ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้นปี 2558 ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล เป็น ผบช.น.เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นในสังคมตำรวจเมืองหลวงโดย น.1 ในขณะนั้นตั้งข้อสังเกตว่ามีเอกชนร่วมมือกับสถานีตำรวจหลายแห่งติดป้ายโฆษณาจอแอลอีดี ตามสี่แยกต่างๆ บนหลังคาป้อมยาม-ตู้จราจรบ้างและเลยเถิดไปถึงหน้าสถานีตำรวจ จึงลงมือสอบสวนในเบื้องต้นพบว่ามีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เรื่องนี้ถือเป็นข่าวใหญ่ สื่อต่างๆเกาะติดมีการนำเสนออย่างต่อเนื่องซึ่งในระหว่าง พล.ต.ท.ศรีวราห์ เดินหน้าสอบสวนเอาผิดนั้นมีเสียงสะท้อนขอความเป็นธรรมมาจาก ผกก.นครบาลหลายคนเนื่องจากมองเห็นว่าป้ายโฆษณาฯดังกล่าวเกิดขึ้นมาก่อนเข้ารับหน้าที่ และในแต่ละปีนั้นจะมีคำสั่งทางวาจาจากผู้บังคับบัญชาในลักษณะขอความร่วมมือโดยรายได้จากบริษัทเอกชนนั้นทางผู้บังคับบัญชาได้จัดเป็นสวัสดิการให้กับตำรวจนครบาล แต่รายละเอียดทั้งรายรับ-รายจ่ายไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย 2 นายคือ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง และในที่สุดจึงเป็นที่มาของคำสั่งย้าย ผกก. 67 โรงพักจากจำนวน 88 แห่งทั่วกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ปรากฏการณ์ในครั้งนั้นสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมตำรวจอยู่พอสมควร นายตำรวจระดับ พ.ต.อ. 67 คนล้วนมีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา อาการต่อต้าน-ไม่พอใจทำได้เพียงระยะสั้นๆเมื่ออำนาจตัวจริงผ่องถ่ายความเด็ดขาดมายังคำสั่งย้ายล้างบาง อดีต ผกก.นครบาลรุ่นสังเวยป้ายจอแอลอีดี. บางนายที่ยังมีความกล้า และเชื่อมั่นว่าตัวเองสุจริต ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับบริษัทเอกชนฯจึงทำหนังสือทบทวนคำสั่งพร้อมกับร้องต่อ ก.ตร.และศาลปกครอง เพื่อคืนความชอบธรรมให้
อดีต ผกก. 67 นายกระเด็นไปคนละทิศทาง
พ.ต.อ.กิตติ ยุกตานนท์ อดีตผกก.สน.มักกะสัน ขนข้าวของหอบลูกเมียไปเป็น ผกก.สภ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา ทั้งที่ร่างกายไม่สู้ดีเนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด แต่ด้วยจิตใจของความเป็นนักสู้นักพัฒนา 7 เดือนของการปฏิบัติหน้าที่จากโรงพักที่เคยเงียบเหงา สภ.เทพารักษ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างด้านชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ และได้รางวัลชนะเลิศในระดับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
อาการเจ็บป่วยทรุดหนักลง ภรรยาต้องรับภาระนำสามีเดินทางระหว่างโคราช- กรุงเทพฯเพื่อรักษาตัวก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2558 ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
การตายอย่างปัจจุบันทันด่วนของ พ.ต.อ.กิตติ เป็นที่รู้กันในหมู่คนใกล้ชิดว่าอาการป่วยโรคมะเร็งปอดนั้นน่าจะมาจากผลพวงของการทำหน้าที่ตำรวจจราจร ซึ่งก่อนก้าวมาเป็น ผกก.นครบาลนั้นเขาเคยทำหน้าที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากเจอมรสุมถูกคำสั่งย้ายกะทันหันโดยไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ พ.ต.อ.กิตติ รับไม่ได้ ความเครียดจึงกลายเป็นจุดหักเหให้ลมหายใจของตำรวจนักพัฒนาต้องสั้นลง
