xs
xsm
sm
md
lg

ชงแก้กฎหมายราชทัณฑ์ฉบับใหม่ เพิ่ม 50 มาตรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์
ยธ.ชงแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับใหม่ เพิ่มรายละเอียดกว่า 50 มาตรา อาทิ แยกขังนักโทษตามประเภทเรือนจำ

วันนี้ (24 ก.พ.)ที่กระทรวงยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 กระทรวงยุติธรรม ว่ากรมราชทัณฑ์ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอยกร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ..... ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องกลไกบริหารจัดการงานราชทัณฑ์ของไทยใน 2 มิติ คือ 1. การปรับปรุงโครงสร้างและระบบการทำงานราชทัณฑ์ และ 2. การปรับปรุงโครงสร้างระบบพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งของต้องห้าม การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง และการให้ชุมชนมีส่วนร่วม หรือการนำมาตรการอื่นมาใช้แทนการจำคุก ซึ่ง พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ฉบับใหม่ จะเป็นส่วนเติมเต็ม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์เดิมที่ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในทุกๆด้านเกี่ยวกับการจัดการระบบการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศของรัฐบาลสู่การขับเคลื่อนศักยภาพการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ และยกระดับงานยุติธรรมไทยสู่มาตรฐานสากล

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์เดิมมีทั้งหมด 58 มาตรา ส่วนร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ..... ใหม่ที่เสนอนั้นมีทั้งหมด 115 มาตรา โดยมีรายละเอียดประเด็นที่เพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ประกอบด้วย การบริหารงานและการพัฒนาองค์กร เช่น กำหนดให้มีการจัดสรรอัตรากำลังให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานของราชทัณฑ์ มีคณะกรรมการนโยบายการราชทัณฑ์การบริหารและการพัฒนาบุคลากร เช่น การให้ เจ้าพนักงานการราชทัณฑ์เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยให้เจ้าพนักงานมีอำนาจพิเศษตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ

นอกจากนี้จะมีการแบ่งกลุ่มนักโทษตามประเภทเรือนจำ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง โดยการจัดให้มีระบบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกขังมาตรการบังคับโทษประเภทอื่น เช่น เรือนจำการศึกษา เรือนจำกีฬา เรือนจำการฝึกอาชีพ รวมทั้งการให้ชุมชน ครอบครัว หรือผู้นำทางศาสนาเข้ามีส่วนร่วมในการบำบัด ฟื้นฟู สิทธิ หน้าที่ และประโยชน์ของผู้ต้องขัง เช่น สิทธิผู้ต้องขังหญิงในการได้รับการศึกษาหรือการอบรมเช่นเดียวกับผู้ต้องขังชาย สิทธิในการนับถือศาสนา การรักษาข้อความในหนังสือร้องทุกข์ หนังสือยื่นเรื่องราว หรือฎีกาไว้เป็นความลับอนามัยของผู้ต้องขัง เช่น การออกไปรักษาตัวยังสถานที่อื่นนอกเรือนจำ

นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการในการจัดทำ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ การยุติธรรมไทย ที่มีการ ‘นำเข้า’ ความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ผนวกกับพลังสมองของบุคลากรระดับหัวกะทิด้านงานยุติธรรมในกระทรวงยุติธรรม จับมือกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อมองให้ลึกซึ้งถึงปัญหา และหาวิธีการแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการจัดการปัญหายาเสพติดและสิ่งของต้องห้าม ภายในเรือนจำ การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก เพื่อเติมเต็ม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ให้ครอบคลุมทุกด้านของการจัดการระบบการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ตลอดจนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะภารกิจงานด้านราชทัณฑ์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการแก้ไขฟื้นฟู

นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรือนจำ ผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟู และป้องกัน การกลับไปเสพยา และกระทำผิดซ้ำเพื่อมุ่งสู่ปลายทางสำคัญ คือ สังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น จากการที่ผู้กระทำความผิดอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ และรัฐบาล สามารถใช้ประโยชน์จากการที่สังคมปลอดภัย ในการพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น