xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก อสส.แจง “คดีทายาทกระทิงแดง” ช้าเพราะผู้ต้องหายื้อคดี ยันฟ้องทัน 2 ข้อหา เล็งออกหมายจับเมาแล้วขับ (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “โฆษกอัยการสูงสุด” ระบุคดีทายาทกระทิงแดงชนตำรวจตายมีการยื้อคดี เหตุล่าช้าเพราะผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม-สอบพยานเพิ่ม มั่นใจฟ้องทัน 2 ข้อหา ส่วนเมาแล้วขับหากเรียกไม่มาพบอีกเตรียมชงเรื่องออกหมายจับ



สำนักงานอัยการสูงสุด จัดแถลงข่าว ความคืบหน้าของคดีนายวรยุทธ อย...

คลิปข่าว : สำนักงานอัยการสูงสุด จัดแถลงข่าว ความคืบหน้าของคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา (ทายาทกระทิงแดง) ซิ่งรถหรูชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต เมื่อปี2555

โพสต์โดย MGR Online ผู้จัดการข่าวอาชญากรรม บน 28 มีนาคม 2016


ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (29 มี.ค.) ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ์ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงความคืบหน้าสำนวนคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา อายุ 31 ปี ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ตกเป็นผู้ต้องหาขับรถเฟอร์รารี่ประมาทด้วยความเร็ว ชน ด.ต.วิเชียร กลิ่นประเสริฐ สายตรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต บริเวณ ถ.สุขุมวิท 47 -49 เสียชีวิต เวลา 05.00 น.วันที่ 3 ก.ย.55 ว่า หลังจากที่ผู้ต้องหา มอบให้ทนายความความเป็นธรรมกับพนักงานอัยการหลายครั้งหลายหน และยังขอให้สอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก โดยอ้างประเด็นใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏในสำนวนการสอบสวน ซึ่งพนักงานอัยการก็ดำเนินการสอบสวนให้ตามขอ โดยได้เร่งรัดให้พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาโดยตลอด ล่าสุดพนักงานสอบสวน ได้ส่งผลสอบสวนเพิ่มเติมมาให้อัยการรับผิดชอบสำนวนเรียบร้อยแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ได้กำชับให้อัยการผู้รับผิดชอบ เร่งพิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมและมีคำสั่งโดยเร่งด่วนแล้ว

ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวถึงประเด็นความล่าช้าด้วยว่า ครั้งแรกเมื่อรับสำนวนจากพนักงานสอบสวน อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหา ใน 3 ข้อหา 1.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย 2. ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง 3.ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนข้อหาขับรถขณะเมาสุราอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนเนื่องจากพยานหลักฐานทางคดีฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิดโดยการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ผบ.ตร.เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว โดยพนักงานอัยการยังไม่อาจยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ตามคำสั่งฟ้องนั้นได้ เนื่องจากระหว่างรอส่งตัวผู้ต้องหา ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่มาพบอัยการ แต่ให้ทนายความร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการหลายครั้งอ้างประเด็นใหม่ซึ่งอัยการได้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมให้ตามขอ แต่เมื่อสอบเพิ่มแล้วก็สั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมโดยยืนยันให้ผู้ต้องหามาพบอัยการเพื่อส่งฟ้องตามคำสั่งเดิม กระทั่งวันที่ 24 มิ.ย.57 ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมให้ชะลอการขอพนักงานสอบสวนออกหมายจับ และขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก

ร.ท.สมนึก กล่าวว่า ส่วนข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและข้อหากระทำการประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายขาดอายุความนั้น ข้อหาดังกล่าว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 67,152 , 157 ที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทสถานเดียว การที่คดีขาดอายุความเป็นเพราะนายวรยุทธ ผู้ต้องหาไม่มาพบอัยการตามนัดจึงทำให้พนักงานอัยการไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ โดยวันที่ 2 ก.ย. 56 ก่อนคดีจะหมดอายุความเพียง 1 วัน ทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือต่อัยการขอเลื่อนนัดส่งตัวฟ้องอ้างว่า ผู้ต้องหาอยู่ประเทศสิงคโปร์ และป่วยกะทันหัน อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ประวิงคดีจึงมีคำสั่งแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการที่จะออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟ้องศาลในวันดังกล่าว แต่คดีนี้ก็ไม่ทันที่จะได้ออกหมายจับเนื่องจากผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาอีก

