ผ่าประเด็นร้อน
ทำไปทำมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำเป็นต้องงัดอาวุธสำคัญอย่างมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาใช้สำหรับจัดการกับบรรดาข้าราชการทุจริต รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือผ่าตัดบางหน่วยงานในระบบราชการที่สร้างปัญหาสร้างผลกระทบต่อการบริหารบ้านเมืองมานาน
ขณะเดียวกัน นี่อาจเป็นไม้ตายสุดท้ายของเขาที่ต้องนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนตามเส้นทางโรดแมปที่กำหนดเอาไว้ เนื่องจากมีเวลาจำกัด เพราะหากใช้วิธีกาตามปกติ เมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาคงมองออกแล้วว่าทุกอย่างอาจต้อง “เสียเวลาเปล่า” อาจจบไม่สวยแน่
ความเคลื่อนไหวที่ชี้ให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังดำเนินการในภารกิจสำคัญจากการเรียกประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทำงานต่างๆ ต้องเร่งรัดให้เดินหน้าได้ โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน แต่หากดำเนินการตามระบบมีความล่าช้าก็จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อกให้การทำงานเร็วขึ้น เพราะรัฐบาลมีเวลาจำกัด แต่ต้องใช้ด้วยความเป็นธรรม รัดกุมและถูกต้อง หากพบว่ามีผู้กระทำความผิด ทุจริต ก็ต้องดำเนินคดี และสิ่งเหล่านี้ทุกรัฐบาลก็ต้องทำเช่นกัน ประชาชนต้องเรียนรู้ว่าหากกระทำความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี ยอมรับว่าการทำงานมีปัญหามาก เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมถูกครอบงำ ทำให้การทำงานต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ถึงวันนี้ข้าราชการทุกคนต้องทำงาน หากมีปัญหาติดขัดก็ให้แจ้งมา
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม กล่าวว่าเวลานี้มีรายชื่อข้าราชการที่กระทำผิด ส่อไปในทางทุจริตอยู่ในมือนายกฯ วันนี้เป็นข้าราชการจึงต้องหาวิธีการจัดการ จากนี้ไปจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาลเกิดขึ้นเพื่อจัดการกับคนบางประเภท โดยการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะเกิดขึ้นจะทำกับบุคคล 3 ประเภท คือ 1. ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง 2. สับเปลี่ยนเพื่อประสิทธิภาพของงาน และ 3. คือผู้ที่ถูกส่งรายชื่อมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าทั้งกว่า 100 คนที่มีทั้งข้าราชการผู้ใหญ่และผู้น้อย บางกรณีเป็นข้าราชการระดับสูง อาจหาตำแหน่งรองรับปกติยาก ต้องเอาออกจากกระทรวงที่สังกัด โดยหาตำแหน่งมารองรับ
“หัวหน้า คสช.อาจต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อสร้างตำแหน่งใหม่รองรับ โดยเอาคนเหล่านี้ออกมา โดยให้หลักประกันว่าเป็นมาตรการชั่วคราว เมื่อการสอบสวนดำเนินการแล้วพบว่าไม่มีความผิดก็กลับไปตำแหน่งเดิม แต่ถ้าผิดต้องถูกดำเนินคดี เหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการเพราะกระบวนการปกติล่าช้า อาจใช้เวลาหลายเดือน ตำแหน่งที่จะให้บุคคลที่โดนโยกย้ายเข้ามารัฐบาลกำลังตัดสินใจ แต่ไม่ให้อยู่กระทรวงเดิมแน่นอน ทุกคนอาจจะมาประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี หรือเป็นที่ปรึกษานายกฯ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากใช้คำว่าสุสานคนโกง เพราะหลายคนสุดท้ายเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร”
ได้ยินคำพูดของแต่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้เห็นสัญญาณเข้มขึ้นมาทันทีว่า นับจากนี้ไปอีกไม่นานเกินรอคงจะมีการใช้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 เหมือนกับที่เคยออกคำสั่งโยกย้ายในกระทรวงศึกษาธิการที่ย้ายข้าราชการระดับบิ๊ก 6 รายไปแล้ว
และคำพูดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ที่เคยระบุว่ากำลังเสนอรายชื่อข้าราชการชุดใหม่ที่มีจำนวนประมาณ 200 คน ไปให้หน่วยงานต้นสังกัดได้พิจารณาดำเนินการทางวินัย
หรือแม้แต่กรณีที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดเอาไว้หลังจากได้เห็นรายชื่อข้าราชการจำนวน 100 รายที่ ส่อไปในทางทุจริตและคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการไปแล้วว่า คิวต่อไปที่จะต้องเข้าไปจัดการก็คือ “กรมที่ดิน” และ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นั่นก็ย่อมทำให้หลายคนต้องหนาวๆ ร้อนๆ เพราะ “นี่คือสัญญาณแรงมาก”
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันก็ต้องบอกว่า มาตรา 44 ถือว่าเครื่องมือสำคัญในการขจัดอุปสรรคด้านเวลา และฝ่าสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังที่งัดออกมาใช้ปรับโครงสร้างในกรมการบินพลเรือน (บพ.) ที่กำลังโดนองค์การการบินระหว่างประเทศลดเครดิตการทำงานและขีดเส้นให้แก้ไข รวมไปถึงเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ทั้งสองเรื่องหลังหากแก้ไขไม่ทันการณ์หรือไม่เป็นที่น่าพอใจจะมีผลกระทบต่อธุรกิจและรายได้จากการส่งออกจำนวนมหาศาล และที่สำคัญยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศให้เสียหาย
ทุกเรื่องที่กล่าวมาล้วนเป็นเรื่องของการทุจริต ความไร้ประสิทธิภาพที่หมักหมมกันมานานและเพิ่งมาแตกดังโพละเอาในช่วงเวลาสำคัญนี้พอดี
ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หันมาใช้มาตรา 44 เพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตโดยเฉพาะกับข้าราชการ และผ่าตัดโครงสร้างหน่วยงานราชการแบบเอาจริง ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะเหลือเวลาจำกัด หากไม่ใช่เครื่องมือพิเศษอาจไม่ทันการณ์ ทุกอย่างก็จะล้มเหลวสูญเปล่า อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณให้พวก “เกียร์ว่าง” ได้เห็น และที่สำคัญนี่คือการกระตุ้นศรัทธาจากชาวบ้านให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากเริ่มถดถอยลงไปไม่น้อยจากเรื่องปากท้องที่ยังแก้ไม่ตก!!