xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” นัดถกทูตพาณิชย์ 20 ม.ค.นี้ วางแผนฝ่าเศรษฐกิจโลก ปั๊มส่งออกปีนี้โต 5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” นัดถกทูตพาณิชย์ 20 ม.ค.นี้ ทำแผนดันส่งออกปีนี้โต 5% ตามเป้า หลังเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงเพียบ ทั้งจีนชะลอตัว ตะวันออกกลางป่วน ด้าน “สุวิทย์” เดินหน้าสร้างความเข้มแข็ง SMEs ปั้นผู้ประกอบการรายใหม่ พร้อมเข็นไอเดียตั้งกองทุน ดึงเอกชนลงขันกับรัฐ 1 แสนล้านบาทหวังเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจเพื่อสังคม

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 20 ม.ค. 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกัฐมนตรี จะเป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) จากทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในแต่ละตลาด พร้อมกับมอบนโยบายเพื่อผลักดันการส่งออก เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังมีความอ่อนไหว ทั้งเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เหตุความรุนแรงระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ขณะที่สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปก็ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน จึงต้องมีการประเมินกันว่าจะทำแผนกันอย่างไร จะมุ่งไปตลาดไหน และจะใช้กลยุทธ์อะไร เพื่อให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2559 ขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้

ทั้งนี้ เบื้องต้นเห็นว่าตลาดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ตลาดอาเซียน และ CLMV รวมถึงจีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกา เพราะยังมีโอกาสเติบโตได้สูง ขณะที่สินค้าที่จะเร่งผลักดัน เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และจะเน้นสินค้าบริการ ทั้งบริการด้านสุขภาพและความงาม ลอจิสติกส์ บันเทิง คอนเทนต์ การศึกษา เป็นต้น

นายสุวิทย์กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs & Start-up) ซึ่งเป็น 1 ใน 12 คณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือประชารัฐ ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยเห็นว่าการสร้าง SMEs ต้องแยก SMEs ให้ชัดก่อนว่าอยู่ในกลุ่มไหน แข็งแกร่ง ปกติ และอ่อนแอ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแล้ว เพื่อที่จะช่วยเหลือได้อย่างชัดเจนและตรงตามความต้องการ

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่เริ่มต้นทำธุรกิจ จะสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งกำลังพิจารณาว่ารัฐอาจต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม เช่น การดึงผู้ประกอบการของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านนวัตกรรมมาทำธุรกิจในไทย หรือสร้างเมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้นักคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนผลักดันการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม โดยเสนอให้จัดตั้งกองทุน Social Enterprise โดยระดมทุนจากภาคเอกชนรายใหญ่ๆ ลงขันร่วมกับรัฐบาล สัดส่วน 50 ต่อ 50 เช่น วงเงินฝ่ายละ 50,000 ล้านบาท รวม 100,000 ล้านบาท เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มีวงเงินเพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม (CSR) อยู่แล้ว และเมื่อมีกองทุนก็จะนำเงินไปให้ความช่วยเหลือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีประมาณ 70,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนการบริหารจัดการกองทุน อาจจัดสรรหุ้นให้เอกชนถือหุ้นสัดส่วน 20% รัฐบาล 80% จากนั้นทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลงเพื่อเปลี่ยนถ่ายไปให้ชุมชนถือครองแทนภายใน 5 ปี ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลอาจเหลือหุ้นเพียง 10% หรือไม่มีเลยก็ได้ แล้วให้ธุรกิจมันเดินด้วยเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น