โฆษกกระทรวงกลาโหม แจงหลัง “ประวิตร” ให้ข่าว ระบุ อียูยังไม่ได้แจ้งผลการประเมินใบเหลือง หรือ ใบแดง ประมงไทย ที่ละเมิดตามกฎไอยูยู
วันนี้ (23 พ.ค.) พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวขยายความเพิ่มเติม จาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของไทย ว่า จากการที่คณะผู้แทนไทย ได้เดินทางไปประชุมร่วมกับผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทย เมื่อวันที่ 17 - 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า การหารือร่วมกันเป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นมิตร ที่เคารพในอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน คณะผู้แทนอียูได้เห็นถึงความความตั้งใจและความพยายามของไทยในการแก้ปัญหา ตามคำแนะนำจากประสบการณ์ของอียูตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ยังมิได้แจ้งการตัดสินใจผลการประเมินใบเหลืองหรือใบแดงแต่อย่างใด
จึงขอถือโอกาสนี้ เน้นย้ำ และสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชน ว่า ประเทศไทย ยังมิได้หลุดพ้นจากสถานะใบเหลืองของการประเมินจากคณะผู้แทนอียู จากการแก้ปัญหาไอยูยูแต่อย่างใด โดยยังคงต้องรอการประเมินจากผลการตรวจติดตามความคืบหน้าของการแก้ปัญหา จากคณะผู้แทนอียูที่จะเดินทางมาประเมิน และแจ้งผลให้ทราบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการตัดสินใจของสหภาพยุโรปจะออกมาอย่างไร รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจ เดินหน้าใช้ความพยายามแก้ปัญหาไอยูยูอย่างเต็มที่ต่อไป เพื่อให้การทำประมงของไทยเป็นไปอย่างถูกกฎหมายตามหลักสากล และมีส่วนร่วมกันรักษาทรัพยากรทางทะเล สู่ความยั่งยืนร่วมกันต่อไป
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกห. กล่าวด้วยว่า "ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชน อ้างคำให้สัมภาษณ์ของรอง นรม. ประวิตร วงษ์สุวรรณ แจ้งว่าไทยรอดใบแดงจากประเด็น IUU และได้รับใบเขียวแน่นอน นั้น
กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า รอง นรม. ประวิตรฯ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนอย่างไม่เป็นทางการวันนี้จริง แต่ได้กล่าวเพียงว่า ในการเดินทางไปประชุมร่วมกับผู้แทนสหภาพยุโรปครั้งล่าสุด (17-19 พ.ค. 59) ทางสหภาพยุโรปยังไม่ได้แจ้งเรื่องผลการตัดสินใจเรื่องใบแดงหรือใบเหลืองแต่อย่างใด ดังนั้น ณ วันนี้ถือว่าไทยยังมีเวลาในการทำงานก่อนที่ทางสหภาพยุโรปจะตัดสินใจอย่างเป็นทางการ และไทยยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าทำงานอย่างหนักต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา IUU อย่างจริงจังและเต็มที่มาโดยตลอด และล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ประเทศไทยยังได้เข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measure Agreement - PSMA) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกของโลกที่มุ่งเน้นกำจัดการทำประมง IUU ด้วย สำหรับการหารือเรื่อง IUU กับสหภาพยุโรปที่ผ่านมา เป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นมิตรที่เคารพในอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน สหภาพยุโรปไม่เคยสั่งให้ไทยทำอะไร แต่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ บางเรื่องสหภาพยุโรปได้ให้ข้อแนะนำแก่ไทยโดยอาศัยจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่คล้ายกันในบางประเทศสมาชิกของเขาในอดีต แต่ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของไทยที่จะปรับแก้วิธีการให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของไทยต่อไป"