xs
xsm
sm
md
lg

งามหน้า! หลักฐานชัด ขรก.ประมงส่งซิกให้เรืออวนเถื่อนรีบเผ่นก่อน EU ลงตรวจท่าเรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักงานท่าเทียบเรือประมงสงขลา ส่งหนังสือแจ้งเจ้าของเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาต และลักลอบจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้เร่งระบายสินค้าสัตว์น้ำที่จับมาได้ และห้ามนำเรือมาจอดเทียบท่าในวันที่คณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล ลงพื้นที่ตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย หลังให้ใบเหลืองแก่ไทยมาแล้วก่อนหน้านี้ เชื่อตบตา EU ไม่สำเร็จ ชี้ไม่ต่างจากตำรวจดูต้นทางให้โจรหนี จี้นายกฯ เร่งสะสางปัญหาก่อนถูกใบแดง ส่งออกประมงเจ๊งทั้งระบบแน่

วันนี้ (2 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีหนังสือประกาศท่าเทียบเรือประมงสงขลา โดย นายชัยยุทธ ถมกระจ่าง หัวหน้าสำนักงานท่าเทียบเรือประมงสงขลา เรื่อง การเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจรับรองด้าน I.U.U.Fishing จากคณะผู้แทนคณะกรรมการสหภาพยุโรป หรือ EU

ระบุว่า ด้วยท่าเทียบเรือประมงสงขลา ได้รับแจ้งจากกรมประมงว่าผู้แทนคณะกรรมการสหภาพยุโรป หรือ EU จะตรวจความพร้อมการตรวจรับรองด้าน I.U.U.Fishing ที่ท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) ในวันอังคาร ที่ 31 มีนาคม 2558 นั้น

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ของท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) จึงกำหนดมาตรการสำหรับเรือประมง และการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำในวันอังคารที่ 31 มีนาคม 2558 ดังนี้

1.เรือประมงที่เป็นเรือ I.U.U.Fishing (ไม่มีทะเบียนเรือไทย, ใบอนุญาตใช้เรือ และอาชญาบัตร) รวมถึงเรือทัวร์ ให้ขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำให้แล้วเสร็จภายใน 12.00 น. และให้เรือดังกล่าวห้ามจอดพักเรือบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน)

2.ผู้เช่าอาคารแพปลา ขอความร่วมมือดูแลความสะอาดเรียบร้อยเกี่ยวกับอุปกรณ์ประมง สินค้า สัตว์น้ำ และห้ามกระบะ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ออกนอกอาคารแต่อย่างใด

ท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากท่านจึงขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

 
เกี่ยวกับกรณีนี้ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้“” ว่า หนังสือดังกล่าวเป็นหลักฐานสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า วันนี้การทำการประมงที่ผ่านมามีทั้งเรือเถื่อนที่ไม่มีทะเบียนเรือ มีเรือที่ทำการประมงที่ไม่มีใบอนุญาต และไม่มีอาชญาบัตรมีอยู่จริงๆรวมไปถึงมีการลักลอบจับพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมหาศาลในทุกท่าเรือ เมื่อจะถูกตรวจสอบเลยต้องรีบหาทางปกปิดกัน

“ผมคิดว่าหากมีการตรวจสอบอย่างจริงจังทุกท่าเรือเราก็จะเจอปัญหานี้ไม่มีทางที่จะปิดบังอียูเขาได้หรอก เขากินข้าวเหมือนเราไม่ได้กินแกลบ เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จะต้องกล้าตัดสินใจ ว่าเราจะหาทางรักษาอนุรักษ์ทะเลไทยไว้ให้ลูกหลานมีอาหารทะเลกินตลอดไปหรือยังจะรักษาธุรกิจของคนบางกลุ่มเท่านั้น”

นายบรรจง กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการรักษาทะเลควรใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังเฉพาะหน้าคือ เรื่องเขตพื้นที่ชายฝั่ง 3,000 เมตร ต้องปลอดเรืออวนลาก อวนรุน หากพบว่าพื้นที่ไหนมีการลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำในเขตหวงห้ามตามกฎหมายนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ประมงจังหวัด และประมงอำเภอจะต้องรับผิดชอบ

“จะแก้ปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ไม่ได้อีกแล้ว เนื้อหาในหนังสือชัดเจนว่าที่แท้ข้าราชการส่งซิกให้เรือผิดกฎหมายรอดพ้นจากการตรวจสอบ แต่ที่รู้สึกน่าละอายใจคือ คนดูต้นทางให้แก่ผู้ทำความผิดกลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง ก็เสมือนให้ตำรวจดูต้นทางให้โจรหนี เป็นการสมรู้ร่วมคิดที่มีหลักฐานยืนยันชัดๆ ว่า หน่วยงานช่วยท่านนายกรัฐมนตรีทำงานแก้ไขปัญหา หรือช่วยซุกขยะไว้ใต้พรม อยากเรียนนายกฯ ว่า หากยังเล่นปาหี่กันอย่างนี้ เตรียมรับใบแดงจากอียูได้เลย แล้วเมื่อถึงวันนั้นปัญหาจะแก้ยากขึ้น และความสูญเสียจะตามมามากมาย ไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป” นายบรรจง กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้ามาตรวจสอบการทำประมงไทยของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG-MARE) สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล มีหนังสือรายงานถึงความบกพร่องหลายด้านในการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลไทยในประเด็นการค้ามนุษย์ และเรือประมงผิดกฎหมายใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และเคยแจ้งให้รัฐบาลทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ จึงได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และเกาหลีใต้ ที่ถูกใบเหลืองไปก่อนหน้านั้นคือ เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ขณะที่กัมพูชา กินี และศรีลังกา ถูกใบแดงในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน

การลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้จึงเป็นการตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยว่า มีการแก้ไขตามที่ได้แจ้งให้ทราบก่อนหน้านี้หรือไม่ หากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล พบว่า ยังไม่มีอะไรคืบหน้าก็อาจจะพิจารณาให้ใบแดง และระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น