xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์กระตุ้น ศก.ฐานราก ดึง 1,100 ตำบลนำร่องเชื่อมโยงเครือข่าย ศก.ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา
คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานรากเปิดประชุมนัดแรก ตั้งเป้าสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับตำบลทั่วประเทศในปี 2559 จำนวน 1,100 ตำบล เชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน ทั้งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ประมงพื้นบ้าน ยางพารา ท่องเที่ยว ขณะที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยขานรับพร้อมสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงให้เครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนฐานรากเติบโต ด้านผู้นำชุมชนตำบลหนองสาหร่ายไอเดียกระฉูดจับมือมหาวิทยาลัยรังสิตใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ช่วยทำเกษตรอินทรีย์ นำแนวคิดใช้เทคโนโลยีทันสมัยดึงคนรุ่นใหม่กลับคืนสู่ท้องนา

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 19 คน เช่น ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว, ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ที่ปรึกษา ฯลฯ ได้จัดประชุมเป็นครั้งแรกที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อพิจารณาร่างแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็งปี 2559 และแผนงานในการจัดทำงบประมาณปี 2560 เพื่อเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

การประชุมเพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานรากครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเวทีจุดประกาย “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” และประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงพลังจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐเข้ามาเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเชื่อมั่นประเทศไทย รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็งนั้น มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ และมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนงานตามนโยบายดังกล่าว

น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการ กล่าวว่า ในวันนี้เมื่อรัฐบาลสนใจเรื่องเศรษฐกิจฐานราก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันผลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นจริง ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสู่เศรษฐกิจโลก เพราะที่ผ่านมาเราไปแข่งขันกับเศรษฐกิจของโลกตะวันตก แต่เราก็สู้ไม่ได้เพราะเงินเราเล็กกว่า เราเป็นได้แต่แรงงานในการผลิตเพื่อส่งออก เป็นได้เพียงลูกไล่ของเขา

“แต่ถ้าเราเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เอาคนเป็นตัวตั้ง เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง สามารถที่จะสร้างเศรษฐกิจทางเลือก และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายหรือกลุ่มพื้นที่ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือทำแบบโดดๆ เหมือนที่ผ่านมา จะทำให้เครือข่ายต่างๆ มีความเข้มแข็ง มีการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจระหว่างกัน ไม่ใช่ความพอเพียงแบบไปตัดความสัมพันธ์กับโลกภายนอก แต่เราสามารถจัดการฐานเศรษฐกิจของเราได้ ทำให้ฐานเศรษฐกิจของเราแข็งแรง ซึ่งประเทศในยุโรปก็ทำเรื่องนี้แล้ว และมีสถานภาพที่ไม่ใช่เป็นลูกไล่ของประเทศใหญ่ๆ ทำให้ระบบทุนนิยมผ่อนปรนลง มีสาระทางด้านสังคมมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของโลกด้วย” น.ส.สมสุขกล่าว

ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยยินดีที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนต่างๆ ทั้งในด้านการให้คำแนะนำ การเป็นที่ปรึกษา หรือการเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้กลุ่มและเครือข่ายต่างๆ เติบโตและเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การตลาด หรือการส่งออก เพื่อให้เกิดการต่อยอดและให้เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจชุมชน ให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน สิ่งไหนที่ชุมชนขาดสมาพันธ์ฯ ก็จะไปช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง หรือสิ่งไหนที่ดีอยู่แล้วสมาพันธ์ฯ ก็จะไปช่วยสนับสนุนต่อยอด

สำหรับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีสมาชิกซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม SME ตามภูมิภาคต่างๆ สมาคมการค้าต่างๆ ผู้ประกอบการทั่วไป รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ ฯลฯ จำนวนสมาชิกเริ่มก่อตั้ง 52 กลุ่ม เช่น สมาคมการค้าไทยเอสเอ็มอี, สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์, กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป, สมาคมเครื่องหนังไทย, สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ฯลฯ มีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางระหว่างสมาชิกสมาคมกับหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสมาชิกให้เข้มแข็งสามารถแข่งขันทางธุรกิจได้

สำหรับแผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากปี 2559-2560 นั้น นายปฏิภาณ จุมผา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในฐานะคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาลจะเริ่มในปีงบประมาณ 2560 แต่ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่ดำเนินการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนมาอย่างต่อเนื่องก็จะดำเนินงานต่อไปตามแผนงาน 3 ปี (2558-2560) เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการตนเองได้ ที่ผ่านมา พอช.ได้สนับสนุนเรื่องสภาองค์กรชุมชน, สวัสดิการชุมชน, การแก้ไขปัญหาที่ดินชนบท, การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง, การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ โดยในปี 2559 จะมีแผนงานที่สำคัญ เช่น

1. การสนับสนุนพื้นที่รูปธรรมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมเชิงเศรษฐกิจตามบริบทพื้นที่ และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจชุมชนในมิติต่างๆ จำนวน 336 ตำบล 2. สนับสนุนกระบวนการสำรวจข้อมูลและจัดทำแผนพัฒนา/ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงระดับภาคและจังหวัด จำนวน 1,100 ตำบล 3. บริหารจัดการและพัฒนาระบบการติดตาม เช่น การวิจัยการพัฒนานวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ และ 4. การเชื่อมโยงเครือข่ายและประสานงานการพัฒนา โดยใช้งบประมาณรวม 85 ล้านบาท

