xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” รับไม่เกินคาด ถูกอียูชักใบเหลือง ลั่นใช้ ม.44 ยกเครื่องปัญหาประมงทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ บอกไม่เกินคาดอียูให้ใบเหลือง หลังไทยปล่อยปัญหาประมงหมักหมมยาวนาน ลั่นไม่สัญญาแก้ปัญหาได้ตามกรอบเวลา 6 เดือน ปลื้มประธานาธิบดีอินโดฯ เข้าใจไทย รับปากดูแลปัญหาประมงร่วมกัน หลังกระทบประมงอาเซียน เตรียมออกคำสั่ง ม.44 แก้ปัญหา ชี้ พ.ร.ก.ไม่ทันใจ ลั่นอย่ากดดัน ส่วนที่ชี้แจงเสียงดังไม่ได้โมโห

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา 2015 ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 21-23 เม.ย. ถึงกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทยในเรื่องการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมว่า ไม่เกินที่คาดการณ์ คิดว่าไม่น่าจะผ่าน เพราะมีหลายข้อที่เราปฏิบัติบกพร่องมาเป็นเวลานาน ระหว่างที่ตนเข้ามาก็เข้ามาดูเรื่องพวกนี้แล้ว ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ที่ลดระดับเทียร์ หลายๆ อย่างให้ดำเนินการมาเป็นลำดับ เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานทำ ต่อมาก็เป็นเรื่อง IUU ที่ให้ใบเหลืองเรา ซึ่งเขาแจ้งมานานแล้วแต่มาตรฐานการทำประมงของเราไม่เป็นรูปธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากนักที่ถูกก็มีแต่ที่ผิดก็เยอะ

“สิ่งเหล่านี้ผมไม่สามารถจะรับประกันได้ว่าเขาจะลดหรือเพิ่มให้เราได้เมื่อไหร่ ผมรับปากไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญในเรื่องนี้เราได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ฉะนั้นจำเป็นต้องรื้อทั้งระบบมาใหม่ ซึ่งจะเกี่ยวข้องตั้งแต่เรื่องกฎหมาย เรื่อง พ.ร.บ.ซึ่งวันนี้ก็มีแล้วคือ พ.ร.บ.ประมง แต่เพิ่งออกมายังอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อไปต้องเอากฎหมายประมงมาดูด้วยว่ามีอะไรที่เกี่ยวจ้องกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ การตรวจตราและความร่วมมือของต่างประเทศต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ และผมบอกแล้วว่าการแก้ปัญหาโดยใช้ มาตรา 44 เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานได้ และสั่งการกฎหมายที่ยังออกมาไม่ทันได้”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้พยายามให้เรือทุกลำมาขึ้นทะเบียนซึ่งเรือประมงมีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก โดยขนาดใหญ่ก็จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือไปแล้วกลับ ใช้เวลาไม่นาน อีกประเภทจะเหมือนกองเรือย่อมๆ มีเรือห้องเย็นตาม อาจจะกลับมาประเทศและอาจไปขึ้นท่าขายที่อื่นได้ จะตระเวนไปเรื่อยหากไม่ได้กลับไทยเลยก็ได้ในเวลานานๆ จากกการสอบถามไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้รับแจ้งว่า เรือประเภทเหล่านี้เป็นปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้บ้าง กฎหมายไม่พอบ้าง การบูรณาการข้ามหน่วยงานทำได้ไม่มาก ตนก็ใช่คำสั่ง คสช.ช่วงประกาศกฎอัยการศึกให้รีบดำเนินการเพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงได้ โดยตั้งศูนย์จดทะเบียนเรือประมง วันนี้จดไปได้ 2-3 หมื่นกว่าลำ ที่เหลือยังจดไม่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าเรือเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เป็นเรือที่ออกไปไกลๆ ฉะนั้นมีโอกาสทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น

