กรมคุมประพฤติแถลงผลการใช้กำไล EM คุมประพฤติหลังนำร่องรอบแรก 200 เครื่อง ใช้กำไลข้อเท้ากับผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลแล้ว 57 ราย ล่าสุดเช่าเพิ่ม 3,000 เครื่อง ใช้ในพื้นที่ 23 จังหวัด
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่ศูนย์ควบคุมการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ราชการ นายวัลลภ นาคบัว รอง ผอ.สำนักกิจการยุติธรรม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายประสาร มหาลี้ตระกูล รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงผลการดำเนินการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือกำไลข้อเท้า มาใช้แทนการคุมขังว่า ขณะนี้เป็นช่วงสัญญาเช่ารอบที่ 2 โดยรอบแรกมีการเช่าใช้กำไลข้อเท้าจำนวน 200 ชุด ในปีนี้เป็นการเช่าใหม่จำนวน 3,000 ชุด ในงบประมาณ 75 ล้านบาท เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557 ในพื้นที่ 23 จังหวัด
ล่าสุดมีการใช้กำไลข้อเท้ากับผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลแล้ว 57 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจร 31 ราย คดีบุกรุก 4 ราย คดียาเสพติด 3 ราย คดีขับรถประมาท 3 ราย คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 2 ราย ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย 1 ราย ความผิด พ.ร.บ.สารระเหย พ.ร.บ.อาวุธปืน และอื่นๆ 1 ราย และตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 10 ราย ทั้งนี้ยังไม่พบว่ามีผู้เจตนาฝ่าฝืนการใช้กำไลข้อเท้า โดยกรมคุมประพฤติมีแนวโน้มจะขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หลังพบว่าระยะหลังศาลมีความเชื่อมั่นและมีคำสั่งใช้กำไลข้อเท้ามากขึ้น
นายวัลลภกล่าวต่อว่า การใช้กำไลข้อเท้าเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยในการควบคุมผู้กระทำผิดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น กรณีเมาแล้วขับศาลจะกำหนดเขตพื้นที่ห้ามเข้า ห้ามออก หรือจำกัดเส้นทางเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถปรับพฤติกรรมได้ ทั้งนี้ นอกจากกำไลข้อเท้าที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมแล้ว งานบริการสังคมถือว่ามีความจำเป็น โดยมีแนวคิดปรับงานบริการสังคมที่อาจดึงความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของผู้กระทำผิดมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานด้านการจัดให้ผู้กระทำผิดทำงานบริการสังคมในปี 2557 ที่ผ่านมา มีผู้กระทำผิดปฏิบัติการตามเงื่อนไขใยการทำงานบริการสังคม 191,993 บาท