รองนายกฯ ปลุกหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน 60 องค์กร ประสานพลังประชารัฐ ร่วมทำหน้าที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี ดูแลและผลักดันกลุ่ม Start up ให้เติบโต ระบุต้องสร้างสังคมแห่งความคิดใหม่ ผ่านการบ่มเพาะของสถาบันการศึกษา ชี้เป็นโอกาสทองในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยใช้เอสเอ็มอีเลือดใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน แย้มออกมาตรการจูงใจยักษ์ใหญ่อุ้มรายย่อย พร้อมเตรียมจัดงาน ‘Thailand Start up’ ปลายเดือน มี.ค.
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการเป็นประธานลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 60 องค์กร ในโครงการ “สานพลังประชารัฐ ส่งเสริม SMEs Start up&Social Enterprises” ในการเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่เอสเอ็มอีไทยว่า เดิมความเข้าใจในเรื่องของเอสเอ็มอีสำหรับคนทั่วไปยังไม่ถ่องแท้ ตนพยายามจะให้เอสเอ็มอีเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีจะถูกมองว่าต้องเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ไม่มีความแข็งแรง ไม่มีเงินมากนัก รวมถึงสถาบันการเงินไม่อยากจะปล่อยสินเชื่อ และภาคการเมืองก็ไม่อยากมาส่งเสริมมากนัก เพราะเห็นว่าไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่สิ่งเหล่ากำลังจะหมดไปแล้ว เพราะปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้ภายใต้การนำของท่านนายกฯ และทีมเศรษฐกิจชุดนี้ที่เอาจริงเอาจังและเข้าใจเรื่องเอสเอ็มอี พยายามขับเคลื่อนเอสเอ็มอี และที่สำคัญความร่วมมือของหน่วยงานทั้ง 60 องค์กรจะมาช่วยกันปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศโดยใช้เอสเอ็มอี ทำให้มวลชนเกิดควมเข้าใจในเจตนาเดียวกัน
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งจะต้องเกิดจากเอสเอ็มอีที่มีความคิดใหม่ๆ เอสเอ็มอีที่อยากจะสร้างคุณค่าเชิงการค้า เอสเอ็มอีที่กล้าจะทำธุรกิจบนนวัตกรรม นี่จึงเรียกกว่า กลุ่ม Start up ดังนั้น พวกเราต้องมาช่วยกันดูแลต้นกล้าเหล่านี้ให้เติบโตเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้ และสามารถแข่งขันบนตลาดโลกได้
“การมีเอสเอ็มอี Start up เราต้องเริ่มจากการสร้างสังคมแห่งความคิดใหม่ โดยโรงเรียน มหาวิทยาลัย ต้องเป็นจุดเริ่มต้น บ่มเพาะความคิดสู่คนรุ่นใหม่ ผมได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เข้าไปเจาะถึงนักเรียนและนักศึกษา ตั้งแต่เขายังเรียนไม่จบ เพื่อที่หลังจากออกมาแล้ว สามารถเป็นกลุ่ม Start up ได้เลย ผ่านการส่งเสริมของหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทุนร่วมลงทุนกับธนาคาร เป็นต้น”
นอกจากนั้น ในวันที่ 24-27 มี.ค.ที่จะถึงนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมจัดงาน ‘Thailand Start up’ ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ประจำปี รวบรวมกลุ่ม Start up จากทั่วประเทศมาไว้ร่วมกัน เพื่อแสดงศักยภาพ รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และต่อยอด Start up อีกทั้งมีสถาบันการเงินต่างๆ มาแนะนำการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีการจดทะเบียน Start up เพื่อจะได้รับรู้ความต้องการของผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งงานนี้เราจะต้องการจะช่วยเหลือ Start up อย่างครบวงจร ตามที่เขาอยากได้จะมากที่สุด” ดร.สมคิดกล่าว
ในส่วนของบริษัทขนาดใหญ่ อยากขอร้องให้เข้ามาช่วยเหลือ SMEs Start up ซึ่งภาครัฐจะมีการตอบแทนด้วยมาตรการจูงใจต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษี รวมถึง ปรับแก้กฎหมายต่างๆ เอื้อให้แก่บริษัทใหญ่ที่มีส่วนช่วยเหลือรายย่อย
ทั้งนี้ มอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารออมสิน เตรียมเงินทุน 3,000-4,000 ล้านบาท รองรับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างเอสเอ็มอีเป็นบริษัทขนาดใหญ่มุ่งสู่ตลาดโลก เพื่อให้เอสเอ็มอีภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเติบโตก้าวไปได้ คาดว่า ครม.จะอนุมัติเงินทุนสนับสนุนในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ในระยะเวลาประมาณ 1.5 ปีที่รัฐบาลชุดนี้จะมีวาระในการทำงานจะผลักดันให้ SMEs Start up พัฒนาเป็น Smart SMEs Start up กระจายอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย เชื่อว่า ภายใต้การทำงานของทีมเศรษฐกิจชุดนี้ และนายกรัฐมนตรีท่านนี้ซึ่งล้วนแต่ให้ความสำคัญแก่เอสเอ็มอี โอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทยมากถึงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ลำพังแค่การทำงานของรัฐบาล แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของภาคเอกชน และมวลชน สถาบันการศึกษา อีกทั้งสื่อมวลชนเดินเข้ามาร่วมกัน ขณะนี้ไม่มีเวลาจะทะเลาะกันแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่การลงนามความร่วมมือในวันนี้เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเตรียมพร้อม และร่วมมือกัน เราจะสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้ ซึ่งพลังประชารัฐจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์สปริงอัพ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นับเป็นมิติใหม่ในการช่วยเหลือผ่านเครือข่ายร่วมกัน เพื่อให้ธุรกิจรายใหญ่ช่วยเหลือรายย่อย เอสเอ็มอีได้ช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน การจัดทำบัญชีมาตรฐาน การจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การนำผลวิจัยของสถาบันการศึกษา การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเอสเอ็มอี
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจใหม่ต้องการความช่วยเหลือ 4 ด้าน คือ การตลาด การเพิ่มประสิทธิการผลิต การลดต้นทุน และเงินทุนหมุนเวียน การลงนามครั้งนี้จะมีโครงการพี่ช่วยน้อง โครงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงการส่งเสริมเอสเอ็มอีก้าวสู่ตลาดสากล เพื่อชี้ช่องทางจำหน่าย การส่งเสริมช่องทางการตลาดอี-คอมเมิร์ซ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมและเศรษฐกิจฐานราก คาดว่าจะช่วยผลักดันให้จีดีพีของเอสเอ็มอีเติบโตจากร้อยละ 37 มีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ของจีดีพีทั้งหมดภายใน 5 ปีข้างหน้า
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกลุ่มภาคี จำนวน 7 ฉบับ ภายใต้ 3 กรอบหลัก คือ
1. กรอบ MOU SMEs มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 4 ฉบับ ประกอบด้วย โครงการ Big Brother (พี่ช่วยน้อง), โครงการส่งเสริม SMEs เข้าถึงแหล่งทุน, โครงการส่งเสริม SMEs สู่ตลาดสากล, ส่งเสริมช่องทางการตลาด E-Commerce
2. กรอบ MOU Startup and IDE มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 1 ฉบับ คือ การสนับสนุนและพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-System) ให้ผู้ประกอบการใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE Start-up)
3. กรอบ MOU Social Enterprise (SE) ซึ่งมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ คือ การสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งของวิสาหกิจเพื่อสังคมและเศรษฐกิจฐานราก และการสนับสนุนด้านการเงิน (SE Funding)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *