ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ต.อมร ยุกตะนันทน์ มีอดีตนายตำรวจมือปราบหลายท่านได้เขียนถึงผลงานของ“ตำนานมือปราบนักแม่นปืน”หลายเรื่องหลายราวด้วยกัน ส่วนใหญ่คืองานคลี่คลายคดีอุกอาจ สะเทือนขวัญ
เช่นแก๊งโจรปล้นร้านทอง มือปืนรับจ้าง คดีฆ่าหั่นศพ ด.ญ.นวลปราง บุนนาค โดย“ไอ้หยอง”หรือนายผยอง แสนทวี คดีแก๊งล้วงกระเป๋าบนรถเมล์แต่เจ้าทรัพย์รู้ตัวจึงถูกแทงตาย คดีปล้นรถบรรทุก คดีปล้นทรัพย์ผู้เบิกเงินจากธนาคาร คดีมือปืนรับจ้าง และคดีอันธพาลผยองกรณีปาระเบิดในเวทีมวยลุมพินี
ต้องถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก เป็นสุดยอดคลาสสิกของการปราบปรามโจรผู้ร้ายด้วยฝีมือ และหัวใจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ล้วนๆ เพราะในช่วงระหว่าง พ.ศ.2520 เทคโนโลยีต่างๆ ยังล้าสมัย โทรศัพท์มือถือ-กล้องวงจรปิดยังไม่มีใช้ วิธีทำงานก็คือทุ่มเท ว่ากันเป็นทีมเมื่อได้เบาะแสก็จะส่งคนไปเฝ้าสังเกตการณ์ หรือที่เรียกว่า “ซุ่มโป่ง”บางคดีเฝ้าไม่กี่วันได้เรื่อง บางคดีเป็นเดือน หรืออาจเป็นปี
อุปกรณ์หลักที่ใช้น่าจะเป็นกล้องถ่ายรูป ถ่ายเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง บางรูปชัด บางภาพออกเบลอ ตำแหน่งสำคัญ จะเป็นสารวัตรใหญ่ เป็นผู้กำกับ ผู้การฯ ผู้บัญชาการ หรืออยู่ฝ่ายสืบสวน ต้องผ่านงานมาอย่างเข้มข้น เป็นที่เชื่อถือของผู้ใต้บังคับบัญชา และมีประวัติความเป็นมาสามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งต่างกับยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เหาะเหินเดินอากาศ มากันด้วยระบบพวกมากลากไป
สเปกตำรวจประเภทนี้ คือ“ตีกอล์ฟ รับแขก แดกเหล้า เฝ้าสนามบิน”ถ้ามีครบต้องได้ดีทุกคน
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพสุดยอดมือปราบนักแม่นปืนในตำนาน หน้าที่ 66 เขียนโดย พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท บรรยายถึงสังคมกองสืบสมัยนั้นไว้ว่า....."กองสืบเป็นเสมือนมือขวาของนครบาล เป็นมือข้างถนัด เจ้านายเรียกใช้สม่ำเสมอ ผลงานที่ทำให้หน่วยมีชื่อเสียงขึ้นอยู่กับการสืบสวน จับกุม ผู้บังบัญชาระดับสูงจึงต้องคัดเลือกตัวบุคคลที่มีฝีมือเข้าไปอยู่ในกองสืบทั้งสาม (สืบเหนือ-ใต้-ธนฯ) เรียกว่าต้อง“มือดี” จึงจะได้รับการวางตัว
กองสืบจึงเป็นแหล่งผลิตมือปราบดังๆ ระดับพระกาฬหลายท่าน ตำรวจกองสืบทำงานเสี่ยงอันตราย สมัยก่อนไม่มีวิทยาการช่วยต้องใช้ฝีมืออย่างเดียว เล่นกันแบบลูกทุ่ง จะจับคนร้ายทีต้องนั่งเฝ้าซุ่มโป่งกันเป็นเดือน บางคดีเฝ้ากันข้ามปี มีทั้งการเข้าเกลียว การสะกดรอย ติดตาม
