xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : คืนความสุขให้คนในชาติ 3 เม.ย.2558

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน เนื่องในโอกาสมหามงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 นี้ รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า พร้อมใจกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระพรชัยมงคล และร่วมกันทำความดี ตามโครงการ "ปณิธานความดี ปีมหามงคล ทำดีเริ่มได้ที่ใจเรา" ทุกอย่างถ้าเริ่มต้นที่ตัวเรา แล้วเผื่อแผ่แบ่งปันไปหาผู้อื่น มันจะทำให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวม กับประเทศชาติด้วย รัฐบาลได้ริเริ่มขึ้นเพื่อถวายเป็นของขวัญ และแสดงถึงพลังแห่งความรักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พสกนิกรจากทั่วทุกภูมิภาคมีแด่พระองค์

พระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านได้ทรงปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดในพระปรีชาสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร และผู้ด้อยโอกาสให้ดีขึ้น สามารถยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ประชาชนชาวไทยยอมรับว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าของคนเดินดิน

ขอขอบคุณนะครับ ชาว อสมทฯ คุณนิติพงษ์ ห่อนาค คุณอาทิตย์ สาระจูฑะ คุณจักราวุธ แสวงผล และคุณกตัญญู มีผล ที่ได้แต่งเนื้อร้องและทำนอง คุณอพิสิษฎิ๋์ ณ ตะกั่วทุ่ง คุณชาญวุฒิ บุญแย้ม และคุณนิวัฒ อ่ำแสง ที่ได้เรียบเรียงเพลง "เจ้าฟ้าของคนเดินดิน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯ รวมถึงทีมงานและศิลปินทุกท่าน ที่ร่วมเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทย ได้ถ่ายทอดความรู้สึก แสดงจงรักภักดี แด่สมเด็จพระเทพฯ ของเราทุกคนด้วย เป็นบทเพลงที่ไพเราะมาก มิวสิควิดีโอก็น่าประทับใจ

ประเทศไทยของเราในขณะนี้มีสิ่งดีๆ มากมายที่เกิดขึ้น เมื่อวานนี้ผมได้ไปสำรวจคลองผดุงกรุงเกษม ได้ล่องเรือชมทิวทัศน์โดยรอบ ก็มีมุมมองที่สวยงามมาก บางส่วนก็อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พวกเราคนไทยกันเองนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นเหมือนที่ผมเห็น ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ ก็เคยถูกขนานนามว่าเป็นเมืองเวนิสของฝั่งตะวันออก ผมอยากให้ทุกคนคิดร่วมกันว่า หากเราช่วยให้มีการพัฒนา ปรับปรุง อนุรักษ์สิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของประชาชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป ตึกเก่าๆ วัดวาอารามหลายแห่ง มีเอกลักษณ์ที่มีความสำคัญอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้างอะไรใหม่ เพียงแต่ฟื้นฟูบูรณะให้ของมีค่าเหล่านี้กลับมาดูสง่างามสวยงามเป็นสมบัติของเดิม

สำหรับการพัฒนาชุมชนตามริมคลองนั้น จะทำให้เกิดการสัญจรทางน้ำใหม่ขึ้น ได้มีการทดลองใช้มาแล้วนะครับ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ลดปัญหาการจราจรทางถนนได้พอสมควร ต่อไปคงจะขยายไปที่อื่นด้วย แต่เราจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเสียด้วย จะได้ทำไปพร้อมๆ กัน การจัดระเบียบต่างๆ นั้น รัฐบาลพยายามที่จะทำในห้วงที่ผ่านมานั้น มีคนที่ได้รับผลกระทบด้วย จากการจัดระเบียบ การยกเลิกการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นหัวข้อในการปฏิรูปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลเข้าใจให้ความสำคัญ จะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาทั้งขั้นต้น และในระยะต่อไป ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกคนควรจะคำนึงถึงกฎหมาย กฎระเบียบผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักด้วย ปัญหาของแต่ละครอบครัวแต่ละคน รัฐบาลกำลังทำอยู่ มันเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน เราอย่าไปโทษใครเลยมันเกิดจากอะไร มันไม่เกิดประโยชน์แล้วตอนนี้ เราแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถกำหนดอนาคตได้ เปลี่ยนโชคชะตาได้ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับมือเราทั้งสิ้น ใจเราที่จะทำได้

หลายกลุ่มออกมาต่อต้านการทำงานของรัฐบาล ผมว่าไม่เกิดประโยชน์ ประชาชนก็ฟังเอาแล้วกันว่า จะฟังผมแล้วคิดตาม หรือจะฟังที่เขาพูดมาแล้วมันไม่มีอะไรที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีก ขอให้พูดกันด้วยเหตุผล จะเชื่อผมก็เชื่อในหลักการและเหตุผลด้วย รัฐบาลพร้อมจะฟังทุกข้อติชมต่างๆ ติมาในทางที่มันเกิดประโยชน์ ติมาในเรื่องที่มันจะต้องแก้ไข ไม่ใช่ติทั้งหมดมันคงไม่ใช่ และกลายเป็นว่า ผมไปห้ามต่อต้าน ผมไม่ได้ห้ามท่านเลย ขอให้ถึงสถานการณ์อนาคตของชาติของลูกหลานด้วย กติกาใหม่ต้องเดินไปข้างหน้า กำลังจะเป็นประชาคมอาเซียน หยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ก้าวถอยหลังก็ไม่ได้อีก แค่อยู่กับที่เหนื่อยแล้ว เพราะฉะนั้นต้องสร้างความมั่นคงแข็งแรง และไปก้าวหน้าเร็วๆ เวลาเรามีน้อย รัฐบาลก็ทำมาบ้างในระยะแรก อนาคตก็จะต้องทำโดยใครต่อไปก็ไม่ทราบ ก็ต้องมาทำต่อ อยู่ที่ประชาชนทั้งหมด เพราะประชาชนอยากที่จะมีส่วนร่วมก็ต้องมาให้เขาทำให้เรา

