xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอนฟ้องคดี 7ตุลาฯ วิกฤตศรัทธา คสช. จับตา ป.ป.ช.ถอยหลบลม งัดแผนใหม่ชกไม่สมศักดิ์ศรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภายในเดือนพฤษภาคมนี้คือ เดดไลน์ที่ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มอบให้คณะทำงานที่มี สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นหัวหน้าศึกษาเรื่องที่ “จำเลย” ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ ป.ป.ช.พิจารณาถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ออกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีที่ว่ามีจำเลยอยู่ 4 คน มี 3 คนที่พร้อมใจกันร่อนหนังสือ “ขอความเป็นธรรม” เข้ามาที่ ป.ป.ช. ประกอบด้วย “ชายจืด” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ “บิ๊กเบื๊อก” พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ส่วนอีก 1 จำเลย “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำหนังสือเข้ามาด้วยโดยไม่ทราบสาเหตุ

พอเรื่องนี้แดงขึ้นมา สปอตไลท์ส่องไปที่ชื่อ “บิ๊กป๊อด” ทันที โดยแทบจะไม่สนใจจำเลยรายอื่นด้วยซ้ำ

ศักดิ์หนึ่ง “บิ๊กป๊อด” เป็นน้องชายคลานตามกันมาของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สถานะวันนี้ไม่เพียงเป็น “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” เท่านั้น แต่ยังเป็น “พี่เบิ้ม” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย

ขณะที่อีกศักดิ์หนึ่งของ “บิ๊กป๊อด” ก็เป็นลูกพี่เก่าของ “บิ๊กกุ้ย” ที่ว่ากันว่าทะยานขึ้นมาเป็น ประธาน ป.ป.ช.ได้ทุกวันนี้ เพราะแรงหนุนจากบ้าน “วงษ์สุวรรณ”

ความพยายามของ ป.ป.ช.จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อโยงใยพัวพันมาถึง “ผู้มีอำนาจ” ในปัจจุบัน

สำหรับขั้นตอนต่อไป ก็ต้องรอว่าภายในเดือนนี้คณะทำงานที่มี “สรรเสริญ” เป็นหัวหน้าทีม พ่วงด้วยที่ปรึกษาด้านคดีของกรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคน และผู้บริหารระดับสูง ป.ป.ช.ที่เกี่ยวข้องร่วมสิบกว่าชีวิต จะต้องได้คำตอบเพื่อส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เคาะว่า จะเลือกทางไหนระหว่างถอนฟ้องหรือปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม คือ ให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาต่อไปจนจบ

ถือว่า เป็นระยะเวลาที่ไม่มากไม่น้อย และออกได้ทั้งสองหน้าว่า ที่สุดคณะกรรมการป.ป.ช.ที่มี “บิ๊กกุ้ย” เป็นหัวหน้าเรือใหญ่ จะเลือกเดินทางใด

แน่นอนที่สุดแล้ว ลำพังบทสรุปที่คณะทำงานที่มี “สรรเสริญ” เป็นหัวหน้าทีมไปศึกษามาอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายก็ได้ แต่มันเป็นการตัดสินใจของ “บิ๊กกุ้ย” และลูกทีมอีก 8 ชีวิตว่า จะเอาอย่างไร เพราะต่อให้คณะทำงานศึกษาแล้วพบว่า ป.ป.ช.ไม่ควรถอนฟ้องคดีนี้ออกจากศาลฎีกาฯ แต่ถ้าธงของ “บิ๊กกุ้ย” ไม่ใช่แบบนั้น การขับเคลื่อนอาจสวนทางออกไปจากผลการศึกษาก็เป็นได้เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า ครั้งนี้เป็นการวัดใจกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คนอย่างแท้จริงคงไม่ผิดนัก อย่างอื่นเป็นเพียงแค่องค์ประกอบ เพราะการดำเนินการครั้งนี้ มันเริ่มตั้งแต่การที่ 3 จำเลยในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นร้องขอความเป็นธรรมในยุคนี้ หรือจะเป็นที่มาว่าทำไมประธานป.ป.ช.ต้องเป็น “บิ๊กกุ้ย” ซึ่งมันเป็นคำเฉลยแล้วว่า เรื่องนี้มันมีอะไรมากกว่าเหตุผลทางกฎหมาย และไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

