xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิกฤตชีวิตชาวสวน เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต้นยางกำลังผลัดใบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ที่ชุมชนหมู่ 2 ต.เขานิพันธ์ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ประชาชนที่นี่กว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรทำสวนยางพารา ลักษณะความเป็นอยู่ทั่วไปภายในหมู่บ้านจึงไม่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ ที่ชาวบ้านยึดอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลัก

ชาวบ้านต้องตื่นนอนตั้งแต่ 1 นาฬิกาเพื่อไปกรีดยางพารา ได้กลับมาพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นต้องออกจากบ้านอีกครั้งเพื่อเข้าสวนไปเก็บผลผลิตคือน้ำยางสดนำไปจำหน่ายที่จุดรับซื้อน้ำยางสดของผู้ซื้อรายย่อยภายในหมู่บ้าน

“ปีนี้เจ้าของสวนยางแทบไม่มีใครได้ใส่ปุ๋ยยางพารา ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อปุ๋ยลำพังจะกินก็ลำบาก เลือดตาแทบกระเด็น แต่ละวันเลยได้น้ำยางไม่มากเหมือน ปีก่อนๆ นี้”

สุธี ริยาพันธ์ เกษตรกรชาวสวนยางพารา หมู่ 2 ต.เขานิพันธ์ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่าหมู่บ้านนี้อยู่ห่างจาก ต.ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2558 ประมาณ 17 กิโลเมตรเท่านั้น

“หากนายกรัฐมนตรีได้ลงมาสัมผัสและสอบถามข้อเท็จจริงจากเกษตรกรชาวสวนยางที่นี่ซึ่งมีความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกับชาวสวนยางที่อื่นๆ จะเข้าใจว่าทำไมเกษตรกรจึงไม่สามารถโค่นยางพาราเพื่อปลูกกล้วยตามที่นายกฯ ได้ไปเห็นมา”

สุธี เป็นเจ้าของสวนยางที่ได้รับมรดกตกทอดมาประมาณ 50 ไร่ สวนยางทั้งหมดเปิดกรีดแล้ว มีทั้งยางแก่และยางอ่อน สวนยางที่จะปลูกพืชแซมได้ต้องเป็นสวนยางที่มีอายุของต้นยางไม่เกิน 3 ปี

“หากเกิน 3 ปีไปแล้ว ไม่ว่าจะปลูกพืชอะไรแซมในร่องยางก็ไม่มีทางได้ผลผลิตดีเพราะกิ่งก้านสาขาของต้นยางจะปกคลุมสวนยางทำให้ไม่มีแสงแดดส่องลงมาถึง จึงปลูกพืชแซมในร่องยางได้เฉพาะ 1-3 ปีแรกที่ลงต้นกล้ายางเท่านั้น ส่วนคนที่มีสวนยางที่เปิดกรีดไปแล้ว ถึงแม้ราคายางจะตกต่ำอย่างไรก็ไม่มีใครคิดจะโค่นยางทั้งหมดเพื่อไปปลูกพืชอย่างอื่นเพราะนั่นเท่ากับต้องเลิกอาชีพเดิมเพื่อไปทำอาชีพใหม่ปลูกพืชชนิดใหม่ที่ตนเองไม่มีประสบการณ์ ไม่มีใครอยากเสี่ยง รัฐบาลต้องส่งคนมาศึกษาข้อมูลจากคนที่กรีดยางอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปดูสวนที่เขาเพิ่งปลูก”

วิชา เทพนุรักษ์ ชาวสวนยางพาราในหมู่บ้านเดียวกันบอกว่า ช่วงที่ยางพารามีราคาสูงกว่าที่เป็นอยู่เขาและเพื่อนบ้านไม่ได้มีเงินเก็บมากมายเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะในช่วงที่ยางพารามีราคาดีแต่พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันกลับมาคาราสูงขึ้นเพราะเป็นช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง สินค้าหลายรายการเลยฉวยโอกาสขึ้นราคาตามไปด้วย

“ตอนนี้ราคาน้ำมันลดลงแล้ว อยากถามรัฐบาลว่าทำไมสินค้าหลายรายการยังมีราคาเท่าเดิม ทำไมรัฐบาลจึงไม่ออกคำสั่งให้ราคาสินค้าที่ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้ในครัวเรือนลดราคาลงบ้าง เพราะตอนเขาขึ้นราคาเขาก็อ้างว่าขึ้นราคาเพราะน้ำมันแพง ตอนนี้ราคาน้ำมันลดลงราคาสินค้าก็ควรลดลงด้วยเพื่อไม่ให้เกษตรกร ต้องลำบากไปมากกว่านี้”

วิชา บอกว่า ช่วงที่ยางพาราราคาดีเขาตัดสินใจซื้อรถยนต์คันหนึ่งเพราะต้องการให้ลูกสาวได้มีรถใช้เดินทางเข้าไปทำงานในตัวเมืองอย่างสะดวก แต่เมื่อราคายางพาราลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท จึงมารู้ว่าตัดสินใจผิดที่ซื้อรถยนต์ เพราะกลับกลายเป็นว่าต้องมีภาระหนี้สินที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ทันเวลานี้

“ผมคิดว่ารถคันนี้คงต้องปล่อยให้ถูกยึดไปเพราะผ่อนส่งไม่ทันแน่นอน ยังไม่นับหนี้สินใน ธกส.อีกล้านกว่าบาท ถ้าราคายางยังเป็นอยู่แบบนี้ ก็มองไม่เห็นอนาคตเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร ทุกวันนี้พยายามใช้จ่ายให้น้อยลง ใช้เงินซื้อแต่สิ่งของที่จำเป็นเก็บผักหญ้าหาปลาตามห้วยหนองคลองบึงข้างบ้านประทังชีวิต ก็ยังพออยู่ได้ไปวันๆ”

