xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประกาศิต“บิ๊กตู่” ล้างประมงเถื่อน เซ่นใบเหลืองอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือประมงที่จอดลอยลำหลังรัฐบาลประกาศกวาดล้างประมงเถื่อน
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใกล้เส้นตายเข้ามาทุกขณะกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทยในเรื่องการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing-IUU) หากยังไม่จัดการให้เรียบร้อยเจอชักใบแดงแน่ในการพิจารณาอีกครั้งเดือนตุลาคมนี้

แน่นอน หากยังไม่เอาจริงในการแก้ไขปัญหากระทั่งเจอใบแดง ผลกระทบที่จะตามมาย่อมสะเทือนถึงการส่งออกสินค้าประมง มูลค่ากว่า 2 แสนล้าน พังพินาศทันที

นี่จึงเป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศกร้าวว่าจะไม่มีการผ่อนผันให้เรือประมงที่ไม่มีอาชญาบัตรทำการประมงอีกแล้ว หลังการสิ้นสุดเส้นตายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีเสียงอ้อนวอนจากเจ้าของเรือประมงเถื่อนดังระงมขอต่อเวลาออกไปอีกก่อนก็ตาม

“เขาดีเดย์มาตั้งนานแล้ว เพราะว่าปัญหาคือการไม่ร่วมมือ ไม่ใช่มาดีเดย์วันนี้หรือพรุ่งนี้ ตีเส้นให้สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน แต่ก็ไม่ทำกัน แล้วมาบอกว่าทำไม่ได้ ซึ่งมีกว่า 80% ที่ผิดกฏหมาย อย่างไรก็แก้ไม่ทัน ให้รัฐบาลชะลอแล้วองค์กรต่างประเทศเขาชะลอให้ท่านหรือไม่ มันออกทะเลไม่ได้จะให้ตนผ่อนผันหรืออย่างไร หากอียูเขาเร่งมาจะทำอย่างไร การค้าประมงทั้งประเทศก็เสร็จหมดเลย

“ผมถามว่า ผมจะเลือกอันไหน ท่านจะเลือกกี่พันลำที่ยังไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายที่เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอ ผมบอกถ้าไม่ออกก็ไม่ออก ถ้าผิดกฎหมายก็ดำเนินคดี เราปล่อยกันมานานแล้ว เพราะความยากจนทำร้ายคนจนที่ผ่านมามันก็เลือกปฏิบัติไม่ได้ วันนี้ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด แผ่นดินนี้กฎหมายประเทศไทยก็ต้องใช้กฎหมายเหมือนกันทั้งหมด ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ

“ผมอธิบายให้เข้าใจ ไม่ใช่ไปรังแกเขา ผมให้โอกาสเขามานานแล้ว แล้วท่านจะทำอย่างไร จะต้องผ่อนผันกันอีกเท่าไร พอสามเดือนวันหน้าก็ขอต่ออีกมันก็เป็นแบบนี้ไปตลอด เพราะประกาศไป 3 - 6 เดือนมาแล้ว วันนี้ต้องมาดูกติกาประเทศ ซึ่งถ้าท่านจับปลามาแล้วขายไม่ได้จะไปขายกับใคร วันหน้าก็ราคาตก ท่านก็มาเรียกร้องให้ผมมาอุดหนุนราคาปลา มันเละไปหมดทุกเรื่อง ต้องสอนคนให้คิดใหม่” พล.อ. ประยุทธ์ พูดถึงเรื่องนี้ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ออกประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป จะบังคับใช้กฎหมายจับกุมเรือประมงที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังโดยไม่มีการผ่อนผันอีกต่อไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาประมงให้ได้ตามมาตรฐานสากลและเงื่อนไขของอียู

ท่าทีขึงขังเอาจริงเอาจังไล่กวาดจับเรือประมงเถื่อนทั่วน่านน้ำที่เจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนเป็นต้นมา ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงทั่วประเทศนัดหมายรวมตัวหยุดออกเรือทำประมงในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เพื่อต่อรองกับรัฐบาลขอให้ผ่อนผันยืดเวลาออกไปอีก