เพราะฉะนั้นประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ประชาชนก็ต้องได้รับความสุข มีความพึงพอทุกเรื่องที่รัฐทำให้ร่วมมือกัน ในเรื่องของมาตรา 44 มันมีอยู่แล้ว จริงๆ แล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราว คราวนี้เรา เมื่อเรายกเลิกกฎอัยการศึกจำเป็นต้องเขียนให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง เพราะมาตรา 44 เขียนไว้อยู่แล้วว่า เราสามารถดูแลเรื่องของความมั่นคงด้วย และอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าปล่อยไว้มันก็เป็นปัญหาต่อไป ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.มั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะคนไทยส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าเป็นส่วนน้อยที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ผมไม่โทษประชาชนหรอก มันอยู่ที่คนนำ พอแตกเป็นฝ่ายต้องทะเลาะเบาะแว้งใช้กำลัง มีบาดเจ็บ ล้มตาย และไม่มีคนรับผิดชอบ รัฐทำอะไรไม่ได้ เจ้าหน้าที่บางครั้งใช้กฎหมายไม่ได้ มันทำให้การดำเนินชีวิตประชาชนเดือดร้อน นึกถึงคนที่เขาอยู่ตรงกลางบ้าง เขาไม่ได้เห็นชอบอะไรทุกอย่าง แต่เขาไม่อยากจะมาสู้รบด้วย เพราะฉะนั้น วันนี้ ผมอยากให้คนที่อยู่ตรงกลางมาช่วยผมพัฒนาประเทศในเรื่องของเศรษฐกิจการเมือง การปกครอง ที่ชะงักงันตลอดเวลา การใช้อำนาจทำไม่ได้ ทั้งนี้ ที่บัญญัติบริหาร ตุลาการ กฎหมายอย่างที่ทราบดี จับใครอะไรไม่ได้ ผิดกฎหมายก็ปล่อยปละละเลย วันนี้ เราไม่ปล่อยทุกเรื่องก็เดือดร้อนกันพอสมควร ขอเวลาหน่อย ก็จะแก้ไขต่อไปในอนาคต เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยต่างๆ ทำอยู่ การจะมีเสรีภาพ มีสิทธิ ต้องอยู่ในกรอบที่ไม่ทำให้คนเดือดร้อน และมีช่องทางต่างๆ ที่สามารถที่จะคัดค้านไม่เห็นด้วยเยอะแยะ ด้วยวิธีการของประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาอาวุธยิงกันบนถนนไม่ได้ เพราะฉะนั้น การใช้กฎอัยการศึกแรกๆ มีความจำเป็น เพราะหยุดสถานการณ์ที่มีความรุนแรง ที่พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา มีคนนำประชาธิปไตยมาตลอด ทั้ง 5 เดือนที่ผ่านมา ก่อนที่เราจะเข้ามา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ใช้อำนาจเด็ดขาดตอนนั้น ท่านมาไม่ถึงวันนี้ วันนี้ เห็นทุกคนร่วมมือดีอะไรดี และความชัดเจนขึ้นในการใช้กฎหมาย ในการใช้มาตรา 44 เอาอำนาจตามความมาตรา 44 มาทำเท่านั้นเอง และเขียนให้ชัดเจนขึ้น จริงๆ มีอยู่แล้ว อันนี้ไม่ใช่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีอำนาจเหนือศาล คือหมายความตรงนี้ว่า ถ้าอะไรที่มันทำไม่ได้เพราะติดกฎหมายตัวนี้ เราสามารถใช้มาตรานี้เพื่อทำให้เดินหน้าได้ นั่นแหละคือสร้างสรรค์ เข้าใจยัง อยากให้เข้าใจ อย่ามาตีเรื่องนี้กันต่อไป ผมทำให้มันสงบเท่านั้นเอง ต้องเข้าใจต่างประเทศด้วยนะ วันนี้ก็หลายคนไปโผล่ต่างประเทศ ทั้งต่างชาติ ทั้งไทยที่หนีกฎหมายไปทั้งหมด เข้าแถวกันกินอาหารสนุกสนานในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศต่างประเทศด้วย อันนี้ก็กลับมา ผมบอกให้กลับมาแล้ว การที่ท่านได้พูดจาให้ต่างประเทศเข้าใจเราผิดๆ มันเสียหาย ท่านไม่สงสาร ไม่เสียดายเหรอ ท่านเกลียดผม โกรธผม ผมไม่ว่า แต่ท่านต้องมาพูดกับผม ไม่ใช่ทำให้ชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ทุกประเทศเขาไม่มั่นใจเรา เขาเกลียดเรา และทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ท่านทำได้ยังไง ท่านไม่รักประเทศไทยเลยหรือ หรือท่านคิดเพียงว่า ถ้าท่านทำไม่ได้ ท่านอยู่ไม่ได้ ท่านครองอำนาจไม่ได้ ท่านจะต้องทำให้ประเทศไทยเสียหาย ล่มจมไปเลย ถ้าคิดแบบนั้นผมว่าท่านแย่มากนะ เพราะฉะนั้นไปพิจารณาตัวเองด้วยนะครับ แล้วกรุณาให้ทุกส่วนราชการ ภาครัฐ และเอกชน ช่วยทำความเข้าใจกับต่างประเทศด้วยนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของต่างชาติ ที่ตะวันตก และในอาเซียน แม้กระทั่งในประเทศของเรายังไม่เข้าใจเราเลยว่าเราทำอะไรมา มันเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ลืมไปหมด เอาแต่เพียงว่าหน้าที่อย่างเดียวว่าจะต้องทำให้คนได้เข้าถึง เท่าเทียม ไม่ถูกรังแก มองอย่างเดียว แล้วไม่มองคนอื่นเขาบ้างล่ะ คนที่เขาบริสุทธิ์ เขาถูกรังแกด้วยไหม ไปรักษาสิทธิให้คนอื่นๆ เขาด้วย คนที่เหลือ คนที่ไม่ได้ไปขัดแย้งกัน คนที่ไม่ได้ไปต่อต้านเดินขบวนอีก 60 กว่าล้าน แล้วไม่ดูเขาล่ะ สิทธิเขาก็มีไม่ใช่เหรอ เจ้าหน้าที่ถูกทำร้าย ไม่เคยมองด้านนี้เลย เพราะฉะนั้นผมขอร้องล่ะ คนไทยก็ดูแล้วกัน กสม.ก็กรุณาพิจารณาด้วย ผมไม่บังคับท่านหรอกนะ ไม่อยากบังคับ

หลายๆ ประเทศก็ยินดี ประเทศไทยมีความสุข เรียบร้อย ก็เตรียมการที่จะพัฒนาร่วมกัน ไม่ว่าจะรอบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตะวันตก ตะวันออก จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาพูดคุยกับผมแล้ว ก็พร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนต่อไป หลายๆ ประเทศก็จะเร่งรัดให้เกิดขึ้น การลงทุนก็มากขึ้นนะ ถ้าไปดูสถิติของบีโอไอและการลงทุนในกิจการต่างๆ ที่เราต้องการ ที่มันเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย วันนี้ก็เดินหน้า ทุกอย่างก็อาจจะกำไรน้อยลงบ้าง บางอย่างก็ลดลง บางอย่างชะลอตัว บางอย่างฟื้นตัวอย่างช้าๆ ไปดูให้มันแยกแยะหน่อย ถ้าเหมาว่ามันเสียทั้งหมด ไม่ได้ ถ้าเสียทั้งหมดเป็นเพราะว่ามันไม่เข้มแข็ง มันไม่ผูกพัน ไม่เชื่อมโยงกัน มันไม่เกื้อกูลกัน ต่างคนต่างขาย ต่างคนต่างส่งออก ต่างคนต่างมีกำไร มันไม่ได้หรอกครับ วันนี้รื้อใหม่ทั้งหมด โครงสร้างเหล่านี้ใช้เวลา ผมคิดว่าจะดีขึ้นในเวลาอันไม่นานนัก

