xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.แจงผลงานในรอบ 6 เดือน รับมี ขรก.ในสังกัด 5 ราย เอี่ยวคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กระทรวงยุติธรรม แจงผลงานในรอบ 6 เดือน ภายใต้แนวคิด “ยุติธรรมก้าวหน้า” ยันมีข้าราชการในสังกัด 5 รายชื่อ เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน จากทั้งหมด 198 รายชื่อ

วันนี้ (22 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัด ยธ. ในฐานะโฆษก ยธ. ร่วมแถลงผลงานของกระทรวงยุติธรรมในรอบ 6 เดือน ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ภายใต้แนวคิด “ยุติธรรมก้าวหน้า” โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ร่วมรับฟัง

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้นำนโยบายของรัฐบาลมาผลักดันและขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2. การพัฒนาพฤตินิสัย แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และป้องกันการกระทำผิด 3. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 4. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และ 5. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยมีผลการดำเนินงานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ที่เน้นให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนในที่ตั้งขององค์กรท้องถิ่น จำนวน 312 ศูนย์ ในพื้นที่ 18 จังหวัด และวางแผนจะจัดตั้งให้ครบทุกตำบล จำนวน 7,255 ศูนย์ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. นี้

2. ด้านการสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย ซึ่งได้ปฏิรูปการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยมีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. ... ทั้งนี้ในการเสนอยกร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ นั้น เพื่อบริหารจัดการงานราชทัณฑ์ใน 2 มิติ คือ 1. การปรับปรุงโครงสร้างและระบบการทำงานราชทัณฑ์ และ 2. การปรับปรุงโครงสร้างระบบพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ในส่วนของ พ.ร.บ.คุมประพฤติ นั้น จะปรับปรุงบทบัญญัติให้อำนาจศาลสามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจได้ทุกคดี

3. ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากการปฏิบัติโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย โดยความร่วมมือ 4 ประเทศ คือ จีน ลาว เมียนมาร์ และ ไทย ซึ่งสามารถจับคดียาเสพติดได้ 3,062 คดี ผู้ต้องหา 3,398 คน พร้อมยึดอายัดทรัพย์สินได้ รวมมูลค่ากว่า 116 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังสามารถยึดสารตั้งต้นและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดได้ 167.175 ล้านเม็ด เป็นจำนวนเงินประมาณ 8,357.750 ล้านบาท

4. ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการภายใต้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยในส่วนของ ปปง. มีการเสนอแก้ไขกฎหมายในส่วนหลังศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ที่ยึดได้จากผู้กระทำผิดตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งกฎหมายที่เสนอแก้นั้นเกี่ยวกับทรัพย์ที่ยึดจากผู้กระทำผิดจะนำมาเยียวยาผู้เสียหายในคดีนั้นๆ

นอกจากนี้ ในส่วยที่ ศอตช. ได้รวบรวมรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน จำนวน 198 รายชื่อ ให้แก่นายกรัฐมนตรีนั้น มีข้าราชการสังกัดกระทรวงยุติธรรมในจำนวนนั้น 5 รายชื่อ โดยเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีรายชื่อที่ถูกชี้มูลแล้วประมาณ 2 - 3 ราย โดยตนได้สั่งการให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งหน้าที่แล้ว ทั้งนี้ รายชื่อที่มีอยู่ทั้งหมด 198 รายชื่อนั้น มีทั้งที่ชี้มูลความผิดแล้วและยังไม่ได้ชี้มูลความผิด ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้กฎหมาย มาตรา 44 ในการดำเนินการหากพบว่ามีความผิด ในวันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ตรวจสอบรายชื่อเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเอารายชื่อแนบท้าย ก่อนประกาศใช้ มาตรา 44 ส่วนอีกกลุ่มก็จะให้ทางรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง ดำเนินการตามกฎระเบียบ
กำลังโหลดความคิดเห็น