“อยากฝากพวกเราว่าการแก้ไขปัญหาอย่าใจร้อนมากนัก เพราะเราลงโทษใครไม่ได้ นอกจากลงโทษตัวเราเองว่าทำไมปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามาเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลนี้จะเร่งรัดดำเนินการอย่างเต็มที่ สำหรับคำว่ามาตรา 44 มาแก้ประมง ไม่ใช่เอามาตรา 44 ไปแก้ IUU หรือแก้ค้ามนุษย์ มันแก้ไม่ได้หรอกครับ เพียงแต่แก้ว่าให้เจ้าหน้าที่ทหารและกระทรวงสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่เช่นนั้นทหารจะเข้ามาช่วยไม่ได้ ข้าราชการก็มีกำลังพลไม่เพียงพอ ในเมื่อกฎหมายอะไรก็ยังไม่มีก็ต้องเขียนคำสั่งลงไปเพื่อให้ทำงานได้ ให้จดทะเบียนภายใน 30-60 วัน ซึ่งทั้งหมดจะออกเป็น พ.ร.บ.ต่อไป ฉะนั้นเหลือเวลาอีก 6 เดือนต้องช่วยกัน ภาคเอกชนต้องร่วมมือกับรัฐ ซึ่งผมได้สั่งการไปยังรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รมว.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ซึ่งทุกคนทราบดีว่าคือปัญหาแต่ไม่ใช่ไม่มีฝีมือเขาทำเต็มที่ อย่างว่าวันนี้โลกมันกว้างขึ้น แต่ละประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ตนเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดีได้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซีย ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยในเรื่องประมง โดยชื่นชมความจริงใจของไทยในการแก้ปัญหาประมงทั้งระบบ จากการพบกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งท่านเข้าใจทั้งหมดหลังจากที่ตนอธิบาย เพราะปัญหาส่วนหนึ่งคือเรือประมงของไทยถูกควบคุมที่อินโดนีเซียจำนวนมากรวมถึงลูกเรือด้วยตนก็สืบต่อพบว่ามีความซับซ้อนเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ทำประมงที่ต่างประเทศพบว่ามีปัญหาเยอะไม่ทำตามระเบียบกฎหมาย แต่เราก็รับกันว่าจะดูแลโดยให้ความร่วมมือกัน และในฐานะที่เราทำผิดก็จะขอการสนับสนุนจากประธานาธิบดีอินโดนีเซียให้ช่วยดูแลเรือประมงไทยรวมถึงลูกเรือที่ถูกกักบริเวณอยู่บนเกาะจำนวนมาก โดยทางประธานาธิบดีอินโดนีเซียรับปากดูแลให้ และตนจะให้ รมว.ต่างประเทศประสานกับอินโดนีเซียต่อไป ถือว่าวันนี้เราพูดจากันดีมากคิดว่าจะร่วมมือกันให้ได้โดยเร็ว และตนยังบอกว่าเราต้องร่วมมือแก้ไข เพราะมีผลกระทบกับรายได้ประมงอาเซียนเพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนดังนั้นแต่ละประเทศต้องร่วมมือกัน

“รู้สึกสบายใจที่ได้คุยกับประธานาธิยดีอินโดนีเซียและท่านก็เข้าใจ ซึ่งอินโดนีเซียจะปิดน่านน้ำ 60 วันเพื่อเคลียร์ โดยระหว่างนี้ก็จะคุยกับไทยว่าแก้ไขปัญหากันอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ตนทำ เมื่อสามารถเคลียร์ได้อะไรถูกอะไรผิดก็ต้องมาว่ากันทางกฎหมาย โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคนไทยที่ถูกควบคุมกลับมา ไทยก็ต้องดำเนินการลงโทษเข้าสู่กระบวนการ และต้องจ่ายค่าปรับเขาอีก สิ่งนี้คือการทำธุรกิจที่ไม่ตรง ฉะนั้นขอฝากไปยังธุรกิจอื่นๆ ด้วย”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกปัญหาที่เราทำทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาง่ายๆ กับสถานการณ์และเศรษฐกิจเช่นนี้ ต้องแก้เป็นระบบหากกดดันมากๆ ก็จะเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติและความเข้าใจของประชาชน ดังนั้นต้องดูด้วยว่าปัญหา IUU มีกี่ข้อ และเกี่ยวกับหน่วยงานไหนบ้าง มีกฎหมายอะไรบ้างและรัฐบาลได้สั่งอะไรไปแล้วบ้างแล้วค่อยเสนอแนะ ไม่ใช่มาบอกว่าทำไม่สำเร็จ มันสำเร็จไม่ได้อยู่แล้วตนไม่เคยรับปากว่าจะทำสำเร็จภายใน 4-5 วัน หรือภายใน 6 เดือน แต่เราก็มีเวลาอีก 6 เดือนที่จะทำให้เสร็จโดยเร็ว จะทำอย่างไรให้เรือจดทะเบียนได้หมดพร้อมติดจีพีเอส ที่ผ่านมาละเลยมานาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้คำสั่ง คสช.อาศัยอำนาจมาตรา 44 เพื่ออุดช่องโหว่ในข้อกฎหมายใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จำไว้ว่ามาตรา 44 เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ไม่ใช่เอาไปแก้มะนาวแพง เรื่องเศรษฐกิจที่แย่ หรือเรื่องประมง มันแก้ตรงนั้นไม่ได้ แต่เอาไปทำให้เกิดการบูรณาการ บังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันให้ได้ เนื่องจากมีการใช้กฎหมายคนละฉบับ กฎหมายไทยเป็นเสียแบบนี้ และทุกกระทรวงก็ทำงานโดยลักษณะแยกกันมาโดยตลอด เราให้เขามารวมกัน นี่คือมาตรา 44