ในส่วนของโครงการต่างๆ ตรวจสอบแล้ว อันไหนไม่ทุจริตก็เดินหน้า นี่ไงสิ่งที่ผมใช้มาตรา 44 ไปด้วย เข้าไปตรวจสอบ แล้วก็ขับเคลื่อน อันไหนทำไม่ได้ก็ต้องทำใหม่ ทำให้บ้านเมืองมันมีความสงบสุขและความเชื่อมั่นจากต่างประเทศขึ้น ในเรื่องของความปลอดภัย โปร่งใส เป็นธรรม ก็ทำหมด ความขัดแย้งลดลง มีแต่เพียงกลุ่มที่ไม่ยอมเสียผลประโยชน์ทางการเมือง หรือผู้ที่ไม่เปิดใจยอมรับว่าประเทศไทยนั้นอยู่ในฐานะใด คิดแต่เพียงว่าทุกอย่างดีอยู่แล้ว ถ้าดีอยู่แล้วมันคงไม่เป็นแบบนี้นะ ต่างชาติก็ลังเล วันนี้เขามั่นใจกว่าเดิม ผมก็พยายามจะปรับ พัฒนาการใช้อำนาจของผมให้ดีที่สุด แต่ผมจำเป็นต้องทำเพื่อคนไทยส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนไปแล้วนะ กฎหมาย คงไม่ต้องอธิบายกันอีก มาตรา 44 ที่ว่า อย่ากังวล ไม่ได้ทำความผิดอย่ากังวล สร้างสรรค์ แล้วก็แก้ปัญหาสำคัญให้แก่ประเทศ บางอย่างต้องใช้มาตราแบบนี้ ไม่งั้นมันเดินหน้าไม่ได้ เรื่องความมั่นคง เช่น การรอสถานการณ์ปกติก็จับไม่ได้เหมือนเดิม จับมาก็ต้องมีหลักฐานใช่ไหม เรื่องการผ่อนผัน ผ่อนปรน เรื่องของศาลทหารต้องเข้าใจ ทำผิดในเรื่องที่ห้ามไว้ เรื่องที่ห้ามผมไม่ได้ไปห้ามชีวิตความเป็นอยู่ท่านเลย ห้ามแต่เรื่องที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ผมว่าถ้าอธิบายดี ๆ เขาเข้าใจ แต่ท่านก็หาวิธีอธิบายจนมันไม่เข้าใจ จนเขามาโจมตีประเทศไทย ผมบอกไปแล้วว่าไม่ชอบผม ก็มาว่าผมคนเดียว ก็อยากให้ประชาชนมีความสุขนะครับ พลเมืองทั่วไปอย่ากังวลนะครับ ทำสุจริตชนไม่มีปัญหา รัฐบาลจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้เกิดความเป็นธรรม จะรักษาชีวิตทรัพย์สินของท่านอย่างเต็มกำลังความสามารถ

วันนี้ก็เรื่ององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำลังเดินหน้าอยู่ในเรื่องของการพูดคุยกันในเรื่องของความร่วมมือเรื่องสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย ซึ่งในปัจจุบันนั้นก็ยังไม่ถูกปรับลดนะครับ ได้แจ้งเตือนมาก่อน ให้เวลา เราก็มีปัญหาเรื่องของโครงสร้างการบริหารองค์กร ความเชื่อถือจากต่างประเทศ แต่ความปลอดภัยต่าง ๆ เราก็โอเคอยู่ นักบินก็ยืนยันว่าเรามีมาตรฐานอย่างดีกว่าหลาย ๆ ประเทศด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้มันไม่ทันสมัย บุคลากรตั้งแต่ปี 2548 ผ่านมา 10 ปี แล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข มันก็คงเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานและของรัฐบาลด้วย ไม่เป็นไปตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนด เราต้องเรียกความสำคัญกลับคืนมานะ สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่เร่งด่วนภายใน 30 วัน คือ เราจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพราะโครงสร้างเดิมมันมีเท่านี้ 12 คนเท่านี้ ไม่ทันสมัย เราใช้อำนาจตั้งขึ้นมาใน 30 วัน ทั้งหมดจะใช้เวลา 90 วัน เพราะเขาให้เวลาเราเท่านั้น 30 วันแรก ผมเร่งมานะ 2 เดือน 3 เดือนเป็นต้นไปไม่ได้ ผมให้กรมการบินพลเรือนปัจจุบันทำงานให้ได้ก่อน จัดคนเข้าไป เพิ่มเงินเข้าไป ใช้มาตรา 44 นะ เข้าไปทำ ใช้พ.ร.บ.เดิม มันทำไม่ได้ จ้างคนมาอะไรมา จ้างต่างประเทศมาช่วยสร้างความเชื่อมั่น ต้องทำ 1 เดือนนี้ ต้องทำให้ได้ สั่งงานไปแล้ว ต่อไประยะ 90 วัน ต้องทำให้ได้ คือต้องจัดตั้งกรมควบคุมการขนส่งทางอากาศเครื่องบินมันมากกว่าเดิมหลายเท่านะเป็นแสน ๆ เที่ยววันเดียว คนเท่าเดิมมันไม่ได้ ต้องแบ่งแยกหน้าที่กันใครเป็นผู้กำกับดูแลการประเมินผล ใครจะเป็นหน่วยปฏิบัติที่จะไปประสานงานกับส่วนนั้นส่วนนี้ทั้งในประเทศต่างประเทศ มันไม่มีไม่พร้อม ต้องปรับโครงสร้างมันต้องใช้เวลา 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ถ้าเราใช้มาตรา 44 จะทำได้ไม่เกิน 90 วัน 3 เดือน สั่งไว้ตามนี้ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมก็ตกลงจะเร่งดำเนินการให้ได้ และมีการฝึกอบรมบุคคลากรจากคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศด้วยนะครับที่เกี่ยวกับด้านนี้มาช่วยด้วยมาสร้างความเชื่อมั่นด้วยระยะแรก

เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ เรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน ก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผมให้ความเร่งด่วน มันผิดกฎหมายหลายฉบับ ใช้เวลา ถ้าใช้หลายๆ กระทรวงงานเดียวบางทีมัน 3 4 5 กระทรวง อาจต้องใช้เวลาเป็นปีแก้กฎหมาย กว่าจะบูรณาการได้อะไรได้ วันนี้เราบูรณาการให้ กฎหมายติดเดี๋ยวเราใช้ ม.44 ให้ อย่างนี้เขาเรียกว่าสร้างสรรค์ ไม่อย่างนั้นมันทำไม่ได้หรอก ใช้เวลาเป็นปีๆ แล้วมันไม่ทัน ไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่มีมาตรา 44 มันใช้ไม่ได้ทำไม่ได้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ให้ทำ เพื่ออย่างนี้เท่านั้น

ในเรื่องของการขุดลอกคูคลองในกรุงเทพฯ ต้องเร่งดำเนินการ เดี๋ยวไม่ทันหน้าน้ำ ผมจะให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุดได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ ในการทำงานให้เหมาะสม โดยให้รัฐมนตรีมหาดไทย กทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำ ทหารช่างเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไร คลองต่างๆ ที่มีปัญหาที่คนไปอยู่กัน 4-5 พันครอบครัวจะทำอย่างไร ทำอย่างไรจะไม่เดือดร้อน ทำอย่างไรจะทำงานได้ ปรับรูปแบบอยู่นะครับ เดี๋ยวคงให้ผู้รับผิดชอบมารายงาน มาเรียนให้ท่านทราบต่อไป วันนี้ผมเปลี่ยนแปลงนิดหนึ่ง ผมให้ท่านได้มีโอกาสได้ฟังผู้ปฏิบัติงานด้วย วันนี้ผมเรียนเชิญท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีในกลุ่มของความมั่นคง มาชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องบ้าง เพราะที่ผ่านมานั้น หน้าที่ผมก็คือริเริ่มกำหนดนโยบาย และร่วมกันคิดร่วมกันหารือหาข้อยุติ ประชุมกันไปกันมาหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว และจากนั้นจะไปเป็นผู้ขับเคลื่อนร่วมกับรัฐมนตรีในแต่ละฝ่าย กำกับดูแลด้วยคณะกรรมการพิเศษต่างๆ ที่ตั้งมาหลายสิบคณะ นำมาสู่การปฏิบัติ เร่งรัดประเมินผล สร้างความโปร่งใส ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วยนะครับ ช่วยกันด้วยไม่อย่างนั้นไม่สำเร็จหรอก ที่ผมพูดมาทั้งหมด หรือทำมาทั้งหมดตลอดระยะเวลาของรัฐบาล และ คสช.ด้วย

