รอยเตอร์ - คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกคำเตือนแก่ไทยในวันอังคาร (21 เม.ย.) จากการที่ล้มเหลวในการปราบปรามประมงเถื่อน พร้อมทั้งขู่จะเลิกนำเข้าอาหารทะเลหากไม่ยอมดำเนินการแก้ไข
อียูยังได้ยกเลิกการเตือนต่อเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ หลังจากที่ทั้งสองชาติมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับพวกทำประมงเถื่อน
นับตั้งแต่ปี 2010 ทางสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ดำเนินการอย่างจริงจังต่อหลายชาติที่ไม่ยอมทำตามมาตรฐานสากลที่ป้องกันการจับปลามากเกินไป อาทิ ตรวจจับเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตในน่านน้ำของตน รวมถึงกำหนดบทลงโทษเพื่อหยุดยั้งการจับสัตว์น้ำแบบผิดกฎหมาย
ไทยได้รับการเตือนที่เรียกว่า “ใบเหลือง” สำหรับความล้มเหลวในการพิสูจน์ให้เห็นถึงที่มาและการจับได้อย่างถูกกฎหมายของปลาที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป
คำแถลงของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า ไทยมีเวลา 6 เดือนในการทำแผนปรับปรุงแก้ไขให้เกิดผล เพื่อนำเสนอและชี้แจงข้อบกพร่องต่อกระบวนการตรวจสอบ ควบคุมและลงโทษของอียู
คาร์เมนู เวลลา คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและการประมง ระบุว่า การใช้กลไกความสำคัญของตลาดยุโรป จะทำให้อียูได้ทำการค้ากับชาติที่มีความสำคัญ ทั้งเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ต่างก็ดำเนินการตอบสนองเป็นอย่างดี ด้วยการปรับปรุงกฎหมายและดำเนินการเชิงรุกต่อพวกทำประมงเถื่อน
ทางคณะกรรมาธิการจะทำงานร่วมกับทางการไทย เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำประมง
สหภาพยุโรปนำเข้าปลาจากไทยเป็นจำนวน 145,907 ตันในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่ากว่า 642 ล้านยูโร
ด้านกลุ่มเอ็นจีโออื่นๆ ที่รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องประมงเถื่อน ต่างพากันพอใจที่อียูออกคำเตือนแก่ไทยในครั้งนี้
“ทางการไทยแทบจะไม่ทำอะไรเลยกับเรือประมงของพวกเขา มีหลายครั้งที่เกิดการทำประมงผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายให้แก่จำนวนปลาและสภาพแวดล้อมทางทะเล” สตีฟ เทรนต์ ผู้อำนวยการบริหารของมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าว
ทางอียูยังบอกด้วยว่า ในแต่ละปีมีปลาประมาณ 11-26 ล้านตัน ซึ่งเป็นสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ของที่จับได้ทั่วโลก ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ปลาเหล่านั้นมีมูลค่าราว 8-19 พันล้านยูโร
ปัจจุบัน ปลาจากศรีลังกา กินี และกัมพูชา ได้ถูกสั่งงดนำเข้าอียูอยู่ในตอนนี้ ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการแก้ไขของรัฐบาลประเทศเหล่านั้น