xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 เม.ย.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.สปช.ถกร่าง รธน. “ปู่ชัย” ค้านกลุ่มการเมืองลงเลือกตั้ง ชี้ทำชาติล่มสลายแน่ ด้านศูนย์ปรองดองฯ เชิญทุกฝ่ายทุกสีหารือ!
(บน) นายชัย ชิดชอบ  สมาชิก สปช. (ล่าง) การประชุมของศูนย์ปรองดองฯ กับฝ่ายต่างๆ
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ได้มีการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่กรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว ซึ่งมีจำนวน 315 มาตรา โดยเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจนถึงวันที่ 26 เม.ย.รวมเวลา 7 วัน 7 คืน ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีการถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์รัฐสภาและสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

ทั้งนี้ การประชุมเริ่มด้วยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงภาพรวมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยยืนยันว่า กระบวนการยกร่างครั้งนี้ไม่ได้มีการปกปิด ไม่ได้มีพิมพ์เขียวหรือพิมพ์ชมพูตามที่บางคนกล่าวอ้าง พร้อมยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาการเลือกตั้งทุกรูปแบบ เรานำแบบมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว หรือระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบคู่ขนาน นำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง แต่แล้วส่งผลให้เกิดเผด็จการเสียงข้างมากเด็ดขาดของรัฐบาล ที่สยายปีกแทรกแซงองค์กรตรวจสอบและสื่อมวลชน ครั้งนี้จึงต้องออกแบบระบบการเมืองใหม่โดยดูทั้งหลักสากลและวัฒนธรรมการเมืองไทย ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหันมาใช้มาตรฐาน 2 ทาง คือ 1.ทำให้รัฐบาลไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาด และ 2.ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของประชาธิปไตย เพื่อคานอำนาจนักการเมือง ไม่ให้รัฐบาลเสียงข้างมากเกินความจริงเช่นในอดีต กมธ.ยกร่างฯ จึงตัดสินใจใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม พลเมืองนิยมพรรคใด เลือกพรรคนั้นกี่เปอร์เซ็นต์ พรรคนั้นก็จะได้คะแนนเท่ากับความนิยมของพลเมือง ทำให้ได้พรรคขนาดกลาง และเกิดรัฐบาลผสม

นายบวรศักดิ์ ย้ำด้วยว่า มาตรฐานของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2540 และ 2550 พร้อมเชื่อว่า แม้ กมธ.จะพยายามอย่างสุดความสามารถเพียงใด ก็ยังเชื่อว่าร่างนี้ไม่สมบูรณ์ 100% จึงหวังว่าข้อเสนอแนะตลอด 7 วันนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุด

สำหรับการอภิปรายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช.ที่น่าสนใจ ได้แก่ นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะเลขานุการวิป สปช. ซึ่งอภิปรายเป็นคนแรก โดยชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับที่ผ่านมา เป็นฉบับ 4 ป. ได้แก่ 1.ปฏิรูป 2.ประชาธิปไตย 3.ประชาชนและพลเมือง และ 4.ประชามติ จะต้องทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้ได้ เพราะการทำประชามติมีความสำคัญ เป็นการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับของประชาชน ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ ต้องมีความกล้า ทองแท้ต้องไม่กลัวการพิสูจน์ ต้องกล้าที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสู่มือและสู่อ้อมกอดของประชาชนให้ได้ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอนาคต

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับประเด็นนายกฯ คนนอก เพราะเมื่อนายกฯ ไม่ได้มาจาก ส.ส. ก็จะไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับมาตรา 147 ที่ให้อำนาจนายกฯ มากเกินไป “มาตรา 147 วรรค 2 ระบุว่า ในกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.ที่มีผู้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน จะเสนอได้เมื่อมีคำรับรองของนายกฯ และหากนายกฯ สั่งการว่า ให้เสียงข้างมากในสภาต้องยกมือให้ความเห็นชอบ สมาชิกต้องให้ความเห็นชอบ ประเด็นนี้ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เคยให้ความเห็นเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2557 ว่าการกำหนดให้นายกฯ มีอำนาจรับรองกฎหมายการเงิน ถือว่านายกฯ มีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนี้ท่านก็ได้นำหลักการนี้มาใช้ในรัฐธรรมนูญนี้”