ต่อข้อถามว่าเป็นการให้อำนาจแก้เจ้าพนักงานใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ ทั้งหมดนั้นออกมาเป็นคำสั่ง โดยคำสั่งของตนคือกฎหมาย ในระหว่างที่ตนสั่งไปนั้นจะต้องไปทำให้ถูกต้อง ครบถ้วนกระบวนความ เพราะถ้าเข้าสู่สภาฯก็คือข้อความเดียวกัน ตนเห็นว่าเรื่องไหนมีความจำเป็น จะออกเป็นคำสั่งมาให้ก่อน เพราะกระบวนการออกกฎหมายมีความล่าช้า

ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน ระบุว่าจะมีการออก พ.ร.ก.เพื่อแก้ปัญหานี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า บางเรื่องที่ใช้พระราชกำหนดได้ก็ใช้ บางเรื่องก็ต้องใช้ มาตรา 44 เช่น ขั้นตอนการออกพระราชกำหนดนั้นใช้เวลานาน และจะแก้ปัญหาได้ทันหรือไม่ ฉะนั้นถ้าเราสามารถแยกได้ และรอ พ.ร.ก.ได้ก็ไปทำ แม้กระทั่งเรื่องการทุจริต ตนอ่านหนังสือพิมพ์เห็นลงข่าว นายกฯ ใช้มาตรา 44 ลุยลงโทษ ตนไปใช้ลุยลงโทษไม่ได้ แต่มาตรา 44 คือให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้น จับกุม สืบสวนในกรณีที่เป็นความผิด ที่ผ่านมานั้นเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าที่จะทำ หรือทำแล้วหยุดชะงัก ไปเจอใครอะไรก็ไม่รู้ แต่วันนี้ตนสั่งให้ทำให้เรียบร้อย และนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้

ทั้งนี้ เรื่องของความผิดที่ให้ความสนใจกันว่าจะต้องไล่ออกเท่าไหร่ ตนคิดว่ามันไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ แต่เพราะตนต้องการสรุปว่า ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 มีคดีสำคัญกี่คดี และอยู่ในขั้นตอนไหน ตนจะนำมาดูและพิจารณากับ ครม.หรือฝ่ายกฎหมายว่ารายไหนที่มันหนัก แล้วจะทำอย่างไร ถ้าอยู่ในหน้าที่แล้วจะมีผลต่อการสืบสวนหรือไม่ ถ้าไม่มี กระทรวงก็ตั้งกรรมการสอบสวนไป โดยเท่าที่ตนได้ดู ทุกกระทรวงนั้นมีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมานั้นช้าจึงได้เร่งรัดไป