การทำงานของกองสืบทำกันเป็นทีม แต่ละทีมมีรองผู้กำกับบ้าง สารวัตรบ้างเป็นหัวหน้าชุด ลูกทีมเป็นพวกรองสารวัตร และชั้นประทวน ทีมหนึ่งจะมีด้วยกัน 4-5 คน
แต่ละกองจะมีกันหลายทีมรวมทั้ง “ทีมเก็บ”อีก 1 ทีม
ทีมเก็บนี่สำคัญมาก เป็นหัวใจของหน่วย ถือคติ“กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” จึงต้องเลือกเอาผู้อาวุโส ซื่อสัตย์ และแนบเนียนอยู่ในทีมนี้ บางหน่วยก็เรียกว่า“ชุดแม่บ้าน”
สวนทีมอื่นๆ เป็นหน่วยปฏิบัติการ เต็มไปด้วย เสือ สิงห์ กระทิง แรด รวมทั้ง “นักบิน” แต่ละคนล้วนมีฤทธิ์ ใครเป็นหัวหน้าต้องขี่ให้ดี พลัดตกลงจากหลัง นอกจากเจ็บแล้วอาจโดนกัด
แต่ละทีมต้องแข่งกันอีก วัดความเด่นดังกันด้วยข่าว กองไหนมีผลงานจนได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ถือว่ามือเข้าขั้น กองสืบจึงเป็นที่สิงสถิต ของบรรดาเหยี่ยวข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ....
เขียนกันอย่างตรงๆไม่มีอ้อม...นี่ถ้า พล.ต.ต.อังกูร ยังอยู่ในราชการ ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน หากขยาย หรือเจาะลึกลงไปถึงที่มาของ เสบียงกรังที่ “ทีมเก็บ”หรือ“ชุดแม่บ้าน”ไปเสาะแสวงหามา คงไม่พ้นจากธุรกิจสีเทาทั้งหลาย เช่น หวย บ่อน ซ่อง ซึ่งเป็นความจริงที่เจ็บปวด เพราะงบประมาณการสืบสวนสอบสวนเพื่อทำคดีนั้นไม่มีอยู่จริง
ดังนั้น การหาเงินนอกระบบเพื่อเอามาใช้ทำงานกัน จึงเป็นช่องทางของตำรวจอีกประเภทหนึ่ง แต่ไม่ใช่ “มือปราบ”ตำรวจประเภทนี้จัดเป็น “มือแปร”ทั้งรีดไถ หรือตั้งตัวเป็นเจ้าสำนักเสียเอง จากความจำเป็นเพื่อเป็นค่าทำงานกลายเป็นสร้างฐานะความร่ำรวยโดยใช้อำนาจหน้าที่ และเป็นที่มาของการวิ่งเต้นตลอดจนซื้อขายตำแหน่ง
ในรอบหลายสิบปี มีนายตำรวจในอดีตที่ยังพอจดจำกันได้ผ่านเก้าอี้ทองคำ ภายใต้รหัส น.1 เช่น พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ พล.ต.ท.จำรัส จันทร์ขจร พล.ต.ท.มนัส ครุฑไชยยันต์ พล.ต.ท.สำเนา วิทิศวรการ พล.ต.ท.ชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ พล.ต.ท.อนันต์ ภิรมย์แก้ว พล.ต.ท.ดำรงคักดิ์ นิลคูหา พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ พล.ต.อ.ปานศิริ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง พล.ต.ท.สัญฐาน ชยนนท์ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.อ.วินัย ทองสอง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร คนปัจจุบัน
ทุกท่านที่เอ่ยชื่อมานี้ รู้แก่ใจกันดีถึงการขับเคลื่อนการทำงานด้วยเงินนอกระบบ และรวมไปถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่มาจาก“ทีมเก็บ”หรือ “ชุดแม่บ้าน” และถ้าจะว่ากันให้ถึงกึ๋นก็คงรู้แก่ใจกันดีว่า ยุคสมัยไหนมีบ่อนการพนัน ตู้ม้าไฟฟ้า เกลื่อนเมืองที่สุด