เพราะฉะนั้นเป็นการทำเพื่ออนาคตนะครับ และต่อๆ ไป สัปดาห์ต่อไปจะมีรองนายกฯ ท่านอื่น เรามีตั้งหลายฝ่าย นอกจากฝ่ายความมั่นคง และมีเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา ยุติธรรม ต่างประเทศ ผลัดวันพูดคุยจะได้เห็นว่า ทุกท่านก็ทำงานเหมือนที่ผมพูด แต่ที่ผ่านมาเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสมาพูด ท่านก็เลยเดี๋ยวจะเข้าใจว่า คนอื่นไม่ทำ เขาทำหมดเขาเหน็ดเหนื่อย แต่เขาไม่ได้ออกมาพูด วันนี้ผมให้โอกาสท่านมาพูดด้วย ท่านมีอะไรก็ถามมา มีอะไรจะติชมวิจารณ์ก็ว่ามาแล้วกัน ขอบคุณนะครับ ขอให้มีความสุข สวัสดีครับ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรักทุกท่าน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนะครับ วันนี้ ให้ผมมากับคณะ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง และเรื่องที่เกี่ยวข้องความมั่นคง ซึ่งกำลังประชาชนสนใจอยู่ขณะนี้ มีด้วยกัน 6 ท่าน รวมทั้งผมอีกหนึ่งท่าน เป็น 7 ท่าน ท่านแรกที่กระผมจะเรียนให้แนะนำคือ 1 ท่าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ท่านจะเรียนชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคง และความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่เราดำเนินการมาว่าอย่างไร และในอนาคตเราจะดำเนินการอย่างไร ท่านต่อไปคือ ท่านปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านจะเรียนชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องประมง ซึ่งเป็นประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ชี้แจงว่า เราทำผิดกฎหมายเรื่องอะไร เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งท่านจะได้รับทราบ ท่านต่อไปคือ ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านจะมาเรียนชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับแรงงาน เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย เกี่ยวกับหลายเรื่อง ซึ่งขณะนี้การทำทิปรีพอร์ตก็ดี ซึ่งเราดำเนินการ รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว 2 ทิปด้วยกัน ส่งไปแล้วให้กับอเมริกา ท่านต่อไปก็เป็น ท่าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านจะเรียนชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาผลกระทบขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอเคโอ ซึ่งเรากำลังสนใจอยู่ขณะนี้ จะได้รับทราบนะครับว่า ดำเนินการในเรื่องอย่างไรบ้าง ท่านต่อไป เป็น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท่านจะเรียนชี้แจงเกี่ยวกับการเยียวยา การช่วยเหลือ การค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายว่า ขณะนี้ เขาได้ไปรับมากี่คนแล้ว ดำเนินการอย่างไรบ้าง ที่ทางรัฐบาลดำเนินการซึ่งท่านจะมาเรียนชี้แจงให้ประชาชนทุกคนนั้นรับทราบ ท่านสุดท้ายคือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ท่านก็จะมาเรียนชี้แจงว่าท่านสนับสนุนการปฏิบัติ การดำเนินการเกี่ยวกับ IUU ยังไง การค้ามนุษย์ท่านได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง และในอนาคตท่านจะทำยังไง นั่นล่ะครับเป็นสิ่งที่ทุกท่านควรจะได้รับรู้ ได้รับทราบ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีท่านเป็นห่วง กลัวว่าทุกท่านจะไม่ได้รับทราบ เพราะทุกคนนั้นได้ร่วมมือกัน ได้ดำเนินการในรัฐบาลนี้ เพื่อจะทำให้กับประชาชน

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร

พี่น้องประชาชนที่รักครับ นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้ามาบริหารประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ทำให้สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองและมวลชนสนับสนุนของแต่ละฝ่ายที่มีกันยาวนานนั้น ยุติลงได้อย่างรวดเร็ว บ้านเมืองของเรากลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ปราศจากการชุมนุมเรียกร้อง การปิดกั้นถนน และการใช้อาวุธเข้าทำร้ายต่อกัน จะเห็นได้จากการที่พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้โดยสะดวก

ทั้งนี้ ในการดูแลความสงบเรียบร้อยนั้น ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งประกอบกำลังร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งจากทหาร ตำรวจ และพลเรือน กระจายกำลังอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการร่วมกับภาคประชาสังคม และประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยมีการปฏิบัติที่สำคัญก็คือการจัดกำลังลาดตระเวนและเฝ้าตรวจบริเวณจุดล่อแหลม พื้นที่เสี่ยง ตลอดจนการตั้งจุดตรวจร่วม และจุดตรวจความมั่นคงตามเส้นทางต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันและป้องปรามการก่อเหตุ หรือการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงโดยกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดี การเข้าตรวจยึด จับกุมอาวุธปืน ผิดกฎหมาย อาวุธสงคราม รวมทั้งสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ เช่น ยาเสพติด และการพนัน ทั้งนี้ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและโอกาสในการก่อเหตุรุนแรง โดยกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งที่ผ่านมานั้นสามารถยึดอาวุธปืน ลูกระเบิดขว้าง และกระสุนชนิดต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังได้จัดกำลังรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่ต่างๆ ในห้วงเทศกาลสำคัญ และในวันหยุดยาว ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนในการสัญจรกลับภูมิลำเนา หรือการท่องเที่ยว และที่สำคัญก็คือการใช้ชุดปฏิบัติการมวลชน และชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน จำนวนถึง 1,188 ชุด ในการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในการที่จะรับฟังความคิดเห็น รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในการที่จะรับฟังความคิดเห็น รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นบังเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยแบบบูรณาการ โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของฝ่ายปกครอง รวมทั้งการบูรณาการเครื่องมือเครื่องตรวจที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องของกล้องซีซีทีวี ได้ดำเนินการใน 62 จังหวัด จำนวนถึง 4 หมื่นกล้องเศษ และเกี่ยวกับเรื่องการให้แสงสว่าง คือโคมไฟฟ้าส่องสว่างจำนวนถึง 237,000 กว่าจุด เพื่อใช้ในทางติดตามและจับกุมผู้กระทำความผิดภายหลังจากการก่อเหตุ เช่น กรณีที่ได้ผลมาแล้วก็คือการวางระเบิดบริเวณศูนย์การค้าสยามพารากอน การขว้างระเบิดใส่ศาลอาญา หรือแม้กระทั่งการโปรยใบปลิวต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติในพื้นที่ต่างๆ เช่น จ.ระยอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐและเครื่องมือที่มีอยู่เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญก็คือความร่วมมือของพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือในการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา คสช.ได้อาศัยกฎอัยการศึกในการดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ เนื่องจากกฎหมายปกติไม่สามารถที่จะใช้ในการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ได้พัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นตามลำดับ คณะรักษาควมสงบแห่งชาติจึงอาศัยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการเตรียมความพร้อมและมาตรการต่างๆ รองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะการเพิ่มมาตรการด้านการข่าวและการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับและในทุกพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบ ทั้งนี้ เพื่อช่วยกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยและความสงบสุข อันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศของเรานั้นพัฒนาต่อไปได้อย่างถาวรและยั่งยืน

