xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เละตุ้มเป๊ะ! “ตำรวจ – อัยการ”? คดีทายาทกระทิงแดง ขับไม่เร็ว เมาหลังขับ คดีหมดอายุความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปักหมุดเอาไว้เลย ลูกหลานเศรษฐีประเทศสารขัณฑ์ขับรถชนคนตาย ยังไง๊..ยังไงก็มีโอกาสรอดคุกรอดตะรางสูงถึงสูงที่สุด ตกเป็นข่าวครึกโครมประเดี๋ยวประด๋าวก็หายเงียบเข้ากลีบเมฆ เดชะบุญที่เกิดเหตุ “คดีเสี่ยเบนซ์ชนฟอร์ด” เข้ามากระตุ้นเตือน “คดีทายาทกระทิงแดง” ควบเฟอร์รารี่ชนนายตำรวจชั้นประทวนดับจึงถูกขุดขึ้นมาตรวจสอบและพบความพิกลพิการอันเป็นประจักษ์พยานถึงความย่ำแย่ของกระบวนการยุติธรรมไทยได้อย่างหมด เปลือก

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า สำนวนคดีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อายุ 31 ปี บุตรชายคนเล็กของ เฉลิม อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง “กระทิงแดง” ผู้ต้องหา คดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและชนแล้วหนี เป็นเหตุให้ ด.ต.วิเชียร กลิ่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป. สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน แถมบางข้อหาก็ขาด “อายุความ” ไปต่อหน้าต่อตาจน “อัยการสั่งฟ้อง” ไม่ทัน

ทำไปทำมาสำนวนคดีก็แปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นนายวรยุทธ “ขับไม่เร็ว แม้กระทั่ง ข้อหาเมาแล้วขับแถจนสีข้างถลอกว่า ‘เมาหลังขับ’ อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในบ้านนี้เมืองนี้

แน่นอนจำเลยของเรื่องนี้ ย่อมหนีไม่พ้น “ตำรวจ-อัยการ” โดยมาพร้อมกับคำถามว่า จงใจยื้อคดีใช่หรือไม่? เหตุใดถึงปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีกับทายาทกระทิงจวบจนคดีหมดอายุความ ที่สำคัญ ทำไมไม่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา ทั้งที่พนักงานสอบสวนสามารถออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ทันที

จนอดคิดเสียไม่ได้ว่า ขนาดตำรวจด้วยกันยังไม่ไยดีพวกพ้องที่ต้องมาสังเวยชีวิตในความประมาทของไฮโซตีนผี นับประสาอะไรกับประชาชนตาดำๆ จะได้รับความยุติธรรมจากคดีคนรวยขับรถชนคนตาย

ไล่เบี้ยกลับไปที่พนักงานสอบสวนคดีทายาทกระทิงแดง ถูกตั้งคำถามว่ามีการรวบรวมพยานหลักฐานเอื้อต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่? เพราะตรวจสอบพบสำนวนคดีอ่อนปวกเปียก ตกเป็นข้อครหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพลอีก เช่นเคย

ขณะที่เจ้าพนักงานทำสำนวนและรวบรวมพยานหลักฐานประมาณ 6 เดือนกว่าจะสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ และสั่งฟ้องเพียง 2 ข้อหา คือ 1.ข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2. ข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน ต่อมาอัยการสั่งฟ้องเพิ่มอีก 1 ข้อหาคือ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ซึ่ง “ยื้อกันจนคดีหมดอายุความ” มิหนำซ้ำ ยังมีทีท่าโอนเอียงเชื่อพยานว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ขับรถเร็วแม้จะมีหลักฐานชัดก็ตาม

แต่ที่ชวนหัวสุดกู่ คือพนักงานสอบสวนไม่ตั้งข้อหา “เมาแล้วขับ” ไม่มีการส่งฟ้องข้อหาขับรถขณะมึนเมาสุรา เพราะผู้ต้องหากล่าวอ้างว่า “ดื่มหลังขับ”
เฉลิม อยู่วิทยา พ่อของบอส
คดีส่อเค้าล่มตั้งแต่เริ่มแรก