นอกจากนี้นายสมบัติ ยังอยากให้ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนมาตรา 182 ที่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยให้นายกฯ เสนอ พ.ร.บ.ได้สมัยประชุมละ 1 ฉบับ เมื่อนายกฯ แถลง พ.ร.บ.ต่อสภา หากสภาไม่เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง ถือว่าสภาให้ความเห็นขอบกฎหมายนั้น หรือหากสภายื่นญัตติไม่ไว้วางใจ แต่ฝ่ายค้านที่ยื่นอภิปรายแพ้ ก็ถือว่าสภาให้ความเห็นชอบกฎหมายนั้น ซึ่งหากนายกฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ฝ่ายค้านก็ทำอะไรไม่ได้ จะเป็นการจุดชนวนให้ประชาชนออกมาบนท้องถนนอีกหรือไม่

ขณะที่นายชัย ชิดชอบ สปช.ได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้กลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะการรัฐประหารแต่ละครั้งที่ผ่านมา มักเกิดจากปัญหาของกลุ่มการเมืองที่ไม่มีวินัย แต่มาครั้งนี้ เห็นมหาปราชญ์ 36 คน ให้มีกลุ่มการเมือง จึงอยากให้ กมธ.ยกร่างฯ ดูให้ลึก ขนาดพรรคการเมืองยังคุมไม่อยู่ มีการซื้อสิทธิขายเสียง แล้วถ้ากลุ่มการเมืองเกิดขึ้น จะตรวจสอบอย่างไร กลุ่มการเมืองใหญ่มาก กลุ่มการเมือง 2 กลุ่มที่เรามี จะทำให้ประเทศชาติล่มสลาย สร้างความเดือดร้อนให้ประเทศชาติ ทหารจะเอารถถังออกมากี่คัน ก็สู้กลุ่มการเมือง 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ “ผมกล้าท้าเลยว่า ความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น หากไม่สร้างความสามัคคีในชาติ กลุ่มเสื้อสีน่าเป็นห่วงมาก ชาติจะล่มจมเพราะกลุ่มเหล่านี้”

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) ได้เชิญนักการเมือง นักวิชาการ กลุ่มการเมือง คอลัมนิสต์กว่า 80 คน ร่วมประชุมหารือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรองดองที่สโมสรทหารบก โดยผู้ถูกเชิญที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ , นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย , นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. , นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการสายเสื้อแดง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ศปป.ได้ขอร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมอย่านำเรื่องที่พูดคุยกันออกมาพูดกับสื่อ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดประเด็นนำไปสู่ความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ออกมาให้ข่าว เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เผยว่า ตนได้เสนอโรดแมปปรองดอง 3 ขั้น ขั้นที่ 1 ต้องสร้างกระบวนการพูดคุยอย่างที่ ศปป.เชิญหลายฝ่ายมาพูดคุยครั้งนี้ ขั้นที่ 2.สร้างกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อบังคับใช้อย่างเป็นธรรม หมายถึงต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ทุกฝ่ายยอมรับและบังคับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ขั้นที่ 3.จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ขณะที่นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เผยว่า สิ่งที่นายอภิสิทธิ์และพรรคเพื่อไทยมีความเห็น เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือรัฐธรรมนูญต้องมีแนวทางในเรื่องความปรองดอง ลดความขัดแย้ง เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเพื่อไทยรับได้หากการเลือกตั้งช้า แต่รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องทำประชามติ

2.อียูให้ใบเหลืองประมงไทย อ้างปล่อยประมงผิดกฎหมาย ขีดเส้นแก้ไขใน 6 เดือน ก่อนโดนคว่ำบาตร ด้าน “บิ๊กตู่” เตรียมใช้ ม.44 แก้ปัญหา!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. คณะกรรมาธิการยุโรป(อีซี) ได้แถลงข่าวที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ให้ใบเหลืองประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยอ้างว่าไทยไม่ดำเนินมาตรการที่มากพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) โดยอีซีระบุด้วยว่า ได้มีการวิเคราะห์และพูดคุยหารือกับทางการไทยมาตั้งแต่ปี 2554 ก่อนที่จะสรุปว่าทางการไทยยังไม่ดำเนินการมากพอในการจัดการปัญหาดังกล่าว