ด้าน กฤษณะ วู้ก้าน อาชีพรับจ้างกรีดยาง บอกว่า ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดตามความเดือดร้อนของชาวบ้านหรือไม่ เพราะผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้วรัฐบาลนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุดทั้งการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ

“เข้าใจว่าเรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา แต่เท่าที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสนใจกับชาวบ้านชนชั้นรากหญ้าค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้มาตรา 44 จัดการแก้ไขปัญหาได้ในหลายๆ เรื่องแต่กับเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนอย่างปัญหาปากท้องของชาวบ้านกลับไม่ทำ กลับไปใช้ ม.44 แก้ปัญหารถซิ่ง รื้อแผงลอย น่าจะใช้กฎหมายนี้ช่วยชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากพืชผลการเกษตรตกต่ำก่อน”

กฤษณะบอกว่า นโยบายที่น่าจะมีผลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้จริงคือการประกันราคายางพาราให้ชัดเจนว่ารัฐสามารถประกันราคาได้ที่กิโลกรัมละเท่าไหร่ หากจะให้เหมาะสมควรอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาทเป็นอย่างต่ำ เพราะการประกันราคาสามารถช่วยลูกจ้างกรีดยางอย่างเขาได้ ไม่ได้ช่วยเฉพาะเจ้าของสวนยางแต่สามารถช่วยได้ทั้งระบบ

“ตอนนี้ปัญหาราคายางกระทบไปถึงการเรียนของเด็กๆ แล้ว พ่อแม่บางคนไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ไม่มีเงินจ่ายค่ารถรับส่งบุตรหลานไปโรงเรียนต้องขอค้างเขาไว้ก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าเขาจะให้เราค้างได้นานแค่ไหน”

ไม่เฉพาะเจ้าของสวนและลูกจ้างกรีดยางพาราที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ผู้รับซื้อน้ำยางสดรายย่อยก็ได้รับความเดือดร้อนไม่แพ้กัน ผู้รับซื้อน้ำยางรายย่อยมีรายได้ประมาณวันละ 500-600 บาท

“เราต้องเอากำไรให้น้อยลงเพื่อชดเชยราคาซื้อน้ำยางให้กับชาวสวน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน หากราคายางยังอยู่แบบนี้อีกไม่เกิน 3 เดือน เชื่อว่าลูกหลานอาจจะต้องออกจากโรงเรียนเพราะพ่อแม่คงไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกเรียนอีกแล้ว” เอกรินทร์ กล่อมกลั่น พ่อค้ารับซื้อน้ำยางสด ม.2 ต.เขานิพันธ์ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ระบุ

เอกรินทร์ บอกว่า เขามีรถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งไว้ใช้สำหรับบรรทุกน้ำยางจากจุดรับซื้อในหมู่บ้านไปส่งที่จุดรับซื้อใหญ่อีกทอด ส่วนรถยนต์อีกคันเพิ่งซื้อมาใช้เพื่อรับ-ส่ง บิดาที่เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลได้อย่างสะดวก ในช่วงยางราคาดีรถยนต์ 2 คันนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ในเวลานี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกแล้ว

“ตอนนี้พ่อเสียแล้ว ผมคงต้องปล่อยให้เขามายึดรถยนต์คันใหม่ เพราะคงไม่สามารถผ่อนส่งค่างวดได้ทันตามกำหนดอย่างแน่นอน ส่วนลูกสาวที่เรียนหนังสืออยู่ในตัวเมือง ตอนนี้ตกลงกันแล้วว่าจากเดิมที่ให้ค่าใช้จ่ายลูกไปโรงเรียนอาทิตย์ละ 1,500 บาท จากนี้จะต้องลดเหลือ 1,000 บาท และอาจจะต้องลดลงอีกหากราคายางยังไม่ดีขึ้น”

เกษตรกรชาวสวนยางพาราต่างตั้งข้อสังเกตเป็นเสียงเดียวกันว่าเหตุใดเมื่อชาวสวนยางกำลังจะชุมนุมประท้วงรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสามารถออกคำสั่งให้ราคายางเพิ่มขึ้นได้ทันทีกิโลกรัมละ 6-7 บาท แตกต่างจากก่อนหน้านี้แม้เกษตรกรจะส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือมาแล้วหลายครั้งแต่รัฐบาลกลับยังไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ นั่นหมายถึงว่ากลไกทางการตลาดของยางพารายังมีบางเรื่องที่ชาวบ้านทั่วไปไม่มีโอกาสรับรู้ใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ตามแม้ราคายางพาราจะขยับราคาขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 31 บาท ในวันนี้ แต่ขณะนี้ต้นยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ใบยางเริ่มทยอยเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังเข้าสู่ช่วงต้นยางผลัดใบที่จะกินเวลา 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ เป็น 3 เดือนที่เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องหยุดกรีดยางพาราเพื่อให้ต้นยางได้ฟื้นฟูตัวเอง

เป็น 3 เดือนที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราหลายคนยังไม่มีคำตอบให้กับตัวเองว่า ต่อจากนี้พวกเขาจะหารายได้จากไหนมาเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัวที่กำลังหิวโหยอยู่ในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น