ในด้านการจัดระเบียบสังคม ก็ดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการ ได้แก่ การจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถตู้สาธารณะ รถแท็กซี่ หาบเร่แผงลอย รวมทั้งการจัดระเบียบแม่น้ำลำคลอง ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์และความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ โดยจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการดำเนินการนี้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการก็อาจจะกระทบอยู่บ้างต่อพี่น้องประชาชนในบางส่วน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องขอขอบคุณในความเสียสละของพี่น้องประชาชนดังกล่าวเป็นอย่างสูง

ด้านการสนับสนุนในการช่วยเหลือประชาชนในห้วงเวลาที่ผ่านมา ก็มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในปัญหาเรื่องภัยแล้งซึ่งประชาชนได้ประสบปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากถึง 3,051 ตำบล โครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และการสนับสนุนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดับไฟป่าและลดหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น

ทุกท่านคงตระหนักดีว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้ามาขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงในด้านต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ในห้วงเวลาที่ผ่านมาการดำเนินการต่างๆ นั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สุดท้ายนี้ ผมต้องขอขอบคุณท่านพี่น้องประชาชนที่ให้ความมั่นใจและมีความเชื่อมั่นต่อ คสช.และทาง คสช.ก็จะใช้เวลาที่มีอยู่ในการนำพาประเทศชาติและสังคมไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดไป

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

ผมขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคำว่า IUU สักเล็กน้อย ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ I แปลว่า Illegal คือผิดกฎหมาย U แปลว่า Unreported แปลว่าไม่รายงาน และ U คือ Unregulated แปลว่า ไม่มีการกำกับ ไม่มีข้อบังคับ เพราะงั้นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย คือ IUU ความหมายของการทำประมง IUU ถึงครอบคลุมถึงเรื่องการทำประมงที่มีผลกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เช่น ใช้เครื่องมือผิดประเภท ไม่จดทะเบียนเรือ การรายงานการจับ ประมาณสัตว์น้ำที่จับ ทำการประมงโดยฉ้อโกง รวมถึงการค้าแรงงานประมงที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งแม้จะเป็นคนละเรื่องกับไอยูยู แต่ก็ถูกดึงไปเป็นเรื่อง IUUด้วย หลายปีที่ผ่านมา อียู หรือ สหภาพยุโรป ได้ติดตามปัญหาการดำเนินไอยูยู แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะว่า แหล่งประมงยังเปิดกว้าง มีทรัพยากรประมงอยู่มาก และมีผู้บริโภคที่ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้ จึงไม่มีการแก้ไขเป็นกฎหมาย หรือดำเนินการอย่างเคร่งครัดในแบบของไอยูยู แม้จะมีการรายงานสถานการณ์อยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีแนวทางที่จะจัดระเบียบใหม่อย่างเข้มข้นและยั่งยืน ดังนั้น ปลายปี 2557 อียูจึงประกาศใช้มาตรการกับประเทศไทย เรียกง่ายๆ ว่า ใบเหลือง ให้ประเทศไทยปรับปรุงแก้ไขปัญหาไอยูยู เนื่องจากเอ็นจีโอ มีผู้บริโภคก็ดี รัฐบาลของอียูก็ดี ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และวางยุทธการที่จะลดการทำลายสัตว์น้ำ ทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งประเทศที่ถูกเตือน ถ้าไม่แก้ปัญหาจะมีการออกใบแดง ที่มีผลทำให้ไม่สามารถที่จะส่งออกสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในอียูได้ รัฐบาลนี้จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับปัญหาไอยูยู และเริ่มออกมาตรการเด็ดขาดที่แก้ปัญหาการทำประมงไอยูยูอย่างจริงจัง ดังต่อไปนี้

1 ออกกฎหมายประมง ซึ่งปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องปัญหาปัจจุบัน และกำหนดภารกิจการแก้ไขปัญหาไอยูยูให้หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนดำเนินการ

2 ประมงมีการจดทะเบียนเรือประมงเพิ่มเติม จากจำนวน 4,243 ลำ และออกใบอนุญาตทำประมงเพิ่มขึ้น 12,455 ลำ ตามกฎหมาย ซึ่งผลคือทำให้เรือที่จดทะเบียนทำการประมง ทำประมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การออกอาชญาบัตรประมง ยังมีเรือจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถออกอาชญาบัตร เนื่องจากการใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท ซึ่งต้องมีการแก้ไขต่อไปโดยด่วน ระยะต่อไป เราจะจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการทำประมงจำนวน 18 ศูนย์ และศูนย์การควบคุมการแจ้งเข้าออกของเรือประมงที่เรียกว่า PORT IN - PORT OUT 26 ศูนย์ เพื่อตรวจและติดตามป้องกันปราบปรามการทำผิดกฎหมายด้านการประมง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เป็นต้นมา เราพบว่ามีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายประมงจำนวน 252 คดีแล้ว ต่อจากนั้นยังมีการออกระเบียบข้อบังคับให้เรือประมงตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป ติดเครื่องติดตามเรือหรือเรียกว่า VMS เพื่อให้สามารถตรวจสอบตำแหน่งการทำประมงของเรือประมงขนาดใหญ่ได้ และในท้ายที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่า สินค้าประมงที่นำเข้าผลิตหรือส่งออกโดยประเทศไทย ไม่เป็นสินค้าประมงซึ่งมาจากการทำประมงแบบ IUU จึงต้องสร้างระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตรวจสอบว่า สัตว์น้ำที่จับมา หรือได้มาไม่เป็นสัตว์น้ำจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในการดำเนินการดังกล่าว ท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลเรื่องความมั่นคง ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วย ได้เข้าร่วมปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไปด้วย อีกครั้งยังมีการให้ข้อมูลกับอียู เพื่อให้ทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการฝ่ายไทยอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการแก้ไขการทำประมง IUU หรือประมงที่ผิดกฎหมาย อยู่ที่พี่น้องชาวประมง และผู้ประกอบการที่จะร่วมกันหลีกเลี่ยงละเว้นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย ถ้าหากเราไม่ร่วมมือกัน เมื่อเราได้รับใบเหลือง เราจะมีเวลาเพียง 6 เดือนที่จะแก้ไข ถ้าเราไม่แก้ไข อียูจะมีการกีดกันการขายสิน และผลิตภัณฑ์ประมงไทยไม่ให้ส่งออกไป เราจะเสียมูลค่าส่งออกสินค้าประมงถึงปีละประมาณ 2.5 แสนล้าน ขอให้ช่วยกันเถอะครอบ เพราะว่าเราจะได้มีการประมงที่ถูกระเบียบตามกฎสากล มีความยั่งยืนใช้ทรัพยากรของเราได้ชั่วลูกชั่วหลาน ขจัดการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และรักษาตลาดสินค้าประมงเอาไว้ เพื่อเป็นอาชีพลักของคนไทยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกต่อไป ขอบคุณครับ

ดอน ปรมัตถ์วินัย

ปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นการค้าแรงงานทาสในรูปแบบใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับการค้าประเวณี การบังคับการใช้แรงงาน จนถึงการบังคับการใช้แรงงานบนเรือ และการบังคับใช้ขอทาน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสะสมมานานในสังคมไทย เป็นเรื่องที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น และต้องการจะแก้ไขปัญหาทั้งระบบในลักษณะสังคายนา ปฏิรูป เพื่อให้เรื่องนี้พ้นไปจากการเฝ้ามองของนานาประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการกล่าวหาประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่ไร้มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่นานาประเทศบังคับกับประเทศไทย ในรูปแบบของการอันดับความน่าเชื่อถือ อย่างที่เคยได้ยินกันว่า TIP Report ลดลำดับประเทศไทยเป็น Tier 3 หรือแม้กระทั่งที่ท่านได้รับฟังไปเมื่อซักครู่นี้ เป็นการตอบสนองในลักษณะเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในส่วนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราต้องหาทางขจัดแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

