xs
xsm
sm
md
lg

เมาอย่างมีสติ! “เลิกขายเหล้า” ไม่เท่ากับ “ลดอุบัติเหตุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คนไม่กินก็ตายได้..ถ้าประมาท” , “ปิดโรงเหล้าเลย จบปะ” นี่คือบางส่วนของกระแสโจมตี หลังมีข้อบังคับใช้กฎหมายห้ามขายเหล้าในช่วงปีใหม่ เหตุนี้เองทำให้ ครม. อดรนทนไม่ไหว ลั่น! ไม่อยากให้ถึงกับเป็นการทำลายความสุขในวันรื่นเริง สั่งยกเลิกกฎหมายทันที
 
 
ยิ่งห้ามขายเหล้า ยิ่งชอบให้กักตุน
เตรียมเฮ! หลังเกิดการโจมตีอย่างหนัก กับการผลักดันกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ทั้งผู้ดื่มและผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบและไม่เห็นด้วย ออกมาโวยกันยกใหญ่
 
ล่าสุด ได้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแล้ว โดย “ยงยุทธ ยุทธวงศ์” รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมีใจความว่า ข้อเสนอห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นความคิดของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่อยากให้ประชาชนต้องเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปีใหม่และในเทศกาลอื่นๆ
 
ทางคณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีข้อสรุปว่า ไม่อยากให้กฎหมายดังกล่าวเป็นการทำลายความสุขในวันเฉลิมฉลองของประชาชน จึงขอประกาศยกเลิกแนวคิด “ห้ามขายเหล้า” ที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ทีแรก และขอให้ประชาชนใช้วิธียับยั้งชั่งใจในการดื่ม รู้จักระมัดระวังและป้องกันตัวเองแทน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุตามมาภายหลัง
 
อีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวยังต้องมีการพิจารณากันในระดับคณะกรรมการกระทรวง และระดับนโยบายด้วยว่าจะได้ผลออกมาเช่นไร โดยส่วนตัวแล้วทางรองนายกฯ อยากให้ประชาชนเดินทางสายกลางพยายามดื่มไม่เกิน 1 แก้ว เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย และยังสามารถรักษาธรรมชาติของการสังสรรค์ได้อยู่
 
อยากให้ประชาชนนึกเตือนตัวเองว่า “ไม่ดื่ม ไม่เพลิน ไม่เกินหนึ่งแก้ว” นอกจากนี้ยังมีการปราบปรามเหล้าเถื่อนที่มีแพร่หลายในขณะนี้ด้วย หวั่นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เตรียมนำมาตรการตรวจจับแอลกอฮอล์ระหว่างขับรถมาใช้ และควบคุมการเปิดปิดของสถานบริการ
 
ทั้งนี้ เมื่อมีข่าวการออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไป แทนที่จะส่งผลดีต่อการรณรงค์ แต่กลับได้ผลลบทำให้ผู้ดื่มรีบหาซื้อเหล้าเบียร์กักตุนไว้ก่อนถึงวันเทศกาลกันเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ไม่มีการขายเหล้า-เบียร์ในเทศกาลจริง ผู้คนเหล่านี้ก็คงจะไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวที่ออกมานั้นนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ยังเพิ่มปัญหาการกักตุนสินค้าเพิ่มอีกด้วย



โลกโซเชียลฯ โจมตี ทำไมไม่แก้ที่ต้นเหตุ?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศห้ามขายเหล้ามากที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มคนรักสนุกที่ชอบสังสรรค์ เพราะเมื่อถึงเทศกาลแห่งความสุข ทุกคนคงอยากเฉลิมฉลอง และอยากร่วมเฮฮาปาร์ตี้ กับญาติสนิทมิตรสหาย
 
หากจะให้ดื่มอยู่ที่บ้านก็คงไม่ได้อารมณ์ หรือสนุกเท่ากับมาเลี้ยงฉลองตามร้าน เมื่อมีกฎหมายดังกล่าวออกมา เรียกง่ายๆ คนเหล่านี้คงเซ็งไปตามๆ กัน จึงเกิดเป็นกระแสโจมตีอย่างหนักในโลกโซเชียลฯ บ้างก็ว่า “ก็ดื่มกันทั่วโลกล่ะ แต่กฎหมายบ้านเขาแรง ถ้าโดนจับได้ว่า เมาแล้วขับโดนปรับเป็นแสนยึดใบขับขี่ ขับรถในเมืองถ้าเกิน 60 km โดนปรับเป็นหมื่น เขาเลยไม่กล้ากัน อุบัติเหตุเลยไม่ค่อยมี”
 
