสื่อมโทรมของทะเลไทย สมัยก่อนที่อินโดฯ ยังไม่มีกฎหมายนี้ การเข้าไปจับปลาในทะเลอินโดฯ จึงมีมากเพราะมีปลาเยอะ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเกาะแก่งมากมาย แต่ตอนนี้ อินโดฯ ได้รัฐมนตรีหญิงที่กล้าหาญมาก และรู้ว่าทิศทางของธุรกิจประมงจะเป็นไปในทิศทางไหน เขาเลยรีบจัดการยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้าง ไม่รอให้โดนบีบจนหน้าเขียวอย่างรัฐไทย”

นายบรรจง กล่าวและว่า อินโดฯ มองว่า ทะเลเสื่อมโทรม และแหล่งอาหารที่สำคัญของประชาชนกำลังร่อยหรอ ประกอบกับแหล่งทรัพยากรทะเลของเขาโดยเฉพาะการทำประมง ไปตกอยู่ในมือของต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศไทย จึงต้องมีการจัดระบบทำการประมงในประเทศใหม่ทั้งหมด

“การประกาศห้ามทำการประมงด้วยอวนลากทุกชนิด พวกเรือประมงไทยที่เคยเชื่อในการให้สินบนนายทหาร ข้าราชการอินโดฯ แบบก่อนๆ ก็ชะล่าใจไม่ยอมนำเรือ และลูกเรือกลับประเทศคงคิดว่าจะใช้เงินเคลียร์ปัญหาได้ แต่พอกฎหมายมีผลบังคับใช้มีการกวาดล้างครั้งใหญ่ เรือที่ถูกจับได้ส่วนหนึ่งถูกเผาถูกระเบิดทิ้งกลางทะเลทันที คราวนี้เจ้าของเรือเลยตาเหลือกไปตามๆ กัน ผมคิดว่ามีเรือประมงไทยที่ตกค้างอยู่ในอินโดฯ ไม่ต่ำกว่า 200 ลำ มีลูกเรือที่ถูกปล่อยตามยถากรรมอีกไม่รู้เท่าไหร่ ที่ติดคุกน่ะส่วนน้อย ที่กำลังอดอยากต้องหลบๆ ซ่อนๆ มีอีกมาก ข้อมูลนี้พี่น้องชาวประมงเรืออวนลากนอกน่านน้ำรู้ดี รัฐมนตรีลองส่งคนไปหาข้อมูลจากพวกเขาสิแล้วจะตกใจ”
 

 
*** รัฐแก้ปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอด เกรงใจเจ้าสัวไม่เห็นหัวประชาชน

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นต่อการทำการประมงในประเทศของเราในขณะนี้ อยากอธิบายให้เข้าใจว่า ขณะนี้เรื่องอาหารกำลังจะเป็นวิกฤตที่สังคมโลกต้องร่วมมือกันมากขึ้น การทำลายแหล่งอาหารตามธรรมชาติจะถูกตรวจสอบว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์เช่นไร ซึ่งการควบคุมแหล่งอาหารของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกำลังทำร้ายเพื่อนมนุษย์ที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา พบว่า พื้นที่ป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำลำคลอง รวมถึงทะเล ที่ถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารโปรตีนที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมได้ถูกบุกรุกทำลายไปมาก แต่ขณะเดียวกัน โลกก็แคบลงเพราะระบบการสื่อสารง่ายขึ้น ปรากฏการณ์ของความอดอยากหิวโหย การเอารัดเอาเปรียบของผู้คนก็ถูกเปิดเผยเปิดโปงง่ายขึ้น

ปรากฏการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือ การถูกใบเหลืองจากตลาดอียูในการจะส่งสินค้าประมงเข้าสู่ตลาดอียู การเปิดโปงปัญหาค้ามนุษย์ แรงงานทาส และเรืออวนลากเถื่อนในขณะนี้จึงส่งผลกระทบเต็มๆ ต่อการส่งออกกุ้งในเครือซีพี สินค้าประมงส่งออกมูลค่า 2 แสนล้านที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง คือ มูลค่าส่งออกของสินค้าประเภทกุ้งเลี้ยงในเครือซีพีเท่านั้นเอง