คำกล่าวอ้างเพื่อเอาเงินสกปรกไปทำงานจึงไม่มีใครเชื่ออย่างในอดีต เพราะอบายมุขขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ผุดขึ้นราวดอกเห็ด เรียกว่ามีอยู่ทั่ว 9 กองบังคับการฯ จาก “มือปราบ”จึงกลายพันธุ์ เป็น“มือแปร”เป็นที่รู้กันทั้งในกลุ่มสื่อ และชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตำรวจผู้หิวโหย“สบช่อง”หาทางร่ำรวยจากตำแหน่งในระดับต่างๆ ของทุกกองบัญชาการ แต่ความจำเป็นใช้งบประมาณติดตามคลี่คลายคดี ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ หากจำกันได้เมื่อคราว นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตเจ้าพ่ออาบ อบ นวด มีปัญหากับ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. จนมีรายการแฉส่วยเป็นที่อื้อฉาวในช่วงนั้น จึงมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสืบสวนและปราบปราม ออกเป็น พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาจากกองสลากกินแบ่งฯ แต่ปัจจุบันไม่เคยมีใครพูดถึง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่าน้ำมัน ค่าพาหนะ ค่าสาย ค่าทำงานทุกๆ อย่างตำรวจต้องออกเอง และคนที่ควักก็คือ หัวหน้าหน่วย หากเจอผู้บังคับบัญชาขี้เหนียว เจอพวกขาดบารมี หาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ คดีความต่างๆ ก็ถูกดอง ถูกทิ้ง อย่างเก่งก็จะเลือกเฉพาะคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ
สภาพความเป็นจริงทุกวันนี้ หากประชาชนคนไทยทราบว่า ตำรวจส่วนใหญ่พากันเข้าเกียร์ว่างมานานแล้ว ด้วยเหตุผลนานัปการ ทั้งถูกบีบคั้น ขาดแรงกระตุ้น อีกทั้งมีภาวะเสี่ยงผิด-พลาด อาจติดคุกเนื่องจากเป็นยุค“ตัวใครตัวมัน”
จากเมื่อเกิดคดีต้องออกไปหาข่าว ออกไปซุ่มโป่ง วันนี้ตำรวจทำงานด้วยการหาภาพจากโทรทัศน์วงจรปิด ถ้าเป็นคดีดัง ก็เต็มที่ แต่ถ้าลัก วิ่ง ชิง ปล้นตาสีตาสา รอให้ผู้ต้องหามาชนหมายจับ และยิ่งเป็นคดีที่มีความซับซ้อน ต้องใช้ทุนทรัพย์คงไม่มีตำรวจคนไหนควักเงินเดือนของตัวเองมาทำงาน
ในการปฏิรูปตำรวจโดยรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แต่ไม่แน่ใจว่าท่านจะเข้าใจบริบทตำรวจไทยในทุกๆ มิติอย่างถ่องแท้หรือไม่...แต่ในสภาวะที่หมดทางเลือก จึงอยากฝากการบ้านข้อสำคัญ นั่นคือ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยการออกกฎหมาย จัดงบประมาณสนับสนุนการสืบสวนและปราบปรามอาชญากรรม ให้เป็นเรื่องเป็นราว
นับเป็นความมหัศจรรย์พันลึก ที่ไม่เคยมีผู้นำองค์กรตำรวจ หรือ ผบ.ตร. คนไหนเคยเสนอปัญหานี้กับรัฐบาลไหนมาก่อน “ฉ้อราษฎร์”ก็ไม่ได้ “บังหลวง”ก็ไม่ไหว... จะให้ตำรวจไทยไปทางไหนดี