xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิมวันแรก 7 วันอันตราย ตายแล้ว 58 ศพ เหตุขับเร็ว เมาแล้วขับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
วันแรก 7 วันอันตราย ตายแล้ว 58 ศพ เกิดอุบัติเหตุรวม 508 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 517 ราย เหตุเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกำหนด พบ "บุรีรัมย์" ตายสูงสุด ส่วนเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เร่งคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยง บังคับใช้กฎหมายจราจรเข้ม เฝ้าระวังทั้งถนนสายหลัก สายรอง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันแรกของการเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 508 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 517 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 36.61 ขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 23.82 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.41 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 58.86 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 41.14 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.31

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 34.84 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 51.83 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,243 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,505 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 531,490 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 76,168 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 22,874 ราย ไม่มีใบขับขี่ 22,314 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และ สุราษฎร์ธานี (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ (6 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (23 คน)

"วันนี้เป็นวันแรกของวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มทยอยเดินทางถึงที่หมาย ขณะที่บางส่วนอยู่ระหว่างการเดินทาง ศปถ.จึงขอกำชับให้จังหวัดดำเนินมาตรการป้องกันในมิติเชิงพื้นที่บูรณาการความร่วมมือในทุกระดับเข้มงวดกวดขันดูแลความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนบนถนนสายหลักและถนนสายรอง มุ่งเน้นจัดตั้งจุดตรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการจัดตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง คุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ แซงในระยะกระชั้นชิด ขับรถย้อนศร และฝ่าฝืนสัญญาณจราจร โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ รถกระบะ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง พร้อมตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทให้มีมาตรฐานความปลอดภัย พนักงานขับรถมีระดับแอลกอฮอล์เป็น “ศูนย์” รวมถึงบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนยานพาหนะและในขณะขับขี่หรือโดยสารรถอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ" นายอารม กล่าว

นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันแรกของการรณรงค์ พบว่า ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ โดยมีสาเหตุจากการดื่มแล้วขับมากที่สุด กระทรวงมหาดไทย จึงขอเน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยทางถนนเชิงรุกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระจายกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการดูแลเส้นทางสายต่างๆ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง บริเวณโดยรอบเส้นทางที่มีการจัดงาน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ส่วนในระดับท้องถิ่น ให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดประจำชุมชน หมู่บ้าน ควบคู่กับการใช้มาตรการทางสังคม โดยให้คนในชุมชน ร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนของช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่า วันที่ 31 ธันวาคม และวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง ประกอบกับในช่วง 1 - 2 วันนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเข้าสู่ศักราชใหม่ ศปถ. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดคุมเข้มป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเส้นทางสายต่างๆ เน้นเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ สถานบันเทิง สถานที่จัดงานรื่นเริง คุมเข้มการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย พร้อมควบคุมการเข้าถึง การดื่ม และการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม
พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เน้นหนักเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเป็นพิเศษ ท้ายนี้ ฝากประชาชนให้เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่อย่างมีสติ ไม่ประมาท เพิ่มความระมัดระวังอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เทศกาลปีใหม่เป็นเทศกาลแห่งความสุขและปลอดภัย

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า จากสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนวันแรก ยังคงเป็นเมาสุรา จึงจำเป็นที่ต้องมีมาตรการคุมเข้มสำหรับผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กันไปด้วย ตามพระราชบัญญัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29 1.ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ 2. บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ คนดื่มแล้วขับและถูกตรวจพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถูกดำเนินดีตามกฎหมายและควบคุมความประพฤติ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 -20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกคุมประพฤติ ให้พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทำงานบริการสังคม ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือได้รับอันตราย จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 -40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี และทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000 -200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น