อยู่แค่ว่า “บุคคลที่มองไม่เห็น” เยือกเย็นพอที่จะลุยฝ่าเพื่อดำเนินการอุกอาจครั้งนี้ผ่าน 9 อรหันต์ ที่มากกว่าครึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า ล็อกสเปกมาหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อวันนี้เรื่องดังกล่าวถูกปิดไม่มิด มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของ ป.ป.ช.อย่างกว้างขวาง จนแสดงความกังวลว่า ป.ป.ช.อาจจะเดินสู่จุดที่เรียกว่า วิกฤติศรัทธาได้เหมือนกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ขึ้นเงินเดือนตัวเอง

ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ไม่ได้กระทบความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่มันยังกระทบชิ่งไปถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็น “วาระแห่งชาติ” ผนวกกับคำพูดของตัวเองในวันแรกๆ ที่เข้ามาบริหารประเทศว่า ทุกอย่างให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

แม้ว่า การถอนฟ้องจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “บิ๊กตู่” ก็ตาม แต่มันมีความเกี่ยวพันกับคนที่ตัวเองให้ความเคารพเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาสมัยเป็นทหารอย่าง “บิ๊กป้อม” ผู้ที่ถูกยกว่า เป็น “ผู้มากบารมี” ประจำรัฐบาลชุดนี้

โดยเฉพาะเมื่อ “บิ๊กป้อม” เป็นพี่ชายแท้ๆ ของ “บิ๊กป๊อด” และเป็นเจ้านายเก่าผู้ผลักดันให้ “บิ๊กกุ้ย” มาอยู่ในตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. มันจึงห้ามไม่ได้หากคนจะมองว่า เจ้าตัวรู้เห็นกับเรื่องนี้ แม้จะมีการปฏิเสธออกมาแล้วหลายครั้งก็ตาม

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของ “บิ๊กป้อม” กับคดีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งจนทำให้คนหวาดระแวงเมื่อครั้งที่มีการนำเรื่องที่จะให้อัยการสามารถเข้ามาเป็นทนายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2558 ซึ่งมีการมองว่า เป็นการเอื้อต่อการสู้คดีของน้องชายในชั้นศาล และก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2557 หลัง คสช.เข้ามายึดอำนาจใหม่ๆ ภารกิจแรกๆที่ทำก็คือการออกประกาศ คสช.เพื่อยกโทษปลดออกจากราชการ และคืนตำแหน่งให้แก่ “บิ๊กป๊อด” มาแล้ว

มาถึงขั้นนี้แล้วต่อให้ “บิ๊กตู่” จะไม่เกี่ยวกับและไม่ได้นามสกุล “วงษ์สุวรรณ” แต่ถ้า ป.ป.ช.ตัดสินใจเดินหน้า คนที่รับเต็มๆ กลับไม่ใช่ “บิ๊กป้อม” แต่เป็นตัว “บิ๊กตู่” และทั้งรัฐบาลที่จะได้รับผลกระทบ

วันนี้คนใน คสช.อาจมีการประเมินว่า กลุ่มพันธมิตรฯได้ประกาศยุติความเคลื่อนไหว ลดบทบาททางการเมืองไปโดยสิ้นเชิงแล้ว หากมีการรวมพลังเพื่อต่อต้านอาจจะไม่ได้ทรงพลานุภาพเหมือนเมื่อช่วง 10 ปีที่แล้ว เฉพาะอำนาจด้านความมั่นคงที่ “บิ๊กป้อม” มีเบ็ดเสร็จน่าจะกุมสถานการณ์อยู่

แต่นั่นอาจเป็นการคิดผิด เพราะการล้มรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้มวลชนขับเคลื่อนเสมอไป ที่สำคัญอาจไม่ต้องมีใครลงทุนลงขันเพื่อโค่นล้ม แต่เป็นรัฐบาลสะดุดขาตัวเองล้ม โดยไม่มีใครไปทำอะไร

โดยเฉพาะการไปแตะในเรื่องที่ไม่สมควรอย่าง “กระบวนการยุติธรรม” อย่างที่ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติชอบ เพิ่มเติมปี 2554 ของสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุว่า การตั้งคณะทำงานศึกษาของ ป.ป.ช.เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะคดีอยู่ใน “เขตอำนาจศาล” และอยู่นอกเขตอำนาจ ป.ป.ช.แล้ว จึงมองได้ว่า สิ่งที่ประธาน ป.ป.ช.กำลังทำอยู่เป็นการ “ท้าทายอำนาจศาล - ท้าทายวาระการปฏิรูป” ตลอดจนถึงการ “ท้าทายกระแสสังคม”

