xs
xsm
sm
md
lg

8 มาตรการกีดกันการค้าที่ SMEs ควรรู้ก่อนเปิดAEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


8 กลุ่มมาตรการกีดกันการค้าที่ SMEs ต้องรู้

หลังจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC แล้วคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า อุปสรรคในเรื่องของกำแพงภาษีจะหมดลงไปจากการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

แต่ในความถูกต้องนั้น กลับมีอุปสรรคใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่น้อยทีเดียว หรือบางครั้งอาจส่งผลกระทบมากกว่าเรื่องของภาษีด้วยซ้ำ ใช่แล้วสิ่งที่เรากำลังเอ่ยถึง นั่นคือ “มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี” ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน ที่จะมีผลทำให้แนวโน้มการค้าเพิ่มขึ้นได้ไม่เร็วนักอย่างที่คาดไว้

จากบทวิคราะห์ของ SCB EIC ได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีการลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีภายใต้ AEC ไปแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญที่ยังคงอยู่ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งนอกจากการขจัดและลดรายการได้ค่อนข้างล่าช้าแล้ว หลายประเทศกลับมีการออกมาตรการที่มิใช่ภาษีเพิ่มเติมอยู่ตลอด ส่งผลให้ธุรกิจยังใช้โอกาสและประโยชน์จากตลาดอาเซียนได้ไม่เต็มที่นัก

สำหรับมาตรการที่มิใช่ภาษีนั้น มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและจากความล่าช้าในการค้าขายส่งมอบสินค้า 

ทั้งนี้ อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) ได้ถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ 

1. มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD)

ประเทศผู้นำเข้าเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าปกติ โดยอ้างว่ามีการทุ่มตลาดจากบริษัทผู้ส่งออกมายังประเทศผู้นำเข้า 

2. มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Counter-Vailing Duty : CVD)

ประเทศผู้นำเข้าเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าปกติโดยอ้างว่า สินค้านำเข้าได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลประเทศที่ผลิตสินค้านั้นๆ 

3. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard)

ประเทศผู้นำเข้าเก็บอากรปกป้องเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าปกติได้ โดยอ้างว่ามีการนำเข้าที่ผิดปกติ ทั้งในรูปของการนำเข้ามาของสินค้าในปริมาณที่มากกว่าปกติ หรือมีการนำเข้ามาในราคาที่ต่ำกว่าปกติ 

4. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary : SPS)

การใช้มาตรฐานเรื่อง SPS ที่สูงมาก จนเป็นอุปสรรคต่อสินค้านำเข้าในเชิงพาณิชย์

5. มาตรการอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (Technical Barrier to Trade :TBT)

กำหนดมาตรฐานทางการค้า เช่น การกำหนดการติดฉลากและบรรจุภัณฑ์ที่สูงมาก จนเป็นอุปสรรคต่อสินค้านำเข้าในเชิงพาณิชย์ 

6. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

เช่น นำเรื่อง ปัญหาโลกร้อน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า

7. มาตรการด้านแรงงาน

ตัวอย่างเช่น สินค้านำเข้า ต้องไม่ได้ผลิตโดยเด็กหรือนักโทษ เป็นต้น 

8. NTB รูปแบบอื่นๆ

เช่น การจัดซื้อโดยรัฐ การผูกขาดการนำเข้า การกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น