“พ.ร.ก.แก้ไข IUU นั้นไม่มีหรอก แต่ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหานี้ พอฟังได้ ปัญหา IUU นั้นมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับผู้ประกอบการ เครื่องมือทำประมง จีพีเอส วีเอ็มเอส ตรงนี้ต้องมี พ.ร.ก.ทุกเรื่อง วันนี้ พ.ร.ก.ยังออกไม่ได้ เลยต้องใช้มาตรา 44 สั่งการตรงนี้ก่อน ซึ่งเมื่อผมไป คำสั่งก็เลิกหมดแล้ว”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การใช้มาตรา 44 นั้น ใช้ให้เกิดความรวดเร็ว บูรณาการและประสานงานในกรณีติดขัดข้อกฎหมาย แต่เมื่อใช้มาตรา 44 แล้วทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการขึ้นศาลปกติ ไม่ใช่ว่าตนจะใช้มาตรา 44 ไปลงโทษเอง ทั้งๆ ที่ทำได้ แต่ไม่อยากจะทำ ทั้งนี้การแก้ปัญหา IUU ได้มีคำสั่งมาตั้งแต่ช่วงที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่แล้ว และคำสั่งเหล่านั้นยังมีผลบังคับใช้อยู่ทั้งหมด ถ้าตนยังไม่ได้บอกยกเลิก จะเห็นได้ว่าหลังจากมีการยกเลิกกฎอัยการศึก ตนจะออกเป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจ มาตรา 44 แทน โดยในเรื่องเดียวกันนั้น คำสั่งของ คสช.ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาการจัดลำดับการค้ามนุษย์ที่ใกล้จะครบกำหนดแล้ว มีแนวโน้มว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะมีแนวโน้มอะไร แก้ให้ได้ก็แก้ได้ เช่นเดียวกับปัญหาการจรวจสอบกรมการบินพลเรือน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ที่มีข้อบังคับกว่า 500 ข้อ วันนี้คัดมา 33 ข้อในระยะที่ 1 เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องใช้ระยะเวลาในการทำต่อ ซึ่งการทำงานนั้นต้องคลี่ออกมาดู ไม่ใช่วันนี้ทำ พรุ่งนี้แก้ มะรืนเสร็จ

ส่วนการแก้ปัญหาค้ามนุษย์นั้นมีข้อกฎหมายอีกเยอะ ทั้งแรงงานบนเรือ ขอทาน โสเภณี แรงงานผิดกฎหมาย เคยมีการทำทั้งระบบแบบนี้หรือไม่ เคยมีการดูแลเหยื่อไหม เคยเอาตัวกลับมาได้จริงๆ เท่าไหร่ ปล่อยให้สื่อต่างประเทศเอาไปโจมตี ไปถามจากเหยื่อที่ถูกขังอยู่นั่น แล้วเขาจะพูดดีหรือ วันนี้เราเอากลับมา หาอาชีพให้ ดูแลทุกอย่าง แต่จะมาทำให้เร็วนั้นจะทำได้อย่างไร เพราะเราเป็นคนทำผิดกติกาเขา เราไม่ได้ร่างกติกา มันเป็นเรื่องของสากล ฉะนั้นเราต้องพยายามอย่างที่สุดในการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ แต่ไม่ใช่จะมาตีเส้นว่าภายในตอนไหน ตนทำให้ไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้มาตรา 44 หรืออีกร้อยมาตราก็ทำไม่ได้ เพราะมาตรา 44 มีเพียงอำนวยความสะดวก ตนพยายามเต็มที่ สั่งมาโดยตลอด ท่านบอกว่าให้มาแก้ปัญหาค้ามนุษย์โดยเร็วใน 60 วัน เช่นเดียวกับปัญหาประมงผิดกฎหมายเหมือนกัน เส้นตายนั้นมันตายไปนานแล้ว จะมาเส้นตายอะไรตอนนี้

เมื่อถามถึงการกดดันจะคว่ำบาตรทางการค้ากับไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คว่ำบาตรอะไร มันยังไม่ถึง อย่าเพิ่งไปลงโทษขนาดนั้น ถ้าเรากังวลอย่างนี้แล้วมันไปไม่ได้ จะกังวลไปทำอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันนี้ที่ประชุมสภาสูงสหรัฐฯ จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมด้วยนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังว่า ก็เข้าไปสิ ตนเข้าไปสภาเขาได้ไหม นั่นเป็นสภาของเขา แล้วคุณทำผิดสภาเขาหรือไม่ ทำผิดเฉพาะสภาไทยยังไม่พอหรือไง จะต้องไปยุ่งกับสภาอื่นด้วยหรือไง ตนไม่เข้าใจคนไทย ซึ่งเรามีหน้าที่ทำให้เขาเข้าใจ ทำอย่างจริงจังและประสานกับเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เราจะประสานหมด ตอนนี้ตนได้มีการคุยกับระดับผู้นำแล้วว่าจะต้องมีการทบทวนเรื่องการประมงใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยคุย ต่างคนต่างเสรีกันไป นั่นคือความคิดตนและได้ให้ไปหาข้อมูลแล้วว่า ถ้าเราทำประมงในลักษณะร่วมกันจะได้หรือไม่ เป็นกองเรือประมง ไทยไม่ค่อยมีลูกเรือ ไปเอาลูกเรือเขามาได้หรือไม่ และใช้เรือเราเข้าไปจับในพื้นที่ ก่อนนำมาแบ่งสรรปันส่วนกันไป ส่วนเรือขนาดเล็กก็มีการแบ่งสัมปทาน ไปเร็วกลับเร็ว ไม่ต้องแยกเรือ มีใครเคยคิดให้แบบนี้ไหม ตนบอกเลยว่าไม่มี เพราะที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องๆ วันๆ ไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การหารือกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นจะมีการหารือกันอีกที ประธานาธิบดีอินโดนีเซียนั้นเห็นด้วยแล้ว แต่ไม่ใช่พูดวันนี้แล้วพรุ่งนี้จัดกองเรือ เรากำลังตั้งคณะทำงานเรื่องประมง ไม่ใช่ในเรื่องของการประมงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการนำเข้า-ออกสินค้า และต่อมาตนต้องมาสั่งกับกระทรวงและคณะทำงาน ดูข้อกฎหมายว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่ส่งสินค้าอะไรไปก็ได้ ส่วนเรื่องเขาจะมาลงทุนเราก็บอกว่าต้องการแบบใด