" คดีนี้ข้อกล่าวหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้นคดีอายุความ 15 ปีนับจากวันเกิดเหตุ 3 ก.ย. 55 ดังนั้นจึงยังไม่ขาดอายุความ ขณะที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเมื่อกระทำการอันใดเป็นกรรมเดียวซึ่งผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้น กรณีข้อหาขับรถเร็วฯและประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ซึ่งมีบทลงโทษเบาเพียงโทษปรับนั้นขาดอายุความต่อมา จึงไม่กระทบต่อการดำเนินคดีข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายที่มีโทษหนักที่สุด " โฆษกอัยการสูงสุด กล่าว

ร.ท.สมนึก ยังกล่าวย้อนถึงความเห็นในสำนวนคดีว่า ตามสำนวนคดีพนักงานสอบสวน กล่าวหานายวรยุทธเป็นผู้ต้องหาที่ 1 ว่าขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย , ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด , ขับรถขณะมึนเมาสุรา , ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที รวมทั้งกล่าวหา ด.ต.วิเชียร ผู้ตายเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นาย วรยุทธผู้ต้องหาที่ 1 ใน 2 ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ และไม่หยุดให้ความช่วยเหลือฯ โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธในข้อหา ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด , ขับรถขณะมึนเมาสุรา

ทั้งนี้เมื่อได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 4 มี.ค.56 แล้วต่อมาอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้จึงมีคำสั่งวันที่ 2 พ.ค.56 ให้ฟ้อง นายวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 รวม 3 ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ , ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด , ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือฯ ส่วนข้อหาขับรถขณะเมาสุรา อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนเนื่องจากพยานหลักฐานทางคดีฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิด ส่วนที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ด.ต.วิเชียร ผู้ตาย ผู้ต้องหาที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย ซึ่งพนักงานสอบสวนเสนอความเห็นสั่งไม่ฟ้องมาเพราะผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตายนั้น อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอายากรุงเทพใต้ ก็ได้สั่งยุติการดำเนินคดีเพราะผู้ต้องหาได้เสียชีวิตนี้แล้ว

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าการพิจารณาสำนวนคดีในส่วนของอัยการว่าไม่พบข้อบกพร่อง เพราะได้ดำเนินตามข้อกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด แม้ผู้ต้องหาจะขอความเป็นธรรมมาหลายครั้ง แต่อัยการก็มีคำสั่งเดิม คือสั่งฟ้องผู้ต้องหา ส่วนข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ไม่สามารถฟ้องได้ทันก่อนขาดอายุความ เป็นเพราะผู้ต้องหาไม่มาพบอัยการตาม ขณะที่คดีนี้ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการทั้งระดับเจ้าของสำนวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และอัยการสูงสุด ซึ่งมีการเพิ่มเติมหลายประเด็นไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยผลการสอบสวนก็มีทั้งประเด็นที่อัยการสั่งยุติหนังสือร้องขอเป็นธรรมไม่สอบสวนให้ และสอบให้แล้วไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้องเดิม จนกระทั่งล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมจนเสร็จสิ้นทุกประเด็น ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ได้กำชับอัยการที่รับผิดชอบ เร่งพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร่งด่วน โดยให้ความมั่นใจได้ว่าอัยการจะใช้เวลาไม่นาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การร้องขอความเป็นธรรม ถือเป็นการประวิงเวลาและทำให้คดีขาดอายุความหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า หากเป็นประเด็นที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนก็จะต้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ หากอัยการไม่ดำเนินการให้ครบถ้วนเสียก่อนก็จะเป็นผิดระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด หรืออาจจะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบก็ได้ ซึ่งการร้องขอความเป็นธรรมหากอัยการเห็นว่าเป็นประเด็นเดิมที่เคยสั่งสอบไปแล้วก็ให้ยุติการดำเนินการได้ แต่ถ้ามีประเด็นใหม่ เช่น อ้างพยานบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาให้สอบสวน เพื่อจะเปรียบเทียบกับสิ่งที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมา อัยการจะต้องดำเนินการให้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

