ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เรื่องราวการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงราชการเป็นเรื่องที่มีการพูดกันอย่างยาวนานในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ข่าวคราวในเรื่องเหล่านี้ก็มักปรากฏต่อสาธารณะบ่อยครั้งขึ้นและมีขอบเขตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น แทบทุกครั้งที่มีข่าวแบบนี้ออกมา ผู้ที่อยู่ในองค์การที่ตกเป็นข่าวจะออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง แต่เป็นความพยายามแบบสิ้นหวัง เพราะก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนในสังคมได้
ข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งมีตั้งแต่เรื่องการรับสมัครบุคคลเข้าไปทำงานในหน่วยงานต่างๆของรัฐ เช่น การสอบบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น การสอบบรรจุเป็นผู้ช่วยครู จากนั้นเมื่อเข้าไปทำงานแล้วในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือการโยกย้ายสถานที่ปฏิบัติงาน สังคมก็มักได้ยินเรื่องราวเหล่านี้อยู่เสมอ หน่วยงานที่มักมีข่าวเรื่องนี้ออกมาคือ หน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย หรือมีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่ประชาชนในวงกว้าง หรือมีช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ ในหลากหลายรูปแบบ
เมื่อมีข่าวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งออกมาสู่สังคมในวงกว้าง จะด้วยการออกมาเปิดเผยของบุคคลที่อยู่ในองค์การนั้น หรือบุคคลอื่นๆที่ไม่อยู่ในวงการนั้นก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบองค์การที่ตกเป็นข่าวก็มักจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในองค์การของตนเอง หรือไม่ก็ตอบโต้ว่าหากมีเรื่องการซื้อขายตำแหน่งจริงก็ให้เอาหลักฐานมาแสดง เพื่อจะได้เข้าไปจัดการตามกฎหมาย หรือบางกรณีก็ได้มีการใช้ยุทธวิธีที่ก้าวร้าวเพื่อปิดปากผู้ที่นำข้อมูลข่าวสารมาเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเปิดเผยข่าวสาร
คำถามคือการซื้อขายตำแหน่งดำรงอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงนิยายเรื่องเล่าโดยผู้ที่ผิดหวังต่อการสอบบรรจุ หรือผู้ที่พลาดหวังต่อการโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งตามที่ตนเองปรารถนา แต่มีข้อที่น่าสังเกตอยู่บ้างถึงความแตกต่างของข่าวที่ออกมานั่นคือ ทำไมองค์การบางแห่งจึงมีข่าวเรื่องอื้อฉาวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งมาก ขณะที่บางองค์การกลับไม่มีเรื่องราวเช่นนี้ออกมาเลย ทั้งที่แต่ละองค์การย่อมมีผู้พลาดหวังต่อการสอบบรรจุเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก และมีผู้พลาดหวังต่อการเลื่อนตำแหน่งก็ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
อันที่จริงคำถามว่า “การซื้อขายตำแหน่งดำรงอยู่จริงหรือไม่ในสังคมไทย” เป็นคำถามประเภทเดียวกันกับคำถามที่ว่า “การซื้อขายเสียงดำรงอยู่จริงหรือไม่” และ “การทุจริตดำรงอยู่จริงหรือไม่ในแวดวงการเมืองและหน่วยงานราชการของสังคมไทย” ดังนั้นหากใครเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าไม่ดำรงอยู่จริงก็มีแนวโน้มว่าจะเชื่อการไม่ดำรงอยู่จริงของเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่ก็เป็นไปได้ว่า บางคนมีความเชื่อไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือเชื่อว่าบางเรื่องมีจริง แต่บางเรื่องไม่มีจริง เช่น บางคนเชื่อว่าการซื้อขายเสียงดำรงอยู่จริง แต่ไม่เชื่อว่าการซื้อขายตำแหน่งมีอยู่จริง