การหยุดเรือจอดเทียบท่า ปิดอ่าว ถือเป็นมาตรการกดดันที่ผู้ประกอบการประมงทำแล้วได้ผลมาตลอด โดยรัฐบาลมักจะผ่อนผันหรือนิรโทษกรรมเรือที่ไม่จดทะเบียนให้ถูกต้องทำประมงต่อไปได้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีการนิรโทษกรรมให้กับเรืออวนลากผิดกฎหมายมาแล้วถึง 5 ครั้ง ในปี 2523, 2524, 2525, 2532 และ 2539 ก็เปิดให้เรืออวนลากขึ้นทะเบียนและรับการผ่อนผันให้ประกอบกิจการต่อไปได้อีก

กระทั่งในปี 2558 ก็มีความพยายามจะเปิดนิรโทษกรรมครั้งที่ 6 เช่นกัน แต่แรงกดดันจากอียู ทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนท่าทีเป็นแข็งกร้าวกวาดล้างให้สิ้นซากแทน

จะว่าไปการผ่อนผันไม่เอาจริงของหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องการประมงโดยตรง คือ กรมประมง ได้สร้างปัญหาหมักหมมเรื่อยมาจนกระทั่งทำให้ประเทศไทยถูกอียูแจกใบเหลืองในเรื่อง IUUและถูกโจมตีจากต่างประเทศอย่างหนัก

ตอนนี้ได้แต่บอกว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน หากกรมประมงยังไม่เปลี่ยน ไม่รีบหาข้อยุติหรือทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้ชัดเจน อ้างแต่ว่าไม่มีคนไม่มีงบ ไม่มีความพร้อม มีหวังอธิบดีกรมประมงเจอเด้งในเร็ววันนี้แน่ เพราะนายกรัฐมนตรี หมายหัวเอาไว้แล้วโทษฐานที่ปล่อยให้ปัญหานี้ยืดเยื้อเรื้อรังและไม่จัดการให้เสร็จเรียบร้อยทันกำหนดเวลาผ่อนผัน

ดูตัวอย่างจากกรมชลประทานที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปลื้มผลงานและหงุดหงิดใส่นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลฯ ต่อหน้าธารกำนัลเมื่อวันที่ไปตรวจบูทของหน่วยงานราชการในโอกาสประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพราะกรมชลฯดันปล่อยน้ำออกจากเขื่อนมากเกินไปจนน้ำในเขื่อนแห้งขอดเกิดปัญหาเมื่อฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาลไม่มีน้ำเติมเข้าเขื่อน

สำหรับกระแสฮึ่มฮั่มจากผู้ประกอบการเรือประมงที่ขู่หยุดเรือว่าจะไม่มีอาหารทะเลกินกัน ราคาจะพุ่งสูงขึ้น อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ห้องเย็น แปรรูปสัตว์น้ำ อาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบปลาป่น จะได้รับผลกระทบ แรงงานจะตกงาน เกิดปัญหาสังคม โจรผู้ร้าย ลักเล็กขโมยน้อย ฯลฯ ที่ดังขึ้นเรียกเลือดลมให้สูบฉีดรับวันเรียกรวมพลหยุดเรือ 4 กรกฎาคม นั้น ถึงแม้พล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีเสียงกร้าวสวนกลับทันทีว่า ถ้าไม่มีสินค้าประมงบริโภควันนี้ ดีกว่าไม่มีวันข้างหน้า

