เปิดปูม “เหลียงภาค 7” เครือข่าย “บ้านใหญ่ สะสมทรัพย์” ปูมหลัง ตี๋ ตลาดพลู มีเวสป้าคันเก่าเป็นพาหนะคู่ชีพขับตระเวนเคลียร์เปิดตู้ม้า วันดีคืนร้ายปะทะราชาตู้ม้ากรุงเทพฯ จนต้องถอยร่นไปเอาดี ภาค 7 เผย “ใจถึง - พึ่งได้” ตำรวจชั้นนายพลหลายคน รวมทั้ง “บิ๊กสีกากี” ทั้งในและนอกราชการ แต่ถึงคราวซวยเพราะแทงหวยผิด หลังยึดอำนาจเจอมาตรการกดดันจนอ่วม
ยุทธการ “นครปฐมร่มเย็น” นำโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รอง ผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคง น่าจะเป็นฉากส่งท้ายกับคำสั่งปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 และการจู่โจมรังใหญ่พร้อมกัน 12 จุดทั่วจังหวัดนครปฐม อันเป็นปฏิบัติการซ้ำ หลังจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเคยเข้าตรวจค้นต่างกรรมต่างวาระมาหลายต่อหลายครั้งก็มั่นใจได้เลยว่าแหล่งอิทธิพลใหญ่สุด และทางการให้ความสำคัญสูงสุด ก็คือ เมืองพระเจดีย์เสียดฟ้าแห่งนี้นั่นเอง
29 พ.ค. 2558 กำลังตำรวจกองปราบปราม นำโดย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. กระจายเข้าตรวจค้นบ้านผู้มีอิทธิพล จ.นครปฐม รวม 13 จุด แน่นอนว่า มีทั้ง “บ้านใหญ่สะสมทรัพย์” และ สมุนบริวารว่านเครือ แต่กัสมาตกยังบ้านหลังที่ 12 และ 13 ในพื้นที่ อ.สามพราน และ อ.ดอนตูม ซึ่งเป็นคฤหาสน์หลังงามของ “เหลียงภาค 7” หรือ เหลียงตู้ม้า สุดแต่ความคุ้นเคย ผลการตรวจค้นในครานั้น ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ แต่ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ติดตามข่าวปราบปรามผู้มีอิทธิพลก็คือ ภายในบ้านพักของ นายชัยพร เลขที่ 79 หมู่ 5 อ.ดอนตูม จ.นครปฐม นั้น ห่างไปไม่ไกลนัก มีสวนสัตว์ส่วนตัวในพื้นที่กว่า 20 ไร่ ภายในมีบรรดาสัตว์ป่าต่าง ๆ จำนวนมากแต่ที่เป็นไฮไลต์ ก็คือ เสือโคร่ง และ เสือดาว รวม 80 ตัว แบ่งเป็นเสือโคร่ง 71 และเสือดาว 9 กองปราบปรามจึงประสานไปยังสำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ 3 บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อันเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มาตรวจสอบ ผลคือสัตว์ทุกตัวมีทะเบียนขออนุญาตถูกต้องเว้น แต่จำนวนเสือโคร่ง เสือดาวที่มีเพิ่มขึ้นอันเกิดจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ จึงลงบันทึกตักเตือนให้แจ้งขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย
สรุปว่า การยกทัพของกองปราบในครั้งนั้น ไม่สามารถล็อกบรรดา “ขาใหญ่” แห่งเมืองนครปฐมได้ เพราะอาวุธปืนต่าง ๆ ที่ค้นเจอนั้น ส่วนใหญ่เป็นปืนมีทะเบียน ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อตรวจค้นเจอจึงสามารถทำได้แค่อายัดไว้ตรวจสอบ นอกจากนั้น ในการแจ้งข้อหาดำเนินคดีใด ๆ ก็ตาม บรรดาเครือข่ายเจ้าพ่อนครปฐมสามารถใช้สิทธิ์ขั้นพื้นฐานทั่วไปสามารถยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวได้ ปฏิบัติการบุกรังเจ้าพ่อภาคกลางจึงเปรียบเสมือนละครบู๊ - แอ็กชัน หลังข่าวที่ชาวบ้านคุ้นชิน อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เข้าเป้าในเชิงปราบปราม แต่มีผลทางจิตวิทยา กล่าวคือ ชาวบ้าน และประชาชนทั่วไปรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดแห่งนี้เป็นเมืองอิทธิพล ที่ผ่าน ๆ มา มักปรากฏข่าวอาชญากรรมรุนแรงเสมอ ๆ
