ผู้จัดการออนไลน์ - มีคำยืนยันจากลูกผู้ชายชาติทหาร “พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี” ว่าสัปดาห์นี้ จะเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ศูนย์ราชการ ย่านแจ้งวัฒนะ ตามหมายเรียก กรณีมีข้อความส่งทางแอพพลิเคชันไลน์กล่าวหา พล.อ.รายหนึ่ง เข้ามาเกี่ยวข้องในการซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งตำรวจ
หลังตำรวจอ้างว่า คดีดังกล่าว ในทางสอบสวนพบว่ามีการกระทำความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ชัดเจน เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหาย ซึ่งอัตราโทษของความผิดตามมาตราดังกล่าวคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนเมื่อมีการให้ปากคำแล้ว ตำรวจจะมีการตั้งข้อหาเอาผิดกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ หรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตามต่อไป
เรื่องคดีก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม กระนั้นหลายคนก็อดแปลกใจไม่น้อย กับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่เล่นบทดุดันกับพล.ร.อ.พะจุณณ์ อย่างยิ่ง แต่เมื่อเห็นการตั้งป้อมสู้คดีของพล.ร.อ.พะจุณณ์ ที่ไม่มีหงอ ต่างบอกว่า งานนี้มวยถูกคู่
เพราะถึงตอนนี้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ จะไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ ป๋าเปรม ไม่ได้เข้าไปบ้านสี่เสาเทเวศร์นานแล้ว แต่บารมี การยอมรับของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นตท. 12 กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในทางทหารและทางการเมืองยังถือว่าสูงอยู่ และถึงต่อให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ไม่มีแบ็คอัพใดๆ แต่กองเชียร์ของคนในสังคมจำนวนมาก ก็ดูจะเทน้ำหนักเชียร์ พล.ร.อ.พะจุณณ์ มากกว่าฝ่ายตำรวจหลายเท่านัก
เพราะความจริงก็คือความจริง เรื่องข้อครหา การซื้อขายตำแหน่ง ซื้อเก้าอี้ในแวดวงราชการ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในวงการข้าราชการไทย
ยิ่งวงการตำรวจที่มีผลประโยชน์มาก อำนาจเยอะ เป็นเรื่องที่มีการพูดกันมานานแล้ว กับข้อครหา การซื้อเก้าอี้ เพื่อความเติบโตในหน้าที่การงาน เพราะถือเป็นการลงทุน ที่คุ้มค่า ชนิดตำรวจบางคนไม่ต้องควักเงินซื้อตำแหน่ง ก็มีสปอนเซอร์ที่อยู่ในวงการทั้งบนดิน-ใต้ดิน พร้อมควักจ่ายให้
เสียงเชียร์ให้พล.ร.อ.พะจุณณ์ สู้ไม่ถอย เดินหน้ากระชากหน้ากาก การซื้อขายเก้าอี้ในวงการตำรวจ จึงดังไปทั่ว แล้วแบบนี้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ จะไปถอย ได้อย่างไร
ยิ่งมีข่าวว่าได้ อดีตผู้พิพากษารุ่นใหญ่ของวงการศาลยุติธรรม อย่าง ”อุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา อดีตประธานศาลอุทธรณ์” ที่เป็นอดีตประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ทำให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหนีคดีมาหลายปี มารับอาสาขอเป็นทนายความให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ เพราะคุ้นเคยกันตอนช่วง อุดม เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมรุ่นกับพล.ร.อ.พะจุณณ์