“การทำการประมงของไทยประเด็นแรงงานทาสชัดเจนแล้วว่าเกิดขึ้นจริงมีอยู่จริง จำนนด้วยหลักฐานชนิดดิ้นไม่หลุด อียูเลยให้ใบเหลือง รัฐบาลก็ตาเหลือกหามาตรการวุ่นไปหมด และกำลังเร่งออกกฎหมายเรื่องแรงงานประมง จุดสำคัญมันอยู่ที่ซีพีคือ ผู้ส่งออกกุ้งไปยุโรปรายใหญ่สุด และมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี อำนาจ และบารมีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ รัฐต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว ผลประโยชน์ของประชาชนเรื่องต่อเนื่องจากการทำอาชีพประมงแค่เรื่องเล็ก วิธีที่รัฐบาลคิดว่าจะเป็นไปตามมาตรการ IUU FISHING ส่วนหนึ่งที่จะต้องแก้คือ มีกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในอาชีพทำการประมง แต่ก็เน้นเฉพาะประมงใหญ่เท่านั้น ไม่เคยสนใจประมงชายฝั่งที่กระจายอยู่ตามชุมชนใน 23 จังหวัดที่ติดทะเลเลย การทำประมงของเรือประมงใหญ่ที่ผ่านมา มีทั้งเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน เราจึงพบว่าเรืออวนลากที่ระบุว่ามีทะเบียนมีแค่ 5,700 กว่าลำ ทั้งที่จริงๆ มีเป็นหมื่นลำ”

นายบรรจง กล่าวว่า มาตรการหนึ่งที่ EU ต้องการให้ไทยมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายคือ โครงการติดตั้งระบบติดตามเรือเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งพบว่า กรมประมงได้เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2554 แต่จนถึงขณะนี้ติดตั้งระบบติดตามเรือได้เพียง 100 ลำ จากจำนวนเรือประมงที่จดทะเบียน 5,700 ลำ

“สมมติว่าติดหมดทั้ง 5,700 ลำ แต่มีเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียนอีกเป็นหมื่นลำจะเอาไปแอบซุกไว้ที่ไหน จะรอดการตรวจสอบไปได้หรือ เราคงจำแนวคิดที่จะนิรโทษกรรมเรืออวนลากสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ได้ แต่ทำไม่สำเร็จเพราะเครือข่ายประมงพื้นบ้านออกมาขวางไว้ และไม่สามารถหักล้างข้อมูลจากงานวิชาการหลายๆ หน่วยงานที่ว่าทะเลไทยกำลังวิกฤต โดยเฉพาะการทำการประมงด้วยอวนลาก ขืนนิรโทษกรรมออกมาอีกทะเลไทยก็จะเหลือแต่น้ำ ดังนั้น โครงการติดตั้งระบบติดตามเรือ หรือนโยบายจดทะเบียนเรืออีกรอบที่คิดว่าจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้รอดจากใบแดงของอียู ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ และจะโดนแฉออกมาอีกหลายเรื่องที่ซุกอยู่ใต้พรม การแก้ปัญหาประมงแบบใส่ยาบนหนองผมคิดว่าน่าจะพอเสียที”
 

 
*** ฟันธงประมงไทยไม่รอดใบแดง EU วัดใจ ‘นายกฯ ตู่’ ทำเพื่อชาติหรือเจ้าสัว?

“ผมประเมินว่าเรามีสิทธิโดนใบแดงจากอียูสูงมากคือ พอถึงจุดนั้นก็รอดูการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลว่าจะเอายังไง เช่น ปล่อยให้ธุรกิจส่งออกกุ้งเจ๊งแล้วหันมาฟื้นฟูทะเลอย่างจริงๆ จังๆ หรือเดินหน้านิรโทษกรรมเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน โดยไม่ต้องสนใจใครเพื่อรักษาตลาดของนายทุนไว้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่รัฐจะทำเช่นนั้นเพราะอิทธิพลของเจ้าสัวใครๆ ก็ไม่อาจขวางได้หรอก” นายบรรจง กล่าวและว่า