3 พ.ค. 2559 ผ่านไป 1 ปี หลังจากกองปราบปราม นำร่องนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลของ คสช. ไปดอกหนึ่งแล้ว ชุดปฏิบัติการของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รอง ผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคง เปิดยุทธการ “นครปฐมร่มเย็น” บุกค้นบ้านเป้าหมายพร้อมกัน 12 จุด ซึ่งแน่นอนว่า บ้านหลักไม่พ้น “บ้านใหญ่นครปฐม” ประกอบด้วย บ้านพักคนในตระกูลสะสมทรัพย์ สามารถยึดปืน (มีทะเบียน) ไปได้จำนวนมาก ขณะเดียวกัน บ้านของเสี่ยเหลียงภาค 7 พร้อมสวนสัตว์ส่วนตัว ก็โดนตรวจค้นด้วย และในเที่ยวนี้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเอาผิดอะไรกับเครือข่ายผู้ยิ่งใหญ่ได้มีเพียงการตรวจพบจำนวนเสือโคร่งเพิ่มมากขึ้นเป็น 120 ตัว ซึ่ง นายชัยพร ชี้แจงว่า ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หลังถูกจู่โจมไปในรอบแรกนั้น จำนวนเสือได้ออกลูกออกหลานมาตามธรรมชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยแจ้งจดทะเบียนอยู่
ปฏิบัติการ ”นครปฐมร่มเย็น” จึงเป็นฉากแอ็กชันเก่า ๆ อีกฉากหนึ่ง แต่เปลี่ยนตัวพระเอก จากระดับกองบัญชาการมาเป็นระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ รอง ผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม จากการจู่โจมบุกรังเจ้าพ่อนครปฐมอย่างถี่ยิบของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นอกจากจะปรากฏชื่อพี่น้องตระกูล “สะสมทรัพย์” ออกเป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอแล้วชื่อของ “เสี่ยเหลียงภาค 7” กลายเป็นที่สนใจของสังคมไทย และมีคำถามต่าง ๆ อย่างมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าเขาคือใคร ก้าวมาจากไหน ทำไมถึงกลายเป็นเจ้าพ่อภาค 7
ถอยหลังไปประมาณปี 2520 หรือเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา เสี่ยเหลียง เป็นเพียงไอ้เหลียง หรือ เฮียเหลียง กุมารจีนแถว ๆ ตลาดพลู วงเวียนใหญ่ ฝั่งธน อาชีพของเขาคือ รับจ้างและเริ่มทำกิจการตู้เกมต่าง ๆ พาหนะประจำตัว คือ รถมอเตอร์ไซค์เวสป้า เก่า ๆ ขับขึ้นลงตามโรงพัก พร้อมกับมีตั๋วเบิกทางจากนักข่าวสายอาชญากรรมที่รู้จักมักคุ้นกัน
ด้วยความเป็นคนใจถึง จึงมีเพื่อนฝูงมากมาย จากตู้เกมขยับมาเป็นตู้ม้า 1 ตู้ เป็น 2 และ 3 ตามลำดับ จนเริ่มมีกำลังในฐานะผู้ประกอบการรายหนึ่ง แต่บังเอิญในช่วงนั้นมีขาใหญ่อันเป็นราชาตู้ม้าตัวจริงยึดพื้นที่ กทม. ส่วนใหญ่ไว้ก่อนแล้ว หนทางทำมาหากินของเสี่ยเหลียง จึงเต็มไปด้วยอุปสรรค ต้องกระทบกระทั่งกับเจ้าพ่อตู้ม้าสามย่าน อยู่ตลอดเวลา จนวันหนึ่งเกิดอาการฟิวส์ขาด เสี่ยเหลียง บุกเดี่ยวตัวคนเดียวไปถึงถิ่นเจ้าพ่อตู้ม้าสามย่าน พร้อมกับควักระเบิดมาวางไว้บนโต๊ะ ขู่ว่าถ้ายังปิดเส้นทางทำมาหากินอย่างนี้ก็ตายไปพร้อม ๆ กันเลย ปรากฏว่า เจ้าพ่อตู้ม้าถึงกับไปไม่เป็นต้องยอมเปิดทางให้กับเสี่ยเหลียง นำตู้ม้าไปวางได้ในบางพื้นที่ แต่ในที่สุดจากการกระทบกระทั่งดังกล่าวเขาได้คำตอบว่า กทม. คงไม่เหมาะกับการทำมาหากินอีกต่อไป จึงเบี่ยงเข็มไปยัง จ.นครปฐม เริ่มต้นที่ สภ.โพธิ์แก้ว และเป็นตำนาน “เหลียงภาค 7” ตั้งแต่นั้น