รัฐบาลปัจจุบันให้ความสนใจ และพยายามแก้ไขอย่างมากในแง่ของนโยบายทั้งระบบ ระบบก็คือ การจัดคณะกรรมการแห่งชาติซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง มีท่านรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 ท่านรวมอยู่ด้วย มีคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นประธาน นอกจากในแง่ของหลักการ ในแง่ของนโยบาย ในแง่ของโครงสร้าง ยังต้องเร่งดำเนินการทางด้านการแก้ไขกฎหมาย มีการแก้ไขกฎหมายแรงงาน แก้ไขกฎหมายการค้ามนุษย์ มาตรการต่างๆ ภายใต้กฎหมายเหล่านั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ได้จะมีส่วนในแง่ของการค้า ในแง่ของการแก้ปัญหานี้ในระยะยาว เป็นต้นว่าให้การคุ้มครองพยาน ให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ขณะเดียวกันจะเอาผิดกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายทั้งปรับในอัตราสูง และจนถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตในกรณีที่เหยื่อเสียชีวิต เช่นนี้เป็นต้น มาตรการเหล่านั้น ด้านกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาซึ่งเรื้อรังอยู่ และเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเองชี้แจงนานาประเทศ ให้เห็นว่าปัญหาที่เวียนวนอยู่กับประเทศไทยมาหลายปีนั้น บัดนี้ ภายใต้รัฐบาลนี้จะ ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ลักษณะปฏิรูป ในลักษณะที่ต้องการขจัดปัญหานี้ออกไปจากระบบ ขอเรียนเพิ่มเติมด้วยว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งปวงของรัฐบาลเวลาที่ผ่านมา สะท้อนอยู่ในรายงานที่จัดส่งทางสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 มกราคม และ สุดท้ายเพิ่มเติมในรายงานความก้าวหน้า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา รายงานดังกล่าวได้จัดส่งให้อียูด้วย สหประชาชาติด้วย เอ็นจีโอของทุกฝ่าย เพื่อรับทราบว่าการดำเนินการของประเทศไทยนั้น มีความหมดจดสมบูรณ์แบบ เชื่อได้ว่า หากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับทิปรีพอร์ต หรือ IUU ก็ตาม ได้ตรวจสอบอย่างชัดเจนด้วยใจเป็นธรรม จะเห็นความแตกต่าง เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในระยะเวลา 4 เดือน ที่่ผ่านมา ว่า แตกต่างโดยสิ้นเชิง จากการดำเนินการของไทยในปีที่ผ่านมา การเจรจาหารือกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะในกรอบทิปรีพอร์ต ซึ่งขณะนี้ ลดระดับของไทย เรามีความหวังว่า หากเขามีความเข้าใจ และมีจิตตั้งมั่นจริงด้วยความยุติธรรมน่าจะพิจารณา และประเมินผลงานประเทศไทยช่วง 4 เดือน ที่ผ่านมา และน่าจะเป็นผลของการจัดลำดับประเทศไทยใหม่ แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายนัก เราพยายามขอให้เพื่อนเรา ซึ่งเป็นประเทศเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้กำลังใจเราด้วย ในสิ่งที่มีความตั้งใจเป็นพิเศษ แต่จะตั้งใจแค่ไหนอย่างไร อยู่ที่คนไทยกันเอง ที่้ต้องร่วมมือกัน หาทางไม่ละเมิดกฎหมาย หาทางที่จะบังคับใช้กฎหมาย สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ปกครองที่เกี่ยวข้อง และหาทางขจัดปัญหาการทุจริตทุกประการ ที่เกี่ยวโยงกับปัญหาไอยูยู หรือปัญหาทิปรีพอร์ต หากเราสามารถทำการได้เช่นนั้น เป็นที่น่าเชื่อว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย น่าจะบรรเทาเบาบาง หรือหมดไปได้ แต่ทั้งหมดไม่เพียงต้องการความร่วมมือจากพวกเราทุกภาคส่วน ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับโครงสร้างตนเอง ปรับวิธีการทำงานของตน เพื่อจะทำให้ภาพประเทศไทย ปลอดจากปัญหาการค้ามนษย์ มีสังคมปลอดภัย และพ้นจากการที่นานาประเทศพยายามคุกคามด้วยการใช้มาตรการสังคมกับประเทศไทย เชื่อว่า ประเทศไทยเราทำได้ และถ้าทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ณ วันนี้ ประชาชนสามารถจะแจ้งสายด่วนฮอตไลน์ 1300 ในกรณีที่ท่านพบการกระทำความผิดใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รวมทั้งการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เชื่อว่า ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างหนักแน่น ประเทศไทยเราจะมีความภาคภูมิใจ เมืองพุทธของเราจะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเมืองที่ขาดคุณธรรม ไร้มนุษยธรรมอีกต่อไป ขอขอบคุณ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

สวัสดีครับ การบินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานด้านการบิน ความปลอดภัยในการทำการบิน ICAO กำหนดให้มีการตรวจสอบระบบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศภาคีสมาชิก ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล หรือที่เรียกว่า USOAP เป็นประจำ กรมการบินพลเรือนได้รับการตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีสายการบินจดทะเบียนอยู่เพียง 12 สายการบิน ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์ด้านมาตรการการบิน และการบริการอยู่ในระดับพอใช้ และมีข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงแก้ไขหลายประเด็น ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา การพัฒนาด้านการบินของไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันมีสายการบินที่ได้รับอนุญาตจดทะเบียนรวม 64 สายการบิน ในจำนวนนี้เป็นสายการบินที่ทำการบินจำนวน 41 สายการบิน แบ่งเป็นสายการบินที่ทำการบินในประเทศจำนวน 13 สายการบิน และทำการบินระหว่างประเทศจำนวน 28 สายการบิน ซึ่งทำการบินไปยังจุดหมายปลายทางทั่วโลก ทั้งในส่วนของทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ผลการตรวจสอบค้นพบ เมื่อวันที่ 19-30 มกราคม 2558 ขณะผู้ตรวจสอบของ ICAO ได้ดำเนินการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบ การกำกับดูแลความปลอดภัยสากล และกรมการบินพลเรือน สืบเนื่องจากการดำเนินภารกิจด้านการบินของกรมการบินพลเรือน ยังมีความซับซ้อนในเรื่องของการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการเป็นผู้ให้บริการ ตลอดจนจำนวนบุคลากรมีไม่เพียงพอกับคณะทำงาน ผลการตรวจสอบเอาเป็นค่าคะแนน ประสิทธิผลในการดำเนินการในการกำกับดูแล 8 ด้าน พบประเด็นที่เป็นปัญหาหลายประการ อาทิเช่น ปัญหาเรื่องของโครงสร้าง ปฏิบัติหน้าที่ อัตรากำลัง คุณภาพของบุคลากรที่เป็นมาตรฐานของ ICAO เรื่องของการจัดการด้านเอกสาร ระบบการทำงานที่ยังไม่ทันสมัย ขั้นตอนของผู้ดำเนินการเดินอากาศ และขั้นตอนการกำกับใบอนุญาตยังไม่มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICAO ได้ตรวจพบในเรื่องข้อบกพร่องที่น่าสำคัญ ต่อความปลอดภัย หรือที่เรียกว่า Significant Safety Concern (SSC) ใน 2 ด้านคือ

