xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเจ็บ-ตายสงกรานต์ 2 วันแรกดับ 102 ราย เยอะสุดเชียงราย นครสวรรค์ โคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศปถ. สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. 57 เกิดอุบัติเหตุ 471 ครั้ง เสียชีวิต 63 ราย ผู้บาดเจ็บ 491 คน รวม 2 วัน (วันที่ 11-12 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุ 850 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 102 ราย ผู้บาดเจ็บ 893 คน ย้ำจังหวัดปรับแผน จัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุและห้วงเวลาเล่นน้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมคุมเข้มดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ เน้นเส้นทางในจังหวัด โดยรอบพื้นที่เล่นน้ำและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงรณรงค์เล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี และปลอดแอลกอฮอล์ เพื่อลดคามเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. 57 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 417 ครั้ง (ปี 2556 เกิด 465 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 6 ครั้ง ร้อยละ 1.29 ผู้เสียชีวิต 63 ราย (ปี 2556 เสียชีวิต 62 ราย) เพิ่มขึ้น 1 ราย ร้อยละ 1.61 ผู้บาดเจ็บ 491 คน (ปี 2556 บาดเจ็บ 496 คน) ลดลง 5 คน ร้อยละ 1.01 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 38.43 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 25.27 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.75 รถปิกอัพ ร้อยละ 9.73 พฤติกรรมเสี่ยงก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 24.01 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.36 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 39.92 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.31 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.00-20.00 น. ร้อยละ 32.48 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 54.52 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,272 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,135 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 658,214 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยง 10 มาตรการ รวม 99,896 ราย โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 34,819 ราย รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย 32,674 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย นครศรีธรรมราช (20 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 5 ราย รองลงมา นครสวรรค์ สุพรรณบุรี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย นครศรีธรรมราช (21 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 2 วัน (วันที่ 11-12 เมษายน 2557) เกิดอุบัติเหตุรวม 850 ครั้ง (ปี 2556 เกิด 791 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 59 ครั้ง ร้อยละ 7.46 ผู้เสียชีวิตรวม 102 ราย (ปี 2556 เสียชีวิต 101 ราย) เพิ่มขึ้น 1 ราย ร้อยละ 0.99 ผู้บาดเจ็บรวม 893 คน (ปี 2556 บาดเจ็บ 838 คน) เพิ่มขึ้น 55 คน ร้อยละ 6.56 จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 2 วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครนายก และหนองคาย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 2 วัน (ตายเป็นศูนย์) รวม 26 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 37 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ และนครราชสีมา (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 36 คน

ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนเริ่มเดินทางถึงที่หมายแล้ว ขณะที่บางส่วนอยู่ระหว่างการเดินทาง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำชับให้จังหวัดเข้มข้นการดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด การขับรถในลักษณะเสี่ยงอันตราย การบรรทุกเกินพิกัดน้ำหนัก ครอบคลุมทั้งเส้นทางสายหลัก สายรอง เส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ สภาพการจราจรและห้วงเวลาในการเล่นน้ำสงกรานต์ของแต่ละพื้นที่โดยช่วงวันที่ 14-15 เมษายน 2557 ให้เน้นหนักเส้นทางภายในจังหวัด เส้นทางสายรองเป็นพิเศษ เพราะประชาชนส่วนใหญ่กลับถึงภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในพื้นที่ สำหรับเขตกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลคุมเข้มการใช้ความเร็วและการดื่มแล้วขับเป็นพิเศษโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ สถานบันเทิงยามค่ำคืน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่าได้กำชับจังหวัดพิจารณากำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัยมิให้กระทบต่อสภาพการจราจรและสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ใช้รถใช้ถนน รณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างสุภาพและปลอดภัยตามขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงจัดให้พื้นที่เล่นน้ำเป็นพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์ โดยจัดอาสาสมัครสอดส่องมิให้มีการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้พื้นที่เล่นน้ำ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ให้กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติภัยทางน้ำ ตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับเรือ เรือโดยสาร และอุปกรณ์นิรภัยประจำเรือ นอกจากนี้ จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า ช่วงระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2557 หลายพื้นที่จะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง จึงได้ประสานจังหวัดเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถเป็นพิเศษ ท้ายนี้หากประสบอุบัติเหตุสามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทันที

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ในวันที่ 13 เมษายน จะเป็นวันที่ทุกพื้นที่นิยมเล่นน้ำสงกรานต์หนักหน่วงกว่าทุกวัน จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นสองเท่าและเพิ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้มงวดและตรวจจับเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัย จึงขอความร่วมมือและเน้นย้ำไปยังท้องถิ่นคุมเข้มมาตรการโซนนิ่ง พื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย การควบคุมการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในบริเวณพื้นที่เล่นน้ำ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยข้อมูลจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า พบว่าในปี 2556 ทั่วประเทศมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า จำนวน 86 แห่ง 66 จังหวัด และในอนาคตจะขยายพื้นที่เพิ่มอีกเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอันเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า สำหรับการจับกุมดำเนินคดีผู้ฝืนและกระทำผิดกฎหมายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งสิ้น 4,827 ราย จำแนกเป็น การดำเนินคดีตามมาตรการเน้นหนัก 3 ข้อหา วันที่ 11-12 เม.ย.57 คือ เมาสุรา จังหวัดที่มีการดำเนินคดีสูงสุด คือ นครราชสีมา จำนวน 351 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย จังหวัดที่มีการดำเนินคดีสูงสุด คือ สุรินทร์ จำนวน 3,411 ราย และขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ สุรินทร์ จำนวน 746 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น