อีซีระบุอีกว่า หลังการให้ใบเหลือง จะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยกับทางการไทย เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้อง โดยไทยมีเวลา 6 เดือนในการปรับปรุง หากพ้นกำหนด แล้วสถานการณ์ยังไม่พัฒนา สหภาพยุโรป(อียู) จะคว่ำบาตรสินค้าอาหารทะเลทุกชนิดจากไทย เช่นเดียวกับที่ได้คว่ำบาตรสินค้าประมงจากกัมพูชา กินี ศรีลังกา และเบลีซ มาแล้วในปีก่อน พร้อมกันนี้อีซียังได้ชื่นชมการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายของเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ด้วย

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกแถลงการณ์แสดงความรู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจของอีซีที่ให้ใบเหลืองไทย ซึ่งสะท้อนว่าอียูไม่ได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาประมงที่เป็นรูปธรรมของไทย พร้อมเรียกร้องให้อียูพิจารณาการดำเนินการของไทยตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มีความโปร่งใส เที่ยงตรง ไม่เลือกปฏิบัติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย อย่างไรก็ตาม ไทยจะสานต่อความร่วมมือกับอียู เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งสามารถแก้ไขและป้องกันการทำประมงแบบไอยูยูในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า การประกาศเตือนของอีซีครั้งนี้ ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปอียูแต่อย่างใด

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ทางอียูยังไม่พอใจเรื่องกฎหมายของไทยว่าลงโทษน้อยเกินไป ซึ่งกำลังรอทางอียูส่งเรื่องมาให้ว่ายังไม่พอใจในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมานานแล้วตั้งแต่ปี 2548

ขณะที่นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ปฏิบัติหน้าที่แทนโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า หลังอียูขีดเส้นให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงภายใน 6 เดือน หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะตัดการนำเข้าสินค้าประมง ทำให้มีความเสี่ยงที่การส่งออกของไทยในปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 0.8% หรืออาจจะหดตัวได้ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องดังกล่าว เพราะไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.6 พันล้านบาท โดยอียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสินค้าประมงแปรรูปอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9 พันล้านบาท รวมผลกระทบกว่า 1.86 หมื่นล้านบาท

ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงเมื่อวันที่ 22 เม.ย.กรณีอีซีให้ใบเหลืองไทยว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดแก้ไข พ.ร.บ.ประมงให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล ซึ่งขณะนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว และอยู่ในขั้นตอนรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะใช้เวลาอีก 60 วันจึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งอาจจะล่าช้า จึงจะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้าว่าจะออก พ.ร.ก.หรือขอใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาการประมง “อาจขอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา อย่างเช่น กฎหมายประมงฉบับเก่าที่ใช้ ไม่ได้ระบุอำนาจให้เจ้าหน้าที่กรมประมงหรือกรมเจ้าท่าขึ้นไปบนเรือประมงเพื่อตรวจสอบสินค้าหรือเรือ ก็จะใช้อำนาจ ม.44 เพิ่มอำนาจให้ หรือเรือประมงใดที่มีเครื่องมือการประมงที่ผิดกฎหมายต่างๆ ไว้ในครอบครอง แม้จะไม่ได้นำมาใช้ในการประมง ต่อไปก็จะให้อำนาจทางกฎหมาย เรือใดที่ครอบครองจะถือว่ามีความผิด หรือแม้แต่การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจท่าเรือเข้า-ออก หากพบว่าเรือนั้นมีการทำผิดไอยูยูจริงๆ เราก็มีอำนาจในการกักเรือลำนั้นได้ เป็นต้น”

นายปีติพงศ์ เผยด้วยว่า ทางอียูได้ให้คำแนะนำมาเกี่ยวกับการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายว่า สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งรัดดำเนินการให้ชัดเจนก่อนที่คณะอียูจะเข้ามาติดตามความคืบหน้าในเดือน พ.ค. มี 3 เรื่อง คือ 1.แผนปรับปรุงกฎหมายประมงให้ทันสมัย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 2.ปรับปรุงแผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน คาดว่าจะเสนอแผนให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า 3.การปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับในสายการผลิตสินค้าประมง เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ตามตำแหน่งเรือ(วีเอ็มเอส) เมื่อเรือออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยนิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมย้ำว่า รัฐบาลเอาจริงแน่นอน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันด้วยว่า จะใช้คำสั่งมาตรา 44 แก้ปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้อำนาจทหารเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงาน แต่ไม่รับประกันว่าจะแก้ปัญหาได้ภายใน 6 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ เผยด้วยว่า ปัญหาที่รัฐบาลแก้ไขแล้ว ได้แก่ การติดตั้งจีพีเอสในการติดตามเรือ และจดทะเบียนเรือ ซึ่งขณะนี้สามารถจดทะเบียนเรือได้ 2-3 หมื่นลำ แต่ยังเหลือส่วนที่ยังไม่กลับเข้าฝั่ง และว่า เรื่องนี้เบื้องต้น ตนเองได้หารือกับผู้นำอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น เพื่อจัดตั้งกองเรือแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมในการพูดคุยที่มาเลเซียในการประชุมอาเซียนในสัปดาห์หน้า