“ชาญชัย” ตั้งคำถามด้วยว่า ทั้ง ป.ป.ช.และจำเลยผู้ร้องขอความเป็นธรรม ประกอบด้วย “สมชาย” ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษา บิ๊กป๊อด - บิ๊กเบื๊อก” เป็นอดีตนายตำรวจใหญ่

ทราบดีในเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจศาล การยื่นคำร้องในลักษณะนี้จึงมองได้ว่าเป็นเจตนาที่ไม่ปกติ รวมถึงเป็นการผลักภาระให้กับศาล

หากมีการยื่นถอนฟ้องจริง ป.ป.ช.ก็ทำตัวไม่ต่างกับเป็น “ศาลเตี้ย” เสียเอง เป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง” ทั้งๆ ที่เรื่องการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติในรัฐบาลชุดนี้

“ชาญชัย” ยังขยี้ปมความสัมพันธ์ของ “พี่ป๊อด” กับ “น้องกุ้ย” ด้วยว่า เมื่อ “หัวขบวนขององค์กร” ยอมรับเสียเองว่ามีความสนิทสนมกับ “ผู้ถูกกล่าวหา” รวมทั้ง “ผู้มีอำนาจ” ในยุคนี้ ซึ่งเป็นไปในลักษณะความสัมพันธ์ส่วนตัว เท่ากับว่า “มีส่วนได้เสีย” ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้นหากยังทู่ซี้ที่จะวินิจฉัยในเรื่องเหล่านี้ ก็เข้าข่ายขัดต่อมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 อันเป็น “กฎหมายแม่” ของ ป.ป.ช.เอง อีกทั้งเมื่อการแก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช. เพิ่มเติมเมื่อปี 2554 ก็ได้สร้างกลไกไว้ในมาตรา 86 และมาตรา 89ไม่ให้ ป.ป.ช. ถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้องไม่ว่ากรณีใด เจตนารมณ์ก็เพื่อป้องกันการ “ฟอกคดี” และช่วยเหลือ “คนผิด” ซึ่งโดยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น “ผู้มีอิทธิพล” นั่นเอง

เมื่อลำดับเหตุการณ์ก็จะพบว่ามีเรื่องของ “อิทธิพล” เข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อย โดยเฉพาะห้วงเวลาที่ 3 จำเลยยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ประจวบเหมาะกับที่ “บิ๊กกุ้ย” เข้ามาเป็นประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ทั้งที่ศาลฎีกาฯได้ประทับรับฟ้องคดีนี้ไปเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว

วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลจะเป็นตัวบั่นทอน ประชาชนจะไม่ให้ความร่วมมือในทุกเรื่อง ลองมองย้อนกลับไปดูแนวร่วมตั้งแต่วันแรกที่คสช.ตัดสินใจเข้ามายึดอำนาจกับวันนี้ที่จวนจะครบ 2 ปีอีกไม่กี่วันว่า ปริมาณคนที่อยู่ข้างหลังวันนี้กับวันนั้นยังมีเท่าเดิมอยู่หรือไม่

ต้องยอมรับว่า มี “คนกันเอง” จำนวนไม่น้อยเลือกที่เดินห่างออกมา เพราะการดำเนินการของคสช.ในหลายๆ เรื่องที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูดเอาไว้เมื่อวันที่ 22พฤษภาคม 2557 และมีอีกหลายเรื่องที่เลือกจะขับเคลื่อนแบบผิดเพี้ยน ตลอดจนค้านสายตาประชาชน

และหากเรื่องนี้ไม่ได้รับการยับยั้ง ความรู้สึกทางลบจะเกิดขึ้นกับรัฐบาล แล้วมันอาจมีการนำไปเปรียบเทียบกับสมัยตอนที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่วันๆ พยายามแต่จะหาทางช่วยพี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ซึ่งกรณีนี้จะยิ่งชัดกว่า เพราะมันเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระที่ได้รับความน่าเชื่อถือเรื่องการปราบโกงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเก่าอย่างโจ่งแจ้ง อันนำมาสู่วิกฤติศรัทธาองค์กรอิสระ และยังจะเป็นบรรทัดฐานที่เลวร้าย