เมื่อถามว่า อัยการสั่งคดีแล้วมีคำสั่งจะฟ้อง หากผู้ต้องหาไม่มาพบจะมีมาตรการทางกฎหมายดำเนินการอย่างไร นายประยุทธ กล่าวว่า หากจะดำเนินการฟ้องแต่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหา ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟ้องต่อไป ซึ่งสุดท้ายหากมีการออกหมายจับ ก็จะมีอายุตามคดีสูงสุดคือ 15 ปี นับจากวันเกิดแหตุ คือสิ้นสุด ปี 2570

“ จะต้องดำเนินคดีที่อัยการสั่งฟ้องคือ 2 ข้อหาหลัก ประกอบด้วยข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และข้อหาไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต้องเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย.2560 อัยการไม่ได้นิ่งนอนใจ หากสั่งแล้วไม่มาพบก็จะต้องมีมาตรการสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปยื่นศาลขอออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟ้องต่อศาลได้ แม้จะไม่มีระยะเวลาควบคุมแต่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีการองรับอยู่ ” รองโฆษกอัยการกล่าว และว่า ให้ความมั่นใจกับสื่อมวลชนและสังคมได้ว่า 2 ข้อหาหลักจะไม่ปล่อยให้ขาดอายุความ หากอัยการปล่อยให้ขาดอายุความอีกถือว่าเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยมาตรการทางกฎหมายในการติดตามตัวผู้ต้องหา เป็นขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากพบข้อบกพร่องหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติราชการ ก็คงต้องหารือกันระหว่างอัยการกับตำรวจเพื่อให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อถามว่า ที่สั่งไม่ฟ้องข้อหาขับรถขณะเมาสุราแล้ว ยังสามารถสั่งให้สอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า เรื่องขับรถขณะเมาสุรา พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องมาตั้งแต่แรก ตามสำนวนให้เหตุผลว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาเมาสุรา พูดง่ายๆ ว่าไม่พยานมายืนยันว่าผู้ต้องหาดื่มสุรามาก่อนหรือดื่มขณะขับรถ โดยเหตุเกิดเมื่อเวลา 05.20 น. ซึ่งพนักงานสอบสวนไปตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด เวลา 16.00 น.เศษ พบปริมาณแอลกอฮอล์ 64.48 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยผู้ต้องหาให้การว่าดื่มจริง แต่ดื่มหลังจากขับรถกลับมาเข้าบ้านแล้วโดยมีพยานเป็นบุคคลในบ้านให้การยืนยัน ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่า ถ้าตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ในเวลา 16.00 น.เคษ หากเป็นการดื่มสุราตั้งแต่ก่อนเวลา 05.00 น.แล้วไม่มีการดื่มอีก และภายหลังตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ 64.48 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามหลักวิชาการแล้วแสดงว่า ณ เวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาจะต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งคงจะหมดสติ ทำอะไรไม่ได้อีก ทั้งนี้พนักงานสอบสวนจึงเห็นด้วยนักวิชาการในข้อกล่าวหาประเด็นนี้ และให้น้ำหนักไปทางผู้ต้องหาที่กล่าวอ้างปฏิเสธว่าดื่มขณะอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังเกิดเหตุแล้ว พนักงานสอบสวนจึงไม่สั่งฟ้อง

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวอัยการและพนักงานสอบสวนค้าสำนวนหรือไม่ นายประยุทธ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ เพราะดูจากสำนวนแล้วคงไม่มีเหตุผลที่จะผลเช่นนั้น เหตุผลที่ตอบสื่อมวลชนได้ว่าพนักงานอัยการไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะความเห็นที่พนักงานสอบสวน เสนอสำนวนมายังพนักงานอัยการตั้งแต่แรก พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องทั้งข้อหาขับรถเร็วฯ และข้อหาเมาขณะขับรถ ซึ่งพนักงานอัยการเห็นด้วยว่าไม่ควรฟ้องประเด็นเรื่องเมาขณะขับรถ แต่ไม่เห็นด้วยในข้อหาขับรถเร็วแล้วสั่งให้ฟ้องข้อหานี้ และสำนวนคดีนี้ของอัยการพิจารณาในรูปแบบตั้งคณะทำงาน ที่มีนายสุพล ยุติธาดา อดีตอัยการอาวุโส และนายฤชา ไกรฤกษ์ อัยการเจ้าของสำนวน เป็นคณะทำงานเสร็จแล้วได้เสนอไปยังรองอธิบดี และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ดังนั้นกระบวนการสั่งคดีจึงมีหลักประกันว่าจะมีความรอบคอบ



























กำลังโหลดความคิดเห็น