3.ตำรวจ สภ.ปากช่อง ออกหมายเรียก 3 ผู้บริหาร “โบนันซ่า” รับทราบ 5 ข้อหารุกป่าสงวน 29 เม.ย. ด้าน “สรยุทธ” ยันซื้อที่ดินเขาใหญ่มีโฉนด!
(บนซ้าย) นายภูผา เตชะณรงค์ 1 ใน 3 ผู้บริหารโบนันซ่า (บนขวา) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ชี้แจงเรื่องบ้านและที่ดิน 8 ไร่ที่เขาใหญ่ (ล่าง) สรยุทธกับบ้านที่เขาใหญ่
ความคืบหน้ากรณีสนามแข่งรถอินเตอร์เนชั่นแนล โบนันซ่า สปีดเวย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ นักธุรกิจใหญ่และนักการเมืองชื่อดัง บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเขาเสียดอ้า เขานกยูง และเขาอ่างหิน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปผลการตรวจสอบ พบว่าบุกรุกพื้นที่ของรัฐทั้งหมดรวม 166 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา แบ่งเป็นพื้นที่มีการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก.ที่ทางโบนันซ่านำมาแสดงจำนวน 5 แปลง รวมเนื้อที่ 55 ไร่ 3 งาน 63 ตารางวา , บุกรุกพื้นที่สวนป่า 35 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา , พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ12 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา , พื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เนื้อที่ 57 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา และบุกรุกลำรางสาธารณะเนื้อที่ 4 ไร่ 43 ตารางวานั้น

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.พิสัณฑ์ จุลดิลก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ให้กำกับดูแลคดีรุกป่าของโบนันซ่า ได้เผยข้อสรุปการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องว่า ได้นำข้อสรุปรายงานผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เรียบร้อยแล้ว โดยจากการรวบรวมพยานหลักฐานจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งป่าไม้ สวนป่า ส.ป.ก. และ อบต. ซึ่งอยู่ในฐานะผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนจึงได้มีมติร่วมกัน โดยสรุปพื้นที่ที่ถูกบุกรุกรวมทั้งสิ้นกว่า 108-109 ไร่ ซึ่งตัวเลขนี้ยังอาจคลาดเคลื่อนเล็กน้อย แยกเป็นพื้นที่บุกรุกป่าไม้ 5 แปลง สวนป่า 8 แปลง ส.ป.ก.1 แปลง และมีทางสาธารณะและลำรางสาธารณะอีกประมาณ 4 ไร่ จากพื้นที่ที่สนามแข่งรถโบนันซ่าใช้ประโยชน์รวม 166 ไร่เศษ สำหรับพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. แสดงความเป็นเจ้าของ 6 แปลง รวม 56 ไร่เศษนั้น พนักงานสอบสวนจะไม่นำมารวมในคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่ดินที่จะดำเนินการเพิกถอน หากเห็นว่าได้มาโดยไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สภ.ปากช่องได้ออกหมายเรียกนายภูผา เตชะณรงค์ ลูกชายนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ,นายปรีชากร ปราบสงบ และนายนิธิษเชษฐ์ สุทธิเจริญกุล กรรมการของบริษัทโบนันซ่าฯ เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา 5 ข้อในวันที่ 29 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น. หากไม่มา จะออกหมายเรียกอีกครั้ง ถ้ายังไม่มาจะออกหมายจับ สำหรับ 5 ข้อกล่าวหา ที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งผู้บริหารโบนันซ่า 3 ราย ประกอบด้วย ร่วมกันก่อสร้างแผ้วถางป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ,ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ อันเป็นการเสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ,ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ทำให้เสื่อมเสียสภาพที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ,บุกรุกลำรางสาธารณะและทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