บทเรียนจากราชาตู้ม้ากรุงเทพฯ ทำให้ “เสี่ยเหลียง” มีประสบการณ์และนำมาใช้ในพื้นที่นครปฐม กล่าวคือ ไม่ยอมให้เจ้าของกิจการตู้ม้ารายใดเข้ามาในพื้นที่อย่างเด็ดขาด พร้อม ๆ กับขยายเครือข่ายในภาค 7 เพิ่มขึ้นโดยใช้เงินจำนวนมาก “ซื้อใจ” นายตำรวจระดับสูงเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำมาหากิน รถเบนซ์ เงินสดแปด - เก้าหลัก เขากล้าทุ่ม เรียกว่า นายตำรวจใหญ่ ๆ คนใดก็ตาม เมื่อมีโอกาสเข้ามาในอาณาจักร “เสี่ยเหลียง” จะได้รับการดูแลอย่างสาสมใจ จนขึ้นชื่อว่านายตำรวจทั้งนอกและในราชการ มีนายพลตำรวจหลายคนเคยได้รับการดูแลจากเสี่ยเหลียง กระทั่ง “ขาลง” ของความรุ่งโรจน์มาถึงเมื่อเสี่ยเหลียง ตัดสินใจผิดกระโดดเข้าไปในวังวนการเมืองอย่างเต็มตัว
การกลับเข้ามาบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทย อีกครั้ง โดยวางตัว พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ให้เป็น ผบช.น. ว่ากันว่า “เสี่ยเหลียง” ใช้สายสัมพันธ์เก่าบวกกับพาวเวอร์ใหม่ที่ติดมาจากนครปฐม ในฐานะที่ปรึกษานายก อบจ.นครปฐม - ผู้สนับสนุนคนสีเสื้อ และการเมืองซีกเพื่อไทยจะเข้ามาฮุบกิจการตู้ม้า ใน กทม. ทั้งหมด แต่ด้วยความเขี้ยวของผู้ประกอบการเจ้าถิ่น รวมทั้งเหตุบ้านการเมืองที่เริ่มมีความไม่แน่นอนปฏิบัติการยึด กทม. ของเหลียงภาค 7 จึงยุติลงชั่วคราว กระทั่งมีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มมวลชนภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
การชุมนุมขยายวงเรื่อย ๆ พร้อมกับมีมือก่อกวนใช้อาวุธปืนบ้าง ระเบิดบ้างคุกคามชีวิตจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย จนวันหนึ่งนายสุเทพ ขึ้นเวทีประกาศชื่อเสี่ยเหลียง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังด้วยการสนับสนุนเงินจำนวน 150 ล้าน ให้กับบิ๊กตำรวจนครบาล โดยแบ่งเป็นเอาเข้ากระเป๋า 50 ล้าน อีก 100 ล้าน เป็นทุนเพื่อนำมาทำร้ายมวลมหาประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ
หลังจากยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค. 2557 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนองนโยบาย คสช. ด้วยการออกกวาดล้างตู้ม้าอย่างหนัก วันที่ 3 ก.ค. หรืออีกราวเดือนเศษประกาศ คสช. เพื่อให้การรักษาความสงบและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยขอให้บุคคลจำนวน 18 ราย เข้ารายงานตัว ปรากฏชื่อ “เสี่ยเหลียง” อยู่ในคำสั่งนั้นด้วย จึงไม่น่าประหลาดใจที่ถนนทุกสายจะพาไปบรรจบกันที่ จ.นครปฐม ไม่เว้นแม้แต่คฤหาสน์สามพราน - ดอนตูม และสวนสัตว์ของอภิมหาเศรษฐีเจ้าของฉายา “เสี่ยเหลียงภาค 7”