xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คีรีมายา” มีหนาว “สรยุทธ์-มูนแดนซ์” ขนหัวลุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ใช้รายการของตนเอง ชี้แจงกรณีบ้านพักของตนเองที่เขาใหญ่กำลังมีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นอันชัดเจนเรียบร้อยโรงเรียน คสช. แล้วสำหรับสนามแข่งรถโบนันซ่า สปีดเวย์ กรณีบุกรุกที่หลวง 166 ไร่ จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงเดินหน้าเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนขาใหญ่รายต่อไปที่กำลังถูกตรวจสอบ คือ คีรีมายา รีสอร์ท และมูนแดนซ์ ที่มีชื่อพิธีกรดังเข้าครอบครองอยู่ด้วยนั้นเริ่มส่อเค้าไม่รอดแน่

แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) น่าพิจารณาข้อเสนอของหลายฝ่ายที่เสนอให้ คสช. ใช้อำนาจพิเศษรื้อที่ดินทั้ง อ.ปากช่อง ทั้งหมด เพราะมีทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่นิคมฯอีกมาก เพื่อเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

อย่างนั้น ถึงจะถือเป็นการสนับสนุนยุทธการยึดคืนผืนป่าและที่หลวงคืนทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ รวมทั้งหนุนปฏิบัติการไล่ทวงคืนที่ดินที่ ส.ป.ก. แจกให้เกษตรกรไป 36 ล้านไร่ แล้วบางส่วนตกไปอยู่ในมือนายทุนคืนกลับมา ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่อีเว้นท์รายวัน

พื้นที่ อ.ปากช่อง นั้นมีความพิเศษและน่าสนใจมากๆ เพราะนายสุรวุฒิ ใจกิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ระบุชัดว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นคือ พื้นที่ อ.ปากช่องนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าถาวรทั้งหมด

คำถามที่น่าสนใจ คือ แล้วจะทำอย่างไรกับโครงการหรูหรา โรงแรม รีสอร์ต ฯลฯ ของนักพัฒนาที่ดิน และเศรษฐีเมืองกรุง ที่ไปมีที่ทางอยู่ อ.ปากช่อง และพากันถือเอกสารสิทธิ์ต่างๆ บนที่ดินซึ่งมีสภาพเป็น “พื้นที่ป่าถาวร” ตามประกาศของกรมป่าไม้?

หากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความสามารถจัดการการบุกรุกที่หลวงใน อ.ปากช่อง ได้อย่างเป็นรูปธรรม พื้นที่อื่นๆ ที่ถูกบุกรุกคงมีโมเดลตัวอย่างให้จัดการได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ อ.วังน้ำเขียว ที่เป็นมหากาพย์มาก่อนหน้า รวมไป ถึงพื้นที่เป้าหมายซึ่งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และส.ป.ก. ประกาศจะยึดคืนผืนป่า ยึดคืนที่ดินหลวง ในหัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ เลย ซึ่งกลุ่มนายทุนให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วย

เชื่อว่างานหินขนาดนี้ มีแต่อำนาจพิเศษอย่าง คสช. เท่านั้นที่จะทำได้ และเวลานี้เริ่มมีกระแสเสียงเชียร์ให้พล.อ.ประยุทธ์ งัดมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฯ มาจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดกันแล้ว

ย้อนกลับมาดูกรณีโบนันซ่า มีรายงานความคืบหน้าล่าสุดกรณีสนามแข่งขันรถอินเตอร์เนชั่นแนล โบนันซ่า สปีดเวย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ นักธุรกิจใหญ่และนักการเมืองชื่อดัง บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเขาเสียดอ้า เขานกยูง และเขาอ่างหิน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปผลการตรวจสอบพบมีการบุกรุกพื้นที่ของรัฐทั้งหมดรวม 166 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา แบ่งเป็น

1)พื้นที่มีการออกเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. เป็นหลักฐานที่ทางโบนันซ่านำมาแสดงจำนวน 5 แปลง รวมเนื้อที่ 55 ไร่ 3 งาน 63 ตารางวา

