ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตัดริบบิ้นเปิดตัว “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี(ประเทศไทย) จำกัด” ในส่วนกลาง และใน 5 จังหวัดนำร่อง รับลูกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นที่เรียบร้อย โดยงานนี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารดึง “ภาคเอกชนรายใหญ่” เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐ
ทว่า “คำถาม” ที่สังคมสงสัยและถูกจับตามมองเป็นพิเศษก็คือ การที่ “สมคิดศิษย์ป๋าป้อม” นำบรรดา “เจ้าสัว” ลงไปช่วยธุรกิจระดับฐานรากนั้น ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการทำงาน “เพื่อประชาชน” หรือ “เพื่อนายทุน” กันแน่
ยิ่งเมื่อมีชื่อของ 'ฐาปน สิริวัฒนภักดี' กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กลุ่มการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ปรากฏเป็น 'ผู้ถือหุ้น99 เปอร์เซ็นต์ ของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด' ด้วยแล้ว ความเคลือบแคลงสงสัยในเป้าประสงค์ที่แท้จริงก็ยิ่งกระจายตัวกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทุกซอกมุมของสังคม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ฉบับนี้ เปิดอก “สัมภาษณ์พิเศษ” ทายาทเจ้าสัวใหญ่แห่งไทยเบฟฯ 'ฐาปน สิริวัฒนภักดี' ผู้กุมบังเหียนภาคเอกชนขับเคลื่อนโนบายประชารัฐในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้วย“คำถามที่ค้างคาใจสังคม” เพื่อติดตามกันว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีที่ตั้งขึ้นมาภายใต้เงื้อมมือของภาคเอกชนรายใหญ่มีทิศทางอย่างไร
บทบาทของภาคเอกชนในกลุ่มการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งนำโดยคุณฐาปน เข้าไปเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง
การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ถือว่าเป็นการจัดตั้งที่เรียกว่า Social Enterprise (SE) เป็นคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อประชารัฐ (พื้นที่การพัฒนาแบ่งเป็น 18 กลุ่มจังหวัด โดยกระจายสู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ไม่รวมพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นเขตปกครองพิเศษ) คณะเราเป็น 1 ใน 12 คณะ ไม่ใช่ทุกคณะเป็นรูปแบบการดำเนินการเดียวกัน ประเด็นของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เรามีอยู่เป้าหมายเดียวคือการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประชารัฐถูกพูดถึงบ่อยครั้งว่าคืออะไร? นิยามของประชารัฐประกอบด้วย 5 ส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน มีอยู่ 3 วัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนทั้ง 12 คณะของการประสานพลังประชารัฐ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ส่วนคณะของผมเองทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทางหน่วยงานด้านเอกชน ทำงานควบคู่กับทางด้านภาครัฐ โดยหัวหน้าของภาครัฐคือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วยคณะทำงานจากภาครัฐทั้ง 8 ท่าน ในคณะของผมดูในเรื่องเศรษฐกิจฐานรากลงไปที่ชุมชนเป็นหลัก เรามีเป้าหมายคือสร้างให้เศรษฐกิจชุมชนเข็มแข็ง เพื่อให้ประชาชนมีความสุขและก็มีรายได้เพิ่มขึ้น
เรามองว่าคำว่า Social Enterprise รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม สิ่งที่สำคัญมากเลยเราระบุเอาไว้เป็นเรื่องของรูปแบบการดำเนินการ 1. เป้าหมายหลักเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด เพราะเรามองไปที่ชุมชน 2. เรามองไปที่รูปแบบธุรกิจรายได้มาจากการขายและการบริการ ไม่ใช่เป็นเงินมาจากภาครัฐ หรือเป็นการบริจาค เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ยั่งยืน ไม่สามารถให้ภาครัฐช่วยได้ตลอดไป ฉะนั้น ต้องพึงตัวเองได้ 3. กำไรต้องนำไปขยายผลไม่ใช่เป็นการปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว บริษัทนี้ลงทุนไปแล้วไม่มีเงินปันผลกลับมา เงินรายได้ที่ได้หมุนเอากลับไปช่วยประโยชน์ให้กับชุมชนอื่นในพื้นที่จังหวัดนั้น 4. คือบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และ 5. เป็นเรื่องของการจดทะเบียนรูปแบบบริษัท
ระยะที่หนึ่ง เรามองพื้นที่ความพร้อมของชุมชนเป็นตัวตั้ง ความพร้อมที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลง และเป็นการต่อยอด หมายความว่าเป็นชุมชนที่พร้อมจะพัฒนาพร้อมจะขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ที่ดีขึ้นคนในชุมชนนั้น ไม่ได้หมายว่าไปเลือกเพราะชุมชนเขามีสินค้าที่ดีที่แข็งแรงนะครับ การเลือกพื้นมันเป็นเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องมีความพร้อม เราทำงานร่วมกับคณะที่กล่าวไป องค์กรนี้เป็นองค์กรมหาชน อยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
