xs
xsm
sm
md
lg

เอาจริง! “ดื่ม-ขับเร็ว-โทร-แชต-ง่วง” โดนแน่ จี้นักดื่มหยุดสร้างภาระอุบัติเหตุช่วงปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สคอ. ชี้ “เหล้า” ต้นตอตายจากอุบัติเหตุ ปีใหม่ 2557 พบตายถึง 367 ราย เจ็บกว่า 3,300 คน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง 2.3 แสนล้านบาท วอนนักดื่มหยุดสร้างภาระรวมของประเทศ รับผิดชอบตัวเอง ย้ำ ศปถ. เอาจริงบังคับใช้กฎหมาย ดื่ม ขับเร็ว โทร แชต ง่วง โดนแน่

วันนี้ (17 ธ.ค.) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่ 2557 เกิดอุบัติเหตุ 3,174 ครั้ง เสียชีวิต 367 ราย บาดเจ็บ 3,344 คน สาเหตุเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาสุรา ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ พฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย กลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด คือ กลุ่มวัยแรงงาน ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดจากการดื่มแล้วขับได้สร้างความสูญเสียอย่างมากกับสังคมไทย เป็นภาระรวมของประเทศ แม้จะมีความพยายามบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้น แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่ อยากให้ผู้ขับขี่ให้ความสำคัญ รับผิดชอบตัวเองให้ระมัดระวังมากขึ้น

การดื่มแล้วขับทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง เกิดความประมาทส่งผลให้บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิตสูงและรุนแรงมากขึ้น จึงขอย้ำเตือนให้ประชาชนฉลองปีใหม่ด้วยสติ เพราะหากผู้ที่ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว จะยิ่งเสียหายมหาศาล รายได้ที่มีก็สูญสิ้น สังคมประเทศชาติเสียหาย เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 232,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย อันเกิดจากคนไม่มีสำนึกความปลอดภัยและไร้ความรับผิดชอบมาร่วมใช้ถนนเดียวกัน” นายพรหมมินทร์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2558 ที่จะถึงนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้กำหนดหัวข้อหลักการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน คือ “มอบความสุขทั่วไทย สัญจรปีใหม่ ปลอดภัยทุกคน” เพื่อกระตุ้นเตือน สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กับประชาชน โดยจะบังคับใช้กฎหมายเข้ม เน้นขับเร็ว ดื่ม ง่วง โทร แชต นอกจากนี้ จะสนับสนุนการใช้อุปกรณ์ป้องกัน สกัดคนดื่มแล้วขับ เตือนลดความเร็ว และจังหวัดที่มีทางรถไฟผ่านควรจัดทำป้ายเตือน ทำคลื่นระนาบบนผิวถนน ติดตั้งไฟหรือสัญญาณเสียง ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า สำหรับบทลงโทษดื่มแล้วขับและถูกตรวจพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหรือศาลอาจสั่งให้ถูกคุมประพฤติ ให้พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน, ต้องทำงานบริการสังคม นอกจากนี้ ดื่มแล้วขับและทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือได้รับอันตราย จำคุกไม่เกิน 2 ปี, ปรับไม่เกิน 20,000 - 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ดื่มแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส จำคุก 2 - 6 ปี, ปรับ 40,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี ดื่มแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 - 10 ปี ปรับ 60,000 - 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น