xs
xsm
sm
md
lg

“หมอสมาน” ไม่ถอดใจนายกฯไฟเขียวขายเหล้าปีใหม่ เตรียมเก็บข้อมูลเสนออีกช่วงสงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอสมาน” ไม่ถอดใจ นายกฯตู่ประกาศไม่ห้ามขายเหล้าช่วงปีใหม่ ยันเสนอกฎหมายตามปกติ แต่ผลขึ้นอยู่กับที่ประชุม รับให้ข้อมูลอุบัติเหตุเมาแล้วขับนายกฯ ล่าช้า เตรียมเก็บข้อมูลช่วงปีใหม่ เสนอห้ามขายอีกช่วงสงกรานต์ ด้านนักวิชาการชี้ดื่มอย่างมีสติตาม “บิ๊กตู่” เสนอไม่ได้ผล ตั้งคำถามทีมาตรการอะไรควบคุมอุบัติเหตุเพิ่ม

วันนี้ (9 ธ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) พยายามผลักดันการออกอนุบัญญัติ หรือประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในการควบคุมการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ วันที่ 19 ธ.ค. ยังคงมีเช่นเดิม ส่วนจะมีการพิจารณาอย่างไรขอให้รอมติที่ประชุม

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สคอ. กล่าวว่า แม้นายกฯ จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ตาม แต่การประชุมคณะกรรมการฯ วันที่ 19 ธ.ค. จะยังคงมีการเสนอวาระกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ วันที่ 31 ธ.ค. 1 ม.ค. และ 13 - 15 เม.ย.ของทุกปี แต่มติจะออกมาเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับกรรมการ จากนั้นจึงจะเสนอผลไปตามขั้นตอนคือ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ถือว่าตนให้ข้อมูลแก่นายกฯ ล่าช้าเกินไป โดยจะเสนอข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มแล้วขับ หรือเมาแล้วขับ และการเจ็บตายที่เกิดขึ้นต่อนายกฯ ผ่านคณะกรรมการ และประธานคณะกรรมการทั้งสองชุด

แม้ประกาศดังกล่าวอาจจะไม่สามารถออกบังคับใช้ได้ในช่วงปีใหม่นี้ แต่ก็ไม่ถอดใจ ถือว่าเป็นโอกาสที่จะเก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ และสถิติการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯอีกครั้ง ในการเตรียมผลักดันออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์” นพ.สมาน กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมการฯ แต่ไม่ใช่แค่เรื่องห้ามขายเหล้าปีใหม่อย่างเดียว ยังมีอีก 4 เรื่อง คือ 1. ห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในท่าเรือโดยสารสาธารณะ 2. ห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในสถานที่ที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหมายถึงลานกีฬา สนามหน้าอาคาร เป็นต้น 3. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายห้ามดื่มเหล้าบนทางรถไฟ และ 4. กำหนดสถานที่หรือบริเวณ ห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในสถานีขนส่ง ยกเว้นเรื่องห้ามขายห้ามดื่มเหล้าบนทางรถไฟ ซึ่งผ่านคณะกรรมการชุดนี้ในสมัย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ปฏิบัติหน้าที่ รมว.สธ. โดยเรื่องนี้รอเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคร.) กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ สธ. ก็คงจะไม่นำเสนอแล้ว แล้วจะปล่อยให้มีคนเสียชีวิตกว่า 300 คน ในช่วง 7 วันอันตรายอย่างนั้นหรือไม่ ส่วนตัวแล้วเห็นว่าหากเป็นเช่นนั้นก็ขอให้พิจารณามาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้าแทน เพราะเป็นแหล่งซื้อสำคัญของกลุ่มนักเดินทางทำให้พบปัญหาการเมาแล้วขับเสมอๆ และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการเมาแล้วขับที่จะเห็นว่าประเทศไทยหย่อนยานมากปล่อยคนที่กระทำปิดทำซ้ำแล้วซ้ำอีก แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่สามารถลดอุบัติเหตุตรงนี้ได้เพราะกฎหมายศักดิ์สิทธิ์มากเปรียบโฆษคนเมาแล้วขับเท่ากับข้อหาเจตนาฆ่าผู้อื่น นอกจากนี้ยังต้องบังคับใช้กฎหมายเรื่องช่วงเวลาที่อนุญาตให้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แค่ช่วง 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. เท่านั้น

นายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มข้นเป็นเรื่องดี แต่การออกกฎหมายก็ต้องฟังเสียงของสังคมด้วย ต้องได้รับความเห็นชอบทั้งผู้ปฏิบัติและถูกบังคับ อุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับเกิดขึ้นตลอดทั้งปี การบังคับแค่ช่วงเทศกาลปีใหม่ คงไม่เห็นผลถ้าอยากลดอุบัติเหตุ ต้องมีมาตรการอื่นๆ เช่น การห้ามขายบนทางสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันพบว่า กรมสรรพสามิต ก็ยังออกใบอนุญาตให้ผู้ค้ากลุ่มนี้ได้อยู่ ​อย่างไรก็ตาม สังคมจำเป็นต้องแก้ปัญหาร่วมกัน

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า หากรัฐบาลให้ไฟเขียวขายเหล้าในช่วงเทศกาลได้ตามปกติ อยากตั้งคำถามว่า แล้วรัฐบาลมีมาตรการดูแลความปลอดภัยประชาชนเพิ่มกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ หากจะหวังให้ประชาชนดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ งานวิจัยในหลายประเทศก็ชี้ชัดว่า ไม่ได้ผล เพราะเมื่อดื่มแล้วปัญหาก็ยังคงเกิดตามมา การเสนอให้ห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาล ไม่ได้หมายความว่า ห้ามดื่ม แต่เป็นการตัดวงจรอุบัติเหตุ เพราะพบพฤติกรรมว่า การดื่มมีลักษณะที่ดื่มแล้ว ซื้อดื่มเพิ่ม เปลี่ยนจุดการดื่ม ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่หากรัฐบาลจะให้ขายเหล้าได้ตามปกติ ก็ต้องมีมาตรการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับ ที่เมื่อดูจากสถิติพบว่า ในช่วงเทศกาลมีอัตราการจับกุมผู้กระทำผิดอยู่ที่ 11,000 - 12,000 หมื่นราย เฉลี่ยแล้วคือ จับกุมได้จังหวัดละ 18 - 20 คนต่อวันเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณการเกิดอุบัติเหตุพบว่าไม่สมดุลกัน

ถ้ารัฐบาลไฟเขียวให้ขายเหล้าตามปกติ ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะเพิ่มมาตรการจตรวจจับอย่างไร ซึ่งเมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมนักดื่ม ก็พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะวงจรที่ นักดื่มเข้าถึงเครื่องดื่มได้ง่าย เมื่อดื่มแล้วเชื่อว่าควบคุมตัวเองได้ เมื่อดื่มแล้วก็เชื่อว่าจะไม่พบด่าน เพราะอัตราการตั้งด่านน้อย เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือจำกัด และแม้แต่ถ้าถูกจับกุม ก็สามารถไกล่เกลี่ยได้ โทษที่มีอยู่ก็มักได้รับการลงโทษสถานเบา และหากชนผู้อื่นเป็นเหตุให้เสียหาย บาดเจ็บ เสียชีวิต แม้จะมีบทลงโทษ ปรับ 5 หมื่น - 2 แสนบาท หรือ จำคุก 3 - 10 ปี หรือ ยึดใบอนุญาติ ก็มักได้รับโทษในกรณีประมาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่หากสารภาพก็จะได้รับโทษเพียงรอลงอาญาเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าจะให้ขายเหล้าได้ปกติ ก็ต้องสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน ตามการสำรวจความเห็น ว่า 80% เห็นด้วยไม่ให้ขายเหล้าช่วงเทศกาล ถ้าไม่เช่นนั้น การคืนความสุขประชาชนก็เป็นเรื่องไม่จริง” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

นายธีรภัทร คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้มีกฎหมายออกมาควบคุมการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงดังกล่าว เพราะมาตรการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้ผลและเป็นที่ยอมรับในสากลก็คือ การจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การที่นายกฯ ออกมาพูดว่าจะไม่มีการห้ามขายเหล้าในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เครือข่ายฯยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เพราะนายกฯก็ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“มาตรการห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาลปีใหม่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมากในสังคม จึงออกกฎหมายได้ยาก ซึ่งพวกเราก็ขอให้กำลังใจ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค ที่พยายามดำเนินการแล้ว เมื่อรูปการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ก็คงต้องยอมรับ ทั้งนี้ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุนั้นจะใช้มาตรการเดียวไม่ได้ อย่างน้อยอยากให้มีมาตรการออกมาช่วยควบคุมด้วย ทั้งห้ามขายห้ามดื่มบนรถไฟ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามริมทาง ซึ่งไม่ได้เป็นการห้ามทั้งหมด” นายธีรภัทร์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น