2)บุกรุกพื้นที่สวนป่า 35 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา

3)พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 12 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา

4)พื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก.) เนื้อที่ 57 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา

และ 5)บุกรุกลำรางสาธารณะเนื้อที่ 4 ไร่ 43 ตารางวา

ในส่วนของการดำเนินคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2558 พลตำรวจตรี ธเนษฐ สุนทรสุข รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สรุปผลสอบสวนโดยจะดำเนินคดีกับบริษัท โบนันซ่า สปีดเวย์ ที่มี นายภูผา เตชะณรงค์ นายปรีชากร ปราบสงบ และนายนิธิศเชษฐ์ สุทธิเจริญกุล รวม 3 คน ข้อหา ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน และก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 วัน น่าจะออกหมายเรียกนายภูผา นายปรีชากร และนายนิธิศเชษฐ์ มาแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งนายนิธิศเชษฐ์นั้น ก่อนหน้านี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว

พ.ต.อ.บุญเลิศ ว่องวัจนะ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รองผบก.ภ.จว.) นครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว คาดว่าจะสรุปสำนวนคดีส่งอัยการพิจารณาฟ้องศาลภายในเดือน พ.ค. 2558 นี้

สำหรับกรมป่าไม้ นายสุรวุฒิ ใจกิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) จะออกหนังสือของพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ที่ครอบครองพื้นที่นำหลักฐานมาแสดงการครอบครองภายใน 30 วัน หากเอกสารหลักฐานที่นำมาแสดงไม่เป็นเอกสารสิทธิที่ได้มาโดยถูกต้องก็ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป หากยังไม่รื้อถอนเจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการเองและจะเรียกค่าเสียหายพร้อมคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7

ส่วนการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่มิชอบนั้น นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามในคำสั่งการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. จำนวน 5 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 55 ไร่ของ สนามแข่งรถโบนันซ่า ที่ออกโดยมิชอบเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2558 ตามที่ที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ได้เสนอเรื่องขึ้นมา

ทางด้านนายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า หากสำนักงานที่ดิน สาขาปากช่อง จ.นครราชสีมา รายงานผลการตรวจสอบและคำสั่งเพิกถอนจากจังหวัดนครราชสีมาขึ้นมา จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 6 เดือน

ถัดจาดโบนันซ่าที่ เรียบร้อยโรงเรียน คสช. ไปเรียบร้อย ก็มาถึง คีรีมายา รีสอร์ท และมูนแดนซ์ ซึ่งเวลานี้กำลังลุ้นระทึกว่าจะออกหัวหรือก้อย

งานนี้ เจ้าเก่าที่เปิดประเด็นเชือดโบนันซ่า ก็กำลังเตรียมลงพื้นที่ โดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดิน คีรีมายา รีสอร์ท อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่มีการชี้แจงจากเจ้าของคีรีมายาว่าซื้อที่ดินมาจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี จึงสั่งการให้กรมบังคับคดี ตรวจสอบเอกสารการขายทอดตลาด และที่มาทรัพย์ดังกล่าว รวมถึงขั้นตอนในการประมูลขายที่ดินว่ามีการสู้ราคาซื้อขายกันอย่างไร และปิดประมูลขายทรัพย์ด้วยราคาเท่าใดสอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบีบีซีหรือไม่

ในเบื้องต้น พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ ได้รับรายงานว่า คีรีมายาซื้อที่ดินจากกรมบังคับคดี รวม 36 แปลง เนื้อที่กว่า 1,400 ไร่ แต่พบว่าเอกสารสิทธิที่นำมาขายทอดตลาดเป็นทรัพย์สินที่มีความเกี่ยวข้องกับคดียักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด หรือ บีบีซี จึงต้องตรวจสอบถึงที่มาในการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3ก. ทั้ง 36 แปลง ก่อนที่จะนำไปจำนองกับบีบีซี เพราะในชั้นการดำเนินคดีกับบีบีซีก่อนหน้านี้ พบว่า มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบในเขตป่า ภูเขา แล้วนำไปจำนองเพื่อกู้เงินจากบีบีซี แต่ไม่ชำระเงินกู้จนเป็นเหตุให้ธนาคารต้องปิดกิจการ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ

