xs
xsm
sm
md
lg

คศป.ถกปรองดอง อธิบดีราชทัณฑ์ชี้คดีการเมืองควรต่างอาญา ชงรัฐเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
รองประธาน คศป.คุยแนวทางปรองดอง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมช่วยรวมชื่อนักโทษการเมือง รับเข้าพบได้แต่ขึ้นอยู่ความสมัครใจนักโทษ ย้ำคดีการเมืองต้องมาจากเหตุจูงใจ ควรต่างจากอาญา ไม่ถือเป็นอาชญากร แจงช่วยเรื่องคุมขัง เยี่ยวยาหน้าที่รัฐ ชงนายกฯ ตั้ง คกก.ดูแล 17 ก.พ.มีคิวเจออธิบดีดีเอสไอ-ปธ.ศาลฎีกา สปช.อุบลฯ อ้างเหยื่อชุมนุม หวั่นปรองดองไม่ได้จริง



วันนี้ (12 ก.พ.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน ในฐานะรองประธานกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (คศป.) แถลงถึงกรณีที่คณะกรรมการฯ เดินทางไปพบกับนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอคำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องแนวทางการใช้กระบวนการยุติธรรมสร้างความปรองดองว่า เมื่อที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาคศป.ได้เดินทางไปพบกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อขอคำปรึกษาและขอคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างความปรองดอง โดยใช้ช่องทางของกระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานภาครัฐปลายสุดของกระบวนการยุติธรรม หลังจากศาลพิจารณาหรือตัดสินคดีแล้ว หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

นายบุญเลิศกล่าวต่อว่า ทางอธิบดีฯ ชี้แจงว่า ประเด็นของผู้ต้องหา หรือผู้ต้องโทษในคดีทางการเมืองในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2557 ว่าผู้ต้องขังอยู่ที่ไหนบ้าง และ คศป.จะไปเยี่ยมได้หรือไม่ ทางกรมราชทัณฑ์จะอำนวยความสะดวกได้หรือไม่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงว่า ตอนนี้ผู้ต้องขังที่มาจากต่างจังหวัดได้ส่งไปที่คุมขังตามภูมิลำเนาของแต่ละคน ส่วนจะเป็นใครบ้าง ถ้าทาง คศป.มีรายชื่อก็จะส่งไปยังทางอธิบดีฯ ที่รับปากว่าจะดูข้อมูลให้เนื่องจากผู้ต้องขังต้องคดีทางอาญา ทั้งนี้ คศป.กำลังรวบรวม แต่ประสบปัญหาที่ไม่สามารถรวบรวมได้ครบถ้วน ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์แจ้งว่าพร้อมอำนวยความสะดวก ขอให้ คศป.แจ้งว่าจะไปพบผู้ต้องขังรายใด เรือนจำไหน แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ต้องขังด้วย นอกจากนี้ คศป.และอธิบดีฯยังได้พูดถึงผู้ต้องคดีทางการเมือง

“อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่าการกระทำผิดต้องข้อหาทางอาญา ต้องดำเนินคดีไปตามกระบวนการไม่อาจแยกแยะไปได้ว่าผู้กระผิดและถูกดำเนินคดีอาญาตามกระบวนการยุติธรรมมีใครบ้างที่ต้องคดีทางการเมือง อธิบดีกรมราชทัณฑ์เห็นว่าคดีทางการเมืองต้องมาจากเหตุจูงใจทางการเมือง ตามความเชื่ออุดมการณ์เพื่อให้ได้บรรลุข้อเรียกร้องต่างๆ เมื่อถูกลงโทษ การดำเนินการเพื่อคืนความยุติธรรมน่าจะต่างจากผู้ต้องคดีอาญาอื่นๆ และผู้ที่กระทำผิดมีเหตุจูงใจทางการเมืองไม่ถือว่าเป็นอาชญากรทางการเมือง ที่ก่ออาชญากรรมเหมือนผู้กระทำผิดทั่วไป ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะต้องปฏิบัติกับผู้ต้องขังผู้กระทำผิดโดยเสมอกัน และให้อยู่ในเรือนจำตามอัตภาพตามกฎระเบียบของเรือนจำ ทั้งนี้ ในวันที่ 17 ก.พ.ทาง คศป.จะไปพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และประธานศาลฎีกา เพื่อขอความเห็นจากจากบุคคลทั้งดังกล่าวด้วย” นายบุญเลิศกล่าว

นายบุญเลิศกล่าวว่า ในส่วนของ สปช.จะดำเนินการในกรอบของหลักกฎหมายและการช่วยเหลือในเรื่องการถูกคุมขังเท่านั้น ส่วนเรื่องการเยียวยาจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการเยียวยาและสร้างความปรองดอง เพื่อพิจารณาระเบียบหลักเกณฑ์การเยียวยาเช่น ค่าชดเชยให้กับผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมามีบางกลุ่มได้รับค่าเยียวยาไปแล้วในช่วงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นจะต้องพิจารณาด้านความเป็นธรรมเท่าเทียมด้วย

ด้านนายนิมิตร สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี กล่าวว่า จากที่ได้พูดคุยกับ สปช.กลุ่มจังหวัด พบว่ามีเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้จริง พวกตนได้พยายามชี้แจงว่าเวลานี้ไม่สามารถรับรองได้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงได้หรือไม่ แต่จะพยายามทำให้เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรม ทั้งระดับภาคปฏิบัติที่กำลังจะเริ่มต้นทำ เช่น การลงพื้นที่เยี่ยมและพูดคุยกับผู้ต้องหาทางการเมืองถูกคุมขังอยู่ รวมถึงญาติพี่น้อง ผู้ได้รับผลอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปรองดองจะทำแตกต่างจากที่ผ่านมาด้วยการลงไปสัมผัสข้อมูลที่แท้จริงและพยายามให้ความช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรมให้ชัดเจนและรวดเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น