1.กระบวนการรับรองผู้อำนวยการเดินอากาศ หรือที่เรียกว่า AOC และ 2. การอนุญาตทำการขนส่งสินค้าอันตรายที่เรียกว่า Dangerous Goods ดังนั้นผลการตรวจสอบ ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กรมการบินพลเรือนจึงไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน และจะต้องวางแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง และดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ตรวจพบให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น มีดังนี้ 1. ทาง ICAO ได้แจ้งผลการตรวจประเมินผลตามโครงการ USOAP ให้แก่ประเทศสมาชิกทราบทางเว็บไซต์ของ ICAO เพื่อเฝ้าติดตาม 2. เมื่อครบระยะเวลาภายใน 90 วัน หากกรมการบินพลเรือนแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องไม่ได้ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จะเป็นผลต่อเนื่องต่อการถูกลดสถานะลงจนไม่สามารถทำการบินเข้า-ออกยังประเทศสมาชิก ICAO ได้ และจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน และการเดินทางเพื่อติดต่อทางธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในระดับชาติ

มาตรการในภาพรวม กระทรวงคมนาคม โดยผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม กรมการบินพลเรือน และคณะกรรมการกรมการบินพลเรือน ได้เข้ามารับผิดชอบโดยการหารือร่วมกัน และแก้ไขปัญหา โดยได้จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง ที่เรียกว่า Corrective Action Plan และส่งให้ ICAO เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ซึ่งได้รับทราบผลจาก ICAO ตอบแจ้งผลเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ว่า แผนดังกล่าวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ขอให้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง และรายงานให้ทราบต่อไป

ระยะแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 กระทรวงคมนาคม โดยคณะกรรมการการบินพลเรือนได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาจำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลท่าอากาศยานจำนวน 28 แห่ง แทนกรมการบินพลเรือน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ ตลอดจนผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการบินและการบริการ เพื่อดูแลท่าอากาศยานในกำกับดูแลของกรมการบินพลเรือน 2. คณะอนุกรรมการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาขั้นต้น โดยให้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจำนวน 13 คน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกรมการบินพลเรือน จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางระบบด้านกำกับดูแลความปลอดภัย และการปรับปรุงระบบฐานข้อมูล ให้เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนจะเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างของกรมการบินพลเรือนในการเพิ่มอัตรากำลัง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจำนวน 2 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และแก้ไขปัญหาอย่างสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว ได้แก่ 1. คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนของ ICAO มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและกำกับการทั้งปวง เพื่อให้การแก้ไขผลกระทบจากการตรวจสอบของกรมการบินพลเรือนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และประสานงานกับคณะกรรมการการบินพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้โดยตรง 2. คณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนของ ICAO มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผน ดำเนินการ และประสานงานในทุกด้าน เพื่อให้การแก้ไขผลกระทบจากการตรวจสอบของ ICAO เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 45 วัน

นอกจากนั้น ยังมีภารกิจในการดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกิจการทางอากาศของประเทศ ตลอดจนอัตรากำลัง และปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงระบบการทำงาน โดยดำเนินการทั้งสิ้นให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 8 เดือน

สำหรับมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในส่วนของมาตรการระยะสั้น ในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้จัดส่งผู้แทนไปชี้แจงยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26-28 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินของประเทศไทย และให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศไทยในการแก้ไขข้อบกพร่องจากการตรวจสอบของ ICAO และจะได้จัดส่งผู้แทนไปยังประเทศที่มีสายการบินของไทยทำการบิน ทั้งไป-กลับ อาทิเช่น สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศออสเตรเลีย และประเทศเยอรมนี เป็นต้น

สำหรับระยะกลาง และระยะยาว คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินงาน ตลอดจนคณะกรรมการการบินพลเรือน โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กรมการบินพลเรือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบินจากภาคเอกชน จะได้เร่งรัดการดำเนินการตาม Corrective Action Plan ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในกำหนดในแผนงานอย่างรอบคอบและเร่งด่วน โดยจะเสนอใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 เพื่อลดขั้นตอนปฏิบัติตามแผนงานแต่ละด้านตามความจำเป็น

โดยสรุป กระทรวงคมนาคมจะได้เร่งแก้ไขผลกระทบจากการตรวจสอบของ ICAO ต่อกรมการบินพลเรือนให้กลับมามีสถานะที่ได้รับความเชื่อถือให้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่จะครบกำหนด เพื่อให้การดำเนินกิจการการบินของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล และเกิดผลดีต่อสังคม เศรษฐกิจ ของประเทศในภาพรวมต่อไป ขอบคุณครับ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

สำหรับการช่วยเหลือแรงงานไทยที่อัมบน อินโดนีเซีย ในพื้นที่ของเกาะอัมบน เป็นเกาะที่อยู่ห่างจากสุมาตรา ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2,300 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมงโดยเครื่องบิน และก่อนหน้านี้ก็ได้มีการช่วยเหลือแรงงานไทยที่อินโดนีเซีย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ตุลาฯ ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 148 ราย และในจำนวนนี้ก็เป็นจำนวนที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 21 ราย

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับลูกเรือไทยที่ตกค้างในอินโดนีเซียนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศมีรายงานมาก่อนหน้านี้แล้วว่ามี 3 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งกลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่เข้าไปโดยไม่ถูกต้องนัก และถูกจมเรือ มีอยู่ประมาณสัก 50-60 คน หลบหนีอยู่บนเกาะ และกลุ่มที่ 2 นั้นเป็นกลุ่มที่ได้หลบหนีออกจากเรือ และหลบหนีมาอยู่ที่เกาะ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 คน และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่อยู่บนเรือ จำนวนกว่า 200 กว่าลำ มีแรงงานประมงกว่า 2,000 คน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เดินเรือแต่ยังรับเงินเดือนจากนายจ้างอยู่

หลังจากข้อมูลนี้ได้เกิดขึ้น ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้เห็นว่าเป็นภารกิจที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน และมีภารกิจที่ต้องทำหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ซาก การสงเคราะห์ขั้นต้น การรวบรวมหลักฐานทางคดีการค้ามนุษย์ การเยียวยา และการส่งกลับ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทีมไปดำเนินการพิสูจน์ซาก ซึ่งผมได้รับบัญชาการ และครั้งนี้ก็ได้มีการจัดทีม โดยมอบหมายให้กับ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง เป็นผู้รับผิดชอบ ก็มีการจัดหน่วยงานทั้ง 7 หน่วยงาน รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กรมประมง กระทรวง พม. ตำรวจดีเอสไอ รวมทั้งแพทย์ตำรวจด้วย เดินทางไป