“ถ้าวันข้างหน้าไม่ผ่านการประเมินจะทำอย่างไร มูลค่าธุรกิจตั้ง 2 แสนล้านบาท ถ้าหายไปทั้งหมดจะทำอย่างไร ทุกคนต้องช่วยกัน รวมถึงผู้ประกอบการ เพราะจะให้ผ่อนผันไปถึงเมื่อไหร่ และถ้ามากดดันให้ชะลอบังคับใช้กฎหมาย แล้วไทยประเมินไม่ผ่านจะมารับผิดชอบด้วยกันหรือไม่ และถ้าสินค้าประมง 2 แสนล้านบาท ที่ส่งขายไปทั่วโลกไม่ได้ ก็เท่ากับเรือประมงทั้งหมดออกเรือไม่ได้ตอนนี้กำลังหามาตรการดูแลคนที่มีอาชีพประมงอย่างไร ซึ่งผู้ที่เดือดร้อน คือ ลูกเรือและชาวประมง แต่จะดูแลได้แค่ไหนกำลังดูอยู่”

ท่าทีแข็งกร้าวเช่นนี้ ผู้ประกอบการเรือประมงเถื่อนนับหมื่นลำโดยเฉพาะเรืออวนลากอวนรุนที่ทำประมงแบบทำลายล้างอาจต้องผิดหวังในการต่อรองครั้งนี้ เพราะเดิมพันมูลค่าสองแสนล้านถือว่ามากโขโดยเฉพาะในช่วงที่การส่งออกซบเซา เศรษฐกิจโงหัวไม่ขึ้นทำเอารัฐบาลหน้ามืดอยู่ในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม การให้ยาแรงเพื่อรักษาโรคประมงเถื่อนเรื้อรังคราวนี้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับว่าสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันดับแรกสุดคือ ผู้บริโภคที่ถูกจับเป็นตัวประกันต้องจ่ายแพงขึ้นเมื่อเรือประมงออกหาปลาน้อยลง ซึ่งข้อมูลผลสำรวจเรือประมงจากกรมประมง ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2558 ได้สำรวจแล้ว 40,239 ลำ ปรากฏว่า มีการจดทะเบียนเรือแล้ว 27,886 ลำ และยังไม่จดทะเบียน 12,353 ลำ ส่วนการแจ้งออกเรือนั้น มีจำนวน 20,522 ครั้ง การแจ้งเข้า 17,821 ครั้ง รวมการแจ้งเข้าและออกเรือ 4,196 ลำ

เมื่อมีเรือที่ถูกกฎหมายสามารถออกทะเลน้อยลงทำให้สินค้าประมงหายไปจากท้องตลาด เวลานี้พ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเลต่างปรับราคาขึ้นพรวดๆ อย่างน้อย 20 - 30% เพราะของน้อยและเริ่มขาดแคลน ร้านอาหารประเภทซีฟู้ดก็ขาดวัตถุดิบ ถึงแม้จะมีกุ้งหอยปูปลาจากการทำประมงพื้นบ้านแต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ความเดือดร้อนของผู้บริโภค เป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องรีบเคลียร์ปัญหาให้จบอย่างรวดเร็ว

สอง อุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งการแปรรูปและส่งออกสินค้าประมงที่มีปริมาณสินค้าลดน้อยลง แต่สถานการณ์เช่นนี้ผู้ประกอบการต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้น ไม่เช่นนั้นหากเจออียูแจกใบแดงจะส่งผลกระทบหนักและยาวแน่

สาม อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานการวิจัยและเสียงสะท้อนจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบปลาป่นซึ่งมาจาก “ปลาเป็ด” หรือปลาเล็กปลาน้อยจากการทำประมงอวนลากอวนรุนแบบทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลนี่เองที่เป็นกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังบรรดาเรือประมงเถื่อนที่ได้รับการผ่อนผันเรื่อยมาเหล่านี้

คราวนี้เมื่อเจอมาตรการแข็งกร้าวเอาจริงคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องมาถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างไม่ต้องสงสัย