การซื้อขายตำแหน่ง การซื้อขายเสียง การทุจริตประเภทการให้สินบน เงินค่าส่วย และเงินใต้โต๊ะ เป็นเรื่องราวที่ยากแก่การหาหลักฐานมายืนยันว่าดำรงอยู่จริง เพราะเรื่องราวเหล่านี้เป็นการสมยอม ไม่มีการให้ใบเสร็จ หรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์น้อยอย่างยิ่งให้สืบสาวได้ชัดเจน ดังนั้นวิธีการที่เราจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ เราก็ต้องใช้วิธีการอนุมานเชิงตรรกะ โดยอาศัยเงื่อนไขและข้อมูลแวดล้อม ความสมเหตุสมผล และความเป็นไปได้ผสมผสานกันเพื่อใช้ในการตัดสินเบื้องต้นว่าเราควรเชื่อหรือไม่
คำถามที่ว่า ผู้คนได้ข้อมูลการซื้อขายตำแหน่งจากที่ใดบ้าง คำตอบคือส่วนใหญ่ได้จากบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเหล่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือหากใครมีเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือลูกศิษย์ลูกหาทำงานอยู่ในหน่วยราชการใดหรือพรรคการเมืองใดก็มักจะได้รับคำบอกเล่าจากบุคคลที่อยู่ในแวดวงเหล่านั้นเสมอ แล้วเราเชื่ออย่างไรว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นจริง เราก็ต้องทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยการฟังความหลายด้าน จากผู้คนและแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย หากเรื่องใด ผู้ให้ข้อมูลมีหลายคน และแต่ละคนก็เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งมีที่มาจากหลากหลายตำแหน่งและหลายพื้นที่ ให้ข้อมูลตรงกัน เราก็พอสรุปเบื้องต้นได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถืออยู่พอสมควร
แต่เราก็ยังไม่ควรเชื่อเสียเลยทีเดียว เราต้องใช้วิจารญาณในการพิจารณาว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ สมมติว่าเราได้ข้อมูลว่า หน่วยงานหนึ่งมีใช้เงินซื้อตำแหน่ง เราก็ต้องพิจารณาว่าอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของหน่วยงานนั้นมีมากน้อยเพียงใด หากพบว่าตำแหน่งที่มีการซื้อเป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่ใครได้เลย ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณต่ำ และไม่มีช่องใดในการแสวงหาประโยชน์ใดๆได้ เราก็อาจให้น้ำหนักข้อมูลข่าวสารนั้นน้อย เพราะเป็นเรื่องราวที่ดูไม่สมเหตุสมผลที่จะมีใครไปซื้อตำแหน่งที่ไร้อำนาจและไร้ผลประโยชน์เช่นนั้น
ในทางกลับกัน หากหน่วยงานและตำแหน่งที่ซื้อขายกันเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก และสามารถนำอำนาจไปใช้แสวงหาประโยชน์ได้ หรือเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินงาน ก็มีความสมเหตุสมผล ที่จะมีคนยอมเสียเงินลงทุนซื้อตำแหน่งดังกล่าว เพื่อใช้อำนาจในตำแหน่งเหล่านั้นถอนทุนคืนในภายหลัง
เมื่อพิจารณาบริบทของสังคมไทยที่มีการทุจริตคอรัปชั่นแพร่หลายจนเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก และแม้แต่การรัฐประหารหลายครั้งหลายคราวก็มีการอ้างการทุจริตเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการยึดอำนาจ เราจึงอนุมานได้ว่าการทุจริตและการซื้อขายตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและสามารถให้คุณให้โทษแก่ประชาชนได้ มีอยู่จริง
ปัญหาคือผู้มีอำนาจในการบริหารสังคมจะยอมรับความจริงนี้ได้มากน้อยเพียงใด เมื่อไรที่ผู้บริหารสังคมไม่ยอมรับว่าการซื้อขายตำแหน่งดำรงอยู่จริง สังคมก็จะตีความไปในสามทางคือ ทางแรกอาจตีความว่าคนเหล่านั้นไม่มีสติปัญญาเพียงพอในการวิเคราะห์หรือการอนุมานความจริงได้ ทางที่สองคนเหล่านั้นมีจิตใจที่อ่อนแอ เกรงอกเกรงใจพวกพ้องที่ดูแลหน่วยงานเหล่านั้น จนไม่มีความกล้าหาญทำเรื่องที่ถูกต้องให้ปรากฏ และทางที่สามคนเหล่านั้นอาจจะมีผลประโยชน์ร่วมด้วยในทางใดทางหนึ่ง
