xs
xsm
sm
md
lg

รัฐหนุนกิจการเพื่อสังคม เปิดทางเลือกองค์กร CSR / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปรากฏการณ์ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และหลายมหาวิทยาลัย รวมแล้วกว่า 60 องค์กรได้ร่วมกันลงนามประกาศจุดยืน “สานพลังประชารัฐ” ในการร่วมมือเพิ่มศักยภาพ ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมหรือSMES ของไทย ให้เข้าถึงแหล่งทุน และเสริมสร้างความรู้เชิงกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
นับเป็นภาพข่าวที่ดูยิ่งใหญ่ได้ “จุดพลุ” สร้างการรับรู้ของสังคมครั้งสำคัญในนามคณะทำงานด้านการส่งเสริม SMES start-up & Social Enterprises

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานในพิธีลงนามครั้งนี้ บอกว่าการเพิ่มศักยภาพ SMEs ทำได้หลายรูปแบบ เช่น 1. การชวนให้นักธุรกิจรายใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และให้ความรู้ด้านการบริหาร และการตลาดแก่ SMEs 2.ดึงสถาบันการเงินเข้าร่วมสนับสนุน 3. ร่วมกับมหาลัยต่างๆสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่แสดงศักยภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม
น่ายินดีที่มีการระบุถึง “กิจการเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise ในการเคลื่อนขบวนครั้งนี้ด้วยหวังว่า ธุรกิจประเภทใหม่นี้จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเด่นชัดขึ้น

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานร่วมภาครัฐของโครงการนี้กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่จะได้ผนึกกำลังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการสนับสนุนและส่งเสริมSMEs ผ่านกลไก “ประชารัฐ” การสร้างระบบให้มีสภาพแวดล้อม (Eco-System) ที่เอื้อต่อการสร้างโอกาส และเร่งรัดการเติบโตของธุรกิจรุ่นใหม่ (Start-up) ให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจ (Business Model) เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจการเพื่อสังคม ช่วยให้ชุมชนทำธุรกิจได้บนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้
งานนี้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของกลุ่มภาคีรวม 9 ฉบับใน 3 กรอบหลัก สำหรับการส่งเสริมSMEs สำหรับ Start- Up และสำหรับ Social Enterprise
การส่งเสริม SEนั้นจะเป็นการสนับสนุนด้านการระดมทุน และมีกฎหมายมารองรับการส่งเสริม สำหรับองค์กรที่ใฝ่ดี ทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือ CSR อาจจัดตั้ง SE ขึ้นใหม่ หรือสนับสนุน SE ที่มีอยู่แล้ว ก็นับเป็นช่องทางการส่งเสริมตามหลัก CSR ที่น่าพิจารณา 
ทั้งนี้ กิจการเพื่อสังคม SE เป็นรูปแบบกิจการ ที่ดำเนินการในลักษณะธุรกิจที่มีกลยุทธ์หารายได้ให้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน
เจ้าหน้าที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษ ซึ่งประสบความสำเร็จใน การส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม ได้ให้ความหมายว่า เป็นองค์กรที่มีรูปแบบการดำเนินงานในเชิงธุรกิจ แต่มีเป้าหมายทางสังคมเป็นหลัก และรายได้จากการดำเนินธุรกิจจะนำกลับ มาสู่การพัฒนาสังคมและพัฒนาองค์กรให้เติบโตขึ้น
เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นหลัก มิใช่เพื่อความมั่งคั่งของเจ้าของและผู้ถือหุ้นกิจการเพื่อสังคม (SE) จึงมีลักษณะอยู่ตรงกลางระหว่างองค์กรหรือมูลนิธิเพื่อการกุศล (Non - Profit Organization) ซึ่งไม่แสวงหากำไร ขณะที่องค์กรธุรกิจ (Profit Organization) ที่แสวงหากำไร เพื่อเจ้าของและผู้ถือหุ้นก็อยู่อีกด้าน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ระบุคุณลักษณะสำคัญของกิจการเพื่อสังคมไว้ดังนี้
1.เป้าหมาย คือการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพื่อผลกำไรสูงสุด
2. ดำเนินกิจการ อย่างมีความยั่งยืนทางการเงิน ใช้รูปแบบการทำธุรกิจ มีรายได้จากการผลิตการขายสินค้า และหรือบริการเป็นสำคัญ
3. เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในกระบวนการผลิต และการดำเนินงาน ที่ไม่สร้างผลเสียต่อสุขภาวะสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
4 ผลกำไรส่วนใหญ่ เพื่อส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีสัดส่วน อาจมีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น หรือไม่แล้วแต่นโยบายการจัดตั้งก็ได้
5 ดำเนินการอย่างโปร่งใส ด้วยการจัดทำข้อมูลผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเปิดเผยต่อสาธารณะ

ข้อคิด...
นี่นับเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ ที่สร้างการรับรู้และประกาศพันธสัญญาที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนขนาดใหญ่ได้ร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุน SMEs ให้เติบโตอย่างราบรื่น ซึ่งจะมีผลดีต่อการสร้างผลผลิตและรายได้ของระบบเศรษฐกิจ
ในโอกาสนี้ ยังได้จังหวะประกาศจุดยืนสนับสนุน “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ให้ได้รับรู้อย่างกว้างขวาง ขณะที่ “ร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม” ซึ่งจะเป็นกฎหมายส่งเสริมและกำกับดูแลกิจการ SE ให้มั่นคง ผ่านที่ประชุมกฤษฎีกาแล้วเตรียมส่งเข้าพิจารณาใน ครม.ต่อไป
SE ซึ่งเป็นธุรกิจในระดับ SMEs ที่รัฐกำลังเสริมส่งให้เข้มแข็งด้วย และจุดเด่นในการบริหารงานแบบธุรกิจแต่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็จะมีผลดีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในอีกไม่นานนัก “กิจการเพื่อสังคม” ที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติจากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมก็สามารถเปิดรับเงินทุนสนับสนุนจากธุรกิจต่างๆ ที่มีคุณค่าเป็น “การลงทุนเพื่อสังคม” (Social Investment)
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น