ส่วนที่ภาคเอกชนเสนอให้จ้างล็อบบี้ยิสต์เข้าไปเจรจากับสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีการพูดคุยอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องไปจ้างล็อบบี้ยิสต์ พูดกันแบบลูกผู้ชายนี่แหละ ถ้าเป็นล็อบบี้ยิสต์ตนก็ไม่พูด มันเปิดเผยได้หรือล็อบบี้ยิสต์ มันเสียตั้งแต่คนทำและคนให้ล็อบบี้ทั้งหมด มันต้องเปิดเผยและตนต้องการให้ทุกคนเห็นว่าเมื่อทำไม่ดีก็ต้องแก้ไข ไม่ใช่ปิดบังซ่อนเร้นและเกิดปัญหาทั้งระบบ อย่าลืมว่าตนเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่เข้ามาสร้างปัญหาเลยแม้แต่อย่างเดียว แต่ก็จะไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะอาสาว่าจะเข้ามา แต่ถ้าคิดว่าตนทำไม่ครบ ไม่ได้ใช้ล็อบบี้ยิสต์ ไม่ได้ออก พ.ร.ก.ก็ต้องไปขอรัฐบาลใหม่ แล้วดูว่าจะทำได้อย่างที่ตนทำหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ให้ความมั่นใจได้หรือไม่ว่าปัญหาประมงที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมไม่ได้สัญญา และผมบอกแล้วไงว่าถ้าเรื่องใดไม่สำเร็จ ผมสัญญาไม่ได้ เพราะผมไม่ได้เป็นคนตัดสิน แต่ยืนยันว่าผมทำงานอย่างเต็มที่ ทำทุกมิติทั้งในและต่างประเทศ และหากสงสัยก็ให้ไปหามาว่าที่ผ่านมาผมได้ทำงานหรือเปล่า ให้ยกตัวอย่างมาสัก 10 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องเทียร์ และไอยูยู เรื่องนี้มีการแจ้งมาหลายปีแล้ว ผมสามารถตอบได้ว่ารัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง การชี้แจงของผมอาจจะเสียงดังหน่อยแต่ไม่ได้มีปัญหาอะไร และไม่ได้เกี่ยวกับสื่อ แต่เครียดกับปัญหา ขอให้ได้พูดและทำความเข้าใจ ส่วนใครจะไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องของเขา แต่จะมากดดันเรามากๆ ไม่ได้ เพราะเราเข้ามาทำโดยไม่ได้ถูกเลือกเข้ามา ถ้าผมถูกเลือกเข้ามาท่านสับผมได้เลย แต่ก็คงไม่ได้เลือกผมเข้ามาแน่ เพราะผมไม่รับเลือกอยู่แล้ว อย่าลืมว่าทุกอย่างมันมีปัญหา ผมถึงต้องใช้มาตรา 44 ถ้าไม่ใช้ก็ทำไม่ได้ทั้งหมด จึงต้องให้ชะลอเรื่องต่างๆ และนำเอามาตรา 44 เข้ามา”


กำลังโหลดความคิดเห็น