ได้คนมาช่วยสู้คดีให้ระดับ อดีตรองประธานศาลฎีกา แบบนี้ กำลังใจ ของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ เลยน่าจะมาเต็มกระเป๋า
ที่ตำรวจจะมาเอาผิดกับเรื่องส่งข้อความผ่านไลน์ เลยกลายเป็นเรื่อง ”กระจอก” อย่างที่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ อดีตบิ๊กกองทัพเรือพูดไว้ก่อนหน้านี้
ในการติดตามความคืบหน้าและความเป็นไปของเรื่องนี้ “ทีมข่าวการเมือง” ขอรีวิวให้เห็นถึงที่มาที่ไปของเรื่องที่มีการพูดกันในเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในวงการสีกากี ที่ตำรวจอ้างว่า พบว่ามีการส่งข้อความในลักษณะดังกล่าว จากไลน์ส่วนตัวของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ไปยังบุคคลอื่นๆ
“ทีมข่าวการเมือง” ที่ติดตามเรื่อง การปฏิรูปตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง ขอนำเสนอชุดข้อมูลด้านหนึ่งที่น่าสนใจ อันทำให้เห็นว่า การที่มีการพูดกันถึงเรื่อง การซื้อขายเก้าอี้ใน สตช.นั้น จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่มีการอภิปรายพูดถึงกันอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ยุค พล.ร.อ.พะจุณณ์ ยังเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ยุค สปท.ตอนนี้
เมื่อย้อนไปดูคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ก่อนหน้านี้ที่บอกทำนองยอมรับว่า พอได้ข้อความทางไลน์เรื่องราวในวงการตำรวจ ทำนองนี้ ก็เลยมีการส่งต่อกันภายในกลุ่มคนสนิท แต่ไม่ได้เป็นคนพิมพ์ข้อความ แต่เป็นการส่งต่อ
“ผมยืนยันว่าไม่ใช่ต้นตอ เป็นไลน์ที่ส่งต่อ ๆ กันมา ก็ส่งไลน์ ต่อไปในกลุ่มเพราะผมเป็นประธานต่อต้านคอร์รัปชั่น และส่งไลน์ในกลุ่มตำรวจเพราะผมทำเรื่องปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้มีการแก้ไขเรื่องนี้
ถ้าถามว่ามีการซื้อขายตำแหน่งจริงหรือไม่ ผมไม่ทราบและไม่รู้ว่าพูดถึงใครในไลน์ ไม่มีชื่อ แน่นอน ประเทศไทยก็เป็นอย่างนี้ แต่มีเค้า ในไลน์พูดถึงนายทหารยศพลเอกนอกราชการ บางคน ในส่วนกลางประโยคจำไม่ได้” (พล.ร.อ.พะจุณณ์ - 28 ก.พ.59)
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่า จริงๆ แล้ว การพูดเรื่องปัญหาการซื้อขายเก้าอี้กันในวงการตำรวจ ในหมู่แวดวง พวก สปช. - สปท. มันเริ่มต้นมาจากที่ไหน แล้ว เป็นการคุยกันในระดับใด วงไหน คุยกันภายใน หรือในวงกาแฟตอนสมาชิก สปช. - สปท.นั่งคุยกัน แล้วก็พิมพ์ข้อความส่งไลน์ถึงกัน แต่สุดท้าย หลุดไปถึงวงนอก
ซึ่งเมื่อตรวจสอบผ่าน เอกสารรายงาน การประชุม ”คณะอนุกรรมการโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ซึ่งมี พล.ร.อ.พะจุณณ์ เป็นประธานอนุ กมธ.ชุดนี้ และมีคนที่เคยอยู่ในวงการสีกากีอยู่ในอนุ กมธ.ชุดนี้หลายคนเช่น พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ ,พล.ต.ต.ปรีชา สมุทระเปารยะ ,พล.ต.อ. จรัมพร สุระมณี ,พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน เป็นต้น
ก็พบว่า อนุกมธ.ชุดดังกล่าว ได้มีการประชุมกันเมื่อ 16 ม.ค. 2558แล้วมีการพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ปัญหาในวงการตำรวจที่น่าสนใจ