ห่วงโซ่แห่งการทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีจุดเริ่มต้นทางมาจากเรือประมงอวนลากอวนรุนที่กวาดล้างสัตว์น้ำน้อยใหญ่รวมทั้งปะการัง ฟองน้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขึ้นมาจนท้องทะเลเหลือแต่ดินโคลน ทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอ ปริมาณการจับสัตว์น้ำลดน้อยลงอย่างมาก โดยเรือเหล่านี้ส่วนใหญ่ผิดกฎหมาย เช่น แจ้งจดทะเบียนไม่ตรงกับอุปกรณ์ที่ใช้จับสัตว์น้ำ สวมทะเบียนปลอม ฯลฯ และมีจำนวนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลใช้ไม้แข็งจะจับกุมก็รวมตัวประท้วงจนได้รับการผ่อนผัน

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าการทำประมงแบบทำลายล้างของเรือเหล่านี้นี่เองที่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเจอใบเหลืองจากอียู และแก้กันอิรุงตุงนังในตอนนี้

จากงานวิจัยของ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านประมง เผยแพร่เมื่อปี 2555 ระบุว่า มีเพียง 33.3% ของผลผลิตที่ได้จากเรืออวนลากทั้งหมดเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกประมาณ 66.7% เป็นปลาเป็ดหรือปลาเล็กปลาน้อย ปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้จะถูกส่งเข้าสู่โรงงานปลาป่น

ข้อมูลของกรีนพีซ ระบุว่า ปริมาณสัตว์ทะเลที่ถูกจับโดยเรืออวนลาก มีปลาเป็ดอยู่ถึงร้อยละ 60 ทว่าร้อยละ 32 ของปลาเป็ดเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน หมายความว่า สัตว์น้ำเหล่านี้ไม่มีโอกาสเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคตที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) เรื่อง เปิดธุรกิจ‘เรืออวน-ปลาป่น-อาหารสัตว์’ เส้นทางผลประโยชน์ทำ'ทะเลไทย' วิกฤต เขียนโดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 อ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของนายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมปลาป่นไทย ว่าปีหนึ่งๆ ประเทศไทยผลิตปลาป่นได้ประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี และใช้เองภายในประเทศเกือบทั้งหมด มีประมาณร้อยละ 10 เท่านั้นที่ส่งออก

ที่น่าสนใจคือ นายกสมาคมปลาป่นไทย ระบุว่า โดยราคาปลาป่นในประเทศ จะถูกกำหนดจากเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เนื่องจากซีพีเป็นผู้ใช้ปลาป่นมากกว่าร้อยละ 50 ของปลาป่นที่ผลิตได้ในการผลิตอาหารสัตว์

สมาคมปลาป่นไทยและกรมประมง อ้างว่าปลาป่นที่มาจากปลาเป็ดมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยโรงงานปลาป่นหันไปใช้เศษปลาจากโรงงานแปรรูปส่งเนื้อปลาส่งออกเพิ่มขึ้นแทน โดยตัวเลขการผลิตปลาป่นก็อยู่คงที่ประมาณ 5 แสนตันต่อปี

ขณะที่นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุว่า โรงงานปลาป่นของไทยมีอยู่ทั้งหมด 107 โรง อยู่ในภาคใต้ 80 โรง ภาคกลางและตะวันออก 27 โรง มีหลายแห่งมุ่งผลิตปลาป่นเพื่อส่งออกซึ่งต้องใช้วัตถุดิบมีคุณภาพเพื่อให้ปลาป่นมีโปรตีนอย่างต่ำ 60% เป็นปลาป่นเกรดเอ ตลาดต้องการและมีราคาสูง จึงมีการนำเอาปลาเศรษฐกิจมาทำปลาป่นเพื่อเพิ่มโปรตีน ปัจจุบันร้อยละ 80 ของปลาป่นส่วนใหญ่มาจากเศษปลาตามโรงงาน มีเพียงร้อยละ 12 ที่ได้จากเรือลากอวน แต่เป็นร้อยละ 12 ที่มีการทำลายล้างสูงมาก และไร้การควบคุม