โดยเฉพาะหากว่า จู่ๆวันหนึ่ง “ยิ่งลักษณ์” ที่ตกเป็นจำเลยในคดีจำนำข้าว เกิดยื่นขอความเป็นธรรมบ้างว่า มีหลักฐานใหม่ในคดีจำนำข้าวอยากจะให้อัยการสูงสุดในฐานะผู้ฟ้องถอนฟ้องต่อศาลฎีกาบ้าง รวมไปถึงคดีเป็นร้อยเป็นพันที่อัยการฯ ป.ป.ช. หรือตำรวจเป็นผู้ยื่นฟ้องก็จะมีปัญหาตามมาในวงกว้าง

ดังนั้น เรื่องนี้ผลกระทบมันไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงคณะกรรมการป.ป.ช. ที่จะเดินเข้าสู่จุดเสี่ยงว่า จะถูกฟ้องร้องในฐานะปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ เพราะมันมากกว่าความผิดเฉพาะตัวหรือเฉพาะองค์กร แต่มันเกี่ยวพันกับความเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม

อีกทั้งยังยกระดับขึ้นเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายของ “รัฐบาล คสช.” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้า ป.ป.ช.ถูกตัดสินว่าผิด สังคมจะเกิดความรู้สึกทันทีว่า รัฐบาลที่ไม่ระงับยับยั้ง แถมหนักไปในทางสนับสนุนให้เกิดการกระทำที่มิชอบด้วย

งานนี้เลยต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ “มือที่มองไม่เห็น” จะตัดสินใจอย่างไร เดินหน้าหรือใส่เกียร์ถอยตั้งหลักก่อนเพื่อรักษาอำนาจโดยรวม เช่นดียวกับ “บิ๊กตู่” ที่กระอักกระอ่วนใจว่า จะเลือกสิ่งที่ถูกต้องหรือเลือกสิ่งที่จะไม่ขัดใจ “ใครบางคน”

นอกเหนือจากนี้ ยังมีจุดที่น่าหวั่นใจไม่น้อยจากเรื่องนี้ เพราะต่อให้สุดท้ายแล้ว ป.ป.ช.เลือกที่จะไม่ถอนฟ้องเพื่อ “หลบฉาก” พายุที่กำลังก่อตัว ก็ต้องติดตามทิศทางการต่อสู้ของป.ป.ช.ในชั้นศาลฎีกาฯว่า จะยังเข้มข้นและเต็มที่เหมือนเดิมหรือไม่ ในเมื่อมีความพยายามจะถอนฟ้องกันเสียแล้ว

จนน่าห่วงว่าจะเข้าอีหรอบ “มวยล้มต้มคนดู”

ที่สุดแล้ว ป.ป.ช.ของ “บิ๊กกุ้ย” จะหาญกล้าเดินหน้าลุยไฟอย่างที่ “ตั้งธง” ไว้หรือไม่ ยังพอมีเวลาให้ลุ้น แต่หากดูทิศทางลมก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย ดูได้จากที่ศาลฎีกาฯนัดสอบพยานในคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯจำนวน 5 ราย เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฎว่าพยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นตำรวจ ซึ่ง 1 ในนั้นมี “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. รวมอยู่ด้วย ไม่ได้เดินทางมาศาล จนศาลต้องมีคำสั่งให้เลื่อน จนหลายคนมองว่า เป็นสัญญาณอะไรหรือไม่

อย่าลืมว่าที่ “บิ๊กแป๊ะ” มีวันนี้ได้ นอกจาก “บิ๊กป้อม” แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะอิทธิฤทธิ์แรงหนุนจาก “บิ๊กป๊อด” เหมือนกัน หากจะมีคนสงสัยก็ไม่แปลก

วันนี้ต้องถามใจ ป.ป.ช.ยังจะกล้าเดินหน้าต่อหรือไม่ และหาก “แผนเอ” เรื่องการขอถอนฟ้องคดีต้องพับไป “แผนบี” ประเภทชกไม่สมศักดิ์ศรี สู้ไม่เต็มที่ จะถูกงัดออกมาใช้หรือเปล่า.



กำลังโหลดความคิดเห็น