“หากตรวจสอบพบว่าการขายทอดตลาดเอกสารสิทธิที่ดินให้กับคีรีมายามีที่มาไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินการเพิกถอน พร้อมขยายผลตรวจสอบไปยังที่ดินแปลงอื่นๆ ที่ยึดมาจากบีบีซีด้วย” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดประเด็นก่อนที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบในสัปดาห์นี้ เพื่อรวบรวมหลักฐานทั้งหมด

นอกจากนี้ พ.ต.อ.ดุษฎี ยังจะตรวจสอบกรณีการออกเอกสารสิทธิให้กับคีรีมายาและสนามแข่งรถโบนันซ่าสปีดเวย์ว่าเป็นรูปแบบเดียวกันหรือไม่ กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ หากเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มเดียวกันคาดว่าจะมีที่ดินหลายแปลงที่มีการกระทำผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก

ขณะที่ ทาง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรม ออกมาตอบคำถามสื่อกล่าวถึงกรณีคีรีมายา รีสอร์ท ว่า หากผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นผู้เสียหาย ตามหลักความเป็นธรรมจะต้องมีการเยียวยาให้กับผู้เสียหายเนื่องจากรัฐได้รับเงินจากการขายทอดตลาดไปแล้ว

พร้อมกับมีข่าวปล่อยออกมาด้วยว่า จากการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ทั้ง 36 แปลง จากการรังวัดที่ดินเขตป่า ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ แต่กลับมีนายหน้าเข้าไปใช้ชื่อชาวบ้านถือครองที่ดินเป็นเวลา 5 ปี ก่อนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับบริษัท เขาใหญ่เนอเชอรัล ก่อนมีการนำเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. ไปยื่นจำนองกับบีบีซี

บริษัทเขาใหญ่ฯ ซึ่งล้มละลายไปแล้วนั้น มีกรรมการบริหาร 12 คน กรรมการผู้มีอำนาจลงนามประกอบด้วย นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู นายเอกชัย อธิคมนันทะ นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ นายราเกซ สักเสนา (ที่ปรึกษาบีบีซี) จึงเป็นข้อพิรุธว่าอาจเป็นการจัดตั้งบริษัทเพื่อขอกู้เงินจากบีบีซี

นอกจากนั้น เอกสารที่ดินดังกล่าวอาจมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ และจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าคีรีมายามีเนื้อที่รวมกว่า 1,400 ไร่ แต่เอกสารสิทธิ์ ตาม น.ส. 3 ก. มีเพียงกว่า 700 ไร่เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบว่ามีการกว้านซื้อที่ดินเพิ่มหรือนำน.ส. 3 ก. ไปขอออกโฉนดเกินจากเนื้อที่ตามน.ส. 3 ก. หรือไม่

ส่วนบริษัทที่ประมูลซื้อที่ดินจากกรมบังคับคดีก็คือบริษัท ร้อยแก้ว จำกัด ต่อมามีการขายต่อให้บริษัท กอล์ฟ โฮม คันทรีคลับ แอนด์รีสอร์ท ทั้ง 36 แปลง โดยมีการโอนส่งมอบจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ในคราวเดียว

สำหรับโครงการมูนแดนซ์ ที่มีชื่อพิธีกรดังคือ “นายสรยุทธ์ สุทัศนจินดา” เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2558 ที่ผ่านมา พ.อ.สมหมาย บุษบา หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย กองทัพภาคที่ 2 เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมลงตรวจสอบพื้นที่จริงมาแล้ว พบโครงการดังกล่าวประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินขาย การได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ที่ดินมีลักษณะเดียวกันกับกรณีของโบนันซ่าคือได้มาจากการเดินสำรวจออกให้ในปี 2519 จากนั้นค่อยมาเปลี่ยนเป็นโฉนดภายหลัง

แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือบริเวณหลังบ้านพิธีกรข่าวชื่อดัง ซึ่งเป็นลำห้วยสาธารณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ห้วยฟ้าผ่า” นั้น ถูกเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิม คือมีการขยายลำห้วยให้กว้างกว่าเดิมแล้วปิดกั้นเป็นเก็บกักน้ำใช้เพื่อประโยชน์ ของตัวเอง ซึ่งโดยปกติธรรมชาติลำห้วยดังกล่าวเป็นลำน้ำสาขาลำตะคองเมื่อมี น้ำจะไหลลงสู่ลำตะคอง แต่ไม่รู้ว่าใครทำระหว่างโครงการกับเจ้าของบ้าน

ส่วนกรณีโฉนดที่ดินจะได้มาอย่างไรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องทำการตรวจสอบต่อไป และหลังลงพื้นที่แล้วได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากดูตามแผนที่แล้ว ในบริเวณโครงการดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นป่าไม้ถาวรครอบคลุมทั้งหมด

พ.อ.สมหมาย กล่าวอีกว่า พื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะบริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีทั้งพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง รวมเนื้อที่กว้างใหญ่มากประมาณ 280,000 ไร่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่บางส่วนได้โอนไปให้ ส.ป.ก. ส่วนที่ปรากฏว่า มีการโฉนดออกให้ในหลายโครงการนั้น เชื่อว่าคงทำเป็นขบวนการ ซึ่งนโยบายของผู้บังคับบัญชาจะพุ่งเป้าไปที่การครอบครองของผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เป็นหลัก หากเป็นราษฎรรายย่อยจะดูเป็นแต่ละกรณีไป

“การบุกรุกป่าพื้นที่เขาใหญ่เป็นปัญหามาช้านานมาก ส่วนตัวเห็นควรนำเอา มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เข้ามาใช้กับกรณีดังกล่าวเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าและแล้วเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย” พ.อ.สมหมาย กล่าว

ด้านนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ได้ใช้ช่วงเวลาในรายการของตนเองเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 ชี้แจงว่า ตนเองซื้อที่ดินเมื่อปี 2551 เป็นการซื้อที่ดินจากโครงการมูนแดนซ์ ซึ่งมูนแดนซ์ไปซื้อมาจากสถาบันการเงินอีกที โดยทั้ง 6 แปลงเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งให้แก่บริษัทการ์เด้นโฮม รีสอร์ท จำกัด โดย 5 แปลงแรกมีการโอนจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพทายจำกัด เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ซึ่งก็แปลว่าผู้ที่ซื้อใหม่ก็คือโครงการมูนแดนซ์ ไปประมูลออกหรือไปซื้อมาจากสถาบันการเงิน แล้วเอามาขายต่อ

ส่วนแปลงที่ 6 เป็นการโอนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2554 อันเนื่องมาจากที่ดินของตนเองได้ซื้อจนกระทั่งโอบล้อมทางเข้าของหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมด หมู่บ้านก็ไม่ต้องการมีภาระในการดูแลถนนในโครงการ จึงมีการขายที่ดินแปลงนี้ให้ซึ่งที่ดินทุกแปลงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ

นายสรยุทธ์กล่าวด้วยว่า ได้หนังสือมาจากเจ้าของโครงการ โดยเป็นหนังสือของกรมที่ดิน ที่มหาดไทย 0516.2 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 เป็นการแจ้งการออกหนังสือที่ดินเอกสารสิทธิ์ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อ้างถึงหนังสือของจังหวัด พร้อมสำเนาบันทึกกองนิติการ โดยสรุปก็คือเป็นการบอกเล่าของที่มาที่ไปของโครงการ อันเนื่องมาจากการออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. ลงนามโดยนายประทีป เจริญพร รองอธิบดีกรมที่ดิน ปฏิบัติราชการแทนกรมที่ดิน ซึ่งเจ้าของโครงการส่งมาให้เพื่อยืนยันว่าที่ดินที่ขายให้ไม่มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ ที่ดินของโครงการนี้โดยสภาพจะมาจาก น.ส.3 ก.ทั้งหมด 9 แปลง โดยพื้นที่ทั้งหมดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อพ.ศ.2506 ให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร แต่เมื่อมีการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว ส่วนของตนเองออกตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 90 ในหนังสือกรมที่ดินได้ระบุว่า ออกให้นางรุจิรา พานิช เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2524 เปลี่ยนที่มาจาก น.ส.3 ก.เลขที่ 29 ที่แบ่งมาจาก น.ส.3 ก.เลขที่ 8 ออกเมื่อ 6 พ.ย.2505 และน.ส.3 ก.ฉบับนี้ออกสืบเนื่องมาจากหลักฐานเดิมก่อนมติครม.ที่ประกาศ จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิ์ในที่ดินที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน น.ส.3 ก.ฉบับนี้จึงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โฉนด จำนวน 53 แปลง ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ กล่าวด้วยว่า โฉนดของตนเองที่อาจจะมีประเด็นให้ต้องไปพิสูจน์หรือใช้ดุลยพินิจ คือแปลงแรกที่อยู่ริมสุด เลขที่ 15593 ส่วนอีก 5 แปลงอยู่ในกลุ่ม น.ส.3 ก.เลขที่ 90 ซึ่งมีหนังสือที่กรมที่ดินยืนยัน ส่วนแปลงที่มีปัญหาอยู่ที่กลุ่ม น.ส.3 ก.อีก 8 แปลง โดยเลขที่ 3238,3235 และ 3240 รวม 3 แปลง ออกให้นายสวาท ก้อนมณี และเลขที่ 3241 - 3243 อีก 3 แปลง ออกให้นายสละ อุบลรัตน์ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2532 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยไม่มีหลักฐานการครอบครองที่ดิน และ น.ส.3 ก.เลที่ 3435 - 3436 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากเลขที่ 3241 รวมทั้งหมด 8 แปลง ได้ออกในเขตป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. 2506 อันเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน น.ส.3 ก.ดังกล่าวจึงมิชอบและอาจถูกเพิกถอนได้

นอกจากนี้ ในหนังสือระบุอีกว่า แต่เนื่องจากคำสั่งทางปกครองดังกล่าวย่อมมีผล ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนตามมาตรา 42 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เมื่อพิจารณาปรากฏว่า ต่อมาครม.มีมติเมื่อ 3 มี.ค.2530 ให้จำแนกที่ดินดังกล่าวออกจากป่าไม้ถาวร ให้เป็นที่ดินทำกินของราษฎร โดยมอบให้ สปก. ตามกฎหมาย สปก. ต่อมาได้มีพ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน 2534 ในพื้นที่ดังกล่าว สถานะของที่ดินบริเวณนี้ ก่อนจะมี พ.ร.ฎ.จึงเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ตามมาตรา 1304 (1) แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ที่อยู่นอกเขตหวงห้าม ตามมติ ครม.ซึ่งบุคคลอาจได้มาตามกฏหมายที่ดิน มาตรา 1334 ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญในทางที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าของที่ดิน ว่าที่ดินได้ออก น.ส.3 ก.ไปแล้ว ไม่เป็นที่หวงห้ามอันต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หากมีการดำเนินการเกี่ยวกับ น.ส.3 ก.ดังกล่าวจำนวน 133 แปลง ซึ่งออกสืบเนื่องจาก น.ส.3 ก.นั้น คู่กรณีก็สามารถขอให้พิจารณาออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินใหม่ได้ โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว

จากหนังสือของกรมที่ดินได้สรุปว่า ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดิน ตลอดจนให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2535 จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแต่ประการใด ทั้งหมดนี้ตนก็อ้างอิงจากหนังสือของทางราชการคงจะพอเข้าใจโดยสังเขป

“ในฐานะประชาชน เมื่ออยู่ในประเทศนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจะตรวจสอบก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ถึงแม้ว่าการนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่นั้น ตนเข้าใจดี การที่จะเข้าไปตรวจค้นทำได้เฉพาะ 3 กรณีโดยไม่มีหมายค้น นั่นก็คือ 1.ผิดกฎหมายมาตรา 112 หมิ่นสถาบัน 2.ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งก็หมายถึงกรณีอย่างระเบิด และ 3.ฝ่าฝืนประกาศ คสช.เพราะฉะนั้นกรณีอื่นๆ แม้กระทั่งเรื่องป่าไม้ ยังไม่มีกฎหมายอันไหนให้อำนาจเจ้าหน้าที่เจ้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น" นายสรยุทธกล่าวตอบโต้

