xs
xsm
sm
md
lg

“กำนันเป๊าะ” ได้ลดโทษ 5 ปี 8 เดือน พ้นโทษ ก.ย.ปี 2578

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ราชทัณฑ์เผยนักโทษ 140,000 ราย ได้รับสิทธิ์ลดวันต้องโทษ 140,000 คน “กำนันเป๊าะ” ได้ลดโทษ 5 ปี 8 เดือน พ้นโทษ ก.ย. ปี 2578

วันนี้ (31 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และรองโฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นายวิทยากล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน และเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง 2 กลุ่ม คือ การปล่อยตัว การลดวันต้องโทษ และผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการลดโทษ

สำหรับกลุ่มแรก คือ ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ ผู้ต้องโทษกักขัง ผู้ต้องโทษปรับที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต ให้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ต้องโทษที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ นักโทษเด็ดขาดที่มิได้กระทำความผิดในคดีที่ถือว่าร้ายแรงที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี นักโทษเด็ดขาดอายุ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรืออายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปี ที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี นักโทษเด็ดขาดเป็นคนพิการ หรือทุพพลภาพ นักโทษเด็ดขาดเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เป็นหญิงหรือผู้มีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ

ทั้งนี้ ในกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 38,000 คน ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำและพักโทษอยู่บ้านซึ่งอีก 1 ปี คนกลุ่มนี้ก็ต้องพ้นโทษตามปกติ แต่เมื่อมีกฤษฎีกาอภัยโทษออกมา คนกลุ่มนี้ก็กลับสู่สังคมเร็วขึ้น และอยากให้สังคมให้โอกาสกลุ่มเหล่านี้

อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ นักโทษเด็ดขาดที่รับการลดวันต้องโทษ กลุ่มนี้จะถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว แต่จะได้รับการลดวันต้องโทษตามหลักเกณฑ์ โดยมีจำนวนประมาณ 140,000 คน ไ้ด้รับการลดวันต้องโทษ และยังมีความผิดตามบัญชีแนบท้ายที่จะไม่ได้รับการปล่อยแต่ได้ลดวันต้องโทษ และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่กฤษฎีการะบุชัดว่าไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ คือ คดีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ เกี่ยวกับฐานผลิต ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเกินแปดปี นอกจากนี้ ยังรวมถึงนักโทษเด็ดขาดชั้นเลว เลวมาก รวมถึงผู้ที่กลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 5 ปี ตามมาตรา 82 หรือมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอคณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก่อนส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

“การพระราชทานอภัยโทษ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่แสดงให้เห็นว่ามาตรการลงโทษจำคุกผู้ต้องขังเพียงอย่างเดียวมิใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ด้วยเหตุที่คนเหล่านี้ในท้ายที่สุดก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมภายหลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงต้องมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อคืนคนดีมีคุณค่าสู่สังคมต่อไป” นายวิทยากล่าว

นายวิทยายังกล่าวอีกว่า สำหรับนักโทษรายสำคัญอย่าง นายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ พบว่ามีคดี 2 คดีที่ตัดสินเด็ดขาดแล้วศาลให้นับโทษต่อกัน เป็นคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกำหนดโทษ 3 ปี 4 เดือน นับแต่ 1 ก.ย. 56 คดีนี้ได้รับการอภัยโทษ ลดวันต้องโทษตามมาตรา ซึ่งได้สิทธิลดโทษ 1 ใน 5 คือ ลดวันต้องโทษ 8 เดือน จะพ้นโทษคดีดังกล่าว วันที่ 29 ก.ย. 2558 ส่วนคดีที่ 2 ร่วมกันจ้างวานให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กำหนดโทษ 25 ปี ให้นับต่อจากคดีที่ 1 คือ วันที่ 29 ก.ย. 2558 คดีนี้ลดวันต้องโทษ 5 ปี สรุปได้ลดวันต้องโทษจากกฤษฎีกาพระราชอภัยโทษ ครั้งนี้ ทั้งหมด 5 ปี 8 เดือน กำหนดพ้นโทษจะพ้นโทษ 27 ก.ย. 2578

นอกจากนี้ มีรายงานว่านักโทษรายสำคัญคนอื่นๆ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสนี้ด้วย ได้แก่ พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง ต้องโทษคดีฆ่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษ

ส่วนนักโทษเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนักโทษตระกูลสุวะดี ได้รับลดหย่อนโทษในคดีอื่น ยกเว้นคดีความผิดมาตรา 112 รวมถึงนายอภิรุจ และนางวันทนีย์ สุวะดี ก็ได้รับลดหย่อนโทษคดีอื่นๆ ยกเว้นคดีความผิดมาตรา 112
กำลังโหลดความคิดเห็น