ส่วนความคืบหน้ากรณีมีรายงานว่า คณะทำงานทวงคืนผืนป่าของกองทัพภาคที่ 2 จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เข้าตรวจสอบที่ดินโครงการมูนแดนซ์ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนธนะรัชต์ ทางขึ้นเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง ทั้งหมด 115 แปลง เนื้อที่ 284 ไร่ ว่ารุกป่าหรือได้มาโดยถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมีบ้านพักของพิธีกรชื่อดังตั้งอยู่บนเนื้อที่ดังกล่าวด้วย 8 ไร่นั้น เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง ได้ชี้แจงเรื่องที่ดิน 8 ไร่ดังกล่าวว่า ซื้อจากเจ้าของโครงการมูนแดนซ์ ซึ่งซื้อต่อมาจากสถาบันการเงินอีกที โดย 5 แปลงมีการโอนจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพทาย ให้ตนเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2551 และอีก 1 แปลงโอนเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2554 ซึ่งทั้งหมดเป็นโฉนดที่ดิน โดยเจ้าของโครงการได้มอบเอกสารของกรมที่ดินที่แจ้งการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2551 ให้ดู เนื้อความบอกเล่าที่มาของโครงการมูนแดนซ์ ซึ่งได้รับ น.ส.3 ก.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2505 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าในปีถัดมา จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และถือว่าโฉนดที่ดินจำนวน 53 แปลงชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งที่ดินของตนอยู่ในส่วนนี้ 5 แปลง แต่อีก 1 แปลงอยู่ในส่วนของ 133 แปลง ที่เป็น น.ส.3 ก. ซึ่งยังต้องพิสูจน์กันต่อไป นายสรยุทธ ยังยืนยันด้วยว่า บ้านของตนที่เขาใหญ่ไม่ได้สร้างขวางทางน้ำและไม่ได้สร้างฝายหรือทำเขื่อนปิดกั้นลำน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวตามที่มีข่าวแต่อย่างใด

4.ป.ป.ช.สั่งอายัดทรัพย์ “ธาริต” กว่า 40 ล้าน หลังส่อซุกซ่อนทรัพย์-ร่ำรวยผิดปกติ ให้ชี้แจงใน 30 วัน เจ้าตัวยัน แจงได้ทุกรายการ!

(บน) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีดีเอสไอ (ล่าง) นายธาริตกับนางวรรษมล ภรรยาและนายธนวรรษ บุตรชาย
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หลังประชุม นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมว่า ตามที่ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2557 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมไต่สวนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตรวจพบว่า นายธาริตมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ จึงได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของนายธาริต และนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ภรรยา ไว้เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ได้แก่ เงินฝาก ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะ รวมมูลค่า 40,954,720.58 บาท โดยแบ่งเป็นทรัพย์สินของนายธาริต มูลค่า 1,706,441.63 บาท และทรัพย์สินของนางวรรษมล มูลค่า 39,248,278.95 บาท นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้มีคำสั่งให้นายธาริตแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ภายใน 30 วันด้วย

ด้านนายธาริต กล่าวในวันเดียวกัน(19 เม.ย.) ถึงกรณี ป.ป.ช.มีคำสั่งอายัดทรัพย์ตนและภรรยากว่า 40 ล้านบาทว่า ตนและภรรยาได้รับคำสั่งอายัดอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช.มา 1 เดือนเศษแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา และว่า กำหนด 30 วันที่ ป.ป.ช.ให้ชี้แจงที่มาทรัพย์สินนั้น ครบกำหนดในวันที่ 20 เม.ย. ซึ่งตนได้ยื่นเอกสารต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ขอเลื่อนการชี้แจงออกไปอีก 30 วัน พร้อมมั่นใจว่า สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้ทุกรายการ

นายธาริต ยังแสดงความข้องใจด้วยว่า ตนร่ำรวยผิดปกติอย่างไร ในเมื่อปี 2552 ตนได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ตนและภรรยายื่นบัญชีทรัพย์สินไว้ต่อ ป.ป.ช.มูลค่า 37.3 ล้านบาท ผ่านไป 5 ปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านบาท ขอถามว่ามันเป็นการร่ำรวยผิดปกติอย่างไร นายธาริต ยังเชื่อด้วยว่า เหตุที่ตนถูกร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบทรัพย์สิน มาจากเรื่องการเมือง เพราะที่ผ่านมา ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ได้ทำคดีสำคัญหลายคดี ตั้งแต่คดีสลายการชุมนุมทางการเมือง หรือคดี 99 ศพ คดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง คดีกลุ่ม กปปส.อดีต ส.ส.ปชป. หลังจากนั้น คสช.ก็มีคำสั่งให้ตนพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ โดยตนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากถึง 30 คดี แต่ศาลตัดสินยกฟ้องไปแล้ว 19 คดี ตนจึงมั่นใจในศาลยุติธรรม โดยพร้อมต่อสู้ทุกคดีจนถึงชั้นฎีกา เชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรมแน่นอน

