xs
xsm
sm
md
lg

พระราชทานอภัยโทษ ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เผยเกณฑ์ผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว เป็นผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ หรือเป็นผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด พิการ ทุพพลภาพอย่างเห็นได้ชัด เจ็บป่วยด้วยโรคที่ได้รับการตรวจรับรองเอกฉันท์ว่าไม่สามารถรักษาในเรือนจำให้หายได้ เป็นผู้ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนด กรณีหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก ส่วนผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ

วันนี้ (30 มี.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2558 โดยมีผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว โดยเป็นผู้ต้องกักขัง ผู้ทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

“กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจําคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจําคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี มาตรา ๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

(๑) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจําคุกตามกําหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (๒) ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้างหรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด

(ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทําการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจํา ให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามปี หรือไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกําหนดโทษ เว้นแต่เป็นคนเจ็บป่วย ด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการ ไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้

(ค) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกําหนดโทษ (ง) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจําในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจําคุกตามกําหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป

(จ) เป็นผู้ต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจําในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกําหนดโทษ หรือ (ฉ) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจําคุกตามกําหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มาตรา ๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา ๖ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ต้องโทษจําคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกําหนดโทษจําคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษ ตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๔
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๕
ชั้นดี ๑ ใน ๖
ชั้นกลาง ๑ ใน ๗

โดยให้นับโทษจําคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(๒) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหารตาม (๑)

(๓) ผู้ต้องโทษจําคุกเพราะความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ให้ลดโทษจากกําหนดโทษลง ๒ ใน ๓ เฉพาะความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท มาตรา ๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ต้องโทษจําคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกําหนดโทษจําคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลําดับชั้น นักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๕
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๖
ชั้นดี ๑ ใน ๗
ชั้นกลาง ๑ ใน ๘

โดยให้นับโทษจําคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(๒) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหารตาม (๑) มาตรา ๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษ ตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกไม่เกินแปดปี ในความผิดฐานผลิต นําเข้าหรือส่งออก หรือผลิต นําเข้า หรือส่งออกเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษ เด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๗
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๘
ชั้นดี ๑ ใน ๙
ชั้นกลาง ๑ ใน ๑๐

มาตรา ๑๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษ ตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกเกินแปดปี หรือจําคุกตลอดชีวิต ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๕ ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นําเข้าหรือส่งออก หรือผลิต นําเข้าหรือส่งออกเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ต้องโทษจําคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกําหนดโทษจําคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลําดับชั้น นักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๙
ชั้นดีมาก ๑ ใน ๑๐
ชั้นดี ๑ ใน ๑๑
ชั้นกลาง ๑ ใน ๑๒

โดยให้นับโทษจําคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(๒) ผู้ต้องโทษจําคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกําหนดโทษตามลําดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหารตาม (๑) มาตรา ๑๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทําความผิดอีกตามมาตรา ๙๒ หรือมาตรา ๙๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกําหนดโทษลง ๑ ใน ๙ มาตรา ๑๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทาน อภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้

(๑) ผู้ต้องโทษตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกเกินแปดปี หรือจําคุกตลอดชีวิต ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๕ ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นําเข้าหรือส่งออกหรือผลิต นําเข้าหรือส่งออกเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

(๒) ผู้ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทําความผิดอีกตามมาตรา ๙๒ หรือมาตรา ๙๓แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

(๓) นักโทษเด็ดขาดชั้นเลวหรือชั้นเลวมากมาตรา ๑๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจํามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีกหนึ่งปี

มาตรา ๑๔ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษลงเป็นโทษจําคุกตลอดชีวิต มาตรา ๑๕ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการศาลทหาร
แห่งท้องที่หนึ่งคน และพนักงานอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมสามคน
เป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่
ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้น
พิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคําสั่งยกเลิกการทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซึ่งถูกลงโทษจําคุกตามคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคําสั่งปล่อยหรือลดโทษ แล้วแต่กรณีเมื่อได้มีหมายหรือคําสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือคําสั่งยกเลิกการทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับแล้ว ให้คณะกรรมการทําบัญชีผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเก็บไว้ที่เรือนจํา หรือทัณฑสถานหนึ่งฉบับ ส่งศาลหนึ่งฉบับ ส่งกระทรวงยุติธรรมหนึ่งฉบับ และทูลเกล้าฯ ถวายอีกหนึ่งฉบับ ถ้าการแต่งตั้งกรรมการบางคนไม่สะดวกในการปฏิบัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอํานาจ แต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนได้ ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง
ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณา
วินิจฉัยชี้ขาด

มาตรา ๑๖ ในส่วนที่เกี่ยวกับนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลทหารกรุงเทพ ศาลมณฑลทหาร หรือศาลจังหวัดทหารแล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลทหารดังกล่าวพิจารณาออกหมายสั่งปลอยหรือลดโทษ หรือออกคําสั่งยกเลิกการทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

ให้นํามาตรา ๑๕ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนําบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้มาใช้บังคับแก่นักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจําทหาร นอกจากที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชกฤษฎีกานี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณาสั่งเทียบกรณีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา ๑๗ ให้นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ของตน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวภายหลังที่พระราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ว่า เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เม.ย. พ.ศ.2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ออก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 35,000 คนทั่วประเทศ โดยเป็นผู้ต้องขังกลุ่มที่มีโทษน้อย เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และกลุ่มผู้ต้องขังที่ถูกคุมประพฤติและพักการลงโทษ ทั้งนี้ ทางเรือนจำจะทยอยปล่อยผู้ต้องขังที่เข้าเงื่อนไขตามพรฎ.พระราชทานอภัยโทษ



กำลังโหลดความคิดเห็น