โครงสร้างการบริหารวิสาหกิจชุมชนเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คณะทำงานให้ความสำคัญ
ณ วันนี้เรื่องของ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม Social Enterprise ยังอยู่เพียงแค่ขั้นตอนการร่าง พ.ร.บ. ยังไม่ออกมา มีเพียงแค่มติคณะรัฐมนตรี 15 มิ.ย. ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในการที่ประโยชน์กิจกรรมใดๆ เพื่อสังคมเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบโครงสร้างการทำงานแตกต่างไปจากบริษัททั่วๆ ไปที่ภาคเอกชนบริหารจัดการอยู่ ถ้ามองถึงตัวบริษัทกลาง บ.ประชารัฐฯ มีสถานะเป็นบริษัทแม่เป็นการดำเนินการในรูปแบบ 76 จังหวัด บ.ประชารัฐฯ ในแต่ละจังหวัดเข้ามาถือหุ้นแม่ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เชิญชวนเอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาให้การสนับสนุน เราไม่มีการปันผล เงินรายได้ที่ได้เราต้องการประกอบเหมือนกับเป็นธุรกิจการค้า แต่รายได้ที่ได้มาก็จะนำเอามาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมในชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ถ้ามองในประเด็นนี้จะทราบว่าเรามีทั้งหมด 77 บริษัท เรามี 1 บริษัทที่เป็นส่วนกลาง กับ 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ ซึ่งไม่เกี่ยวโยงกับทางกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ตัวอย่าง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด ในกลุ่มจังหวัดนี้ 5 จังหวัด มีชุมชนเกษตร ชุมชนแปรรูป ชุมชนลักษณะการท่องเที่ยวโดยชุมชน พอมองสถานะความเป็นจังหวัด การที่เป็นรูปแบบบริษัทจำกัด เพราะเราต้องการเน้นย้ำให้มีโครงสร้างที่ชัดเจน เพื่อสามารถประกอบในรูปแบบธุรกิจการค้าบริษัทจำกัด ขึ้นอยู่กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีความชัดเจนว่าภาครัฐไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตำแหน่งใดๆ หากตำแหน่งอยู่ในสถานะของภาครัฐไม่สามารมาเป็นกรรมการ หรือแม้กระทั่งที่ปรึกษาของบริษัทจำกัดได้ เพราะต้องมองภาพรวมเรื่องการรักษาผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ส่วน บ.ประชารัฐฯ ยกตัวอย่าง คุณจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ท่านก็อยากจะช่วยบ้านเมืองท่านเพราะท่านเป็นคนภูเก็ต แล้วท่านลงให้บริษัทนี้ได้ไหม ท่านก็ลงได้
ตัวบริหารจัดการ หนึ่งในนั้นคือคณะกรรมการบรรษัทภิบาล บอกว่าท่านผู้ว่าฯ จำเริญ ลงเงินให้กับบริษัทฯ แต่ท่านไม่ได้เป็นประชาชนนะวันนี้ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เวลาจะโหวตการถือหุ้นท่านให้เสียงอยู่ที่ภาครัฐ 20 เปอร์เซ็นต์นะ เข้าใจในความหมายนี้ไหมครับ? เพราะว่าจัดให้เกิดความสมดุลทั้ง 5 ภาค คณะกรรมการบรรษัทภิบาลจะเป็นผู้คำนึงถึงว่าใครอยู่ในส่วนไหน
ผู้ถือหุ้น บ.ประชารัฐฯ ประกอบด้วยใครบ้าง
ผู้ถือหุ้นเราต้องการ 5 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน อย่างภาครัฐ ในที่นี้คือ รัฐ คือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ เราพูดถึงบุคคลธรรมดาไม่พูดถึงนิติบุคคล ก็มีสิทธิในการลงช่วยสนับสนุนบริษัทที่เป็นของจังหวัดนั้นได้เพราะเป็นประโยชน์ ทุกภาคส่วนสามารถลงมาถือหุ้นได้แต่ว่ากำลังไม่เท่ากัน เช่น ชุมชนสับปะรด มาซื้อหุ้นเดียว 1,000 บาท ชุมชนนมแพะมาซื้ออีกหุ้น 1,000 บาท รวมกันทุกชุมชนอาจจะซื้อคนละ 1 - 2หุ้นเท่านั้นเอง แต่อย่าลืมที่เมื่อกี้ผมกล่าวไปแล้วว่า เรามีเพดานให้สิทธิเขาถึง 20 เปอร์เซ็นต์ สมมติใน 100 เปอร์เซ็นต์เอกชนรายใหญ่ใส่มากหน่อยแต่คุณก็มีเพดานว่าต่อให้โหวตอย่างไรก็ไม่เกิน 1 ใน 5 แต่ด้านภาคประชาชนใส่น้อยแต่เสียงเขาใหญ่หน่อยเพราะเสียงเขาใหญ่มากกว่า 1 หุ้น มันไม่ใช่หลักการ one man one vote (สมมติเจ้าหน้าที่รัฐไม่ลง?) ก็ไม่มี ตรงนั้นก็หายไป 20 เปอร์เซ็นต์ก็ว่าง
ทำไมดูสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว มีแต่ภาคเอกชน
คนที่ถือหุ้นมากที่สุดก็คือ เอกชน เพราะต้องขอความช่วยเหลือเขามาช่วยลงเงินกัน ฉะนั้น รัฐกับประชาชน ประชาชนอยากลงเยอะแต่เงินน้อย รัฐก็รู้สึกงงว่าทำไมเขาต้องไปลง แต่ถ้าเป็นคนที่มีความผูกพันกับพื้นที่เช่น ท่านผู้ว่าฯ จำเริญ เป็นคนภูเก็ต ท่านบอกอยากช่วยบ้านเกิด แต่จะลงมาอย่างไรก็มีรูปแบบกำกับไว้ ท่านก็เป็นราชการ หรืออย่าง จ.เพชรบุรี ดร.โฉมยง โต๊ะทอง ท่านเป็นนักวิชาการในหน่วยงานรัฐที่เกษียณแล้ว ท่านจะเป็น ภาควิชาการ หรือ ภาคประชาชน คณะกรรมการบรรษัทภิบาลต้องถามแต่ละคนว่าจะอยู่ในช่องไหนไม่ใช่มาตัดสินเอง ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงการคละสัดส่วนผู้ถือหุ้น