ความเชื่อมโยงของปัญหาการทำการประมงไทย ตั้งแต่ประเด็นการใช้แรงงานทาส การทำการประมงแบบทำลายล้าง (Over Fishing) ในประเทศไทยเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ทางออกของปัญหานี้วันนี้มีแล้วแต่รัฐไม่ทำเช่นกรณี พ.ร.บ.ประมงที่ล้าสมัย ใช้มาตั้งแต่ปี 2490 เมื่อแก้ไขใหม่ขณะนี้กำลังรอประกาศใช้ แต่พบว่า ในเนื้อหาไม่ได้ระบุถึงปัญหาวิกฤตของทะเลไทย คือ ยังไม่ให้มีการยกเลิกเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง พวกอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ที่เป็นสาเหตุหลักของความเสื่อมโทรมของทะเล ทำลายห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ ใน พ.ร.บ.ประมงฉบับแก้ไขใหม่ให้แค่สิทธิของชุมชนประมงที่ให้เข้ามาดูแลปกป้องทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งเป็นห่วงจะยิ่งทำให้ชาวบ้านทะเลาะกันมากขึ้นในทุกพื้นที่

“ข้อมูลในทุกพื้นที่พบว่า เจ้าของเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟเป็นพวกเดียวกับหน่วยงานรัฐที่ทำมาหากินเอื้อกันมาตลอด ดังนั้น พ.ร.บ.ประมงฉบับแก้ไขใหม่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความเสื่อมโทรมของทะเลไทย ปัญหาต่างๆ จะยังคงคาราคาซังเหมือนเดิม ถ้าจะแก้ปัญหาที่ต้นตอต้องหยุดเครื่องมือทำลายล้างทั้ง 3 ชนิดนี้ให้หมด รัฐอาจจะต้องเยียวยาพี่น้องเจ้าของเรือเหล่านั้นตามสมควรในส่วนที่ทำมาหากินโดยสุจริต และเคยทำรายได้ให้แก่ประเทศชาติมายาวนาน แต่มาติดปัญหาตรงที่พวกเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียนซึ่งมีมากกว่าเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย การเยียวยามีข้อจำกัดตรงนี้ เพราะผู้ที่มีเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน คงไม่ยอมเพราะเรือแต่ละลำมีมูลค่าหลายล้านบาท ก็อยู่ที่ความกล้าหาญของรัฐบาลว่าจะมีแค่ไหนในเรื่องนี้”

นายบรรจง กล่าวว่า การจะให้ธุรกิจประมงไทยโดยเฉพาะการส่งออกนั้นเป็นที่ยอมรับของตลาด รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของธุรกิจมากนัก ต้องใช้เงื่อนไขจากมาตรการของ EU ในครั้งนี้วางมาตรการเพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลไทยไว้ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของสังคมในระยะยาว

“หากคิดจะแก้ปัญหาแบบหลอกๆ ไม่ว่าการใช้ระบบติดตามเรือ การออกกฎหมายแรงงานประมงแบบขายผ้าเอาหน้ารอด หรือขึ้นทะเบียนเรือประมงกันอีกกี่รอบแต่ยังไม่ยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้าง สุดท้ายประเทศไทยก็จะไม่รอดโดนใบแดงจากอียูอย่างแน่นอน” นายบรรจง กล่าว
  

 
*** สื่อมวลชนเตือนรัฐต้องเลิกปกป้องธุรกิจประมงเปื้อนเลือด

นายวันชัย พุธทอง สื่อมวลชนอิสระที่ติดตามรายงานข่าวประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า ปัญหาค้ามนุษย์ที่ผ่านมามีข่าวมาอย่างต่อเนื่องนานนับ 10-20 ปี ว่ามีแรงงานทาสในเรือประมง โดยวิธีการหลอกแรงงานลงไปทำงานในเรือประมง หรือมอมเหล้ากลุ่มเป้าหมายให้เมาแล้วอุ้มลงไปในเรือ และเมื่อแรงงานลงไปอยู่ในเรือประมงแล้วไม่สามารถกลับขึ้นฝั่งได้อีกตลอดไป เพราะจะมีเรือทัวร์ไปรับปลาที่จับได้มาขึ้นฝั่ง แรงงานก็จะต้องอยู่ในเรือต่อไปนานนับปี หรือมากกว่านั้น หลายคนถูกทำร้าย หลายคนเสียสติ หรือเสียชีวิต หรือบางคนอาจจะติดยาเสพติดด้วยเพราะอยู่ในเรือนานๆ เครียด กดดันไม่มีที่ไป จึงใช้ยาเสพติด แหล่งข่าวเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้มานาน