หรือบางกระแสที่บอกว่ากฎหมายนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าอยากให้ได้ผลจริงๆ ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือปิดโรงงานผลิตเหล้าและห้ามขาย จะดีที่สุด “ร้านขายเหล้าคนซื้อ คือปลายเหตุ ต้นเหตุ คือโรงงานผลิตเหล้า แล้วถ้าบ้านเมืองนี้มันห้ามกันขนาดนี้ ออกกฎหมายมามากมาย แล้วทำไมไม่ไปแก้ต้นเหตุ แน่จริงบอกห้ามโรงงาน ผลิตเหล้าและบุหรี่ช่วงเทศกาลซิ กล้าเปล่าละ”
 
บางคนถึงกับวิจารณ์ว่า ห้ามขายในช่วงเทศกาลได้ แต่ไม่เดือดร้อนเพราะซื้อกักตุนเอาไว้ได้ “ห้ามขาย แต่ไม่ได้แปลว่า...ห้ามกิน ซื้อได้ตามเวลาที่กำหนด กินได้ตลอดเวลา..ถ้าบางคนซื้อเก็บไว้ เยื่ยมมากๆ”
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านค้ายังได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการสามารถทำรายได้ ได้ดีในช่วงนี้ และผู้ประกอบการยังมองว่าควรไปรณรงค์ให้คนดื่มรู้ลิมิตตัวเองหรือรณรงค์ดื่มแล้วไม่ควรขับรถออกมาซื้อเหล้าเบียร์อีก เพราะการเกิดอุบัติเหตุอยู่ที่ตัวบุคคล จะโทษร้านขายอย่างเดียวคงไม่ได้


 
หยุด! ผักชีโรยหน้า.. แค่ช่วงเทศกาล
 
“ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องหันมาให้ความร่วมมือ เราปล่อยให้คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนขึ้นเป็นอันดับ2-3 ของโลก มันน่าอาย” นี่คือคำบอกกล่าวของ “ผศ.ดร. ปนัดดา ชำนาญสุข” ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ
 
เรื่องของอุบัติเหตุ คงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นแน่ หากทุกคนมีสติและไม่ขับรถโดยประมาทแน่นอนว่าอุบัติเหตุจะ ไม่เกิดขึ้นกับตัวเองและรถคันอื่นบนท้องถนนแน่นอน อาจารย์ ปนัดดา ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นร้อนเอาไว้
 
“เรื่องของอุบัติเหตุทางถนนสาเหตุสำคัญมันมาจากหลายเหตุ หลายปัจจัย เรื่องของการดื่มแล้วขับก็เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก การดื่มเหล้าแล้วขับมีการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง แต่ควรจะเป็นสาเหตุที่ควบคุมได้ คือว่าคนที่ดื่มไม่ควรที่จะขับรถ ที่หยิบเอาประเด็นนี้ข้อกฎหมายมาใช้ในการบังคับเพื่อหวังว่าอุบัติเหตุจะลดลง
 
แต่ถ้าเราจะวิเคราะห์กันจริงๆ อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเทศกาล ช่วงที่ไม่ใช่เทศกาลอุบัติเหตุในประเทศไทยก็เยอะมาก แทบไม่ต่างกันด้วยซ้ำ อุบัติเหตุมันแปรผันไปในเรื่องของการใช้รถใช้ถนน มันจะสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาของการเกิดอุบัติเหตุที่แท้จริงไม่ได้ถูกแก้ไข มันยังรอวันปะทุ
 
เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าอุบัติเหตุของการเมาแล้วขับ หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั่วไปอย่างไหนเยอะกว่ากัน เพราะการเก็บข้อมูลของทุกหน่วยงานที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ แต่จากข้อมูลการวิจัยพบว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เมาแล้วขับจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง
 
การลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาล ต้องเป็นในเรื่องของการตื่นตัวของกลุ่มตำรวจ ต้องมองในเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยที่มันแก้ไม่ได้เพราะว่าการแก้ปัญหานั้นเป็นไปอย่างวูบวาบ คือทำกันเฉพาะช่วงเทศกาล ซึ่งความจริงแล้วปัญหาอุบัติเหตุมันเป็นปัญหาที่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการทำงานของการบังคับใช้กฎหมาย ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงเทศกาล”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น