ย้อนรอยเหตุการณ์เมื่อปี 2555 เวลาประมาณ 5.40 น. เกิดอุบัติเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่กลางกรุงเทพฯ เมื่อ “เฟอร์รารี่” สีบรอนซ์เทา วิ่งมาด้วยความเร็วพุ่งชนร่าง ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ก่อนลากศพไปไกลถึง 200 เมตร บริเวณถนนสุขุมวิท โดยเจ้าหน้าที่ตรวจพบคราบน้ำมันบนพื้นเป็นทางยาวไปสุดบ้านหลังหรูหลังใหญ่ ซึ่งเป็นของ เฉลิม อยู่วิทยา มหาเศรษฐีติดอันดับโลก เจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง

หลังเกิดเหตุ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.(ในขณะนั้น) พร้อมกำลัง 2 กองร้อย เข้าไปล้อมบ้านหลังดังกล่าว และประกาศด้วยท่าทีขึงขัง “หากไม่ได้ตัวคนผิดมาลงโทษ จะขอลาออกทันที” ก่อนเข้าพิสูจน์หลักฐานภายในบ้าน และพบรถคันก่อเหตุจอดทิ้งชั้นใต้ดินของบ้าน เป็นรถเฟอร์รารี่ รุ่นพินินฟาริน่า สีบรอนซ์เทา ทะเบียน ญญ 1111 กรุงเทพมหานคร ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน สภาพกันชนหน้าซ้ายแตก กระจกหน้าฝั่งซ้ายแตก และมีเครื่องหมายยศนายดาบตำรวจของผู้ตายติดคากระจก และมีหลักฐานจากการตรวจสอบสมุดจดบันทึกของ รปภ. ระบุว่า เมื่อเวลา 5.12 น. ได้มีการจดบันทึกไว้ว่า ลูกชายคนเล็กทายาทกระทิงแดงขับรถออกจากบ้าน ทำให้ตำรวจมั่นใจว่าผู้ต้องหาในคดีนี้จะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจาก วรยุทธ อยู่วิทยา

ต่อมา เรื่องราวกลับตาลปัตร พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง สวป.สน.ทองหล่อ ( ในขณะนั้น) สร้างเรื่องด้วยการพาพ่อบ้าน สุเวศ หอมอุบล อายุ 45 ปี ผู้มีหน้าที่ดูแลรถบ้านเจ้าสัวเฉลิม เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนที่โรงพัก โดยสมอ้างเป็นผู้ขับรถเฟอร์รารีพุ่งชนตำรวจเสียชีวิตเอง

แต่เมื่อนำตัวไปตรวจร่างกายตรวจหาร่องรอยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรอยคาดเข็มขัดนิรภัย และรอยอัดกระแทกของรถตามร่างกาย จนแล้วจนรอดก็ไม่พบพบบาดแผลใด เป็นเหตุให้พ่อบ้านยอมจำนนว่า “มารับผิดแทนลูกเจ้านาย” และถูกดำเนินคดีข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จกับเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ โดนเด้งไปช่วยราชการ บช.น. เป็นเวลา 30 วันทันที และมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากกระทำผิดวินัยร้ายแรง และทาง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยอย่างเกรียวกราดต่อพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ว่า “ผมไม่พอใจก็เพราะไปเอาตัวปลอมมามอบตัว ส่วนคนที่ขับรถชนตำรวจตัวจริงยังลอยนวลอยู่ ผมทราบดีว่า สวป.คนดังกล่าว ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยให้กับบ้านของลูกชายอดีตเจ้าสัวกระทิงแดง แต่ทำงานแบบนี้ใช้ไม่ได้”

ในที่สุด ทายาทกระทิงแดงได้เข้ามอบตัวเพราะถูกกดดันอย่างหนัก พร้อมให้การภาคเสธ โดยยอมรับว่า ขับรถสปอร์ตประสบอุบัติเหตุจริง แต่ผู้ตายขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ปาดหน้าทำให้หักหลบไม่ทัน ต่อมาตำรวจนำตัวไปตรวจร่างกาย ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ รพ.สมิติเวช แทนที่จะเป็น รพ.ตำรวจ เพราะอยู่ใกล้สถานีฯ และผู้ต้องหาทำเรื่องขอประกันตัว ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท

กระทั่ง ผลปรากฏว่ามีแอลกอฮอล์ 64.8 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเกินกฎหมายกำหนด แต่ไม่ถูกฟ้องในข้อหาเมาแล้วขับแต่อย่างใด เพราะทางทนายผู้ต้องหาอ้างว่า “ทายาทกระทิงแดงดื่มหลังเกิดเหตุ เพราะเกิดความเครียดอย่างหนัก” ทั้งยังพบสารชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในยาเสพติดและยานอนหลับ โคเคน กาเฟอีน และอัลปราโซแลม

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาจากประชาชนที่จับจองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้อง ฤชา ไกรฤกษ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งเป็นอัยการเจ้าของสำนวน ชี้แจงข้อแก้ต่างที่ทางทีมทนายประจำตระกูลฯ ยกมากล่าวอ้าง

“ในข้อหาขับรถในขณะมึนเมาสุรานั้นมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน เพราะแม้ผลตรวจแอลกอฮอล์เกิน ก็ระบุไม่ได้ว่า ดื่มก่อนขับหรือหลังขับ ทั้งที่เจาะเลือดในช่วงบ่าย”

ด้านเจ้าพนักงานนัดหมายเรียกตัวผู้ต้องหามารับทราบข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้าได้สั่งฟ้องใน 2 ข้อหา 1. ข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 2. ข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน แต่เจ้าตัวได้เบี้ยวนัดต่อเนื่อง

ต่อมา 3 ก.ย. 2555 สำนักคดีอาญาได้สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมเห็นควรให้ฟ้อง เพิ่มอีก 1 ข้อหา ความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดฯ เนื่องจากหลักฐานจากกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพได้และผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ามีความเร็วสูงถึง 170 กม.ต่อชั่วโมง แต่ก็ถูกปัดตกไปเพราะเชื่อปากคำพยานว่าขับไม่เร็ว ซึ่งเป็นคดีที่ถูกเพิกเฉยจนหมดอายุความ

ที่น่าสนใจคือผู้ต้องหาพยายามประวิงเวลา โดยร้องขอความเป็นธรรมต่อ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ในข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขอให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม 4 ปาก รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจความเร็วอีก 2 ปาก และอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ตามที่ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรม เป็นเหตุทำให้ต้องเลื่อนนัดพิจารณาสั่งคดีออกไปถึง 5 ครั้ง ยื้อเวลานานเกือบ 6 เดือน

กระทั่ง คดีข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดฯ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 67,152 , 157 ที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทสถานเดียว มีอายุความ 1 ปี และหมดอายุความลง ในวันที่ 3 ก.ย. 2556 เพราะไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้ทัน เป็นผลพวงจากพนักงานอัยการซึ่งถือสำนวนอยู่ในมือทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนใช่หรือไม่ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมกังขาว่ามีเจตนาบกพร่องในหน้าที่

ด้านผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีและประวิงเวลาเลื่อนนัดหลายครั้ง ไล่ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทนายความผู้ต้องหาแจ้งพนักงานสอบสวนว่า นายวรยุทธเดินทางไปประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2556 และจะเดินทางกลับ เพื่อมาพบพนักงานอัยการในวันที่ 2 ก.ย. 2556 เวลา 10.00 น. ทว่า การนัดฟังการสั่งคดีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2556 ทนายความได้แจ้งขอเลื่อนการสั่งคดี อ้างว่าผู้ต้องหาป่วย โดยมีใบรับรองแพทย์จากคลินิกแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี มายื่นแสดง

จนแล้วจนรอด ถึงวันที่ 2 ก.ย 2556 ผู้ต้องหาก็ไม่ได้เดินทางมารายงานตัว มีเพียง ธนิต บัวเขียว ทนายความ ผู้ได้รับมอบอำนาจนำใบรับรองแพทย์ของคลินิก M.B.B.S. ในประเทศสิงคโปร์ มายื่นให้อัยการอ้างว่าผู้ต้องหาป่วยกะทันหันอยู่ที่ต่างประเทศไม่สามารถเดินทางมาพบอัยการได้ทัน
สภาพเฟอร์รารี่คันต้นเหตุ
วงการสีกากีระส่ำ