ล่าสุด กรณีสื่อมวลชนไทย และต่างชาตินำเสนอกรณีแรงงานทาสเรือประมงในประเทศอินโดนีเซีย เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า มีขบวนการค้าแรงงานทาสในธุรกิจเรือประมงจริงๆ เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่ามีแรงงานประมงถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ ถูกจับขังคุก และถูกทำร้ายเสียชีวิตนับ 100 ศพ

“สื่อมวลชนได้ติดตามรายงานข่าวอย่างละเอียดยิบ และรอบด้านลงลึกในรายละเอียด สื่อได้ใช้เทคโนโลยีติดตามเรือประมงที่มีแรงงานทาส ตลอดกระบวนการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงจนทราบว่า ปลาที่จับได้ด้วยแรงงานทาสนั้นส่งเข้าโรงงานที่ไหน ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าขบวนการค้าแรงงานทาสมีอยู่จริง และมีมานานแล้วด้วย” นายวันชัย กล่าวและว่า

ประเด็นสำคัญกรณีแรงงานทาสบนเรือประมงที่สื่อนำมาเปิดเผยครั้งนี้คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง เป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษย์ด้วยกัน ผู้มีส่วนก่ออาชญากรรมมีความผิดอาญาที่อำนาจรัฐต้องเข้ามาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

“ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้รับทราบเรื่องนี้ และได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลได้รับรู้ และแก้ไขปัญหามาตลอด แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบได้ ขบวนการค้ามนุษย์ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ที่เลวร้ายคือ แรงงานนับ 100 ชีวิต ไม่ได้กลับบ้าน มีเพียงป้ายชื่อเป็นหลักฐานชิ้นสุดท้ายว่าพวกเขาถูกฝังร่างอยู่นอกแผ่นดินเกิด”

นายวันชัย กล่าวว่า กรณีแรงงานทาสในเรือประมงที่ถูกเปิดเผยครั้งนี้คือ ข้อเท็จจริงและไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากการปกป้องและช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องของความเสียหน้า หรือทำให้ส่วนรวมเสียหาย แต่กรณีนี้ชัดเจนว่าคือ การก่ออาชญากรรม กรณีเช่นนี้ในระดับสากลไม่สามารถยอมรับให้เกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาด

“จะมาอ้างว่าสื่อมวลชนไปนำความจริงมาเปิดเผยแล้วเกิดความเสียหายในธุรกิจประมงนับแสนล้านบาท แล้วใครรับผิดชอบนั้น หรือต้องรับผิดชอบความเสียหาย หรือสื่อจะรับผิดชอบหรือไม่ นับเป็นพูดหรือคำกล่าวหาที่อำมหิตที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง” นายวันชัย กล่าวและว่า

มีคำถามกลับว่า หากทำธุรกิจแสนล้านแต่ต้องบูชาความตายของเพื่อนมนุษย์นับ 100 ชีวิต และยังมีบาดเจ็บ เสียสติอีกจำนวนหลายคน เราจะมานั่งภาคภูมิใจกับตัวเลขแสนล้านที่เปื้อนเลือดอย่างนั้นหรือ ประเทศเราสามารถทำธุรกิจประมงโดยไม่ต้องใช้ชีวิตเพื่อนมนุษย์จำนวนมากมาสังเวยก็ได้ไม่ใช่หรือ

“วันนี้โลกแคบมาก หากมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะปกปิดได้อย่างแน่นอน หรืออาจจะปิดหูปิดตาคนในประเทศได้แต่ระดับนานาชาติ อย่าคิดว่าเขาโง่นะครับ เขาหูตากว้างไกลกว่ากันเยอะ”

นายวันชัย กล่าวและว่า ทางออกกรณีแรงงานทาสในเรือประมง ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาจัดการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง และเกิดความยุติธรรมโดยเร่งด่วน ใครที่เกี่ยวข้องต่อการก่ออาชญากรรมต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และต่อไปการทำธุรกิจประมงต้องดำเนินการให้ใสสะอาดไม่เปื้อนเลือด หากยังดำเนินการใช้แรงงานทาสแบบเดิมๆ ธุรกิจแสนล้านก็จะล่มสลายอย่างแน่นอนในระดับนานาชาติ ไม่มีใครต้องการชื้อสิ้นค้าประมงที่ไม่สะอาดอีกต่อไป
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น