เมื่อไม่ยอมรับความจริง ก็ย่อมคิดว่าเรื่องนั้นไม่เป็นปัญหา ทางเลือกในการตัดสินใจก็คือวางเฉยต่อเรื่องดังกล่าว หรือตอบโต้อย่างรุนแรงโดยท้าทายให้ผู้เปิดเผยข้อมูลแสดงหลักฐานออกมา หรือใช้ยุทธวิธีเชิงรุกแบบก้าวร้าว โดยขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่นำปัญหาออกมาแฉ แต่ไม่ว่าตัดสินใจแบบใด ย่อมทำความเสื่อมแก่ผู้ตัดสินใจทั้งสิ้น และยังทำให้ปัญหาสะสมจนซับซ้อนและยากแก่การแก้ไขได้
การไม่ยอมรับความจริงเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเปรียบเสมือนช้างตายทั้งตัว แล้วพยายามเอาใบบัวมาปิด นอกจากจะปิดไม่มิดแล้ว ผู้คนในสังคมก็จะหัวเราะเยาะคนที่ทำเช่นนั้นด้วย
แม้การซื้อขายตำแหน่งจะเป็นเรื่องบาดใจผู้บริหารสังคม เพราะเกี่ยวพันกับคนแวดล้อมอยู่ไม่น้อย แต่หากผู้บริหารสังคมตั้งใจจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นอย่างที่ประกาศต่อสาธารณะอยู่ทุกวัน ก็ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อขจัดการซื้อขายตำแหน่งในหน่วยงานราชการทุกแห่งให้สิ้นซาก เพราะเรื่องนี้เป็นต้นตอในการสร้างปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมายในการบริหารราชการแผ่นดิน เฉกเช่นเดียวกับปัญหาการซื้อขายเสียงที่เป็นต้นตอของปัญหาการเมือง
ตราบใดที่ขายซื้อขายตำแหน่งยังดำรงอยู่ในหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่ผู้คนในวงกว้าง ตราบนั้นประเทศก็ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และอาชญากรรมกับความรุนแรงก็ยากที่จะลดลงได้
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เรื่องราวการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงราชการเป็นเรื่องที่มีการพูดกันอย่างยาวนานในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ข่าวคราวในเรื่องเหล่านี้ก็มักปรากฏต่อสาธารณะบ่อยครั้งขึ้นและมีขอบเขตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น แทบทุกครั้งที่มีข่าวแบบนี้ออกมา ผู้ที่อยู่ในองค์การที่ตกเป็นข่าวจะออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง แต่เป็นความพยายามแบบสิ้นหวัง เพราะก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนในสังคมได้
ข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งมีตั้งแต่เรื่องการรับสมัครบุคคลเข้าไปทำงานในหน่วยงานต่างๆของรัฐ เช่น การสอบบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น การสอบบรรจุเป็นผู้ช่วยครู จากนั้นเมื่อเข้าไปทำงานแล้วในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือการโยกย้ายสถานที่ปฏิบัติงาน สังคมก็มักได้ยินเรื่องราวเหล่านี้อยู่เสมอ หน่วยงานที่มักมีข่าวเรื่องนี้ออกมาคือ หน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย หรือมีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่ประชาชนในวงกว้าง หรือมีช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ ในหลากหลายรูปแบบ
เมื่อมีข่าวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งออกมาสู่สังคมในวงกว้าง จะด้วยการออกมาเปิดเผยของบุคคลที่อยู่ในองค์การนั้น หรือบุคคลอื่นๆที่ไม่อยู่ในวงการนั้นก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบองค์การที่ตกเป็นข่าวก็มักจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในองค์การของตนเอง หรือไม่ก็ตอบโต้ว่าหากมีเรื่องการซื้อขายตำแหน่งจริงก็ให้เอาหลักฐานมาแสดง เพื่อจะได้เข้าไปจัดการตามกฎหมาย หรือบางกรณีก็ได้มีการใช้ยุทธวิธีที่ก้าวร้าวเพื่อปิดปากผู้ที่นำข้อมูลข่าวสารมาเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเปิดเผยข่าวสาร