ซึ่งก่อนเดินทางไป ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีการเชิญท่านทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยเข้าหารือเพื่อรับทราบข้อมูลและขอความร่วมมือในการพิสูจน์ซากในครั้งนี้ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดทีมลงไปพิสูจน์ซาก ซึ่งเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งการปฏิบัติการที่อินโดนีเซียได้มีการปฏิบัติการหลายเรื่อง ตั้งแต่การพิสูจน์ซากแรงงาน การตรวจสอบเรือ การพิสูจน์ทราบหลุมศพที่ตามข่าว ผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้น ดังนี้ เรื่องแรกมีการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับแรงงานที่เกิดขึ้น ก็พบแรงงานอยู่จริงจำนวน 141 คน ในกลุ่ม 12 คือกลุ่มตกเรือ ซึ่งในนี้เป็นคนไทยจำนวน 17 คน เป็นคนพม่าจำนวน 55 คน เป็นกัมพูชาจำนวน 5 คน และลาว 4 คน และยังมีแรงงานที่อยู่บนเรือ มีการตรวจสอบเรือจำนวน 32 ลำ พบแรงงานกว่า 532 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานที่ประสงค์จะกลับจำนวน 133 คน เราได้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับหลุมศพที่ตามข่าวพบ จำนวน 22 หลุม และวันนี้สามารถพิสูจน์ทราบว่าเป็นคนไทยจริง 2 คน และเรามีการดำเนินการเกี่ยวกับการที่จะส่งเอกสารจำนวนนี้ไปยัง กระทรวงต่างประเทศได้ดำเนินการประสานที่จะเดินทางกลับ ซึ่งจากกลุ่มแรก 141 คนนั้น เอกสารสามารถเดินทางกลับได้ จำนวน 18 คน คาดว่าถึงประเทศไทยวันที่ 10 เมษายน

สำหรับในจำนวนที่เป็นลูกเรือ ที่อยู่บนเรือ ที่สมัครใจ 133 คนนั้น มีกระบวนการที่จะตรวจสอบเอกสาร คาดว่า เอกสารนี้ค่อนข้างจะกลับได้ทั้งหมด อันนี้คือการดำเนินการที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินการต่อไป ผมได้รับนโยบายจากท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่าน ประวิตร วงษ์สุวรรณ คงจะมีแนวทางปฏิบัติ ประการแรกคือ เกี่ยวกับผู้ที่จะเดินทางกลับทั้ง 2 กลุ่ม อันนี้ก็กระทรวงต่างประเทศเป็นคนรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินทางกลับครั้งนี้ และพอถึงประเทศไทย เป็นบทบาทของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่คัดแยก 100% ไปสู่การฟื้นฟู เรื่องแรงงาน รวมทั้งการคุ้มครองที่อยู่อาศัย ซึ่งขั้นต้น ให้ทราบว่า จากการซักถาม มีที่เกี่ยวข้องอยู่ประมาณ 21 ราย สำหรับส่วนเกี่ยวกับกลุ่มที่เป็นชาวต่างชาติ พม่า กัมพูชา และลาว กระทรวงต่างประเทศให้ข้อมูลกับทางสถานทูตประเทศเหล่านี้ เพื่อจะดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผมเรียนว่าการปฏิบัติการครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการช่วยหลือ เยียวยา คุ้มครองเรื่องค้ามนุษย์อย่างยิ่ง โดยยึดหลัก 4 ประการ ด้วยกัน ประการแรกจะดำเนินการเรื่องนี้ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เท่าเทียม และประการที่ 2 คำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน และประการที่ 3 จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และประการที่ 4 จะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับเหยื่อค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมาย ซึ่งเชื่อว่า กระบวนการนี้จะทำให้แรงงานของไทยที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทย ซึ่งขั้นตอนปฏิบัติที่ผ่านมา ใช้เวลามาก แต่ครั้งนี้คงเร็วกว่าที่เป็นปัจจุบันค่อนข้างเป็นเดือน เรียกว่าการปฏิบัติครั้งนี้ จะรับผลสำเร็จพอสมควร หวัดดีครับ

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่รับในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ด้วยการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและความผิดทุกประเภทตามกฎหมาย ขอเรียนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สนับสนุนการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลในทุกด้าน โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุตามที่ได้รับมอบหมาย จากท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีให้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงและกรุงเทพมหานคร ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่เสี่ยงที่เป็นจุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมรวม 366 จุด และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 82 จุด และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม 283 จุด ทำให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นอาชญากรรมมีแนวโน้มลดลง ในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ก็เช่นกัน และการทำประมงผิดกฎหมายได้ทำการกวดขันจับกุมการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้นและจริงจัง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 - มีนาคม 2558 สามารถจับกุมเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ได้แล้ว 70 ราย ผู้ต้องหา 81 คน เป็นความผิดในข้อหาสำคัญ คือ ความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณี 43 ราย ผู้ต้องหา 72 คน ความผิดเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน 18 ราย ผู้ต้องหา 6 คน นอกจากนี้ยังดำเนินการมาตรการป้องกันเชิงรุกเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานที่และกิจการที่เป็นกลุ่มเสี่ยงรวม 268,898 ครั้ง จำแนกเป็น การตรวจแรงงานต่างด้าว 321,985 ราย แรงงานไทย 100,000 กว่าราย สามารถช่วยบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้ 130 ราย จับกุม ผู้ต้องหาตามหมายจับและความผิดซึ่งหน้าและความผิดเกี่ยวกับแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้ถึง 2,000 ราย ในการสนับสนุนการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายได้สั่งการให้ตำรวจน้ำร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่าตรวจเรือประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล รวม 652 ลำ ตรวจแรงงานประมง 9,250 ราย และสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยบริการเบ็ดเสร็จเคลื่อนที่ของกรมประมงในพื้นที่ 22 อำเภอ และศูนย์แจ้งการเข้าออกของเรือประมง (Port in- Port out) 16 สถานี นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนจับกุมเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์รายใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. เครือข่ายนำคนเข้ามาเป็นขอทาน ในพื้นที่ที่เป็นต้นทางคือ จ.สระแก้ว และพื้นที่ที่เป็นปลายทางคือ ที่กรุงเทพมหานคร

2.เครือข่ายนำแรงงานผิดกฎหมายมาเป็นแรงงานทาส หรือที่เรียกว่า แรงงานในเรือประมงในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

3.เครือข่ายการนำโรฮิงญาเข้ามาเพื่อขายแรงงานในประเทศ หรือส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ใน จ.นครศรีธรรมราช

4.เครือข่ายนำแรงงานเด็ก และหญิงลาวเข้ามาลักลอบขายประเวณี หรือบังคับค้าประเวณีในพื้นที่ จ.หนองคาย ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนขยายผล เพื่อที่จะทำการยึดทรัพย์ และดำเนินการต่อนายทุน ผู้ที่ให้การสนับสนุน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการค้ามนุษย์ ซึ่งผมจะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะขุดรากถอนโคนไม่ให้มีการกระทำผิดได้อีกต่อไป และในฐานะที่ผมได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ และเลขานุการของกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีทั้งรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ แบบบูรณาการ ระหว่างทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน และระยะขยายผล โดยเสนอขอความเห็นชอบจากรองนายกรัฐมนตรี และวันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีจะได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนี้ ทั้งกองทัพ ส่วนราชการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมมือขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น และจริงจัง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา โอกาสนี้ผมขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และข้าราชการทุกนาย ทุกพื้นที่ พร้อมที่จะทำงานสนับสนุนรัฐบาล ด้วยความทุ่มเทเสียสละอย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และความเรียบร้อยของสังคมตลอดไป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ทุกท่านคงได้ยินแล้วใช่ไหมครับว่า ทุกหน่วยงานนั้นเราได้ดำเนินการร่วมกันในการที่จะทำให้ประเทศนี้เดินหน้าไปให้ได้ และการดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมานั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้สั่งการทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนนั้นจะต้องช่วยกัน เพื่อให้ประเทศนี้มีความเจริญ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไปครับ ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น