โดยเอกสารรายงานการประชุมดังกล่าว ที่มีการถอดเทปการประชุมแบบคำต่อคำ พบว่าที่ประชุมมีการอภิปรายแสดงความเห็นเรื่องทิศทาง ข้อเสนอในการปฏิรูปวงงานตำรวจเช่น การเสนอให้แยกหน่วยงานบางหน่วยในบางกองบัญชาการออกไปโดยเฉพาะงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน โดยที่ประชุมมีผู้เข้าร่วมประชุมได้ยกตัวอย่างเช่นกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ที่มีอนุกรรมาธิการบางคนเห็นว่า โครงสร้างของ บช.ก.ใหญ่เกินไป
ในรายงานการประชุม พบว่าเมื่อมีอนุกรรมาธิการเสนอความเห็นดังกล่าวไว้แล้ว ต่อมาตัวพล.ร.อ.พะจุณณ์ ได้แสดงความเห็นว่า การปฏิรูปวงงานตำรวจจริงๆ แล้วมีอยู่ไม่กี่เรื่องที่ควรต้องทำ หลักๆ ก็เช่น 1.การแยกงานสอบสวนหรืองานด้านนิติวิทยาศาสตร์ออกมาจากตำรวจ
2.การไม่ให้นักการเมืองมาแทรกแซงการทำงานของตำรวจเพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น เนื่องจากว่า ”ต้องซื้อตำแหน่งหน้าที่อะไรกัน”อันหนึ่งเราก็จะมีเรื่องการกระจายอำนาจตำรวจ การแต่งตั้งตำรวจกันเองภายในจังหวัด แล้วก็ไปดูอีกทีว่า ผบ.ตร.ควรตั้งจากใคร
โดยพล.ร.อ.พะจุณณ์ ย้ำว่า การปฏิรูปตำรวจต้องทำเรื่องหลักๆ ให้ได้ภายใน 4 - 5เรื่องที่เป็นเรื่องซึ่งตรงกับความต้องการของประชาชน ก็พอ หากทำมากกว่านี้จะทำไม่ทัน แต่หากทำในเรื่องหลักได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ในรายงานการประชุม ดังกล่าว มีการถ่ายทอดคำอภิปรายแสดงความเห็นของผู้ร่วมประชุมบางคนเอาไว้ อาทิเช่น นายไพศาล พืชมงคล ที่ปัจจุบันเป็น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ที่ได้เข้าประชุมอนุ กมธ.ชุดดังกล่าวด้วย แต่เมื่อตรวจสอบรายชื่อของอนุ กมธ.ชุดนี้ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ของ สปช.ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของนายไพศาล เป็นอนุกมธ.ชุดนี้ ก็พบว่าในเอกสารดังกล่าวระบุคำพูดของนายไพศาล ไว้ตอนหนึ่งว่า
“อยากให้เข้าใจตรงกันว่าการปฏิรูปตำรวจมิได้เป็นไปเพื่อลดบทบาทหรือทำลายตำรวจ แต่เป็นไปเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ตำรวจด้วยกันเอง วันนี้ข้าราชการไทยทุกส่วน ข้าราชการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุดคือตำรวจ เมื่อก่อนคิดว่าครู เมื่อก่อนหน้านายอำเภอ ตอนหลังเป็นครู ตอนนี้ตำรวจ
ครูจะเลื่อนตำแหน่งยังเงินน้อยกว่าตำรวจวันนี้ มีที่ไหนล่ะครับ 50 ล้านบาทยังจ่ายกัน มีครูที่ไหนจะเลื่อนตำแหน่งจ่าย 50 ล้านบาท ในเมื่อคนซื้อมาด้วย 50 ล้านบาท เอาอะไรไปขาย ก็ขายความยุติธรรม นี้แหละคือปัญหา”
ในเอกสารบันทึกดังกล่าวยังมีข้อความคำพูดของนายไพศาลบางช่วง อีกว่า อย่างวันนี้การโยกย้ายจากไหนมาก็ไม่รู้ คนในหน่วยไม่ได้ขึ้น คนในพื้นที่ไม่ได้ขึ้น ไปเอาที่ไหนมา ก็เพราะว่าอำนาจพวกนี้ “
และเมื่อไปตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงานตำรวจฯ ในคราวถัดๆ ไป คือ เมื่อ 30 ม.ค. 58 ก็มีข้อความบางตอนที่น่าสนใจ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในวงการตำรวจจากอดีตตำรวจระดับสูงที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของวงการตำรวจอย่างตรงไปตรงมา
