xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าห้ามขายเหล้าปีใหม่ สวนกลับธุรกิจน้ำเมารับผิดชอบคนตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. ยันเดินหน้าเสนออนุบัญญัติห้ามขายเหล้าวันปีใหม่ - สงกรานต์ ชี้ข้อมูลชัดอุบัติเหตุเจ็บตาย ทะเลาะวิวาทเพียบ ต้องมีการควบคุม ลดการดื่มอย่างต่อเนื่องและความสูญเสีย ด้านนักวิชาการจวกธุรกิจน้ำเมากลับ อ้างกีดกันทางการค้าแล้วรับผิดชอบการเจ็บตายหรือไม่

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการสุรามีข้อกังวลที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) เตรียมเสนออนุบัญญัติ ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ห้ามวันขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 31 ธ.ค. วันที่ 1 ม.ค. และวันที่ 13 - 15 เม.ย. ของทุกปี ว่า การเสนอนั้นอิงตามข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ โดยพบว่าการเฉลิมฉลองด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการขับขี่บนท้องถนนทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากมาย รวมถึงการทะเลาะวิวาท สคอ. จึงเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ก่อนจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติพิจารณา และประกาศใช้ต่อไป ส่วนการประชุมนั้นในวันที่ 19 ธ.ค. นั้น คงต้องรอการยืนยันจากประธานการประชุมก่อน และจะมีการพิจารณาหรือไม่นั้นอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการทุกท่าน โดยเรื่องนี้สิ่งสำคัญต้องมองประโยชน์ของสังคมในภาพรวมเป็นหลัก

นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากอนุบัญญัติห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันปีใหม่ และสงกรานต์แล้วนั้น ยังมีการเสนออนุบัญญัติอีก 4 ฉบับ คือ 1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามบริโภคในท่าเรือโดยสารสาธารณะ 2. ห้ามขายหรือบริโภคในสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ 3. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายห้ามดื่มบนทางรถไฟ และ 4. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง ซึ่งอนุบัญญัติห้ามขายห้ามดื่มบนทางรถไฟนั้น ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสมัยที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.สาธารณสุข แล้ว เหลือเพียงอนุบัญญัติ 4 ฉบับที่ต้องพิจารณา และจึงจะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการเก็บสถิติข้อมูลอุบัติเหตุช่วงเทศกาลมาโดยตลอด พบว่า ช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 1 ม.ค. 13 เม.ย. และ 14 เม.ย. หรือช่วงปีใหม่และสงกรานต์นั้น มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ข้อมูลของโรงพยาบาลตำรวจ พบว่า จากการเจาะเลือดผู้ที่ประสบอุบัติเหตุนั้น 70% ของผู้เสียชีวิตพบแอลกอฮอล์ในเลือด ในจำนวนนี้ 60% ปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เฉลี่ยแล้วสูงถึง 135 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จากที่กฎหมายกำหนดไว้ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ดื่มเชื่อได้ว่าหากมีการห้ามขายก็จะมีการตุนเครื่องดื่มไว้ แต่มาตรการห้ามจำหน่าย จะสามารถช่วยในกรณีการดื่มต่อเนื่องได้ ซึ่งพบว่าคนกลุ่มนี้คือปัญหา คือ เมื่อดื่มหมดก็จะไปซื้อมาดื่มเพิ่ม หรือเปลี่ยนสถานที่ดื่ม ซึ่งการดื่มแบบนี้จะเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม สถิติการเกิดอุบัติเหตุชี้ชัดว่าการดื่มเหล้าคือเหตุสำคัญ จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อยับยั้ง และเชื่อว่าหากในปีนี้ไม่มีมาตรการใหม่ๆ ความสูญเสียก็จะไม่มีทางลดลง

“การที่ภาคธุรกิจออกมาระบุว่าเป็นการกีดกันการค้านั้น ต้องถามกลับว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีคนเจ็บตายจากการดื่ม เคยมีพ่อค้า ผู้ประกอบการรับผิดชอบการเจ็บตายหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นการเอาเปรียบสังคมและสร้างภาระทางด้านสาธารณสุขและภาระของประเทศ จึงขอสนับสนุนมาตรการดังกล่าว” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว


นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมายังคงรุนแรง เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,174 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 367 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,344 คน สาเหตุส่วนใหญ่ยังคงมาจากการเมาสุราถึงร้อยละ 41.71 และตอกย้ำด้วยข้อมูลจากศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนนที่ระบุว่าทุกๆวันจะมีคนไทย 38 คน ตายจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับดื่มแล้วขับถึงร้อยละ 20 - 25 หรือ 2,800 - 3,500 คน/ปี โดยไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้นวันหยุดยาว 7 วันในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงขอให้หลีกเลี่ยงการดื่มและฉลองหนัก เพื่อลดความเสี่ยง ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น