xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่เป่า = เมา” กฎหมายที่ตำรวจไทยกำลังดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ขอบคุณภาพจาก www.stopdrink.com)
ดื่ม..ขับ..เจอด่าน... ไม่เป่าได้มั้ย? ก่อนหน้าถ้าอิดออดอาจมีโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่ในอนาคต ถ้าร่างกฎหมายใหม่ผ่าน พ.ร.บ. เตรียมรับได้เลยข้อหา “เมาเพราะไม่เป่า”



เป่า-ไม่เป่า เมาปุ๊บ รอดยาก!

ขณะนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบกต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาขอแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 142 เสียใหม่ โดยตั้งใจจะเปลี่ยนในใจความให้เป็น “หากผู้ขับขี่ขับรถขณะเมาสุรา (ฝ่าฝืนกฎหมายในมาตรา 43) และไม่ยินยอมให้เจ้าพนักงานทดสอบอาการเมาสุรา ให้ถือว่าบุคคลผู้นั้นมีอาการเมาสุราและต้องได้รับโทษตามกฎหมายข้อหาขับขี่ยานพาหนะขณะเมาสุรา ระวางโทษปรับ 5,000-20,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 1 ปี”

เทียบกับความผิดเดิม หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่าน ก็ถือว่าทำให้โทษของคนเมาแล้วขับหนักขึ้นหลายเท่าตัว เพราะโทษเดิมนั้นระบุไว้เพียงว่า หากเจ้าพนักงานขอทดสอบอาการเมาสุรา แต่คนขับไม่ให้ความร่วมมือ จะมีโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น



เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร ยังไม่ขอออกความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย บอกขอให้ร่าง พ.ร.บ.มีผลที่ชัดเจนออกมาก่อนดีกว่าว่าจะผ่านหรือไม่ เพียงขอแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของคนที่ตรวจจับและตั้งด่านมาหลายต่อหลายครั้ง จึงอยากฝากบอกประชาชนว่า ดื่มแล้วอย่าขับเลย เพราะถ้าดื่มแล้วขับ แล้วจะมาหนีด่านหรือปฏิเสธการเป่าเพื่อตรวจระดับแอลกอฮอล์ในภายหลัง โอกาสรอดนั้น...ยาก!!

“เวลาตรวจจับแอลกอฮอล์ เราจะเห็นอยู่แล้วว่า ผู้ที่ดื่มมาส่วนใหญ่เนี่ย เมื่อเห็นจุดตรวจจะมีท่าทางเหมือนจะชะลอรถครับ หรืออาจจะขับรถเปิดแอร์แรงๆ-เปิดหน้าต่างมา อะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นจุดสังเกตที่หนึ่ง แต่สมัยนี้ เราไม่ได้ตัดสินกันด้วยสายตาอย่างเดียวแล้วครับ ทางตำรวจต้องมีเครื่องตรวจวัดที่ได้รับมาตรฐานจากกระทรวงวิทยาศาสตร์-กรมการแพทย์มาตรวจวัดด้วย



ตอนนี้ที่ใช้อยู่คือ เครื่อง “สกรีนนิ่งเทสต์ (Screening Test)” เป็นเครื่องเทสต์เบื้องต้น ระหว่างขอตรวจสอบเรื่องใบขับขี่ต่างๆ เราก็ให้เขาทดลองพูด เครื่องมันก็จะจับทันทีว่ามีกลิ่นแอลกอฮอล์มั้ย ถ้ามี มันจะขึ้นสีเขียว ไม่มีก็จะขึ้นสีแดง อันนี้เป็นเครื่องทดสอบเบื้องต้นนะครับ ยังไม่ใช่เครื่องเป่าทดสอบ ตัวที่เป่าที่คนกลัวๆ กันนั่น เป็นเครื่องยืนยันผลอีกทีครับ ประเมินค่าออกมาว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดอยู่ที่เท่าไหร่ เกินค่ามาตรฐาน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ไปเท่าไหร่



ยิ่งโวยวาย ยิ่งลำบาก!
และถึงแม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องเมาแล้วขับยังไม่ทราบแน่ชัดว่า “ไม่เป่า = เมา” จะผ่านมติหรือไม่ แต่คอดื่มแล้วชอบขับก็อย่าชะล่าใจไป เพราะเจ้าพนักงานยังมีอีกหลายวิธีรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สิน

ด.ต.เกรียงศักดิ์ กีชวรรณ์ ผบ.หมู่ (จร.) สน.หัวหมาก เคยแสดงความคิดเห็นเอาไว้ผ่านเว็บบอร์ดของ “มูลนิธิเมาไม่ขับ (Don't Drive Drunk Foundation)” เกี่ยวกับกลเม็ดเด็ดๆ เอาไว้ อยากรู้ต้องลองอ่านดู

“ท่านผู้พิพากษาท่านให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ รู้ว่าเมามาขับแล้วไม่ยอมรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ (ท่านกระซิบว่า ท่านหมั่นไส้มาก พวกหัวหมอ พวกศรีธนญชัย) บางคดีเมื่อสร่างเมาแล้วให้การรับสารภาพ ศาลก็ให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะความประพฤติและพฤติการณ์ สุดท้ายศาลลงจำคุก 1 เดือน บอกคนขับเขาเลยว่า ให้เลือกเอา ถ้าเป่าอาจจะไม่เกิน แต่ถ้าไม่เป่า จะโดนตั้งข้อหาตาม มาตรา 43 ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน



และถ้ามีคลิปหรือภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ ก็ส่งไปประกอบได้เลยครับ โดยเฉพาะพวกคุยใหญ่ คุยโต อาละวาดโวยวายเสียงดัง ผมเคยจับ 1 ราย เป่าได้ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เขาก็อาละวาด ร้อยเวรเลยถ่ายคลิปเอาไว้ประกอบคดี ศาลให้จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองโทร.มาขอ แล้วท่านก็บ่นว่ารำคาญคนพวกนี้ ออกไปเที่ยวสนุกสนาน ดึกดื่น ถูกจับโทร.มาปลุกท่านกลางดึก ไม่รู้จักเกรงใจ ให้จัดการได้เลยตามที่เห็นสมควร พวกที่ชอบแนะนำว่าไม่ต้องเป่า ตำรวจทำอะไรไม่ได้ ปรับค่าขัดคำสั่งแค่พันเดียว โปรดเข้าใจเสียใหม่ด้วยครับ มาตรา 43 ไม่ได้มีแค่อนุฯ เดียว แม้ข้อกฎหมายที่สันนิษฐานว่าไม่เป่าคือเมาจะยังไม่ออกมาก็ตาม กฎหมายดักทางพวกท่านไว้หมดแล้วครับ

อีกอย่าง พี่น้องเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่าน เวลาเกิดอุบัติเหตุ ให้รีบทำการตรวจวัดแอลกอฮอลล์คู่กรณี เพื่อหาสาเหตุแห่งการเกิดอุบัติเหตุ รับรองว่าในท้องที่ท่าน อุบัติเหตุหายไปอย่างน้อย 80-90 เปอร์เซ็นต์ทันที บริษัทประกันภัยก็ชอบ เป่าเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต้องซ่อมเอง ประกันไม่รับผิดชอบ



(ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก แอปพลิเคชัน “Delivery Traffic”)


ส่วนข้ออ้างที่ว่า “ไม่เป่า ไม่ใช่เพราะเมา แต่เพราะไม่อยากเป่าเครื่องตรวจร่วมกับปากคนอื่น” อันนี้ถือเป็นข้ออ้างที่แสนจะเชยและโบราณ ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร บอกเลยว่าฟังไม่ขึ้น

“เราบอกมาตลอดครับว่า เรื่องการตรวจวัด เราเปลี่ยนหลอดที่ใช้ในการเป่าตรวจวัดทุกครั้งครับ ทุกอันที่หยิบมาให้เป่าเป็นอันที่แกะออกมาจากพลาสติกใหม่หมดเลย และเราก็ให้ผู้ทดสอบแกะหลอดมาใช้ด้วยตัวเองด้วย เป็นสิ่งที่คนที่เคยเป่าจะรู้อยู่แล้วครับ ที่จะเอามาอ้างกันก็คงเป็นเพราะคำบอกเล่ากันไปเองมากกว่า

ก็อยากฝากบอกประชาชนคนใช้รถทุกคนแล้วกันนะครับว่า เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนที่เรารัก ยังมีคนที่เรารักรอเราอยู่ เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่จะช่วยตรวจเพิ่มความปลอดภัยให้ ดีกว่าปล่อยให้เราไปเกิดอุบัติเหตุข้างหน้าครับ

เอาเป็นว่า การดื่มแล้วขับเป็นการเพิ่มโอกาสทำร้ายตัวเองและผู้อื่นดีกว่าครับ ผมอยากให้ปรับทัศนคติว่าดื่มแล้วขับจะไปเจอด่านมั้ย หรือดื่มเท่านี้ไม่เกินลิมิตหรอก ผมว่าให้เปลี่ยนความคิดไปเลยครับ เปลี่ยนเป็นคิดว่า “ดื่มไม่ขับ ตำรวจไม่จับ กลับปลอดภัย” ดีกว่ามั้ย”

ในระหว่างที่รอลุ้นกับ “ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก” ว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ ผลที่ได้จะออกมาเป็น “ไม่เป่า = เมา” จริงหรือเปล่า? แนะนำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเข้าไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เอาไว้ก่อนดีกว่า จะได้รู้ว่าขับขี่แบบไหน ดื่มอย่างไรให้ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง



(แอปฯ ที่ผู้ขับขี่ทุกคนควรมีไว้)
ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับตรงนี้ สามารถไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ และกองบังคับการตำรวจจราจรทำขึ้นมานี้ได้แบบฟรีๆ โดยใช้มือถือระบบ Android หรือ iOS ก็ได้ แล้วไปที่ Play Store หรือ App Store พิมพ์คำว่า “Delivery Traffic” เข้าไปในช่องเสิร์ช แล้วจะเจอคำตอบเกี่ยวกับ “กฎหมายจราจรดีลิเวอรี”




ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: แอปพลิเคชัน “Delivery Traffic”, www.ddd.or.th, www.stopdrink.com
 



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น