เฉกเช่น พ.ต.อ.สุทธา กรรณสูตร อดีต ผกก.สน.หนองแขม ต้องประสบชะตากรรมเดียวกันถูกคำสั่งครานั้นย้ายไปเป็น ผกก.สภ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี
พ.ต.อ.สุทธา เป็นผู้กำกับหนองแขม มีผลงานเป็นที่ยอมรับเขาถูกย้ายโดยความผิดที่ไม่ชัดเจนจึงทำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและหวังว่าหากความยุติธรรมมีจริงคงได้ย้ายกลับในวาระที่จะถึงนี้
แต่ต้องฝันสลาย....เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอให้ คสช.ลงนามคำสั่งที่ 6/2559 รับรองว่าคำสั่งย้ายตำรวจทุกคำสั่งที่ผ่านมาชอบด้วยกฏหมายทุกประการ
หลังถูกย้ายเขาเริ่มมีอาการผิดปกติกล่าวคือปวดศรีษะ ตาพร่าแขนขาอ่อนแรงก่อนตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่สมอง ต้องเดินทางมารักษาตัวที่ กทม. ไปๆกลับๆจนภรรยาต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลอย่างใกล้ชิด
พ.ต.อ.สุทธา รักษาตัวอยู่ได้ประมาณ 10 เดือนก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา....และเป็นที่เศร้าสะเทือนใจมากกว่าเมื่อทราบจากบุคคลใก้ลชิดว่าก่อนคำสั่งย้ายจากนครบาลมายัง สภ.นาเยีย เขาถูกบิ๊กตำรวจเรียกตัวไปต่อรองให้วิ่งเต้นหาเงินจำนวน 1 ล้านบาทเพื่อแลกกับการรักษาเก้าอี้ แต่เมื่อปฏิเสธว่าไม่มีเงินมากขนาดนั้น คำตอบที่ได้ก็คือ...คนเป็นผู้กำกับนครบาลหาเงิน 1 ล้านไม่ได้ก็ไม่สมควรอยู่ต่อไป
ทั้ง พ.ต.อ.กิตติ และพ.ต.อ.สุทธา แม้จะไม่สามารถเรียกร้องอะไรกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อีกต่อไปแต่ชะตากรรมที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายที่ล่วงรู้ต้องการให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับได้รับทราบและตระหนัก
ไม่ว่าจะเป็นกองบัญชาการฯ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงนั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สตช.โปรดได้หันมามองปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ว่ากันว่าไม่มีครั้งใดอีกแล้วที่สังคมสีกากีจะระส่ำระสายเท่ากับยุคคืนความสุขประชาชนแต่เป็นยุคมืดมนของคนเป็นตำรวจ !!??
และที่เป็นปัญหา เป็นมะเร็งร้ายอย่างแท้จริงก็คือความยุติธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ
นี่คือวิกฤติเหนือวิกฤติ....ปฏิรูปตำรวจยังไม่ได้ทำหนำซ้ำระบบคุณธรรมยังต่ำเตี้ย
ตอนนี้ประเพณีนิยมของตำรวจก็คือเมื่อคนที่มองเห็นการทำงานของเรา ไม่สามารถให้ความเจริญก้าวหน้าใดๆกับเราได้เลย จะมีประโยชน์อันใดกับการตั้งใจปฏิบัติหน้าที่
ความเชื่อที่ว่าทำงานกันแทบตายสุดท้ายวัดกันที่ว่าใครรู้จักผู้มีอำนาจมากกว่ากันคนนั้นคือผู้ชนะ...แบบนี้คงไม่ใช่การกระทำของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่อยากเห็นตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน
ท่านผู้มีอำนาจรู้ไหมว่าตำรวจเขาคุยกันอย่างไร.....ช่วงแต่งตั้งโยกย้ายกับคำสั่งครั้งที่ 8 เจอหน้ากัน หรือโทรศัพท์หากันต้องถามว่ามึงมีตั๋วไหมวะ มึงตั๋วใครวะ ชื่อกูอยู่ไหมวะ ชื่อกูมามั้ย ลุ้นกันแทบตายลุ่นกันจนไม่เป็นอันกินอันนอน...สงสารก็แต่คนทำงานที่ไม่มีใครเห็น
ตำรวจน้อยใหญ่ถ้าไม่ป่วยตายก็ทยอยฆ่าตัวตายกันเป็นว่าเล่น.....ท่านผู้มีอำนาจจะปล่อยให้บรรยากาศเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน !!??