นั่นก็คือความเห็นของอนุกมธ.ที่เป็นอดีตคนในวงการสีกากี ”พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ อดีตผช.ผบ.ตร.” ที่ตอนนั้นเป็นสปช.อยู่ด้วย ก็ให้ความเห็นกลางที่ประชุมอนุกมธ.ฯดังกล่าว ตามรายงานการประชุม ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ตำรวจที่มีเส้น มีอยู่แค่ไม่เกิน 7 - 8เปอร์เซ็นต์ ที่อาละวาดอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเราสร้างระบบคุณธรรมให้แก่ตำรวจได้ ตำรวจอีก 93 เปอร์เซ็นต์เขาจะไชโยโห่ร้องให้เลย แล้วที่เราตำหนิตำรวจทุกวันนี้ ตำหนิว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ในวงการตำรวจเขาตำหนิกันเองแรงยิ่งกว่าที่นี่อีก บางทีผมก็พูดอะไรมากไม่ได้
ทุกเรื่องที่ท่านตั้งฐานมานี้จริงทั้งนั้น แล้วอาจบวกเปอร์เซนต์เข้าไปได้แรงๆเลย ตำรวจเองก็ต้องการให้เข้าไปปฏิรูป เขาก็อยากมีศักดิ์ศรี อยากทำงานให้กับประเทศชาติ”
ในรายงานการประชุมอนุกมธ.ฯ วันดังกล่าว หลังพล.ต.ท.อาจิณ กล่าวจบ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมได้กล่าวว่า
“ที่พล.ต.ท.อาจิณ บอกว่าตำรวจอีก 7เปอร์เซ็นต์ที่มันอาละวาดกันอยู่นี่แล้วมันก็อยู่ในที่สำคัญๆ ทั้งนั้น ฉะนั้นเราจะทำลายมันลงไปได้อย่างไร บางทีเราควรจะ ประหาร 7 เปอร์เซ็นต์นี้ด้วยวิธีไหน โดยที่ไม่ต้องไปประหารอีก 93 เปอร์เซ็นต์ อนุ กมธ.ก็เสนอความเห็นมา”
ก็ถือเป็นความเห็น มุมมองต่อเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ปัญหาภายในสตช.ที่น่าสนใจ และที่ต้องเน้นย้ำก็คือ การประชุมดังกล่าวซึ่งประชุมกันไปเมื่อ เดือนม.ค.ปี 58 ซึ่งช่วงนั้น คสช.บริหารประเทศมาร่วม 7 เดือนแล้ว หลังรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 ตอนนั้นรัฐบาล คสช. มีการเด้งนายตำรวจระดับสูง ที่อยู่ในสายทักษิณ ชินวัตร – เพื่อไทย ไปจำนวนมาก ตั้งแต่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. แล้วตั้งพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ มารักษาการผบ.ตร.แทน และก่อนถึงเดือนม.ค.ปี 58 สตช.ก็มีการแต่งตั้งนายตำรวจระดับนายพลประจำปีกันไปแล้ว ไล่ตั้งแต่ระดับผบ.ตร. ที่ตั้ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มาเป็นผบ.ตร. รวมถึงบิ๊กตำรวจอีกจำนวนมาก
การแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นกันถึงปัญหาในวงการตำรวจแบบตรงไปตรงมา ในลักษณะเช่นนี้ ที่ทำให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ได้ข้อมูลที่แท้จริงจากคนในวงการตำรวจ และคนที่ทำงานให้กับคนใน คสช. จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ที่ผ่านมา พล.ร.อ.พะจุณณ์ จึงเป็นหนึ่งใน สปช. - สปท.ที่ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปตำรวจมาตลอด ทั้งในเวทีกมธ.- ในห้องประชุม สปช. และในการพูดคุยกับคนในวงการต่างๆ ด้วยความที่ได้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของวงการตำรวจมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
จุดนี้เลยอาจทำให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ มีอารมณ์ร่วมถึงปัญหาวงการตำรวจมากเป็นพิเศษแม้จะเป็นอดีตทหารเรือก็ตาม ส่งผลให้เป็นคนตื่นตัวกับเรื่องนี้ ขณะที่บิ๊กตำรวจใน สตช.และบิ๊ก คสช.กลับนิ่งดูดาย ไม่สนใจแก้ปัญหา ที่สำคัญ กลับเพิกเฉยต่อการปฏิรูปตำรวจ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมต้องการเห็น
จึงอย่าได้แปลกใจ ที่ไฉนคนในสังคม ให้กำลังใจ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ในการเดินหน้าผ่าตัดตำรวจให้เกิดผลสำเร็จ แม้จะรู้ดีว่า เป็นเรื่องยาก เพราะคสช. ละทิ้งเรื่องนี้ไปแล้ว