จากห่วงโซ่การทำประมงแบบทำลายล้างที่เริ่มต้นจากเรืออวนลากมาสู่ปลายทางที่โรงงานปลาป่นและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และจบลงที่อียูให้ใบเหลืองไทยในเรื่องการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ดูเหมือนซีพีจะตกเป็นจำเลยอยู่ “เบื้องหลังอาชญากรรม” มาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ซีพีเป็นผู้รับซื้อปลาป่นรายใหญ่รายเดียวที่เข้าร่วมระบบมาตรฐานรับรองปลาป่นของไทย โดยซีพีให้ค่าพรีเมี่ยมกิโลกรัมละ 3 บาท สำหรับปลาป่นที่มีเอกสารที่มาของวัตถุดิบอย่างถูกต้อง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ใช่เพราะช่องว่างช่องโหว่ในการรับรองหรือการรายงานที่ไม่จริงจังหรือไม่ที่ทำให้เกิดข้อสงสัย

งานวิจัย “การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงมาตรฐานความยั่งยืนในการผลิต” โดยคณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด นำทีมวิจัยโดย สฤณี อาชวานันทกุล ค้นพบ 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำประมงที่ยั่งยืนในประเทศไทย นั่นคือ การใช้ปลาเป็ดเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปลาป่นโดยขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบที่มาทั้งของผู้ผลิตปลาป่นและผู้ผลิตอาหารสัตว์ กฎหมายที่ล้าหลัง และการบังคับใช้อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงการขาดกลไกมาตรฐานความยั่งยืนที่ดี

ในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรฐานเกี่ยวกับการทำปลาป่นที่ไม่เหมาะสม เริ่มจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ที่ยังมีช่องว่างในการบังคับใช้ เช่น กำหนดว่าต้องจับกุมผู้กระทำความผิดได้ซึ่งหน้า ทำให้เกิดความยากลำบากในการจับกุม แม้ว่าจะมีการฝ่าฝืนกฎหมาย

ขณะที่ระบบรับรองปลาป่นก็เป็นระบบแบบสมัครใจ มิได้มีการบังคับจากภาครัฐ และมีช่องโหว่คือ เป็นระบบการรับรองตัวเอง ชาวประมงเป็นผู้บันทึกข้อมูลประเภทของปลาที่จับได้ แหล่งที่มา ประเภทของอุปกรณ์ที่ใช้ลงในสมุดบันทึกการทำประมงด้วยตัวเอง เพื่อให้โรงงานผลิตปลาป่นนำไปใช้ โดยกรมประมง ทำหน้าที่เพียงตรวจสอบความถูกต้องในการบันทึกเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ เพราะขาดแคลนเครื่องมือตรวจสอบ เช่น เครื่องมือระบุพิกัดผ่านดาวเทียม ที่จะช่วยบอกได้ว่าเรือประมงจับปลาตรงจุดที่รายงานจริงหรือไม่


ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ทำไมไทยจึงเจอใบเหลืองและหากยังแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก มีหวังเจอชักใบแดงแน่

แล้วเวลาอีก 3 เดือนที่เหลือจะแก้กันทันไหม ตอบได้แต่เพียงว่าโปรดลุ้นระทึกกันต่อไปจนนาทีสุดท้าย

แต่วิกฤตครั้งนี้ก็เป็นโอกาสของชาวประมงพื้นบ้านที่ได้เฮกัน เพราะปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้าง จะได้รับการจัดการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ทรัพยากรทางทะเลที่ร่อยหรอจะกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง



ที่จังหวัดตราดอาหารทะเลขาดตลาด หลังเรือประมงงดออกทะเลเพราะหวั่นถูกจับ ขณะที่เรือประมงกัมพูชาก็ไม่มาขายปลาที่คลองใหญ่ เกรงถูกจับดำเนินคดี เพราะยังไม่ถูกกฎหมายไทย
อาหารทะเลทั่วเชียงใหม่เริ่มปรับราคาขึ้นแล้ว หลังเรือประมงงดออกทะเลหาปลา ล่าสุดพบหอยแครงแพงเป็นประวัติการณ์ จากกิโลกรัมละ 90 บาท พุ่งพรวดเกือบเท่าตัวเป็นกิโลกรัมละ 140 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น