xs
xsm
sm
md
lg

ราชทัณฑ์เผยหลักเกณฑ์กลุ่มผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปี 58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราชทัณฑ์ เผยหลักเกณฑ์กลุ่มผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ระบุ “กำนันเป๊าะ” ได้ลดโทษ 5 ปี - “ผู้พันตึ๋ง” ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษ ส่วน “เครือข่ายพงศ์พัฒน์ - ตระกูลสุวะดี” ได้รับลดหย่อนโทษในคดีอื่น ยกเว้นคดีความผิดมาตรา 112 ด้าน ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจด้วยการเมือง ต้องโทษคดีอาญา เข้าข่ายลดหย่อนโทษในคดีอาญา ส่วนนักโทษคดีความมั่นคง อยู่ในอำนาจศาลทหาร “กลาโหม” ดำเนินการ

วันนี้ (31 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงยุติธรรม ว่า นายวัลลภ นาคบัว รองโฆษกกระทรวงยุติธรรม และ นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้แถลงข่าวการพระราชทานอภัยโทษตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2558 ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นายวัลลภ กล่าวว่า การพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นการพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่โบราณกาล เพื่อให้โอกาสกับนักโทษที่ตั้งใจมุ่งมั่นแก้ไขปรับปรุงตนเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2558 ประกาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558

นายวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษในโอกาสนี้ มีสาระสำคัญและหลักเกณฑ์ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ได้แก่ ผู้ต้องโทษกักขัง ผู้ต้องโทษปรับที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ต้องโทษที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ และนักโทษเด็ดขาดที่มิได้กระทำผิดในคดีร้ายแรงที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี นักโทษเด็ดขาดอายุ 70 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป หรืออายุตั้งแต่ 60 ปี บริบูรณ์แต่ไม่เกิน 70 ปี ที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี นักโทษเด็ดขาดเป็นคนพิการ หรือทุพพลภาพ นักโทษเด็ดขาดเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เป็นหญิงหรือผู้มีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ โดยประมาณการผู้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว 38,000 คน

กลุ่มที่ 2 คือ นักโทษเด็ดขาดที่รับการลดวันต้องโทษ กลุ่มนี้จะถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว แต่จะได้รับการลดวันต้องโทษ ตามหลักเกณฑ์ โดยมี 140,000 คน ได้รับการลดวันต้องโทษ และยังมีความผิดตามบัญชีแนบท้ายที่จะไม่ได้รับการปล่อยแต่ได้ลดวันต้องโทษ

กลุ่มที่ 3 เป็นนักโทษเด็ดขาดที่ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ นักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายที่มีกำหนดโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเกิน 8 ปีขึ้นไป

“การพระราชทานอภัยโทษเป็นหนึ่งในกระบวนการที่แสดงให้เห็นว่ามาตรการลงโทษจำคุกผู้ต้องขังเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สุดท้ายก็จะต้องกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม”

สำหรับนักโทษรายสำคัญๆที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสนี้ด้วย ได้แก่ พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ ผู้พันตึ๋ง ต้องโทษคดีฆ่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษ

ด้าน นายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ต้องโทษคดีทุจริตที่ดินเขาไม้แก้ว และจ้างวานฆ่าโดยคดีที่ดินเขาไม้แก้ว จำคุก 3 ปี 4 เดือน นับแต่ 1 ก.ย. 56 คดีนี้ได้รับอภัยโทษ 1 ใน 5 หรือลดโทษ 8 เดือน ส่วนคดีจ้างวานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุก 25 ปี ได้รับอภัยโทษ 1 ใน 5 หรือลดโทษ 5 ปี พ้นโทษ 27 ก.ย. 2578 สรุปกำนันเป๊าะได้ลดอภัยทั้งหมด 5 ปี 8 เดือน

ส่วนนักโทษเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนักโทษตระกูลสุวะดี ได้รับลดหย่อนโทษในคดีอื่น ยกเว้นคดีความผิดมาตรา 112 รวมถึง นายอภิรุจ และ นางวันทนีย์ สุวะดี ก็ได้รับลดหย่อนโทษคดีอื่นๆ ยกเว้นคดีความผิดมาตรา 112

ส่วนกรณีนักโทษการเมือง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีการคุมขังนักโทษการเมือง แต่ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจด้วยการเมือง ต้องโทษด้วยคดีอาญา เข้าข่ายลดหย่อนโทษในคดีอาญา ส่วนนักโทษคดีความมั่นคงซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขึ้นกับกระทรวงกลาโหมที่จะดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ



กำลังโหลดความคิดเห็น