คำถามคือการซื้อขายตำแหน่งดำรงอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงนิยายเรื่องเล่าโดยผู้ที่ผิดหวังต่อการสอบบรรจุ หรือผู้ที่พลาดหวังต่อการโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งตามที่ตนเองปรารถนา แต่มีข้อที่น่าสังเกตอยู่บ้างถึงความแตกต่างของข่าวที่ออกมานั่นคือ ทำไมองค์การบางแห่งจึงมีข่าวเรื่องอื้อฉาวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งมาก ขณะที่บางองค์การกลับไม่มีเรื่องราวเช่นนี้ออกมาเลย ทั้งที่แต่ละองค์การย่อมมีผู้พลาดหวังต่อการสอบบรรจุเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก และมีผู้พลาดหวังต่อการเลื่อนตำแหน่งก็ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
อันที่จริงคำถามว่า “การซื้อขายตำแหน่งดำรงอยู่จริงหรือไม่ในสังคมไทย” เป็นคำถามประเภทเดียวกันกับคำถามที่ว่า “การซื้อขายเสียงดำรงอยู่จริงหรือไม่” และ “การทุจริตดำรงอยู่จริงหรือไม่ในแวดวงการเมืองและหน่วยงานราชการของสังคมไทย” ดังนั้นหากใครเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าไม่ดำรงอยู่จริงก็มีแนวโน้มว่าจะเชื่อการไม่ดำรงอยู่จริงของเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่ก็เป็นไปได้ว่า บางคนมีความเชื่อไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือเชื่อว่าบางเรื่องมีจริง แต่บางเรื่องไม่มีจริง เช่น บางคนเชื่อว่าการซื้อขายเสียงดำรงอยู่จริง แต่ไม่เชื่อว่าการซื้อขายตำแหน่งมีอยู่จริง
การซื้อขายตำแหน่ง การซื้อขายเสียง การทุจริตประเภทการให้สินบน เงินค่าส่วย และเงินใต้โต๊ะ เป็นเรื่องราวที่ยากแก่การหาหลักฐานมายืนยันว่าดำรงอยู่จริง เพราะเรื่องราวเหล่านี้เป็นการสมยอม ไม่มีการให้ใบเสร็จ หรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์น้อยอย่างยิ่งให้สืบสาวได้ชัดเจน ดังนั้นวิธีการที่เราจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ เราก็ต้องใช้วิธีการอนุมานเชิงตรรกะ โดยอาศัยเงื่อนไขและข้อมูลแวดล้อม ความสมเหตุสมผล และความเป็นไปได้ผสมผสานกันเพื่อใช้ในการตัดสินเบื้องต้นว่าเราควรเชื่อหรือไม่
คำถามที่ว่า ผู้คนได้ข้อมูลการซื้อขายตำแหน่งจากที่ใดบ้าง คำตอบคือส่วนใหญ่ได้จากบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเหล่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือหากใครมีเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือลูกศิษย์ลูกหาทำงานอยู่ในหน่วยราชการใดหรือพรรคการเมืองใดก็มักจะได้รับคำบอกเล่าจากบุคคลที่อยู่ในแวดวงเหล่านั้นเสมอ แล้วเราเชื่ออย่างไรว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นจริง เราก็ต้องทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยการฟังความหลายด้าน จากผู้คนและแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย หากเรื่องใด ผู้ให้ข้อมูลมีหลายคน และแต่ละคนก็เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งมีที่มาจากหลากหลายตำแหน่งและหลายพื้นที่ ให้ข้อมูลตรงกัน เราก็พอสรุปเบื้องต้นได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถืออยู่พอสมควร
