ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การกดขี่แรงงานและการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการผิดกฎหมาย เป็นปัญหาที่หมักหมมในอุตสาหกรรมประมงไทยมายาวนาน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกคำเตือนที่เรียกว่า “ใบเหลือง” มายังประเทศไทย จากการที่ล้มเหลวในการปราบปรามประมงเถื่อน พร้อมทั้งขู่จะเลิกนำเข้าอาหารทะเลจากไทยหากไม่ยอมดำเนินการแก้ไข
นับเป็นมรสุมลูกที่สองที่ซัดเข้าใส่อุตสาหกรรมประมงของไทยที่มีมูลค่าส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่สหรัฐอเมริกาจัดลำดับปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยให้อยู่ในเทียร์ 3 อันเป็นลำดับที่มีความเลวร้ายที่สุด จากปัญหาการกดขี่บังคับใช้แรงงานในเรือประมง
นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(อียู)ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา นำเข้าจากไทยประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ได้ดำเนินการอย่างจริงจังต่อหลายชาติที่ไม่ยอมทำตามมาตรฐานสากลที่ป้องกันการจับปลามากเกินไป อาทิ ตรวจจับเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตในน่านน้ำของตน รวมถึงกำหนดบทลงโทษเพื่อหยุดยั้งการจับสัตว์น้ำแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ Illegal Unreported and Unregulated Fishing (IUU)
ประเทศไทยได้รับการเตือนสำหรับความล้มเหลวในการพิสูจน์ให้เห็นถึงที่มาและการจับได้อย่างถูกกฎหมายของปลาที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป พร้อมกับให้เวลา 6 เดือนในการทำแผนปรับปรุงแก้ไขและนำไปเสนอให้อียูตรวจสอบรับรองอีกครั้ง
ภายหลังจากการออกคำเตือนของอียูดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ชี้แจงว่า ยังไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปอียูแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แสดงความรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่าอียูมิได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย
พร้อมระบุว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบ IUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก 6 แผนงาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวทางเราก็รับทราบมาก่อน พร้อมทั้งพยายามแก้ไข ซึ่งเราพยายามทุกอย่าง แต่ทางอียูก็ยังไม่พอใจในเรื่องกฎหมายว่าเราลงโทษน้อยเกินไป ซึ่งเรากำลังรอทางอียูส่งเรื่องมาให้ว่ายังไม่พอใจในเรื่องใดบ้าง
ปัญหานี้ไม่ได้มาเพิ่งเกิด แต่เกิดมานานตั้งแต่ปี 2548 เราก็พยายามแก้ไขปัญหาให้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่พอใจในแบบที่เขาต้องการ เราก็ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้อียูรับทราบ ได้มีการปรึกษานายกรัฐมนตรีแล้ว มีความคิดเห็นว่าจะต้องตั้งคณะกรรมเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ
ต่อมา วันที่ 23 เม.ย.พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่อาคารรับรองเกษะโกมล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมที่ประชุมหารือในประเด็นเร่งด่วนตามข้อเสนอของกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล และเห็นว่าควรจะดำเนินการในลักษณะของร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ควบคุมในเรื่องของ IUU โดยตรง และควบคุมการทำประมงนอกน่านน้ำของเรือประมงไทย ทั้งในน่านน้ำของต่างประเทศ และทะเลหลวง โดยจะเสนอในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)และใช้อำนาจตามมาตรา 21 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้กรมประมง กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกันพิจารณาแนวทางดังกล่าว หากสามารถดำเนินการได้ก็ให้เร่งเสนอต่อ ครม.พิจารณา เพื่อให้ทันก่อนที่อียูจะมาตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในเดือนพฤษภาคมนี้
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา 2015 ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ว่า การที่อียูให้ใบเหลืองเป็นเรื่องที่ไม่เกินจากที่คาดการณ์ เพราะมีหลายข้อที่เราปฏิบัติบกพร่องมาเป็นเวลานาน ระหว่างที่ตนเข้ามาก็เข้ามาดูเรื่องพวกนี้แล้ว แต่ไม่สามารถจะรับประกันได้ว่าเขาจะลดหรือเพิ่มให้เราได้เมื่อไหร่ สิ่งสำคัญในเรื่องนี้เราได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ
ฉะนั้นจำเป็นต้องรื้อทั้งระบบมาใหม่ ซึ่งจะเกี่ยวข้องตั้งแต่เรื่องกฎหมาย เรื่อง พ.ร.บ.ซึ่งวันนี้ก็มีแล้วคือ พ.ร.บ.ประมง แต่เพิ่งออกมายังอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อไปต้องเอากฎหมายประมงมาดูด้วยว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ การตรวจตราและความร่วมมือของต่างประเทศต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานได้ และสั่งการในเรื่องที่กฎหมายยังออกมาไม่ทันได้ วันนี้พยายามให้เรือทุกลำมาขึ้นทะเบียนซึ่งเรือประมงมีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก โดยเรือที่มีปัญหาเป็นเรือขนาดใหญ่ประเภทที่ออกไปทำประมงเป็นเวลานานเหมือนกองเรือย่อมๆ มีเรือห้องเย็นตาม เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้บ้าง กฎหมายไม่พอบ้าง การบูรณาการข้ามหน่วยงานทำได้ไม่มาก ตนก็ใช่คำสั่ง คสช.ช่วงประกาศกฎอัยการศึกให้รีบดำเนินการเพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงได้ โดยตั้งศูนย์จดทะเบียนเรือประมง วันนี้จดไปได้ 2-3 หมื่นกว่าลำ ที่เหลือยังจดไม่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าเรือเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เป็นเรือที่ออกไปไกลๆ ฉะนั้นมีโอกาสทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ไม่ใช่การเอามาตรา 44 ไปแก้ IUU หรือแก้ค้ามนุษย์ มันแก้ไม่ได้หรอก เพียงแต่แก้ให้เจ้าหน้าที่ทหารและกระทรวงสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่เช่นนั้นทหารจะเข้ามาช่วยไม่ได้ ข้าราชการก็มีกำลังพลไม่เพียงพอ ในเมื่อกฎหมายอะไรก็ยังไม่มีก็ต้องเขียนคำสั่งลงไปเพื่อให้ทำงานได้ เช่น ให้จดทะเบียนภายใน 30-60 วัน ซึ่งทั้งหมดจะออกเป็น พ.ร.บ.ต่อไป
ส่วนการออก พ.ร.ก.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า พ.ร.ก.แก้ไข IUU นั้นคงไม่มี แต่ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหานี้พอฟังได้ ปัญหา IUU นั้นมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับผู้ประกอบการ เครื่องมือทำประมง จีพีเอส วีเอ็มเอส ตรงนี้ต้องมี พ.ร.ก.ทุกเรื่อง วันนี้ พ.ร.ก.ยังออกไม่ได้ เลยต้องใช้มาตรา 44 สั่งการไปก่อน
“จำไว้ว่ามาตรา 44 เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ไม่ใช่เอาไปแก้มะนาวแพง เรื่องเศรษฐกิจที่แย่ หรือเรื่องประมง มันแก้ตรงนั้นไม่ได้ แต่เอาไปทำให้เกิดการบูรณาการ บังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันให้ได้ เนื่องจากมีการใช้กฎหมายคนละฉบับ กฎหมายไทยเป็นเสียแบบนี้ และทุกกระทรวงก็ทำงานโดยลักษณะแยกกันมาโดยตลอด เราให้เขามารวมกัน
“ผมอ่านหนังสือพิมพ์เห็นลงข่าว นายกฯ ใช้มาตรา 44 ลุยลงโทษ ผมไปใช้ลุยลงโทษไม่ได้ แต่มาตรา 44 คือให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้น จับกุม สืบสวนในกรณีที่เป็นความผิด ที่ผ่านมานั้นเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าที่จะทำ หรือทำแล้วหยุดชะงัก ไปเจอใครอะไรก็ไม่รู้ แต่วันนี้ผมสั่งให้ทำให้เรียบร้อย และนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้” พล.อ.ประยุทธ์อธิบายเรื่องการใช้มาตรา 44
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การใช้มาตรา 44 นั้น ใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว บูรณาการและประสานงานในกรณีติดขัดข้อกฎหมาย แต่เมื่อใช้มาตรา 44 แล้วทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการขึ้นศาลปกติ ไม่ใช่ว่าตนจะใช้มาตรา 44 ไปลงโทษเอง ทั้งๆ ที่ทำได้ แต่ไม่อยากจะทำ
คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์นอกจากจะอธิบายถึงการใช้อำนาจพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาประมงเถื่อนแล้ว ยังสะท้อนนัยว่าเหตุใดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจึงมีมานาน และในช่วงเวลาที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งขึ้นบริหารประเทศ จึงไม่ได้ใส่ใจแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
หรือว่าปัญหานี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างเจ้าของเรือประมงผู้กระทำความผิดกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จากโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมานาน เจ้าของเรือประมง หรือทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังล้วนให้ผลประโยชน์หรือช่วยรักษาฐานเสียงให้แก่บรรดานักเลือกตั้ง ใช่หรือไม่