ทั้งสำนวนสอบสวนคดีทายาทกระทิงแดงสุดพิลึกพิลั่น ทั้งพนักงานสอบสวนรับผิดชอบคดีจนขาดอายุความ งานนี้ทำเอา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. นั่งไม่ติดออกโรงสั่งตรวจสอบสาเหตุคดีทายาทกระทิงแดงหมดอายุความหลังโดนสังคมวิจารณ์หนัก เหตุใดข้อหาขับรถเร็วจึงขาดอายุความ โดยให้พิจารณาความบกพร่องของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน หากเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ต้องให้ดำเนินการทั้งทางปกครองและทางวินัย ต้องตรวจสอบว่าคดีมีการวิ่งเต้นจริงอย่างที่ตามที่สังคมตั้งข้อสังเกตหรือไม่ พนักงานสอบสวนทำคดีอย่างตรงไปตรงมาด้วยความสุจริตยุติธรรม หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แน่นอน การที่ปล่อยให้ข้อหาขับรถเร็วหมดอายุความ จะต้องมีผู้รับผิดชอบ

ขณะที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. อธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การสอบสวนเป็นเรื่องข้อเท็จจริง และอีกส่วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เรื่องของการสอบสวนนั้นดูแล้วมีลักษณะผิดปกติ ตนเองเป็นพนักงานสอบสวนมา 30 กว่าปี คดีขับรถชนประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หลบหนีไม่แจ้งเหตุแก่เจ้าพนักงาน เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเป็นเรื่องง่าย แต่ทำไมถึงมีการดำเนินการล่าช้า

กล่าวคือตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 130 ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้ามาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ที่กล่าวหาต้องรีบทำให้เร็วรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเพื่อจะได้รู้ตัวผู้กระทำความผิด เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คดีง่ายๆ จะใช้เวลาถึง 6 เดือน

“คดีความผิดขับรถเร็ว อัตราโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ปรากฏว่าสอบไปสอบมากลายเป็นเชื่อพยานปากอื่นว่าขับไม่เร็ว คดีเมาแล้วขับอายุความ 5 ปี คดีชนแล้วหนีอายุความ 5 ปี อัตราโทษ 6 เดือน ใกล้จะหมดอายุความวันที่ 4 ก.ย. 2560 สรุปคดีหมดอายุความไป 1 คดี เหลืออีก 2 คดี พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง 2 ข้อหา ข้อหาขับรถด้วยความเร็วและเมาแล้วขับ

“ทั้งที่ผู้ชำนาญการตรวจพิสูจน์ว่าขับรถเร็ว แต่ไปสอบปากคำแล้วไปเชื่อคนบอกว่าไม่เร็ว อย่างนี้ถือว่า พนักงานสอบสวนทำสำนวนตรงไปตรงมาหรือไม่ มีเหตุอะไรถึงให้เหตุผลเป็นเช่นนั้น กรณีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเมาแล้วขับนั้น พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่า เมาหลังขับ เพราะผู้ต้องหาดื่มเหล้าหลังจากเหตุ เนื่องจากกลุ้มใจจึงดื่มสุรา จึงเป็นการเมาหลังขับ ถามว่าผิดหรือไม่เมาหลังขับ ก็ต้องลองพิจารณาดูแล้วกันปกติหรือไม่ ผมไม่ได้ว่าอะไรถ้าทำด้วยความสุจริต แต่ต้องดูดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนว่าทำถูกต้องหรือไม่” พล.ต.ท.ศานิตย์แจกแจง

กล่าวโดยสรุปก็คือ ขณะนี้ข้อหาขับรถเร็วและขับรถขณะมึนเมา พยานหลักฐานไม่เพียงสั่งฟ้องและหมดอายุความไปแล้วแต่ทายาทกระทิงแดงยังมีชนักติดหลังอีก 2 ข้อหาคือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งหลังกระแสสังคมโหมกระหน่ำ พนักงานสอบสวนได้เร่งสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการแล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากอัยการว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่

อัยการออกตัวแรง ลื่นปรื๊ด ลื่นปรื๊ด

ไม่เพียงแต่ตำรวจเท่านั้น “อัยการ” ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมเช่นกัน เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ฝ่ายกฎหมายของนายวรยุทธใช้ “แท็กติก” ทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับลูกความของตนเอง ซึ่งเป็น “วิชาก้นหีบ” ที่ทุกคนรู้จักกันดี โดยยื่นเรื่องขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึง 5 ครั้ง และอัยการก็อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปถึง 5 ครั้งเช่นกัน จนทำให้มีคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้น

จริงอยู่ นั่นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยเช่นกันว่า คดีในลักษณะนี้มิได้มีเงื่อนงำทางกฎหมายที่สลับซับซ้อนประการใด

