xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อียู” ให้ใบเหลืองไทย ล้มเหลวปราบประมงเถื่อน มรสุมลูกใหม่รัฐบาล “ลุงตู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องนับว่าเป็น “โจทย์” ข้อที่ยากทีเดียวสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลัง “คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปหรืออียู” มีมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ภาคทัณฑ์ หรือให้ใบเหลืองกับไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสามของโลก ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย

นี่เป็นเรื่องที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องเพราะอียูถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก)ระบุว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา อียูนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทยถึง 148,995 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าราวมูลค่า 26,292 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2556 ส่งออกปริมาณ 176,939 ตัน มูลค่า 31,072 ล้านบาท และในปี 2555 ส่งออกปริมาณ 189,904 ตัน มูลค่า 33,782 ล้านบาท

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2553 สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าปลารายใหญ่ที่สุดในโลก มีมาตรการกับประเทศที่ไม่ทำประมงตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการจับสัตว์น้ำมากเกินไป โดยกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเรือประมง และ บทลงโทษในการทำประมงผิดกฎหมาย

แน่นอน นี่ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลกระทบในฉับพลันทันที เพราะอียูให้เวลาไทยอีก 6 เดือนเพื่อแก้ไขปัญหาในกิจการประมง โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะประสานกับทางการไทยเพื่อช่วยปรับปรุงกฎหมายภาคการประมง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลี่คลายปัญหาให้ลุล่วงไปได้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยืนยันว่า การให้ใบเหลืองของอียูจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคประมงและการส่งออกสินค้าประมงไปยังยุโรป เพราะจะยังไม่มีการยกเลิกและลดคำสั่งซื้อ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความใกล้ชิดกับผู้นำเข้าสินค้าในยุโรป ทำให้สามารถพูดคุยกันได้

อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยในส่วนของภาพลักษณ์สินค้าไทย แต่เชื่อว่าจากความตั้งใจของรัฐบาลในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาและออกกฎหมายเกี่ยวกับประมง เชื่อว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเดินทางมาตรวจสอบอีกครั้ง ไทยน่าจะสามารถหลุดจากปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน

“ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างแท้จริง จะเป็นเรื่องของปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) และปัญหาของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งมากกว่า”นายพจน์แสดงความคิดเห็น

สำหรับในฟากฝั่งของรัฐบาล นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ข้อมูลว่า ใบเหลืองที่อียูประกาศให้ไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากอียูไม่พอใจมาตรการแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่เป็นผลจากการทำประมงของไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับแจ้งเตือนและทำความเข้าใจกับอียูอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี รัฐบาลได้เตรียม 6 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ประกอบด้วย 1.การ จดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) 4. การปรับปรุง ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5. ปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6. จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้า

ขณะที่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า หลังเกิดปัญหาได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรอประกาศใช้ โดยจะเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการควบคุมการทำประมง การควบคุมเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพื่อให้ทันก่อนที่คณะกรรมการอียูจะมาตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ไขในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ การแก้ไขพ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 กำลังอยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน หลังจากวันประกาศ โดยจะมีผลให้การทำประมงต้องมีการควบคุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเรือ การทำระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียม การตั้งศูนย์ควบคุมการทำประมง การขออนุญาตทำประมง การจ้างงานลูกเรือ การแจ้งแหล่งทำประมง เพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เพื่อป้องกันการการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งทำแผนปฏิบัติการการประมงระดับชาติปี 2558-2562 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณา และเมื่อการดำเนินการครบสมบูรณ์แล้ว ไทยน่าจะถูกปลดจากใบเหลืองอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ที่โดนใบเหลืองมา 11 เดือน ส่วนเกาหลี ขณะนี้โดนใบเหลือง 1 ปี เมื่อแก้ปัญหาได้ก็ถูกปลดใบเหลือง

ทั้งนี้ แม้ภาครัฐและสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยจะยืนยันว่า ยังไม่กระทบขณะนี้ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาล ตลอดรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจมองข้ามได้ ดังเช่นที่ “นายดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ปฏิบัติหน้าที่แทนโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ข้อมูลเอาไว้

นายดอนบอกว่า มีความเสี่ยงที่การส่งออกของไทยในปีนี่จะเติบโตต่ำ กว่า 0.8 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะหดตัวได้ เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มเติมภายหลังอียูขีดเส้นตายให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงภายใน 6 เดือนโดยหากไม่สามารถดำเนินการได้จะตัดการนำเข้าสินค้าประมง เพราะไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 9.6 พันล้านบาท โดยอียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

นอกจากนั้นยังมีผลกระทบกับสินค้าประมงแปรรูปอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วมีผลกระทบกว่า 1.86 หมื่นล้านบาท

กล่าวสำหรับเรื่องตัวเลขส่งออกนั้นเป็นที่ชัดเจนจากปากของ “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะประกาศปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 2558 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจปรับลดลงมาเหลือขยายตัวได้มากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์

แต่ข้อแม้สำคัญที่จะทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยเป็นไปตามเป้าได้ก็คือ ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโบกและประเทศคู่ค้าน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น

ดังนั้น ปัญหาเรื่องที่อียูให้ใบเหลืองอุตสาหกรรมประมงไทยจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ และอาจเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมให้การส่งออกปี 2558 ทั้งปีติด ลบแบบกู่ไม่กลับกันเลยทีเดียว

และไม่เพียงแต่อียูเท่านั้น “สหรัฐอเมริกา” ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีท่าทีในทางลบต่ออุตสาหกรรมประมงไทย ดังเช่นที่สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง “เอพี” รายงานเอาไว้ว่า นายมาร์ค ลากอน อดีตเอกอัครราชทูตด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นแจ้งต่อคณะอนุกรรมการกิจการต่างประเทศของสภาคองเกรส

ลากอน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานของฟรีดอม เฮาส์ องค์กรอิสระที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ยังต้องรอดูว่ารัฐบาลของโอบามา จะใช้อำนาจกำหนดบทลงโทษไทย ซึ่งรวมถึงการห้ามนำเข้าอาหารทะเลของไทยมายังตลาดอเมริกาหรือไม่

และที่สำคัญคือในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสภาคองเกรส เรียกร้องรัฐบาลโอบามา ลงโทษอย่างหนักหน่วงต่อเหล่าประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งนั่นหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย

แน่นอน ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ นับเป็นข่าวร้ายซ้ำเติมอุตสาหกรรมประมงไทย หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกคำเตือนแก่ไทยมาแล้ว และกำลังเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำต้องเร่งแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น