กล่าวสำหรับปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลปัญหาทั้งระบบ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างไม่อาจอยู่นิ่งเฉย ซึ่งในส่วนของภาคอีสานนั้น พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ในฐานะผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 เล็งเป้าหมายทวงคืนผืนป่าที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยจะเอาผืนป่าที่ถูกบุกรุกไปกลับคืนมาให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายที่พล.อ.ประยุทธ์ กำชับให้ดูแลป่าต้นน้ำเป็นความ เร่งด่วนลำดับแรก

ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ ก็เด้งรับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ทำแผนการแก้ไขทั้งระบบ พร้อมให้ตรวจสอบการบุกรุกที่ดินทุกแปลงทั่วประเทศโดยสัปดาห์หน้าจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ ได้กระทุ้งให้ส.ป.ก. สรุปผลการตรวจสอบพื้นที่ที่มีการถือครองผิดกฎหมายทั้งแปลงใหญ่และแปลงเล็ก มายังกระทรวงเกษตรฯ ภายในต้นเดือนพ.ค.นี้ หลังพบว่า ส.ป.ก.ทั่วประเทศเกือบ 40 ล้านไร่ มีการถือครองผิดกฎหมาย โดยจะเรียกคืนพื้นที่มีปัญหาการบุกรุกและถือครองโดยผิดวัตถุประสงค์ของพื้นที่เกษตรกรรมและนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายใหม่

และแน่นอน เป้าหมาย อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ย่อมต้องถูกตรวจสอบอีกระลอกแน่ เบื้องต้นมีรายงานว่า กองทัพภาคที่ 2 กำลังรวบรวมข้อมูลและเข้าไปตรวจสอบพื้นที่และพบว่ามีเครือข่ายห้างสรรพสินค้าชื่อดังบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก.กว่า 500ไร่ เพื่อทำเป็นธุรกิจปลูกผักปลอดสารพิษครบวงจรเพื่อส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และยังมีอดีตนักการเมืองบุกรุกพื้นที่ส.ป.ก.เขาแผงม้า สร้างโรงแรมขนาดใหญ่ รวมถึงบุตรสาวนายตำรวจใหญ่บุกรุกที่ ส.ป.ก. สร้างโรงแรม

นอกจากนั้นแล้ว ปฏิบัติการของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายมานพ สายอุ่นใจ ผู้อำนวยการสำนักฯ ยังสนธิกำลังกับป่าไม้ในพื้นที่ข้างเคียง ตรวจยึดสวนปาล์มบ้านโป่งดินดำ หมู่ที่ 26 ต.หนองกะก้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จำนวน 35 ไร่ของ นางสาวปารียา วิชัยดิษฐ์ เป็นหลานของนักการเมืองคนดัง ตระกูลวิชัยดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขากระยาง

อีกทั้งยังสนธิกำลังตรวจยึดผืนป่าถูกบุกรุกบริเวณบ้านโนนสาวเอ้ ม.7 ต.บ้านหวาย และ ม.11 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก เพชรบูรณ์ อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรจำนวน 49-1-08 ไร่ ที่มีผู้ครอบครองคือ นายปณิธาร ชวาลสันตติ อยู่บ้านเลขที่ 136 หมู่ 5 ต.น้ำชุน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นพี่ชาย อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคเพื่อไทย อีกด้วย

ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าที่สั่นสะเทือนทั่วแผ่นดินคราวนี้ เป็นอีกหนึ่งเดิมพันอนาคต คสช. ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง



ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สนามแข่งรถโบนันซ่า สปีดเวย์ บุกรุกที่หลวงกว่า 166 ไร่ และเจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ครอบครองให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 30 วัน โดยหากยังไม่รื้อถอนเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเองและจะเรียกค่าเสียหายพร้อมคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7
กำลังโหลดความคิดเห็น