สิทธิการถือหุ้น บ.ประชารัฐฯ จาก 5 ภาคส่วนข้างต้นเป็นอย่างไร
เท่าไหร่ก็ได้แต่โหวตไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ สมมติ ทุนจดทะเบียนของ ประชารัฐ ภูเก็ต วันนี้เราแจ้งกระทรวงพาณิชย์ จัดตั้ง 4 ล้านบาท ทุนเรียกชำระ 25 เปอร์เซ็นต์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แสดงว่าต้องมีการชำระ 1 ล้านบาทหลังจากที่มีการจดจัดตั้งบริษัท ฉะนั้น วันนี้อย่างผมเองเป็นคนลงมาขับเคลื่อน การที่ต้องเสียสละเพื่อต้องทำให้งานเกิดก่อนก็จะเป็นจะต้องใส่เม็ดเงินเข้ามา เงินวันนี้ที่เข้ามาก็ต้องเข้ามา 1 ล้านบาทเพื่อที่จะเข้ามาเรียกชำระได้ก่อน เข้ามากน้อยกว่านี้ก็คือไม่ผ่านเกณฑ์พาณิชย์
ถามว่าเข้ามามากกว่านี้ได้ไหม? ได้ครับ วันนี้มีเงินมากกว่า 1 ล้านบาท เพราะหลังจากไทยเบฟฯ ใส่เงิน 1 ล้าน มีทางด้านประชาชน เอกชนในท้องถิ่นมาร่วมด้วย 20,000, 50,000, 100,000 รวมมาได้แล้ว 1.8 ล้านบาท แต่เขาเหล่านั้นยังไม่เข้ามาเพราะถามตรงกันว่าจะได้ประโยชน์ด้านภาษีไหม วันนี้ตอบไม่ได้เพราะกฎเกณฑ์ของภาครัฐยังไม่ได้ออกมามันก็เลยมีแค่ชื่อผมคาอยู่ ในฐานะที่เป็นคนใส่เงินคนแรก แต่คนอื่นถามว่าจะใส่เงินไหม? เงินรออยู่แล้วแต่ยังไม่โอนเข้ามา แต่ผมก็อยากจะเรียนให้ทราบตรงจุดนี้ เราพูดอยู่แล้วว่าไม่มีการปันผล แล้วไฉนเลยถึงจะกังวลเอกชนรายใหญ่ครับ เพราะมันไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนใดคนหนึ่ง ฉะนั้น ผมจะเรียนให้ทราบ
แล้วทำไมต้อง 4 ล้าน ทำไม 2 - 3 ล้านไม่ได้ เพราะเรามองไว้ว่าตัว บ.ประชารัฐฯ ถ้า 10 ล้านบาทก็คงเหงา งั้น 100 ล้านบาท จัดตั้งบริษัทนี้ชวนคนในชุมชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากเข้าร่วม เราก็มองว่า 100 ล้านบาท น่าจะมี 76 ล้านบาทเข้ามา หมายถึงว่าแต่ละจังหวัดต้องมีเอกชนรายใหญ่ใส่ให้แน่ๆ วันนี้ผมทำ 5 จังหวัด ผมใส่จังหวัดละ 1 ล้าน แล้วถ้าผมไม่ใส่แล้วใครจะใส่ เราก็ต้องใส่ลงมาเพื่อให้เกิดและเดินก่อน แต่พอไปถึงที่ จ.น่าน มีเจ้าภาพที่มีเจ้าภาพอยากจะขอเข้ามาช่วยพัฒนาที่ชุมชน เช่น ทรู ของคุณศุภชัย เจียรวนนท์, กสิกรไทย, มิตรผล, เบทาโกร หรืออย่าง จ.ภูเก็ต มี เซ็นทรัล ของคุณวันทนีย์ จิราธิวัฒน์ แต่ก็ติดเรื่องภาษี ใส่เงินแล้วประโยชน์ด้านภาษีจะได้ไหม ตอบไม่ได้ทุกคนก็ยังต้องรอ การจัดตั้งบริษัทต้องมีวงเงินที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 1 - 5 ล้านบาท ถึงจะได้มีเงินเพียงพอในระยะเริ่มต้น ค่าเช่าสถานที่ จ่ายเงินเดือน ทำกิจกรรม ก่อนที่จะมีรายได้เข้าบริษัทและมีความยั่งยืน
ผู้ถือหุ้น บ.ประชารัฐ สามารถเพิ่มได้ตลอดใช่ไหม
ครับ ต้องเปิดให้มีการเพิ่มทุนได้เสมอ ไม่มีการปิดกั้น เพราะมีคนที่อยู่ในคณะกรรมการบอกว่า เขาสามารถที่จะทำให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นแล้วขายได้ไหม ผมบอกว่า ตามสิทธิของตัวบุคคล ผมไม่สามารถห้ามคุณได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่สิ่งที่ทำได้คือต้องสามารถให้มีการเพิ่มทุนได้ตามความต้องการ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันบริษัทในเรื่องของหุ้นจำนวนจำกัดและมูลค่าการขายหุ้นปรับสูงขึ้นเกินความเหมาะสม เพราะหากบริษัทมีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ วันนี้ 4 ล้านบาท วันข้างหน้าอาจจะ 10 ล้านบาท 100 ล้านบาท ทีนี้ ราคาหุ้นมันจะไม่ใช่ 1,000 บาทแล้ว ราคาหุ้นมันสูงขึ้น พอสูงข้นเราก็อยากขาย ถ้าคุณต้องไปซื้อกับใครคนใดคนหนึ่งจะได้ราคาสูง แต่ซื้อผ่านบริษัทได้ราคากลาง คุณต้องซื้อราคากลางอยู่แล้ว นั่นคือสิ่งที่เราบล๊อกไว้อยู่แล้ว
ตามข้อมูล คุณฐาปน ถือหุ้น บ.ประชารัฐฯ สูงสุด 99 เปอร์เซ็นต์
เรื่องที่นำเสนออยู่ในข่าวสาร ผมก็บอกได้ว่าเป็นข้อมูลเท็จจริง ฐาปน สิริวัฒนภักดี ถือหุ้น 99 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นข้อเท็จจริง เพราะว่าในหนังสือนั้นผมก็เป็นคนเซ็น ผมก็รู้อยู่ว่าผมถือหุ้นอยู่เท่าไหร่ แต่มันเป็นการเริ่มต้น เพราะว่าในการให้ข้อมูลตรงนั้นเป็นข้อมูลที่อาจจะยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ก็เลยขาดความเข้าใจกัน บังเอิญว่าไม่มีโอกาสนั่งคุยมันก็เลยขาดช่วงไป เราคุยกันเป็นโมเดล ที่อื่นอาจจะเป็นรูปแบบอื่นก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด
ลงเงินไป ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย?
