xs
xsm
sm
md
lg

อภัยโทษผู้ต้องขัง 35,000 คน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ “สมเด็จพระเทพฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พระราชทานอภัยโทษผู้ต้องขัง 35,000 คนในเรือนจำทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันนี้ (30 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 30 มี.ค. 2558 พระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 58 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยหลักเกณฑ์ผู้ต้องขังที่มีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว มีดังนี้ ต้องเป็นผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ หรือเป็นผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ พิการ ทุพพลภาพอย่างเห็นได้ชัด เจ็บป่วยด้วยโรคที่ได้รับการตรวจรับรองเอกฉันท์ว่าไม่สามารถรักษาในเรือนจำให้หายได้ เช่น โรงเรื้อน ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เอดส์ โดยจะต้องเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนด

กรณีผู้หญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรกไม่ว่าความผิดเดียวหรือหลายคดี ซึ่งต้องรับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนด เป็นคนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือคนที่มีอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป

เป็นผู้ต้องโทษจำคุกครั้งแรกและมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ โดยต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดีเยี่ยมซึ่งมีโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 2 ปี

สำหรับผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษมีดังนี้ ผู้ต้องขังเด็ดขาดต้องโทษประหารชีวิต ให้เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนเป็นจำคุก 50 ปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้น ประกอบด้วย ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5, ชั้นดีมาก 1 ใน 5, ชั้นดี 1 ใน 6, ชั้นกลาง 1 ใน 7 ส่วนผู้ต้องขังคดียาเสพติดโทษจำคุกไม่เกิน 8 ปี มีหลักเกณฑ์ ดังนี้ ชั้นเยี่ยมลดโทษ 1 ใน 7, ชั้นดีมาก 1 ใน 8, ชั้นดี 1 ใน 9 และชั้นกลาง 1 ใน 10

ด้านนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวภายหลังที่พระราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2558 ว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์มีจำนวนทั้งสิ้น 35,000 คนทั่วประเทศ โดยเป็นผู้ต้องขังกลุ่มที่มีโทษน้อย เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และกลุ่มผู้ต้องขังที่ถูกคุมประพฤติและพักการลงโทษ ทั้งนี้ ทางเรือนจำจะทยอยปล่อยผู้ต้องขังที่เข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ
กำลังโหลดความคิดเห็น