ตลท.ผลักดันผู้ประกอบการสร้างความมั่นคงยั่งยืนในธุรกิจ และช่วยหนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ย้ำต้องการให้ บจ.จำนวน 642 บริษัท เข้าไปส่งเสริม และช่วยเหลือสังคมให้ได้ทั้งหมด
นายบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารและดูแลสายงานปฏิบัติการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในหัวข้อ How can Corporate Director Help Nurture Social Enterprises? โดยระบุว่า สำหรับ Social Enterprises ของ ตลท. คือ การเป็นส่วนหนึ่งของ Sustainability ที่พยามยามจะผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ มีความยั่งยืน และเป็นส่วนให้ประเทศชาติมีความมั่งคั่ง และยั่งยืนด้วย
พร้อมกันนี้ นิยามของคำว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม คือ การเป็นธุรกิจ หรือกิจการ ซึ่งหากบริษัทจะเริ่มกิจการก็จะต้องมีเงินทุน ขณะที่ ตลท.มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิด Social Environment เพื่อสังคม ซึ่งมีความต้องการให้สังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืน และหากบริษัทไม่ต้องการที่จะดำเนินการเองก็เข้าไปสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่ผู้ที่ต้องการทำ ซึ่งมีหลากหลายวิธี เช่น สนับสนุนเงินทุนให้แก่ CSR เข้าไปช่วยเหลือสังคมที่ไม่ใช่การสร้างฝายชะลอน้ำ แต่เป็นการสร้างดีมานด์ให้ Social Enterprises ขึ้น และหาคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน สนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หรือการจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นเพื่อเข้ามาดูในเรื่องของสังคมโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่นักลงทุนกำลังตั้งคำถามต่อบริษัทจดทะเบียนไทย คือ การมี Sustainability ซึ่งจะเป็นที่มาของความยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือสังคมอย่างไร ซึ่งทาง ตลท.ก็จะช่วยผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทย จำนวน 642 บริษัท เข้าไปส่งเสริม และช่วยเหลือสังคมให้ได้ทั้งหมด
Mr.Andrew Glass County Director British Council Thailand กล่าวว่า Social Enterprises ในประเทศอังกฤษจะต้องมีรูปแบบที่แน่นอน ต้องสร้างผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น และรัฐบาลกลางจะต้องเข้ามาสนับสนุนผ่านนโยบายต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น เนื่องด้วยนักลงทุนเหล่านั้นมองเห็นการเติบโตในรูปแบบ Social Enterprises อย่างห้างสรรพสินค้า Tesco ที่ยกระดับชุมชน โดยการนำสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเข้ามาวางจำหน่าย ทำให้เกิดการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน และยังเป็นโอกาสแก่ลูกค้า หรือครอบครัวที่จะได้เข้ามาสนับสนุนร่วมกัน
ขณะเดียวกัน มองว่า Social Enterprises จะต้องเป็นธุรกิจที่มีกำไร ไม่ใช่เป็นการบริจาคเพื่อการกุศล โดยเข้าไปช่วยให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีงานทำ หรือเข้าไปช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ
นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า คำว่า Social Enterprises จะต้องมองถึงปัญหาของสังคมเป็นหลัก โดยในฐานะของบริษัทที่มีความมั่นคงแล้วจะมีส่วนช่วยให้สังคมเติบโตอย่างย่งยืนได้อย่างไรนั้น มองว่าจะต้องมีการช่วยเหลือสังคมให้ยั่งยืนตามรูปแบบ วิธีการ และต้องมองเป้าหมายของสังคมเป็นหลัก การทำให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสงบสุขของสังคม และการมีอาชีพถาวร
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่วิสาหกิจจะขาดไม่ได้เลย คือ บริษัทจะมีผลขาดทุนไม่ได้ ซึ่งต้องทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมนั้นมีกำไร และกลับเข้ามาสู่สังคมแห่งนั้น แล้วทำให้วิสาหกิจเดินหน้าไปได้ ดังนั้น Bottom Line ของ Social Enterprises จะมีด้วยกัน 3 ข้อ คือ Triple Bottom Line, People Community Planet Environment และ Profit
“ในฐานะที่บริษัทมีกำลังที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือสังคมได้ มันจึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องนึกถึงสังคม ซึ่งเราไม่สามารถอยู่ในวิลลาหรูท่ามกลางสลัมได้ เรามีหน้าที่ที่จะทำให้รอบบ้านอยู่อย่างสงบสุข และเราก็จะเป็นสุขไปด้วย ฉะนั้น แนวคิดที่จะประสบความสำเร็จของ Social Enterprises คือ การทำให้สังคมเป็นสุขมากขึ้นจากผู้ซึ่งเป็นสุขอยู่แล้ว” นายวันชัย กล่าว