ถูกครับ คนถามผมเยอะว่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาทำไมต้องลง ก็เป็นความสมัครใจของคุณไง ถ้าคุณเป็นคนท้องถิ่นเป็นคนในพื้นที่อยากจะเห็นบ้านเกิดพัฒนาก็มาร่วมแรงร่วมใจกัน ร่วมมากร่วมน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่เป็นเรื่องของพลังที่ได้ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
บ.ประชารัฐฯ ไม่มีงบประมาณจากรัฐบาล
ถ้ารัฐบาลลงมาก็เหมือนกับเป็นเงินสนับสนุน อาจจะเป็นหนึ่งในช่องทางเลือกแทนที่จะลงกองทุนหมู่บ้าน ก็ลงกระจายในทุกๆ ที่ เพราะการบริหารจัดการก็เป็นคนในพื้นที่เขา คนส่วนใหญ่เป็นคนของแต่ละจังหวัด จ.ภูเก็ต วันนี้ผมถูกชวนลงไปนั่งบริษัทนี้ ผมก็บอกท่านผู้ว่าฯ ผมไม่ได้เป็นพลเมืองภูเก็ต ผมระบุไว้ในประชุมคณะกรรมการชัดเจน ผมขอทำหน้าที่ให้ 1 ปี วันนั้นคุณมีคณะกรรมการสรรหาคุณก็จะมีความพร้อมมากขึ้น มาลองมองดูนะครับ สิ่งที่ผมเล่าให้ฟังมันคือเรื่องที่เอกชนลงมาเติมเต็ม อันนี้ถือว่าเป็นนิมิตรหมายใหม่เพราะถือว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นที่นำเอา 5 ภาคส่วนมารวมพูดคุยอยู่บนโต๊ะเดียวกัน
มีความเป็นไปได้หรือไม่ บ.ประชารัฐฯ ของจังหวัดต่างๆ จะไม่มีผู้เข้าร่วมเลย
โดยส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่ามีภาคเอกชนที่ลง วันนี้ภาคชุมชนสนใจ เพราะเขาไม่เคยได้รับโอกาส
มีโอกาสเกิดขึ้น
เป็นไปได้ครับ แต่ผมมองว่าถ้าบริษัทจังหวัดนั้นไม่เกิด ก็แสดงว่าไม่มีใครสนใจพื้นที่นั้นเลย แม้กระทั่งคนในพื้นที่เอง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนในพื้นที่ หรือจะเป็นภาคประชาสังคมที่มีใจรักในพื้นที่นั้นๆ ก็ไม่มีใครเอาใจใส่เลย
ถ้าสนใจแต่เขาไม่มีเงิน
1,000 บาท ก็มาเป็นได้ เรื่องนี้ผมเรียนรู้จาก อ.มีชัย วีระไวทยะ หมายถึงหลายๆ คนรวมกันเป็น 1,000 บาท ก็ได้แล้ว เพราะท่าน อ.มีชัย บอกผมอย่างนี้ “ความคิดดีมากเลย แต่ช่วยไปหาวิธีหน่อยว่าทำอย่างให้ประชาชนเข้ามาถือหุ้น เพราะอยากให้พวกเขามีส่วนร่วมตั้งแต่เด็กๆ”
สมมติคุณฐาปนลง 1 ล้านบาท แล้วเยาวชนลง 1,000 บาท หุ้นคือ 20 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน
ถูกต้องครับ นั่นคือเหตุผลที่วางเอาไว้ 5 ภาคส่วน ส่วนละ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าจะได้ถูกหารไปในส่วนที่เท่ากัน ท่าน อ.มีชัย อยากจะให้เด็กๆ นักเรียนประถมฯ มัธยมฯ เก็บ 10 บาทก็มาซื้อได้ บอกว่า 1,000 บาทเยอะไป แต่ว่าเจตนาของเรา 10 บาท ของเราจะมันเป็นอีกอารมณ์หนึ่งเป็นเรื่องของการโหวตไม่ใช่การพัฒนาชุมชน ก็เลยขอ ท่าน อ. อย่างนี้ได้ไหมครับ 1,000 บาท เด็กอาจจะไม่มีเงินแต่ถ้าสมมติในโรงเรียน รวมเงินกันเข้ามาอาจจะมากกว่า 1,000 บาท รวมกันเข้ามาเป็น 15,000 บาท ถือว่าเป็นชุมชนก็ว่าไป อีกหน่อยมีประธานโรงเรียนปีนี้จะมาโหวตเลือกตั้งกรรมการต่อไป เป็นเรื่องที่ดีที่มีการรวมกลุ่มกัน ถ้าทุกคนเบี้ยหัวแตกคุยเท่าไหร่ก็ไม่จบ แต่พอรวมกันเป็นชุมชนแล้ว คุณอยากได้อะไรเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ต่อชุมชนของคุณมันมีข้อดีตรงนี้
ประชารัฐพึ่งกลไกกระทรวงมหาไทย หากกระทรวงฯ ไร้คุณภาพประชาชนจะทำอย่างไร