แต่เราก็ยังไม่ควรเชื่อเสียเลยทีเดียว เราต้องใช้วิจารญาณในการพิจารณาว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ สมมติว่าเราได้ข้อมูลว่า หน่วยงานหนึ่งมีใช้เงินซื้อตำแหน่ง เราก็ต้องพิจารณาว่าอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของหน่วยงานนั้นมีมากน้อยเพียงใด หากพบว่าตำแหน่งที่มีการซื้อเป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่ใครได้เลย ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณต่ำ และไม่มีช่องใดในการแสวงหาประโยชน์ใดๆได้ เราก็อาจให้น้ำหนักข้อมูลข่าวสารนั้นน้อย เพราะเป็นเรื่องราวที่ดูไม่สมเหตุสมผลที่จะมีใครไปซื้อตำแหน่งที่ไร้อำนาจและไร้ผลประโยชน์เช่นนั้น
ในทางกลับกัน หากหน่วยงานและตำแหน่งที่ซื้อขายกันเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก และสามารถนำอำนาจไปใช้แสวงหาประโยชน์ได้ หรือเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินงาน ก็มีความสมเหตุสมผล ที่จะมีคนยอมเสียเงินลงทุนซื้อตำแหน่งดังกล่าว เพื่อใช้อำนาจในตำแหน่งเหล่านั้นถอนทุนคืนในภายหลัง
เมื่อพิจารณาบริบทของสังคมไทยที่มีการทุจริตคอรัปชั่นแพร่หลายจนเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก และแม้แต่การรัฐประหารหลายครั้งหลายคราวก็มีการอ้างการทุจริตเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการยึดอำนาจ เราจึงอนุมานได้ว่าการทุจริตและการซื้อขายตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและสามารถให้คุณให้โทษแก่ประชาชนได้ มีอยู่จริง
ปัญหาคือผู้มีอำนาจในการบริหารสังคมจะยอมรับความจริงนี้ได้มากน้อยเพียงใด เมื่อไรที่ผู้บริหารสังคมไม่ยอมรับว่าการซื้อขายตำแหน่งดำรงอยู่จริง สังคมก็จะตีความไปในสามทางคือ ทางแรกอาจตีความว่าคนเหล่านั้นไม่มีสติปัญญาเพียงพอในการวิเคราะห์หรือการอนุมานความจริงได้ ทางที่สองคนเหล่านั้นมีจิตใจที่อ่อนแอ เกรงอกเกรงใจพวกพ้องที่ดูแลหน่วยงานเหล่านั้น จนไม่มีความกล้าหาญทำเรื่องที่ถูกต้องให้ปรากฏ และทางที่สามคนเหล่านั้นอาจจะมีผลประโยชน์ร่วมด้วยในทางใดทางหนึ่ง
เมื่อไม่ยอมรับความจริง ก็ย่อมคิดว่าเรื่องนั้นไม่เป็นปัญหา ทางเลือกในการตัดสินใจก็คือวางเฉยต่อเรื่องดังกล่าว หรือตอบโต้อย่างรุนแรงโดยท้าทายให้ผู้เปิดเผยข้อมูลแสดงหลักฐานออกมา หรือใช้ยุทธวิธีเชิงรุกแบบก้าวร้าว โดยขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่นำปัญหาออกมาแฉ แต่ไม่ว่าตัดสินใจแบบใด ย่อมทำความเสื่อมแก่ผู้ตัดสินใจทั้งสิ้น และยังทำให้ปัญหาสะสมจนซับซ้อนและยากแก่การแก้ไขได้
การไม่ยอมรับความจริงเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเปรียบเสมือนช้างตายทั้งตัว แล้วพยายามเอาใบบัวมาปิด นอกจากจะปิดไม่มิดแล้ว ผู้คนในสังคมก็จะหัวเราะเยาะคนที่ทำเช่นนั้นด้วย
แม้การซื้อขายตำแหน่งจะเป็นเรื่องบาดใจผู้บริหารสังคม เพราะเกี่ยวพันกับคนแวดล้อมอยู่ไม่น้อย แต่หากผู้บริหารสังคมตั้งใจจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นอย่างที่ประกาศต่อสาธารณะอยู่ทุกวัน ก็ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อขจัดการซื้อขายตำแหน่งในหน่วยงานราชการทุกแห่งให้สิ้นซาก เพราะเรื่องนี้เป็นต้นตอในการสร้างปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมายในการบริหารราชการแผ่นดิน เฉกเช่นเดียวกับปัญหาการซื้อขายเสียงที่เป็นต้นตอของปัญหาการเมือง
ตราบใดที่ขายซื้อขายตำแหน่งยังดำรงอยู่ในหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่ผู้คนในวงกว้าง ตราบนั้นประเทศก็ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และอาชญากรรมกับความรุนแรงก็ยากที่จะลดลงได้