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งโต๊ะแถลงความคืบหน้าของคดี โดย นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า การพิจารณาสำนวนคดีในส่วนของอัยการดำเนินตามข้อกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด แม้ผู้ต้องหาจะขอความเป็นธรรมมาหลายครั้ง แต่อัยการก็มีคำสั่งเดิมคือสั่งฟ้องผู้ต้องหา

ส่วนข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ไม่สามารถฟ้องได้ทันเป็นเหตุให้ขาดอายุความ เพราะผู้ต้องหาไม่มาพบอัยการ ขณะที่คดีนี้ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการทั้งระดับเจ้าของสำนวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และอัยการสูงสุด ซึ่งมีการเพิ่มเติมหลายประเด็นไม่ซ้ำซ้อนกันโดยผล การ สอบสวนก็มีทั้งประเด็นที่อัยการสั่งยุติหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไม่สอบสวนให้ และสอบให้แล้วไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้องเดิม

และเมื่อถูกตั้งคำถามว่า การร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งหลายครา ถือเป็นการประวิงเวลาและทำให้คดีขาดอายุความหรือไม่ นายประยุทธให้คำตอบว่า หากเป็นประเด็นที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนก็จะต้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ หากอัยการไม่ดำเนินการให้ครบถ้วนเสียก่อนก็จะเป็นผิดระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด หรืออาจจะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบก็ได้

การร้องขอความเป็นธรรมหากอัยการเห็นว่าเป็นประเด็นเดิมที่เคยสั่งสอบไปแล้วก็ให้ยุติการดำเนินการได้ แต่ถ้ามีประเด็นใหม่ เช่น อ้างพยานบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาให้สอบสวน เพื่อจะเปรียบเทียบกับสิ่งที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมา อัยการจะต้องดำเนินการให้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

“จะต้องดำเนินคดีที่อัยการสั่งฟ้องคือ 2 ข้อหาหลัก ประกอบด้วยข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และข้อหาไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย. 2560 อัยการไม่ได้นิ่งนอนใจ หากสั่งแล้วไม่มาพบก็จะต้องมีมาตรการสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปยื่นศาลขอออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟ้องต่อศาลได้ แม้จะไม่มีระยะเวลาควบคุมแต่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีการองรับอยู่” นายประยุทธอธิบาย

สำหรับกระแสข่าว อัยการและพนักงานสอบสวนร่วมกันค้าสำนวนตั้งแต่เริ่มแรกนั้น รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า ความเห็นที่พนักงานสอบสวนเสนอสำนวนมายังพนักงานอัยการตั้งแต่แรก พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องทั้งข้อหาขับรถเร็วฯ และข้อหาเมาขณะขับรถ ซึ่งพนักงานอัยการเห็นด้วยว่าไม่ควรฟ้องประเด็นเรื่องเมาขณะขับรถ แต่ไม่เห็นด้วยในข้อหาขับรถเร็วแล้วสั่งให้ฟ้องข้อหานี้

อย่างไรก็ตาม สำนวนคดีนี้ของอัยการพิจารณาในรูปแบบตั้งคณะทำงาน ที่มี นายสุพล ยุติธาดา อดีตอัยการอาวุโส และนายฤชา ไกรฤกษ์ อัยการเจ้าของสำนวน เป็นคณะทำงานเสร็จแล้วเสนอไปยังรองอธิบดี และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ดังนั้นกระบวนการสั่งคดี จึงค่อนข้างมีหลักประกันว่าจะมีความรอบคอบรัดกุม

สรุปอีกครั้งก็คือ การดำเนินคดีกับนายวรยุทธ อยู่วิทยาในขณะนี้เหลือเพียง 2 ข้อกล่าวหาคือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ส่วนบทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร...อีกไม่นานคงรู้กัน แต่ที่แน่ๆ คือ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.59 ที่ผ่านมา น.ส.นงนุช แสงประพาฬ ภรรยาของ ด.ต.วิเชียร เข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติมที่ สน.ทองหล่อโดย พล.ต.ท.ศานิตย์ เป็นผู้สอบปากคำด้วยตนเอง และให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเงินชดเชยว่า “ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว”

...เศร้าแป๊บ



กำลังโหลดความคิดเห็น