ผมเรียนอย่างนี้ครับ ณ วันนี้ที่ผมได้ความกรุณาจากทางท่าน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านเป็นข้าราชการทหารมาโดยตลอด ท่านเห็นความยากลำบากในพื้นที่ต่างจังหวัด ท่านอยากจะเห็นการที่ลงไปช่วยชุมชน ฉะนั้น วันนี้ ถ้าสังเกตคณะผมซึ่งเป็น 1 ใน 12 คณะ ได้ความกรุณาจากทางภาครัฐได้ขับเคลื่อนชัดเจน และมีความคล่องตัวสูง ถ้าอนาคตเกิดรัฐไม่ชัดเจนไม่แข็งแรงจะทำอย่างไร ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่า เราจัดตั้งขึ้นมา สิ่งที่เราหยิบยื่นให้กับสังคมคือ โครงสร้าง แล้วก็ การบริหารจัดการ การทำงานทั้งหมดจริงๆ ยึดถือเอาคนในชุมชนนั้นเป็นตัวตั้ง จะเดินได้เร็วเดินได้ช้าเดินได้ประโยชน์มาหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนในชุมชน เพราะเราไม่ได้ไปเร่งรัดเขา สมมติ ผมไปเสนอไอเดียยิ่งใหญ่ แต่เขาทำไม่เป็น เหนื่อย ผมจะไปบีบคั้นเร่งรัดให้เขาทำทำไม? มันเป็นเรื่องของเขา เขาต้องเป็นคนคิดเขาต้องเป็นคนทำ เราถึงระบุว่า.. ประชาชนเป็นคนทำ เอกชนช่วยขับเคลื่อน รัฐสนับสนุน
บริษัทที่ตั้งขึ้นมา ตกลงมีเงินเท่าไหร่ แล้วเบิกได้เลยไหม ผมบอกว่า ไม่มีเงินครับ บริษัทนี้มีแต่ความรู้ที่จะให้ ฉะนั้น ยกตัวอย่าง ถ้าชุมชนสับปะรดอยากได้เงินกู้ต้องทำอย่างไร ก็ทำbusiness planไปเสนอขอเงินกู้ ผมก็จะพาคุณไปกู้กับ ธ.ก.ส (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เอกชนจะให้คำแนะนำแผนนั้น เราเป็นเอกชนรายใหญ่เข้ามาปรับวิธีคิด เพิ่มเติมในสิ่งต่างๆ ฉะนั้น หากรัฐเปลี่ยนแปลงในความแข็งแรงไป อย่าว่าแต่รัฐเลย ช่วงเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดวิกฤต ภาวะเศรษฐกิจที่มีผลกระทบ เช่น ต้มยำกุ้ง เอกชนรายใหญ่ที่มีความแข็งแรง วันนั้นเอกชนรายใหญ่จะมาช่วยก็คงไม่ได้เพราะยังเอาตัวเองไม่รอด ผมจะบอกว่าสถานการณ์เราไม่มีทางรู้ได้ว่าใครจะอยู่ยืนยงตลอดไป ที่แน่ๆ คนในพื้นที่คงจะไม่หนีไปไหน แต่ 4 ภาคส่วนคงสลับกันไปมาในเหตุการณ์ที่แตกต่าง
มีคนที่ถามผมตอนผมลงไปประชุม จ.อุดรธานี บอกว่า เห็นมาเยอะแล้วแบบนี้ แต่พอรัฐบาลเปลี่ยนก็ดูเหมือนกับว่านโนบายเปลี่ยนแล้วก็ไม่ต่อเนื่อง ผมบอกว่างานนี้จะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องขึ้นอยู่กับพวกพี่ๆ แล้ว ถ้าพวกพี่ๆ เลิกประชุมกันและทะเลาะกัน มันไม่เกิดหรออกครับ แต่ถ้าพวกพี่ๆ รวมตัวกันและคุยกันผมว่าก็เกิดขึ้น
ยกตัวอย่างช่องทางจำหน่ายของประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรมหน่อย เพราะเอกชนเองเข้าโมเดิร์นเทรดก็แทบจะไม่เหลือกำไร
ประการแรก เราอาจจะทำธุรกิจตามกลไกของรูปแบบธุรกิจปกติ แต่การช่วยเหลือถามว่ามีไหม มีได้โดยตามข้อเท็จจริง เช่น เทสโก้ฯ อยากจะช่วยเป็น CSR, ท็อปส์ อยากจะช่วยรับของชุมชนไปจำหน่าย อันนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เรานำพาได้ครับ อย่างเช่น ผมนำสับปะรดภูเก็ตมาพบกับ ท็อปส์ เขาชอบชุมชนน่ารัก พอผมไปเพชรบุรีผมไปเจอสับปะรดฉีกตา ผมเอามาให้ ท็อปส์ อีก อาจจะถูกใจกว่า สับปะรดดีกว่า ตรงนี้เริ่มต่างกันแล้วเริ่มต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเองอย่างไรบ้าง หรือต้องมีเรื่องของการบริหารจัดการของตัวเขาเอง ยกตัวอย่าง สับปะรด 600 ไร่ มี 2,000 ตัน คุณขายเป็นผลไม้สด ผมก็อยากจะนำเสนอคุณว่าอย่าไปขายลูกละ 20 บาท เอาอย่างนี้เรามาช่วยกันทำ branding ภูเก็ตสับปะรด ของนาย ก. ของนาย ข. ซึ่งจะมีซับแบรนด์ ทีนี้ ถ้าของเหลือจะทำอย่างไร เรามาคั้นเป็นน้ำสับปะรดได้ไหม มาทำเป็นแยมสับปะรดได้ไหม เอาอย่างนี้ดีไหม ผมไปคุยกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ไปคุยกับโรงแรม 4 ดาว เช่น โรงแรมออนออน ซึ่งเป็นโรงแรมแรกของเกาะภูเก็ต เขาก็รับมาขายเป็น breakfast มีน้ำสับปะรดของ จ.ภูเก็ต ถัดมาในช่วงโลว์ซีซั่นห้องพักเขาว่าง เดี๋ยวผมส่งคนมาเที่ยวภูเก็ตลงมาพักโรงแรมให้ นี่คือเรื่อง พี่ช่วยน้อง พี่ใหญ่ช่วยน้องรอง น้องรองช่วยน้องกลาง น้องกลางช่วยน้องเล็ก ไม่ใช่กระโดดลงไปพี่ใหญ่เอาเงินไปให้ชุมชนสับปะรดน้องเล็ก เสร็จแล้วอยู่แต่พี่ใหญ่กับน้องเล็กน้องกลางกับน้องรองงง พอเข้าใจกลไกในการสร้างช่องทางขายสินค้าที่มันเกิดขึ้นไหมครับ