“วิสัยทัศน์ของ พอช.ก็คือ ให้คนในชุมชนกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด ครอบครัวมั่นคง ชุมชนมั่งคั่ง ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีการจัดการตนเอง และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้เราตั้งเป้าหมายว่าจะมีตำบลที่มีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนจำนวน 1,100 ตำบล และตำบลรูปธรรมที่มีการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเพื่อสังคมอีก 500 ตำบลทั่วประเทศ” นายปฏิภาณกล่าว

ส่วนแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่จะเริ่มดำเนินงานตามงบประมาณปี 2560 จะประกอบไปด้วย 1. การส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาระดับตำบลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากร (ตำบลละ 1 แสนบาท) 2. สนับสนุนรูปธรรมเศรษฐกิจหลักหรือสัมมาชีพชุมชน (ตำบลละ 2 แสนบาท) 3. เชื่อมโยงประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อสังคม (ตำบลละ 1 แสนบาท) และ 4. สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจตามกลุ่มการผลิต หรือ cluster เช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์, ประมงพื้นบ้าน, เกษตรปลอดสารพิษ, กลุ่มยางพารา, เพิ่มพื้นป่า, ตลาดชุมชน, ท่องเที่ยววิถีชุมชน ฯลฯ (กลุ่มละ 1 ล้านบาท) รวมพื้นที่ตำบลที่จะดำเนินการทั่วประเทศ 1,600 ตำบล ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกรอบแนวทางเสนอต่อรองนายกฯ สมคิด

การประชุมครั้งนี้ มีการยกตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่รูปธรรมเศรษฐกิจชุมชน โดย นายศิวโรฒ จิตนิยม ผู้แทนองค์กรชุมชน คณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ตนในฐานะผู้นำชุมชน ต.หนองสาหร่าย เห็นด้วยกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และควรจะทำให้ครอบคลุมทั้ง 7,000 ตำบลทั่วประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็ง นำไปสู่การเป็นประเทศที่เข้มแข็ง

ดังเช่นที่ตำบลหนองสาหร่าย ที่ได้มีการจัดทำแผนการพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 มีการสำรวจข้อมูลชุมชนพบว่า ชาวบ้านทั้งตำบลประมาณ 900 ครอบครัวมีรายได้ทั้งปีรวมกันประมาณ 76 ล้านบาท แต่มีหนี้สินทั้งในและนอกระบบกว่า 86 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลมาวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา ต่อมาได้รวมกลุ่มการเงินต่างๆ ในตำบลมาจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินชุมชน มีร้านค้าชุมชน มีกองทุนสวัสดิการชุมชน มีโรงสีข้าว โรงงานผลิตน้ำดื่ม ปัจจุบันชุมชนมีทุนในชุมชนรวมกว่า 70 ล้านบาท สามารถดึงหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบทำให้เสียดอกเบี้ยน้อยลง และช่วยปลดหนี้สิน ทั้งยังช่วยเหลือชาวบ้านได้ตั้งแต่เกิดจนตายเพราะมีกองทุนต่างๆ เป็นของตัวเอง

“ตอนนี้ตำบลของเราได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตพัฒนาเทคโนโลยีในการทำนาขึ้นมา เช่น มีโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) สำหรับฉีดพ่นสารอินทรีย์ให้แก่นาข้าว ใช้โดรนตรวจสอบแมลงศัตรูข้าว และมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิอากาศและแรงลม ทำให้รู้ว่าถ้าจะมีลมหรือฝนเราก็จะไม่ฉีดพ่นสารอินทรีย์ การที่เราใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะเป็นแรงจูงใจทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ทิ้งไร่นา เพราะการที่คนรุ่นใหม่มีอาชีพทางเกษตรที่มั่นคงก็จะดีกว่าไปเป็นลูกจ้างในโรงงาน เช่น ให้คนรุ่นใหม่มานั่งบังคับโดรนก็จะเป็นสิ่งที่ดูเท่และมีประโยชน์ และป้องกันไม่ให้คนรุ่นใหม่ไหลออกนอกชุมชน” นายศิวโรฒกล่าว และว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะเริ่มใช้ในต้นปี 2559

นายศิวโรฒยังกล่าวด้วยว่า ในเดือนธันวาคมนี้ตำบลหนองสาหร่ายจะนำเครื่องผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกมาใช้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของนักประดิษฐ์ในจังหวัดกาญจนบุรี เครื่องดังกล่าวใช้งบประมาณไม่เกิน 7 แสนบาท สามารถผลิตนำมันดีเซลได้ประมาณวันละ 500 ลิตร พอเพียงที่จะใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรในตำบล เช่น รถไถนา เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และจะเชื่อมโยงไปถึงการผลิตข้าวให้มีผลผลิตมากขึ้น จากเดิมไร่ละ 1 เกวียนก็เพิ่มเป็น 1.5 เกวียน และเน้นการปลูกข้าวแบบอินทรีย์แล้วแปรรูปเป็นข้าวสารขาย เป็นการปลูกข้าวอย่างมืออาชีพและครบวงจร ซึ่งขณะนี้ทางตำบลได้ดึงคนรุ่นใหม่ในตำบลมาช่วยงานด้านต่างๆ แล้วประมาณ 20 คน
มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมสนับสนุนชุมชนหนองสาหร่าย
นายศิวโรฒ   จิตนิยม
กำลังโหลดความคิดเห็น