“บิ๊กต๊อก” สั่งอธิบดีราชทัณฑ์ ส่งรายชื่อผู้ต้องขังที่ได้รับอภัยโทษ 38,000 คน ให้ 3 หน่วยงานช่วยดูแลไม่ให้กระทำผิดซ้ำ พร้อมเผยแนวคิดอุดหนุนเงินค่าแรง 30 เปอร์เซ็นต์ แก่บริษัทเอกชนที่รับคนกลุ่มนี้เข้าทำงาน
วันนี้ (15 พ.ย.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมาตรการและแนวทางการรองรับผู้ต้องโทษหลังได้รับการปล่อยตัวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดระบบรองรับการปล่อยผู้ต้องโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชอภัยโทษ จำนวน 38,000 คน ทั้งนี้ สังคมอาจมีข้อห่วงใยในการกลับมาใช้ชีวิตในสังคม ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลยมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประชุมหารือ ในการคิดระบบรองรับคนกลุ่มนี้ให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก กระทรวงยุติธรรมในฐานะเจ้าภาพจึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
สำหรับมาตรการที่จะมารองรับระบบการปล่อยตัวจะมี 2 ระยะ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว แต่ตอนนี้ต้องทำในระยะสั้น ระหว่างรอการปรับแก้กฎหมายราชทัณฑ์ฉบับใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ตอนนี้มีกลุ่มบุคคลจำนวน 38,000 คนได้รับปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ทางกระทรวงยุติธรรมเห็นควรที่จะส่งรายชื่อทั้งหมดให้กับกระทรวงมหาดไทย โดยได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ รับไปดำเนินการ เพื่อติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนคนเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายถึงการติดตามตัวเหมือนผู้ที่ถูกคุมประพฤติ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องขัง แต่เป็นคนทั่วไปปกติ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องมีระบบเข้าไปช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีสภาพชีวิตที่ปกติ มีงานทำ นอกจากนี้จะนำระบบชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่บ้านเข้าไปดูแล เหมือนลูกหลานในครอบครัว
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ในส่วนมาตรการระยะยาวนั้นต้องหารือร่วมกันเพื่อตกลงว่าจะยกร่างเป็นกฎกระทรวง หรือรูปแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน หรือต้องเขียนเพิ่มไปในกฎหมายราชทัณฑ์เลยหรือไม่ เพื่อจะให้หน่วยงานทั้ง 3 หน่วยเข้ารองรับในระบบลักษณะการปล่อยตัวผู้ต้องขังเช่นนี้ อย่างน้อยเป็นการยืนยันได้ว่าในอนาคตภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้อย่างจริง ถาวร เป็นรูปธรรมยั่งยืน
“ไม่มีอะไรที่ทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยการมีระบบรองรับ ดีกว่าไม่มีอะไรเลย การเดินไปหาที่บ้านถามสารทุกข์สุกดิบใส่ใจเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ดูแลเรื่องอาชีพการงาน มันเป็นอีกรูปแบบที่รัฐเข้าไปช่วยจริงจัง หรือถ้าคนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือก็จะสามารถเดินไปหาที่พึ่งได้ จะได้ไม่ต้องกลับไปทำผิดแบบเดิม” รมว.ยุติธรรมกล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์ยังระบุว่า มีแนวคิดจะนำระบบที่ภาครัฐอุดหนุนบริษัทเอกชนที่รับกลุ่มคนเหล่านี้เข้าทำงาน โดยรัฐอาจสนับสนุน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนกลุ่มคนเหล่านี้คล้ายกับที่ประเทศญี่ปุ่นทำ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่กำลังคิดว่าจะทำในรูปแบบใด และไม่อยากให้สังคมวิตกมากเกินไป ในการปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพราะในความเป็นจริงแล้วอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทุกวันก็ไม่ได้หมายความว่ามาจากคนกลุ่มนี้ คนธรรมดา ปกติที่ใช้ชีวิตอยู่เรือนจำก็ก่ออาชญากรรมได้ ตอนนี้รัฐกำลังหาระบบสอดส่องดูแล คนกลุ่มนี้และสิ่งสำคัญคือต้องไม่ไปกระทบสิทธิคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะพวกเขาไม่ใช่นักโทษ ซึ่งระบบที่คิดขึ้นต้องไม่สร้างความอึดอัด และการที่กระทรวงมหาดไทยจะเข้าไปช่วยดูแลคนกลุ่มนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี อยากให้เชื่อมั่นระบบที่ภาครัฐกำลังคิด