โมเดิร์นเทรดมักมีเรื่องของเฮาส์แบรนด์ตามมาด้วย มีวิธีการจัดการอย่างไร
สิ่งที่คุณถามมันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นปัญหาของโมเดิร์นเทรด สิ่งที่ผมตอบไปดูเหมือนจะไม่ตรงคำถามแต่จริงๆ แล้ว เป็นประเด็นของชุมชน ผมทำให้ประชาชนอยู่รอด ไม่ได้ทำให้ชุมชนต้องไปพึงพา เพราะการไปพึงพาโมเดิร์นเทรดไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งเขาจะปฏิเสธ เราจะล้มทั้งยืน
โมเดิร์นเทรดคือคนที่ถือประชารัฐอยู่ทั้งหมด
เป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นไปได้ แต่จะบอกอย่างนี้ครับ เมื่อไหร่สินค้าเหล่านี้อยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว เขายังบีบเสียจนหน้าเขียว พวกนั้นเขาต้องไปปรับตัว แต่มันจะมีเยอะนะว่าสิ่งที่ผมจะลงมาช่วยกันทางชุมชน เป็นเรื่องของการทำให้ชุมชนนั้นสามารถมีรูปแบบที่พยุงตัวเองได้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่มันจะแตกต่างกันนะ เรื่องที่คุณว่ามันจะมีเอกชนที่ปลูกไร่สับปะรดที่เหมือนเป็นคอนแทรกฟาร์มมิ่งส่งให้เทสโก้ บิ๊กซี่ แมคโค นั่นเป็นเรื่องเอกชนกับเอกชน ไม่ใช่เรื่องชุมชนปลูกกัน 5 ไร่ 8 ไร่ นึกออกไหมครับ?
ชุมชนเข้าร่วมเป็นประชารัฐ จะแตกต่างจากคอนแทรกฟาร์มมิ่งอย่างไร
คอนแทรกฟาร์มมิ่งมีส่วนเสียอยู่ที่ว่ามีการการันตีในเรื่องของราคา คอนแทรกฟาร์มมิ่งไม่ได้เอื้อให้ผู้ประกอบการคิดและพัฒนาตัวเองไปมากกว่านั้น เพราะคิดว่าทำอย่างเดียว คิดว่าฉันเป็นแรงงานว่าจ้างให้ปลูกแล้วก็ได้ตังค์แต่มันก็ไปไม่ได้ไกล เมื่อกี้ผมพูดถึงสับปะรดผมไปถึงน้ำสับปะรดพูดถึงแยมสับปะรด ซึ่งสามารถนำไปขายได้ หมด
ถือเป็นต้นแบบ
เพราะภาครัฐมีความต้องการจะออก พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม เพราะกำลังเห็นภาคเอกชนที่มีความพร้อมที่จะลงมาช่วย เพื่อจะให้มีเงินผันลงมาช่วยในระบบฐานราก ข้อดีมันอย่างนี้ครับ ถ้าเอกชนรายใหญ่ไม่ช่วยด้วยกลไกของภาครัฐที่เอื้อประโยชน์ หมายความว่าเอกชนช่วยบริหารเงินภาษีของภาครัฐ แทนที่จะหมุนกลับไปที่สรรพากร กระจายจากสำนักงบประมาณลงไปที่กระทรวงต่างๆ บริหารงานราชการแผ่นดิน เท่ากับวันนี้ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนโดยคนที่อยู่ในสังคมให้หันมาช่วยกัน เป็นกลไกโมเดิร์นเทรดลดบทบาทหน่วยงานราชการ
สมมติ บ.ประชารัฐฯ ทำออกดีมาก เจ้าสัวที่อยู่ในโครงการฯ ทำโปรดักส์แข่งโดยลดต้นทุนลงไปอีก มันจะเสื่อมในฐานะคณะกรรมการประชารัฐหรือไม่
วันนี้ทำไมอยู่ดีๆ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ทำไมถึงมาสนใจงานแบบนี้ มันคืองานที่ได้รับมอบหมาย และผมกำลังขบคิดอยู่ว่า มันคือจังหวะคือความพร้อมของสังคม 1. คนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงภาครัฐที่จริงๆ บริหารอะไรก็ได้แล้วมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของเราให้ให้ดีที่สุด 2. เอกชนวันนี้มีความแข็งแรงพร้อมเข้ามาช่วยเรามากที่สุด 3. เยาวชนกลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจมีจิตสาธารณะ ผมมองอย่างนี้รุ่นคุณพ่อคุณแม่เราไม่มีทางคิดอย่างนี้ได้ เพราะว่าท่านยังต้องปากกัดตีนถีบดูแลปากท้องตัวเอง แต่มาวันนี้เรียกว่าเรามีความพร้อมมากกว่ารุ่นของท่าน และส่วนสุดท้าย คือเรื่องของเทคโนโลยีดิจิตอลมีเดีย โซเชียลมีเดีย การที่รายใหญ่ลงมาบี้ทำสินค้าแข่งชุมชน ผมว่าวันนี้ชุมชนมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะโลกมันเปิดกว้าง ทุกคนต้องการช่วยเหลือกัน และมันไม่ใครต้องการไปช่วยเหลือรายใหญ่ เพราะรายใหญ่ประสบความสำเร็จรวยขึ้นไม่หยุด เพียงแต่ว่ามันอยู่ในกลไกของสังคม พยายามจะขับเคลื่อนในลักษณะอย่างนั้น อันนี้คือเรื่องของการสร้างระบบที่เรียกว่า Inclusive Growthการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมให้มีการเติบโตไปพร้อมๆ กัน