ด้านคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้ประชุมพิจารณาคำขอขยายเวลาชี้แจงของนายธาริตเมื่อวันที่ 22 เม.ย.และได้มีมติให้ขยายเวลาชี้แจงออกไปอีก 30 วันตามที่นายธาริตร้องขอ หรือไม่เกินวันที่ 19 พ.ค.นี้

5.ศาลฎีกา พิพากษากลับยกฟ้อง “สนธิ” คดีถูกอดีตหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำแม่สลอง ฟ้องหมิ่น!

 บรรยากาศการเดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาล จ.เชียงราย และประชาชนที่มาให้กำลังใจ (22 เม.ย.)
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ศาล จ.เชียงรายได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายเก่งกาจ ศรีหาสาร อดีตหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำแม่สลอง กรมป่าไม้ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ข้อหาหมิ่นประมาท กรณีนายสนธิปราศรัยที่วัดป่าปะพงนอก จ.ระนอง เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2549 ว่า เมื่อครั้งมีการจัดเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 15 ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ นายเก่งกาจได้พาพวกป่าไม้ไปป่วนเวทีปราศรัยดังกล่าว โดยมีการขว้างประทัดยักษ์เข้าไปขณะมีการปราศรัย จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน และคดียืดเยื้อจนถึงศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายสนธิมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษลงเหลือจำคุกเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ด้านศาลฎีกาพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องนายสนธิ ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา นายสนธิได้ขออนุญาตพูดต่อหน้าศาลว่า ที่ผ่านมาตนไม่เคยหนีศาล แม้ว่าศาลฎีกาจะตัดสินผลของคดีออกมาเป็นอย่างไร ตนก็จะปฏิบัติตามนั้นโดยไม่หนี เพราะศาลถือเป็นที่พึ่งของประชาชน หากไม่พึ่งศาลแล้วก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ศาลยังถือเป็นที่พึ่งของสังคมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างรอคัดสำเนาคำตัดสินของศาลฎีกา ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย ทำให้มีการนัดโจทก์มาฟังคำพิพากษา เพื่อให้การตัดสินมีความครบถ้วน จึงจะคัดสำเนาคำพิพากษาได้ หลังจากนั้น นายสนธิ และทีมงาน ได้เดินทางออกจากศาล ซึ่งระหว่างนั้น ได้มีประชาชนและข้าราชการหลายกลุ่มที่ทราบข่าวพากันมาแสดงความยินดีกับนายสนธิด้วย

โอกาสนี้ นายสนธิกล่าวกับผู้ที่มาแสดงความยินดีว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่อธิบายอย่างชัดเจนแล้วว่านายเก่งกาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่พาคนไปที่เวทีสวนลุมพินี ดังนั้นตนจึงมีสิทธิ์ในการป้องกันตนเองได้ และว่า ตนไม่ดีใจหรือเสียใจใดๆ ที่ชนะคดีนี้ เพราะก่อนหน้านี้ตนได้ทำใจเอาไว้แล้ว เพราะศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำคุกตน เมื่อถึงชั้นศาลฎีกา ตนก็พร้อมหากจะต้องมีการรับโทษ ซึ่งตนยืนยันว่าจะไม่หนี เพราะกระบวนการยุติธรรมถือเป็นที่พึ่งของประชาชน แม้ว่าตนอาจจะไม่พอใจในคำตัดสินของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่ก็ไม่ติดใจ เพราะถือว่าเป็นคำพิจารณาคดีของศาล

อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายเก่งกาจได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1 และมีจำเลยร่วมอีก 5 คน ฐานหมิ่นประมาท หลังตีพิมพ์ข่าวการปราศรัยของนายสนธิดังกล่าว ซึ่งคดีมีลักษณะคล้ายกัน คือยืดเยื้อจนถึงชั้นศาลฎีกา กระทั่งเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น