อยากเห็น พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม รูปแบบใด
ผมอยากเห็น พ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี จากคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือบุคคลธรรมดา ผมเชื่อว่ามีบุคคลธรรมดาที่พร้อมจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมบ้านเรามีอีกมาก ภาครัฐน่าจะช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนหันมาช่วยกันพัฒนา คำว่า เศรษฐกิจฐานราก คือคนในชุมชนมีโอกาสมาช่วยกันพัฒนา แต่จะทำได้ดีได้มากได้น้อยต้องมาลองดูกันครับ ผมไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่ใช่งานที่ผมมีความเข้าใจหรือมีประสบการณ์ แต่พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะวางโครงสร้างที่ไม่มีใครได้เปรียบไปกว่าใคร เน้นเพื่อประโยชน์ที่ลงไปถึงชุมชนและคนในพื้นที่ ฉะนั้น ต้องมาตามรอดูว่าจะเกิดผลอย่างไร ต้องขออนุญาตย้ำว่า ผมไม่ใช่คนๆ เดียวที่ทำงานชิ้นนี้ทั้งหมด 76 จังหวัด
กรณีประชารัฐเกิดปัญหาจากภาคเอกชนและภาครัฐลามไปสู่ภาคชุมชน เช่น ปัญหาต้นกล้ายางพารา ฯลฯ จะหลีกเลี่ยงอย่างไร
มันเป็นเรื่องที่ต่างกันนะ อย่างเรื่อง กล้ายาง เป็นเรื่องของการรณรงค์ของภาครัฐ ตลอดมารัฐเน้นเรื่องของการส่งเสริม แต่ส่งเสริมเสร็จปุ๊บเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย การส่งเสริมนั้นอาจจะไม่เป็นนโยบาย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องกล้ายางอย่างเดียวหรอกครับ ยุคหนึ่งเน้นปลูกกาแฟ ยุคหนึ่งเน้นปลูกมัน ยุคหนึ่งเน้นปลูกผลไม้พืชเศรษฐกิจว่ากันไปเรื่อย แต่กว่าชาวบ้านจะได้ผลผลิตต้องรอกันเป็นปีๆ ต้องเรียนว่าสิ่งที่สำคัญรัฐจะส่งเสริมนโยบายแบบไหนเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ผมขอพักไว้ก่อนอย่าเพิ่งไปทักท้วงว่าดีหรือไม่ดี กลับมาถามชุมชนก่อนว่าชุมชนมีความเข้าใจไหมว่าตัวเองต้องการอะไร ชุมชนความเข้าใจไหมว่าอะไรเป็นเรื่องที่ดีต่อชีวิตเศรษฐกิจของตัวเอง
ชุมชนเข้าใจอยู่แล้ว แต่การได้รับสิ่งที่ไม่เกิดคุณค่านั้นกลายเป็นปัญหาจะทำอย่างไร
กรุณาอย่าเพิ่งไปสนใจภาครัฐ เขาทำหน้าที่ของเขาอย่างเต็มกำลังความสามารถต้องให้เขาทำเต็มที่ แต่อีกมุมกลับผมเน้นให้ความรู้คนในพื้นที่ ไม่ใช่ว่าเอาแต่ยกมือและรับกล้ายางมาฟรีหรืออะไรก็ตาม แสดงว่าคุณรับสิ่งที่เขาให้คุณคุณยังไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากได้ ฉะนั้น มันเป็นเรื่องของการองค์ความรู้และความเข้าใจในรูปแบบหนึ่ง
เคสที่ 2 เลอแปง บานาน่า โมเดิร์นเทรดบางเจ้าทำบ้างล่ะ จะมีวิธีหลีกเลี่ยงไหม
ประการแรก ผมต้องบอกว่า ไม่สามารถห้ามได้ เพราะมันเป็นการแข่งขัน อย่าว่าแต่เอกชนกับชาวบ้านเลย วันนี้เอกชนกับเอกชนยังถูกบี้ กรณี เลอแปง บานาน่า ผมยังถูกทักจากพวกพี่ๆ ในหอการค้ามากมาย แล้วเอกชนที่เป็นรายเล็กรายกลางเขาไม่เดือดร้อนหรอ? ผมบอกว่า คุณจะไปกังวลทำไม เพราะว่าถ้าชุมชนคนของเรา ขนาดวันนี้เขายังไม่พร้อม เราจะไปทำให้เขาพร้อมแล้วคนที่พร้อมอยู่แล้วไม่พัฒนาเลย แล้วสมมติชุมชนไม่โตขึ้นแล้วจีนมาบุกจะเป็นยังไง ธุรกิจก็หายไปอยู่ดี แล้วคุณจะไปเปรียบเทียบอย่างไรว่าห้ามการแข่งขัน ไม่มีใครห้ามการแข่งขันได้มันเป็นกลไกของตลาด
แต่ทำไมเราไม่ทำให้คนที่อยู่ฐานรากมีความรู้ที่ดีลุกขึ้นมา มันมีหลายมุมที่จริงๆ แล้วผมเชื่อว่า คนจำนวนมากมองจากภาพใหญ่ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอยู่แล้วเลยเอามาเป็นข้อเปรียบเทียบ แต่ผมมองจากข้างล่างขึ้นมาว่า ขอให้พวกเขาดีขึ้น ยกตัวอย่างการ ทอผ้าขาวม้า ผมทำธุรกิจอยู่ที่ประเทศสกอตแลนด์ ทุกครอบครัวเขามีเครื่องทอผ้าของเขาเอง แล้วประเทศไทย ภาครัฐน่าจะส่งเสริม เอกชนเข้ามาจัดอีเวนต์ เช่น แต่ละหมู่บ้านอย่าทอลายซ้ำกัน โปรโมทผ้าขาวม้าระดับหมู่บ้าน 1 หมู่บ้าน 1 ลาย ไม่ใช่ชุมชนมาแข่งกันเอง นี่คือสิ่งที่เอกชนเข้ามาแอปฟลายด์ ซึ่งชาวบ้านไม่คิดอย่างนี้ แต่ก็มีคนถามว่าบริษัทขายผ้าขาวม้า ยกตัวอย่าง พาคาเมี่ยน จะไม่แย่เหรอ ผมว่าจะไปแย่ทำไมเขาขายของเขาเป็นแบรนด์ ไม่ได้บอกว่าอันนี้คือของหมู่บ้านไหน ไม่ได้ทอด้วยวัตถุดิบในหมู่บ้าน มันมีเรื่องของสินค้าชุมชนที่จะค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นมา เรื่องนี้ผมมองว่ามันเป็นเทรนด์ของโลกอนาคตที่จะไปช่วยจัดหามองของในชุมชน ของดีมีคุณภาพ ออร์แกนิก เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ค่อยๆ ว่ากันไป
คุณฐาปนเข้ามาทำโครงการประชารัฐได้อย่างไร
เริ่มต้น ท่าน อ.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มารับหน้าที่ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ตามนโยบายประชารัฐท่านนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายทางท่าน อ.สมคิด ท่านก็เรียกภาคเอกชนมาประชุม ส่วนผมมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร? แรกเริ่มเดิมทีพอบอกทำเรื่อง เศรษฐกิจฐานราก คือทุกคนทำเอกชนเขาไม่ได้มีความถนัด เขามอบหมายมาก็เลยมาทำ ผมทำงานเศรษฐกิจฐานรากผมมีความเต็มใจ เมื่อถูกมอบหมายอะไรมาแล้วผมก็อยากจะทำให้ดี ให้เกิดประโยชน์ แถมยังได้ความกรุณาจากท่าน พลเอก อนุพงษ์ ท่านให้ความรู้ผมไม่น้อย มีผู้ใหญ่อีกหลายท่านที่ให้ความรู้ผม อ.มีชัย วีระไวทยะ ท่าหมอประเวศ วะสี, คุณพลากร วงค์กองแก้ว ฯลฯ ผมไม่สามารถทำให้ 76 จังหวัดลุกขึ้นมาพร้อมๆ กันได้ แต่วันนี้ผมรับปากกับทาง จ.ภูเก็ต ผมบอกว่าผมลงทำให้เวลา 1 ปี ทำดีก็ต้องสามารถถ่ายทอดยกให้คนอื่นได้ ทำไม่ดีผมก็ต้องพิจารณาตัวเองต้องมีคนอื่นมาทำได้ดีกว่าผม การที่เป็นเอกชนไม่ใช่ว่าเราเก่งกว่า แต่เรามีมุมมองกว้างกว่า เห็นมาหลายเรื่อง เป็นโอกาสสร้างความเชื่อมโยง
...และทั้งหมดนั้นคือคำอธิบายเรื่อง “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี(ประเทศไทย) จำกัด” จาก ฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะหัวหน้าทีมและในฐานะผู้กำหนดรูปแบบและโครงสร้างในการบริหารจัดการทั้งหมด ซึ่งแม้ฟังดูแล้วจะสามารถรับรู้ได้ถึงความตั้งใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จอย่างที่ฝันเอาไว้ เพราะต้องยอมรับว่านี่คือ “นวัตกรรมทางการค้ารูปแบบใหม่” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย
ขณะที่ภาคประชาชนผู้เป็น “ฐานรากของประเทศ” ซึ่งถือเป็น “หัวใจแห่งความสำเร็จ” นั้น ยังคงต้องอาศัย “เวลา” เป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ให้ประโยชน์กับพวกเขามากน้อยแค่ไหน
แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว งานนี้ “สมคิดศิษย์ป๋าป้อมและรัฐบาลทหาร” ลอยตัวอย่างสบายใจเฉิบ ส่วนภาคเอกชนหรือเจ้าสัวมีแต่ “เสมอตัว” ประการเดียวเท่านั้น